การสร้างค่านิยมเกี่ยวกับความรักบนพื้นฐานของปัญญา วิธีการสร้างความรักแบบเมตตากรุณา

ความรักเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม แม้ว่า โดยหลักการของความรัก รักจะเป็นเรื่องของสีสัน ความงดงาม แต่ถ้าความรักเหล่านั้นถูกกระตุ้นจากแรงขับฝ่ายลบ หรือถูกกลบด้วยโมหะ กามราคะ และตัณหา ก็จะทำให้ผู้ตกอยู่ภายใต้ห้วงแห่งความรักเหมือนกับคนตาบอด มองไม่เห็นความถูกต้องเหมาะสม กลายเป็นการสร้างค่านิยมหรือปัญหาใหม่ให้แก่คนในสังคม ดังนั้น แนวคิดทางพระพุทธศาสนาจึงสอนกระบวนการของการใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความรัก จำเป็นต้องใช้ปัญญากำกับ เพื่อให้ความรักเป็นไปอย่างสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีหลักการที่ถูกต้อง

วิธีการสร้างความรักแบบเมตตากรุณา

เมตตาและกรุณาจัดเป็นความรักที่เป็นกุศล หรือความรักฝ่ายที่สร้างสรรค์ หากความรักประเภทนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญญา เพื่อให้เห็นว่า ความรักประเภทนี้เป็นสิ่งที่สร้างโลกและชีวิตให้งดงาม กระบวนการสร้างความรักประเภทนี้ ดังต่อไปนี้

  1. กระบวนการคิดแบบโยนิโส – มนสิการ เป็นวิธีการใช้ความคิดตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน หรือพูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ การใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนนั่นเอง เมตตาหรือความรักก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้กระบวนการข้อนี้ อย่างง่าย ๆ เลยก็คือ ความรักประเภทนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล มิฉะนั้น อาจกลายเป็นปัญหาเหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้ว
  2. การปลูกถ่ายไอรักให้แก่กัน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงขั้นตอนของการสร้างความรักประเภทนี้ไว้ 2 ขั้นตอน คือ
    1. การสร้างหรือการแผ่เมตตาให้ตัวเอง เป็นขั้นตอนของการทำความเข้าใจชีวิตของตัวเราเป็นสำคัญ กล่าวคือ ธรรมชาติทางจิตวิญญาณของเราต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ ไม่ต้องการมีเวร มีภัย กับผู้ใด เป็นต้น และธรรมชาติภายนอก คือ ร่างกายที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรัก ของหวงแหน ไม่มีใครหนีพ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เราเห็นค่าของชีวิตเราจะได้รักตัวเป็น ไม่ทำลายตัวเอง การที่คนทำลายชีวิตของตัวเองได้ ก็เพราะมองไม่เห็นค่าในชีวิตของตน ในขณะเดียวกันก็จะหาทางพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณของตนให้เจริญขึ้น
    2. การสร้างหรือแผ่เมตตาให้แก่ชีวิตอื่น เป็นขั้นตอนของการถ่ายไอรัก คือ การตั้งความรัก ความปรารถนาดีไปยังบุคคลอื่นที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะพวกพ้องของตัวเอง แต่เป็นสรรพชีวิตทั้งคน สัตว์ เทวดา เปรต อสุรกาย สัมภเวสี และสัตว์นรกทุกประเภท อันจะส่งผลให้เราเข้าใจชีวิตอื่นทั้งทางด้านจิตวิญญาณและธรรมชาติทางร่างกายที่มีความสอดคล้องกับเรา และจะทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตอื่น เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันก็จะนำไปสู่ข้อยุติคือ การให้อภัยต่อกัน ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เราได้แนวทางที่จะทำ พูด คิดต่อ ผู้อื่นด้วยความรัก ความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง
  3. การสร้างความรักให้เป็นค่านิยมแบบสากล ความรักประเภทนี้ต้องได้รับการสืบสานอย่างถูกต้อง และต้องสืบต่อให้เป็นค่านิยมทางสังคมจนกลายเป็นพลังสากล ที่เรียกว่า “พลังแห่งความรักสากล” (อัปปมัญญาเมตตา) และพลังแห่งความสงสารสากล (อัปปมัญญากรุณา) อันจะเป็นพลังที่ทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ที่เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง คงไม่ต้องไปดูอะไรให้ไกลนัก เราคงจะได้เห็นพลังของความรักประเภทนี้แล้ว เมื่อครั้งที่เกิดพิบัติภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยที่คนไทยทั่วประเทศและคนในประเทศต่าง ๆ ได้ส่งกำลังใจ สิ่งของ บริจาคเงิน และเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมอย่างล้นหลาม เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของพลังแห่งความรัก ประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะความรักประเภทนี้ เป็นความรักที่ประสานความสุขของเรากับความสุขของผู้อื่นเข้าด้วยกัน ดังข้อสรุปของพระธรรมปิฎกที่ว่า “เมตตา (กรุณา) เป็นความรักที่ทำให้ความสุขของเรากับความสุขของผู้อื่นประสานสัมพันธ์เข้าด้วยกัน เพราะความสุขของเราอยู่ที่เห็นผู้อื่นมีความสุข เมื่อเขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย”

ความรักประเภทนี้ใช้หรือไม่ที่ทุกฝ่ายควรส่งเสริมให้เป็นค่านิยมของทุกสังคมจนกลายเป็นค่านิยมของสังคมโลก ไม่ใช่ไปสร้างค่านิยมเรื่องความรักที่กระตุ้นให้คนเมามัว หรือหมกมุ่นในเรื่องเพศที่จบลงด้วยความสูญเสียและพยายามป้องกันค่านิยมและบำเหน็จทางสังคมที่เป็นปัจจัยคุกคามและก่อให้เกิดปัญหาแก่คนอื่นและสังคมต่อไป

การสร้างความรักแบบปิยะ

ความรักประเภทนี้ เป็นความรักอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญยิ่งในทุกสังคม เพราะเป็นหลักการที่จะเชื่อมประสานหรือหลอมรวมคนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เนื่องจาก ทุกคนเป็นที่รักของกันและกัน โดยมีกระบวนการสร้างความรักประเภทนี้ ตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น

  1. การสร้างความรักบนพื้นฐานของทาน การให้เป็นเรื่องแรกในอนุบุพพีกถาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทานเป็นพื้นฐานสำคัญของชาวโลก และโลกเราขาดหลักการข้อนี้ไม่ได้ เหตุผลที่กล่าวเช่นนี้ ก็คือ มนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตตามลำพังเพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น การที่มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าจำเป็นต้องมีหลักการพื้นฐานข้อนี้ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ดังนั้น การให้จึงเป็นหลักการข้อหนึ่งที่จะทำให้ผู้ให้เป็นที่รักของผู้รับ เนื่องจาก เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจคนประการหนึ่งตามหลักสังคหวัตถุธรรม นอกจากนี้ การให้ยังขยายวงกว้างออกไปถึงการให้ความรู้ คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ (ธรรมทาน) และการให้อภัยไม่ถือโทษโกรธ อาฆาต พยาบาทจองเวรกันด้วย (อภัยทาน) เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นหลักที่สร้างคนให้เป็นที่รักของกันและกันทั้งสิ้น
  2. การสร้างความรักบนหลักการของศีล ศีลเป็นหลักการอีกข้อหนึ่งที่จำเป็นยิ่งต่อทุกสังคม เนื่องจากเป็นหลักการที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ปราศจากการเบียดเบียนล่วงละเมิดในสิทธิอันชอบธรรมของกันและกัน และศีลนี้เองถ้ามุ่งไปที่ปัจเจกชนก็จะได้ข้อสรุป เป็น 2 ประเด็นหลัก คือ เป็นข้อฝึกหัดกาย วาจาของคนให้เป็นปกติ และเป็นหลักการที่พัฒนาคนให้เป็นคนที่มีความงาม และคนที่มีความงาม ด้วยศีลนี้เองย่อมเป็นที่รักใคร่ของคนดีโดยทั่วไป เนื่องจาก บุคคลที่มีศีลจะมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียนหรือล่วงละเมิด ทรัพย์สิน คู่ครองของผู้อื่นไม่โกหก หลอกลวงผู้อื่น และไม่ทำลายตัวเองด้วย การเสพสิ่งมึนเมา ส่งผลให้บุคคลที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลเป็นที่รัก เคารพนับถือของคนทั้งหลาย
  3. การสร้างความรักบนพื้นฐานของภาวนา เป็นการสร้างความรักที่มุ่งถึงความงดงามด้านจิตใจเป็นสำคัญ โดยมีหลักการสร้าง 2 ประการใหญ่ ๆ คือ หลักของสมถกรรมฐาน เป็นวิธีหรืออุบายที่จะสร้างความมั่นคงทางจิตหรือทำให้จิตเกิดสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งซึ่งมีทั้งหมด 40 ประการ ส่งผลให้ผู้ฝึกมีจิตเป็นสมาธิ มีจิตที่เข้มแข็ง สามารถต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคของชีวิต ควบคุมอารมณ์ของตนได้เป็นอย่างดี ตลอดกระทั่งรักษาดุลยภาพของจิต ไม่ให้ขึ้นลงไปตามอำนาของอารมณ์ทั้งเชิงบวกและลบและวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง การพัฒนาจิตที่เป็นสมาธิให้เกิดปัญญาจนเข้าถึงความเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง รู้เท่าทันความเป็นจริงในทุกเรื่อง หลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งทั้งปวง และสามารสลัดกิเลสอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งมวลของชีวิตได้ ถือว่า เป็นผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความรักอย่างสูงสุดที่แสดงออกมาในรูปของกรุณา คือ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับความทุกข์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสัตว์

ฉะนั้น (รวมเมตตาอยู่ในกรุณาด้วย) พื้นฐานของความรัก คือ ทาน ศีล และภาวนาที่กล่าวแล้วนี้ ถ้าจะให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์จำเป็นต้องปลูกถ่ายให้เป็นค่านิยมของสังคมไปโดยปริยาย หมายความว่า ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจและหามาตรการในการรณรงค์การสร้างค่านิยม ความรักแบบปิยะให้ถูกต้องตามหลักการที่กล่าวมา ซึ่งก็จะช่วยให้สังคมดีขึ้นในหลายด้าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *