ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน

ภาวะน้ำหนักเกิน หมายถึง ภาวะที่เกิดจากการได้รับพลังงานจากอาหารเกินความต้องการของร่างกาย และเก็บสะสมไว้จนเกิดอาการปรากฏ เช่น ได้รับสารอาหารที่ให้พลังงานมากเกินไป จนมีการสะสม พลังงานไว้ในร่างกายในรูปแบบของไขมัน ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในภายหลังได้

ความสำคัญของปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน

ประเทศไทยมีแนวโน้มโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน การแพร่กระจายของปัญหาภาวะอ้วนส่วนใหญ่จะพบมากในเขตเมืองทุกภูมิภาคของประเทศ จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า เด็กอ้วน 1 ใน 4 จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และหากเป็นวัยรุ่นอ้วนจะมีโอกาสสูงถึง 3 ใน 4 โรคอ้วนทำให้เสียบุคลิกภาพและถูกล้อเลียน จึงทำให้เด็กเกิดปมด้อยและมีความกดดัน เด็กอ้วนบางคนแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน มีปัญหาในการเข้าสังคม เด็กอ้วนที่ป่วยเป็นโรคแทรกซ้อนทำให้ครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังอันเกิดจากโรคอ้วนหลายพันล้านบาทต่อปี

สาเหตุของภาวะเริ่มอ้วนและโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน

โรคอ้วนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ได้แก่ พันธุกรรม สรีรวิทยา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เนื่องจาก มาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้

โรคอ้วนในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงาน เป็นผลจากความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ได้รับและพลังงานที่เผาผลาญ ทำให้เกิดการสะสมพลังงานในรูปของ Triglycerides ในเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  1. พันธุกรรม พบว่า เด็กที่มีครอบครัว พ่อแม่พี่น้องอ้วนมีโอกาสที่จะเกิดโรคอ้วนได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้เชื่อว่า โรคอ้วนนั้นเป็นผลจากพันธุกรรมร่วมกันกับสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต
  2. ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ขาดฮอร์ดมนไทยรอยด์ มีฮอร์โมน กลูโคคอร์ติคอยด์เกิน ซึ่งมักพบในกลุ่มเด็กที่อ้วนและเตี้ยที่มีระดับสติปัญญาปกติ
  3. พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต เช่น รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. โรคหรือกลุ่มอาการที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย ได้แก่ โรคหรือกลุ่มอาการทางพันธุกรรม โรคของระบบต่อมไร้ท่อ

ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนในภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนด้านสังคมและจิตใจ

เด็กอ้วนมักจะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติในวัยเดียวกัน เพราะการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันในร่างกาย มีการศึกษาพบว่า เด็กที่เป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันมักจะมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ซึ่งเด็กอ้วนมักจะตัวโตกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้มักถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่ที่ไม่ทราบอายุจริงมากกว่าวัยที่แท้จริง ทำให้เพิ่มความวิตกกังวลกดดันในตัวเด็ก รวมทั้งอาจสะสมความรู้สึกผิด ความล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในตัวเด็กเองได้ง่าย ซึ่งผลนี้สามารถนำไปสู่ความไม่ภาคภูมิใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ความไม่กล้าในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ใหญ่และบุคคล รอบข้างแยกตัวออกจากเพื่อนฝูง มีอาการซึมเศร้า เฉื่อยชา การตัดสินใจทำอะไรก็มักจะช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ เกิดความยึดติดกับครอบครัวมากเกินไป หรือแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยภายในและภายนอก คือ

  1. ปัจจัยภายใน เป็นปัญหาที่เกิดจากตัวเด็กเอง เช่น เด็กที่อ้วนมักรู้สึกไม่พึงพอใจกับรูปร่างของตนเอง รู้สึกเป็นปมด้อยและทำให้ขาดความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันบ่อยครั้ง อาจจะมีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าเด็กที่น้ำหนักปกติ มักพบว่า เด็กอ้วนมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์แบบเก็บกดไว้ภายใน เด็กจะมีอาการเครียดวิตกกังวล หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน เช่น โรคกินมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอ้วนมากขึ้นและอาจจะแสดงออกทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์แบบตรงไปตรงมา เช่น แสดงความก้าวร้าว และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ฉุนเฉียวได้
  2. ปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากผู้อื่น ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน และค่านิยมของสังคมโดยเด็กมักรู้สึกแปลกแยกเมื่อเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนและมักใส่ใจกับสิ่งที่ผู้อื่นกระทำต่อตนเอง อย่างไรก็ตาม เด็กอ้วนมักได้รับการกระทำจากผู้อื่นในทางลบมากกว่าเด็กน้ำหนักปกติ เช่น เด็กอ้วนมักเป็นที่ล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งของเพื่อน ๆ ส่งผลให้เด็กอ้วนเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูงกว่า ที่สำคัญไปกว่านั้นการที่ครอบครัวมองว่า เด็กอ้วนเป็นปัญหา อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตอื่น ๆ ที่อาจส่งผลระยะยาวต่อตัวเด็กมากขึ้นไปอีก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *