การเผชิญกับภาวะสูญเสียและเศร้าโศก

“การสูญเสีย” นั้น คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถพบเจอได้ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียได้ โดยเฉพาะกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งถือว่า เป็นการสูญเสียอย่างถาวรและสมบูรณ์และเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้นบุคคลจะมีปฏิกิริยาต่อการสูญเสียต่าง ๆ โดยมากจะเกิดภาวะเศร้าโศก ซึ่งเป็นภาวะทางอารมณ์ที่ตอบสนองต่อการสูญเสียเป็นสิ่งที่พบได้ เป็นปกติหลังจากการสูญเสีย แต่ละบุคคลจะมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการสูญเสียที่ไม่เหมือนกัน บางคนสามารถเผชิญกับการสูญเสียสิ่งสำคัญหรือรุนแรงไปได้อย่างปกติ ในขณะที่บางคนไม่สามารถเผชิญต่อการสูญเสียได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ เช่น ความรู้สึกหรือความผูกพันต่อสิ่งที่สูญเสีย ประสบการณ์การสูญเสีย บุคลิกภาพและความพร้อม รวมถึงแหล่งสนับสนุนครอบครัวและสังคม การที่บุคคลไม่สามารถเผชิญการสูญเสียไปได้นั้น จะส่งผลกระทบหลายอย่างทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม ก่อให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรงขึ้นไม่ว่าจะเป็น มีความวิตกกังวลสูง กลัว ละอายใจ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และพบบ่อยที่สุด คือ ความซึมเศร้า จนถึงขั้นทำร้ายตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียตามวัย เช่น วัยเด็กที่ต้องหย่านมต้องจากบ้านไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ วัยผู้ใหญ่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทเมื่อต้องทำงานหรือแต่งงาน การสูญเสีญ ภาพลักษณ์ หรืออัตมโนทัศน์จากการเจ็บป่วย การสูญเสียสิ่งของภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทองที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าโศกได้มาก จากการสำรวจข้อมูลของสุภาพันธ์ และคณะ พบว่า หญิงที่สูญเสียทารกในครรภ์มีความโศกเศร้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างมากประกอบกับการศึกษาของ Prommanart ซึ่งความเศร้าโศกนั้นเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการสูญเสียเป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดจากการสูญเสียสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่คาดหวังหรือจินตนาการไว้

การสูญเสีย (Loss)

การสูญเสีย หมายถึง สภาพการณ์ที่บุคคลต้องแยกจาก สูญหายหรือต้องปราศจากบางสิ่งบางอย่างที่เคยมีอยู่ในชีวิตซึ่งมีลักษณะเกิดขึ้นทันทีทันใดหรือค่อยเป็นค่อยไป โดยสรุปแนวคิดเกี่ยวกับการสูญเสียว่า มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่

  1. มีการแยกจากหรือปราศจากบางสิ่งที่เคยมีอยู่
  2. มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการที่ทำให้บุคคลไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย
  3. บุคคลรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่สูญเสียหรือคาดว่ากำลังสูญเสีย และ
  4. ประสบการณ์การสูญเสียในอดีตมีผลต่อการแสดงออกในปัจจุบัน

ซึ่งประเภทของการสูญเสียนั้น แบ่งออกเป็น ได้ 4 ประเภท

  1. การสูญเสียสิ่งของภายนอก (Loss of External Object) คือ การสูญเสียสิ่งของต่าง ๆ ภายนอกร่างกาย เช่น ทรัพย์สิน เงิน ทอง เครื่องประดับ บ้าน หรือการถูกแยกจากสภาพแวดล้อมเดิมชั่วคราวและถาวร เช่น การย้ายที่อยู่ การเปลี่ยนที่ทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคง ส่งผลให้ไม่สามารตอบสนองความต้องการของตนเองได้เป็นต้น
  2. การสูญเสียตามวัยต่าง ๆ (Maturational Loss) เช่น เด็กที่ต้องหย่านมแม่ การต้องออกจากโรงเรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา ออกจากครอบครัวเมื่อไปใช้ชีวิตคู่ การสูญเสียบทบาทครอบครัวเมื่อต้องมีลูกหลาน การเปลี่ยนแปลงบทบาทเมื่อแต่งงาน การเปลี่ยนแปลงด้านสรีระตามวัยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งเป็นการสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่เลี่ยงไม่ได้
  3. การสูญเสียภาพลักษณ์หรืออัตมโนทัศน์ (Loss of Body Image or Some Aspect of Self) เป็นการสูญเสียด้านร่างกายและจิตสังคม เช่น การสูญเสียอวัยวะในร่างกาย หรือการสูญเสียการทำหน้าที่ของร่างกายออกจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุ ซึ่งการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จะส่งผลให้เกิดภาวะทุพพลภาพและการสูญเสียความสามารถด้านกิจวัตรประจำวัน ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่สามารถจัดการตนเองได้ และมักจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย
  4. การสูญเสียบุคคลสำคัญหรือบุคคลอันเป็นที่รัก (Loss of a love or a significant other) เช่น การตายของบิดา มารดา ญาติพี่น้อง คู่สมรส บุตร เพื่อนสนิท ซึ่งอารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียที่ผิดปกติมักจะเกี่ยวข้องกับการสูญเสียบุคคลที่มีความผูกพันใกล้ชิดอย่างมาก ประกอบกับ การเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก พบได้บ่อยครั้งว่า นำไปสู่อารมณ์เศร้าโศก ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงจนเกิดอาการซึมเศร้าตามมา

ความเศร้าโศก (grief)

ความเศร้าโศก คือ ปฏิกิริยาตอบสนองปกติของบุคคลหรือครอบครัว เมื่อประสบกับการสูญเสีย ความเศร้าโศกเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสีย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง ผู้ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับปฏิกิริยาเศร้าโศกจากการสูญเสีย (Grieving Process) เป็นที่รู้จักกันดี คือ 2 ท่าน ได้แก่ Kubler – Ross และ Engle โดย Kubler – Ross ที่ได้แบ่งปฏิกิริยาเศร้าโศกจากการสูญเสียเป็น 5 ระยะ ได้แก่

ปฏิเสธ (Denial) เป็นระยะเวลาที่บุคคลพยายามปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกลไกปกป้องของบุคคลที่ต้องเผชิญความจริงที่เจ็บปวด โดยพยายามรวบรวมแหล่งประโยชน์ภายในและภายนอกเพื่อพยายามผ่อนคลายผลกระทบจากความสูญเสีย อาจมีอาการชา ขาดความรู้สึกไปชั่วขณะ รู้สึกตัวเองไม่ใช่ตัวเอง และไม่สามารถที่จะตั้งสติเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้

โกรธ (Angry) โดยแสดงความโกรธต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น โทษบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งแวดล้อม รู้สึกว่า ทำไมต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตนเอง ทำไมไม่เกิดกับคนอื่น พยายามโทษว่า เป็นความผิดของคนใดคนหนึ่ง

ต่อรอง (Bargaining) ในระยะนี้เริ่มมีการรับรู้การสูญเสีย แต่ยังพยายามมองหาสิ่งต่อรองเพื่อปลอบใจในการที่ยังไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น ยังไม่สมควรที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ พยายามให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปก่อนจะได้หรือไม่รวมถึงการพยายามที่ย้ำความมั่นใจที่ใหม่ เช่น กรณีที่คิดว่า แพทย์วินิจฉัยผิด หรือรักษาไม่ดี น่าจะมีคนที่ช่วยได้ดีกว่าหรือขอแลกเปลี่ยนด้วยชีวิตของตนเองแทนจะได้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงการสูญเสียดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขหรือหาอะไรมาทดแทนได้

ซึมเศร้า (Depression) เป็นระยะที่มีพฤติกรรมแยกตัว แสดงความรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจาก คิดว่า ไม่สามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ และยังไม่ถือว่า เป็นความเจ็บป่วยแต่อย่างใด แต่ให้พึงระวังไว้ว่า อาจจะเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการที่ผู้เสียใจจะกระทำการใด ๆ อันเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น การทำร้ายตนเองหรือแม้กระทั่งทำร้ายผู้อื่น

ยอมรับ (Acceptance) เป็นระยะที่เริ่มกลับสู่สภาพเดิม ยอมรับการสูญเสีย เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกและอารมณ์เศร้า รวมถึงสติค่อย ๆ ฟื้นกลับมา ร่วมกับการได้รับข้อมูลที่ทำให้ทราบว่า อย่างไรเสียก็คงไม่สามารถจะแก้ไขการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แล้วการยอมรับจะค่อย ๆ เกิดขึ้นในที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดการยอมรับแล้ว แต่อาจจะกลับไปสู่ขั้นตอนของการซึมเศร้าสลับไปมาได้ ถ้าขาดการประคับประคองจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียในแต่ละระยะอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 แต่อาจจะเกิดกลับไปกลับมาหรือเกิดพร้อมกัน หรือเกิดทีละระยะ และยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการรับรู้ ความรู้สึก และพฤติกรรมเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้นโดยแต่ละระยะอาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างกัน ต้องการความเข้าใจและการประเมินปัญหาเพื่อการวางแผนการพยาบาล ให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถปรับตัวยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ปฏิกิริยาต่อการสูญเสียของบุคคลนั้น ออกเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะ Shock and  Disbelief อาการตื่นตลึงเป็นปฏิกิริยาตอบสนองในระยะแรกเมื่อรับรู้ถึงการสูญเสียจะมีความรู้สึกตกใจ ไม่เชื่อ ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดความรู้สึกมึนชา ใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงถึง 2 – 3 สัปดาห์
  2. ระยะ Developing Awareness เป็นระยะที่บุคคลเริ่มมีสติรับรู้มากขึ้น และได้ตระหนักถึงการสูญเสีย ซึ่งระยะนี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหรืออาจเป็นชั่วโมงหลังการสูญเสียเกิดขึ้น อาการที่เด่นชัดในระยะนี้คือ การร้องไห้ คร่ำครวญ ย้ำนึกถึงบุคคลที่เสียชีวิต ความอยากอาหารลดลง นอนไม่หลับ หรืออาจทำให้หน้าที่กิจวัตรตามปกติลดลงขากเดิมบ้าง หรือบางครั้งอาจแสดงอาการโกรธใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์ แล้วดีขึ้นเองในเวลา 2 – 4 เดือน โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน 6 เดือน
  3. ระยะ Restitution เป็นระยะการปรับตัวเพื่อฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ บุคคลจะรวบรวมความรู้สึกต่อการสูญเสียได้ ยอมรับความจริง การหมกมุ่นคิดถึงสิ่งที่เสียไปน้อยลง มองหาสิ่งใหม่มีความหวังใหม่ในชีวิต

การสูญเสียไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียสิ่งของภายนอก การสูญเสียตามวัยต่าง ๆ การสูญเสียภาพลักษณ์หรืออัตมโนทัศน์ และการสูญเสียบุคคลสำคัญหรือบุคคลอันเป็นที่รัก จะทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าโศก ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติหลังจากการสูญเสีย เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยรวมที่มีต่ออารมณ์ที่เป็นทุกข์อันเนื่องมาจากการสูญเสีย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *