การส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง
  1. หลีกเลี่ยงการซื้อขนม ของหวานเก็บไว้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นหรือห้องครัว ควรซื้อผักหรือผลไม้สดรวมถึงนม และอาหารประเภทนมเก็บไว้เก็บไว้แทน เพราะเด็กจะได้ฝึกลดการกินขนม ของหวานและหันมารับประทานของที่มีอยู่ภายในบ้านแทน
  2. ควรให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารทอด อาหารที่มีกะทิ อาหารฟาสท์ฟูด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ หนังไก่ทอด ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ และไอศกรีม ซึ่งนอกจากจะให้พลังงานมากแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีไขมันเป็นส่วนประกอบ มีกากใยอาหารน้อย ไม่ดีต่อสุขภาพ ควรรับประทานในปริมาณที่น้อยที่สุด
  3. ให้เด็กรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าว ซึ่งมีวิตามินรวมรวมทั้งใยอาหารที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย แต่ควรให้เด็กงดหรือหลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีความจำเป็นต่อร่างกาย จำพวกน้ำอัดลม น้ำหวาน ทอฟฟี่ ขนมหวาน ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงและดูดซึมเร็วโดยที่ร่างกายแทบไม่ต้องย่อยสลาย จะถูกเก็บสะสมในร่างกายเป็นรูปของไขมัน
  4. หากรับประทานอาหารระหว่างมื้อ ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้พลังงานไม่สูงนัก เช่น ผลไม้ ส้มตำ ยำต่าง ๆ นม ควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
  5. ให้เด็กดื่มนมแต่พอดี เด็กอนุบาลดื่มนมเพียงวันละ 2 – 3 มื้อก็เพียงพอ
  6. ให้เด็กรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ โดยแต่ละมื้อควรมีปริมาณใกล้เคียงกัน และควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา งดการรับประทานอาหารจุบจิบไม่เป็นมื้อ
  7. ควรให้เด็กรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพราะการงดอาหารเช้าจะทำให้เด็กหิว และหาอาหารอื่นที่ไม่มีประโยชน์มากินแทนข้าว และไม่ควรให้เด็กงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะทำให้รับประทานได้มากในมื้อถัดไป
  8. ให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานจัดหรือเค็มเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเป็นคนติดอาหารรสจัด ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง
  9. ให้เด็กรับประทานอาหารในสถานที่ที่จัดไว้เท่านั้น เมื่อเด็กรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย ลุกจากโต๊ะหรือเก็บอาหารที่เหลือเข้าที่เก็บทันที
  10. ให้เด็กหลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือของว่าง (ขนมขบเคี้ยว) ในขณะดูโทรทัศน์ เพราะการรับประทานอาหารขณะดูโทรทัศน์ จะทำให้ลืมความอิ่มไป และอาจรับประทานอาหารมากเกิน
  11. สอนเด็กให้รู้จักและมีวินัยในการรับประทาน ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และตักอาหารแต่พอรับประทานและควรรับประทานอาหารไม่มีเสียงดัง การตักอาหารในปริมาณที่พอคำ การเคี้ยวอาหารควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน การรับประทานอาหารที่เพียงพอให้อิ่ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต้องมีบิดามารดาคอยเป็นแบบอย่างหรือการอยู่ร่วมด้วย และควรฝึกวินัยในการรับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง สำหรับปริมาณอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อนั้น ต้องประกอบด้วย ข้าว 2 – 3 ทัพพี ผักสุก 1 – 1.5  เนื้อสัตว์ 2 – 3 ช้อนโต๊ะ ทัพพีและผลไม้ 1 ส่วน
  12. ฝึกฝนให้เด็กรับประทานช้า ๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถแยกแยะระหว่างความหิว และความอิ่มได้ เพราะการรับประทานอย่างช้า ๆ จะเกิดการย่อย และการดูดซึมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ความอิ่มเพราะอาหารเต็มท้อง
  13. ไม่ควรซื้อเครื่องดื่มพวกน้ำอัดลม น้ำหวาน เก็บไว้ในตู้เย็น เพราะจะทำให้เด็กติดพฤติกรรม ชอบดื่มน้ำอัดลมได้ง่าย
  14. มารดาควรเป็นแบบอย่างในการรับประทานอาหารที่ดี มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยฝึกวินัยให้แก่เด็กในทางอ้อมได้
  15. พ่อแม่ควรศึกษา และทำความเข้าใจทางด้านโภชนาการของอาหาร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเลือกซื้ออาหาร และช่วยให้ง่ายต่อการจัดตารางอาหาร
  16. อาหารที่จัดเตรียมในแต่ละวัน ควรเป็นอาหารที่มีการปรุงเอง ไม่ควรใช้อาหารปรุงสำเร็จรูป เพราะจะเป็นการสร้างนิสัยการรับประทานอาหารแบบซื้อสำเร็จให้แก่เด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีการฝึกทำอาหารเอง
  17. หลีกเลี่ยงการตามใจลูกในเรื่องการเลือกซื้อขนม และอาหารที่ไม่เหมาะสม หากตามใจเด็กปล่อยเด็กจะทำให้เกิดนิสัยการเลือกซื้อในสิ่งที่เด็กชอบ ซึ่งเด็กวัยนี้จะชอบรับประทานอาหารประเภทขนมหรือของหวานอยู่แล้ว
  18. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกซื้ออาหาร และการทำอาหาร โดยมารดาเป็นแนะนำหลักการเลือกซื้อ และหลักการทำอาหารที่ถูกต้อง
  19. มีการวางแผนการทำอาหารไว้ล่วงหน้า สับเปลี่ยนอาหารเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซาก และจัดอาหารที่เด็กชอบเป็นระยะ
  20. หลีกเลี่ยงการห้ามลูกกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากกินมากขึ้น แต่ให้กินเพียงในปริมาณที่พอเหมาะหรือให้กินในบางเวลา เช่น วาระโอกาสพิเศษ หรือมีงานเลี้ยงสังสรรค์
  21. การอยู่พร้อมหน้ากัน โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารจะช่วยให้เด็กฝึกการรับประทานอาหารที่ดีได้ แต่หากปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารเพียงลำพัง เด็กจะมีพฤติกรรมตามใจตัวเอง
  22. หลีกเลี่ยงการใช้คำหยาบหรือเสียงดุด่าขณะรับประทานอาหาร เพราะหากเกิดภาวะที่พ่อแม่ทะเลาะกันเด็กจะรีบรับประทานอาหาร รับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อรีบลุกจากโต๊ะ
  23. อย่าใช้อาหารเป็นเครื่องมือในลงโทษหรือให้รางวัลแก่เด็ก สำหรับการให้เด็กอดอาหารเพื่อเป็นการลงโทษนั้น อาจจะทำให้เด็กมีความกังวลว่า จะรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ผลก็คือ เด็กจะพยายามกินมากขึ้นเท่าที่จะมีโอกาส ซึ่งในทำนองเดียวกันการจะให้ของหวานเด็กนั้นเป็นรางวัลจะทำให้เด็กคิดว่า ขนม และของหวานเป็นอาหารที่มีคุณค่า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *