เด็กที่มีน้ำหนักตัวเกิน

โดยเฉพาะแล้วในเด็กอายุ 5 ขวบจะมีการกินสารอาหารที่ให้พลังงานประมาณ 50,000 แคลอรีในแต่ละเดือน น่าตกใจว่า ทำไมเด็กตัวเล็กนิดเดียวถึงได้ต้องการพลังงานมากมายถึงเพียงนี้ ก็เป็นเพราะว่าพลังงานส่วนใหญ่ที่ได้รับเข้าไปนั้น เตรียมไว้เพื่อเป็นพลังงานสำรองสำหรับให้เด็ก ๆ ได้ใช้ในการเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันที่มีมากมายไม่รู้จบตามจินตนาการของเด็ก ๆ แต่เนื่องจาก เด็กในยุคสมัยใหม่นี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ ที่ทันสมัย ทำให้การเล่นหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ ถูกจำกัดลงไป ดังนั้น พลังงานที่เข้ามาจากการรับประทานและจะต้องถูกใช้ออกไปก็ลดน้อยลง ประกอบกับประเภทของอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้น เช่น อาหารฟาสฟูด ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายได้ง่าย จึงส่งผลให้เกิดปัญหากลายเป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และกลายเป็นเด็กอ้วนมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ โดยปกติแล้วเด็กต้องการใช้ระยะเวลาในการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมนแต่ละวัน โดยกิจกรรมนั้นต้องมีความหนักอยู่ในระดับปานกลาง เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือวิ่งเล่น เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินและเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนั่งดูทีวี เล่นวิดีโอเกมหรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อยประมาณ 5 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละวัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนและเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจ เป็นต้น

ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติ (เทียบได้จากค่า BMI หรือตารางเปรียบเทียบความสูงและน้ำหนักตัวตามพัฒนาการเด็ก) มักจะมีความทนทานต่อการออกกำลังน้อยกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายได้เพียงเล็กน้อยไม่เกิน 10 นาที ก็จะเริ่มอาการหน้าแดง หายใจไม่ทัน หรือเด็กบางคนมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ (เนื่องจาก มีการสะสมของกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตในระบบพลังงาน) ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายต่อไปได้ และอาจทำให้ผู้ใหญ่มองว่า เด็กคนนั้นขี้เกียจหรือไม่พยายามตั้งใจทำและพยายามกดดันเด็ก ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กได้ ดังนั้น ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากควรเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างช้า ๆ และเลือกทำกิจกรรมที่มีความหนักไม่มากแต่คงที่ เช่น การเดินเร็ว จูงสุนัขเดินเล่น ขี่จักรยานในบ้านหรือตามสวนสาธารณะ เล่นน้ำหรือว่ายน้ำ เป็นต้น ระยะเวลาในการทำกิจกรรมเหล่านี้ประมาณ 20 นาทีขึ้นไป ทำให้ต่อเนื่องประมาณ 3 – 5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยผลที่ได้จากการออกกำลังกายนี้สามารถปรับสภาพร่างกายให้กลายเป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัวเหมาะสม และสุขภาพดีได้ภายในระยะเวลา 6 – 12 เดือน สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นหรือเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักตัวเกินได้ ด้วยการนำหรือทำให้เป็นแบบอย่างในการดูแลสุขภาพและมีการออกกำลังกาย ซึ่งอาจจะมีวิธีการที่ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าเด็กเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนแข็งแรง กระฉับกระเฉง และมีกิจกรรมในเรื่องการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องสนุกและน่าสนใจ ไม่ยากเกินไปสำหรับเด็ก เด็กก็จะร่วมสนุกและทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้ง่าย เช่น ชวนเล่นน้ำ หรือปั่นจักรยานเที่ยวตามสวนสาธารณะ เป็นต้น
  • คอยสนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมทีมกีฬาในชั้นเรียน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ว่ายน้ำ เป็นต้น หรือในช่วงปิดเทอมสนับสนุนให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายต่าง ๆ ตามที่เด็กสนใจ จะสามารถช่วยให้เด็กมีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วย
  • เข้าใจถึงความรู้สึกของเด็ก ถ้าเด็กรู้สึกอาย ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมหรือคิดว่า ยากจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามช่วยกระตุ้น รวมถึงให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เลือกทำในกิจกรรมที่เด็กชอบ อาจส่งเสริมให้เริ่มจากการทำกิจกรรมที่ง่าย ๆ กับเพื่อนที่สนิท เช่น วิ่งไล่จับ กระโดดเชือก เล่นน้ำ เป็นต้น โดยปกติเด็กส่วนใหญ่จะไม่ชอบเข้ายิมหรือออกกำลังกายบนลู่วิ่ง ดังนั้น ควรหากิจกรรมที่เด็กทำแล้วรู้สึกสนุกเป็นสำคัญ
  • หากิจกรรมเสริมอื่น ๆ เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทั้งครอบครัว และอาจเป็นกิจกรรมที่ทำได้ภายในบ้าน เพื่อเป็นการทำให้เด็กไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนั่งดูทีวีหรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในแต่ละวันมากจนเกินไป อาจชวนเด็ก ๆ ช่วยคุณพ่อล้างรถ ช่วยคุณแม่รดน้ำต้นไม้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของการออกกำลังกายและช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวด้วย

เด็กจะต้องมีการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายในแต่ละวันให้ได้อย่างน้อย 60 นาที แต่ไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องจนครบตามเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็นช่วง ๆ ได้ และพยายามสะสมรวมให้ครบ 60 นาทีขึ้นไปในแต่ละวัน การออกกำลังกายในเด็กส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในลักษณะการเล่นหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งทั่ว ๆ ไปให้เหมาะสมกับวัยของเด็กมากกว่าที่จะมองถึงหลักวิธีการของการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักในผู้ใหญ่ เด็กจะไม่ค่อยใช้อุปกรณ์ประเภทลู่วิ่งเพราะน่าเบื่อไม่สนุก แต่จะเลือกที่การวิ่งไล่จับกันในสนามหญ้ามากกว่า การปั่นจักรยานอยู่กับที่ก็เช่นเดียวกัน เด็กจะชอบการออกไปปั่นจักรยานตามสวนสาธารณะหรือตามสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการกระตุ้นให้เด็กสนใจการออกกำลังกาย คือ ความสนุกเป็นลำดับแรกร่างกายของเด็กจะมีการเผาผลาญและใช้พลังงานที่ดีอยู่แล้ว ถ้าสามารถทำให้เด็กออกไปวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ก็จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินมากกว่าปกติได้อุปกรณ์ที่เลือกใช้อาจไม่ต้องมีราคาแพงแต่ได้ประโยชน์อย่างมาก เช่น ห่วงฮูลาฮูป จานร่องไว้เล่นรับส่งในสนาม ลูกฟุตบอลเอาไว้เตะลูกไปมาระหว่างคุณพ่อกับคุณลูกก็ได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถเพิ่มกิจกรรมเข้าไปในแต่ละวันได้ง่าย แต่การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ไม่ควรเป็นในลักษณะที่จะต้องเป็นการแข่งขัน แต่ควรเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเด็กมากกว่า นอกจากนี้ ควรมองถึงในเรื่องของอาหารการกินควบคู่กันไปด้วย เด็กควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อเด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยต่าง ๆ มีภูมิคุ้มกันที่ดีและไม่เป็นโรคอ้วน

คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ลูกออกกำลังกาย คอยเป็นกำลังใจให้กับเด็ก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้เด็กที่ไม่ค่อยมีการออกกำลังกาย เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือนั่งดูทีวีนาน ๆ กลายเป็นเด็กที่รักในเรื่องของการออกกำลังกายได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *