วิธีการสร้างความรักแบบฉันทะ การสร้างความรักแบบเปมะและสิเนหา

วิธีการสร้างความรักแบบฉันทะ

การสร้างฉันทะ หรือความรัก ความพึงพอใจที่จะทำเรื่องที่ดีงาม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคมให้สำเร็จ ถ้าพูดในบริบทของความรักฉันหนุ่มสาวก็จะได้กรอบสั้น ๆ ว่า คู่รักจะต้องทำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน โดยมีกระบวนการสร้างความรักประเภทนี้ดังต่อไปนี้

  1. ขั้นที่หนึ่ง เป็นขั้นของการใช้ปัญญามองให้เห็นคุณค่าของความรักประเภทนี้ ว่ามีผลดีอย่างไร ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร แนวคิดนี้สามารถศึกษาได้ในหลักจากอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ขั้นตอนของการใช้ปัญญาในอิทธิบาท 4 อยู่ในข้อวิมังสา เนื่องจาก เนื้อหาของธรรมะข้อนี้มุ่งให้คนใช้ปัญญาตรวจสอบในทุกกระบวนการของการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างถี่ถ้วน
  2. ขั้นที่สอง เป็นขั้นที่ลงมือปลูกฝังความรักให้เป็นมโนสำนึกโดยผ่านมิติของการมองเห็นคุณค่า ซึ่งจะทำให้เราเกิดความบากบั่นที่จะสร้างความรักประเภทนี้ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ สามารถแปรผลออกมาเป็นพฤติกรรมที่สร้างสรรค์เรื่องที่ดีงามต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ถูกต้องเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง (ขั้นตอนของวิริยะและจิตตะ)
  3. ขั้นที่สาม เป็นขั้นที่ถ่ายความรักให้แก่คนอื่น หมายถึง การสร้างค่านิยมเกี่ยวกับฉันทะให้แก่บุคคลอื่น เริ่มต้นจากบุคคลที่ใกล้ชิดจนถึงคนอื่น ๆ ในสังคม ตรงนี้ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกันหมด เริ่มต้นตั้งแต่พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของความรักประเภทนี้ทั้งในแง่ของพฤติกรรมทางกาย และการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ถูกต้องแก่ลูก สถาบันการศึกษาต้องเน้นให้กระบวนการศึกษาโดยทุกเนื้อหาวิชามุ่งสร้างจิตสำนึกให้คนเกิดฉันทะ กลุ่มเพื่อนต้องปลูกถ่ายค่านิยมเรื่องฉันทะให้แก่เพื่อน ภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายควรเน้นหนักไปที่นโยบายที่จะทำให้คนเกิดค่านิยมเรื่องฉันทะ มิใช่ค่านิยมแห่งการรอคอย เพ้อฝันหรือยึดติดกันสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือชีวิต จนกลายเป็นชีวิตที่หยุดนิ่ง ไม่มีความพยายามที่จะลุกขึ้นสู้

หลักการสร้างความรักที่เป็นกุศลทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่นั้น คุณค่าของความรักที่กล่าวมา อย่าลืมว่า ถ้าเรามองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของเรื่องใดก็ตาม การที่เราจะลงลึกเข้าไปถึงขั้นของการปฏิบัติตามเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น เรื่องการใช้ปัญญาพิจารณาความรักที่เป็นกุศลจนมองเห็นคุณค่าของความรักจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนคนนั้นสร้างพลังแห่งความรักเหล่านี้ขึ้นมา และถ้าทุกคนเห็นร่วมกัน การที่จะสร้างค่านิยมเรื่องความรักเหล่านี้ให้เป็นค่านิยมของคนในสังคมก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก และจะเป็นพลังแห่งความรักที่นำประโยชน์มาให้แก่มวลมนุษยชาติและสังคมโลกอย่างมหาศาล เพราะความรักนั้นเป็นความรักสากลที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและรอยยิ้ม ปราศจากพรมแดนหรืออำนาจผลประโยชน์ใดมาขวางกั้น

การสร้างความรักแบบเปมะและสิเนหา

ปัญหาที่เกิดจาความรักประเภทเปมะและสิเนหาในหัวข้อเรื่องประเภทและความหมายของความรักไปแล้ว ความรักประเภทนี้แม้จะถูกกล่าวว่า เป็นอกุศลก็ตาม แต่ถ้ามองในแง่ของโลกปุถุชนก็ดูเหมือนว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียหายอะไร แต่ความรักประเภทนี้ก็ต้องมีขอบเขตอยู่เหมือนกัน แม้ว่า จะเป็นเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนก็ตาม ถ้านำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาวิจารณ์ก็จะได้ข้อสรุปได้ว่า ความรักประเภทนี้ก็ยังสามารถทำให้เป็นความรัก ประเภทกุศลได้เช่นกัน แนวทางการสร้างความรักประเภทนี้ให้ถูกต้อง สวยงาม ไว้เป็นกรณีศึกษา 2 ประเด็นด้วยกัน คือ

  1. ความรักต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่ถูกต้อง หมายความว่า กระบวนการของความรักจะต้องอยู่ในกรอบของตัวปัญญาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าเราพูดในบริบทของวัฒนธรรมไทยก็จะพบหลักการที่สอดคล้องกับเรื่องที่บรรพบุรุษไทยได้สอนให้ชายหญิงดูใจหรือศึกษากันและกันให้ดีก่อน บางรายศึกษาดูใจกันหลายปี จึงตกลงใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา ถ้านำประเด็นนี้มาเปรียบเทียบกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาก็จะเข้ากับหลักสมชีวิธรรม เป็นหลักธรรมที่จะทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืนตลอดไป เนื่องจากเป็นหลักที่เน้นให้คนใช้ปัญญาพิจารณาบุคคลที่จะมาเป็นคู่ครองของตน ซึ่งจะต้องมีอะไรหลายอย่างที่ไปด้วยกันได้ ซึ่งในหัวข้อธรรมนี้ท่านแสดงไว้ 4 ประการ คือ
    1. มีความเชื่อเหมือนกัน (สมสัทธา) หมายถึง มีความเชื่อที่ประกอบด้วย ปัญญาเหมือนกัน ไม่มีความขัดแย้งกันเรื่องความเชื่อ เช่น นับถือศาสนาเดียวกัน เป็นต้น
    2. มีความประพฤติดีเหมือนกัน (สมสีลา) หมายถึง เป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ในระเบียบวินัย กฎกติกาอันชอบธรรมของสังคม
    3. มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหมือนกัน (สมจาคา) หมายถึง มีจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจ พร้อมที่จะเสียสละสิ่งของให้แก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากตามความเหมาะสมเหมือนกัน
    4. มีปัญญาเสมอกัน (สมปัญญา) หมายถึง มีเหตุผล ยอมรับเหตุผล พูดจากันด้วยเหตุผล สามารถเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่กันได้เป็นอย่างดี
      • หลักการทั้ง 4 ข้อนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการที่เราจะเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตอันจะสร้างความรักให้มั่นคง ยืนยาวตราบจนวันตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ปัญญาเลือกบุคคลให้ดี มิฉะนั้น จะกลายเป็นความรักแบบฉาบฉวยประเภทเจอปุ๊บรักปั๊บเลย อาจทำให้ความรักนั้นไม่มั่นคง กลายเป็นความรักจอมปลอมที่แฝงด้วยผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ้องจะแสวงหา
  2. ความรักต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของจาคะ เป็นการสร้างความรักที่พร้อมจะให้ พร้อมที่จะเสียสละ แต่มิใช่เสียสละแบบขาดปัญญา ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า “จาคะ” ให้ถูกต้องเสียก่อน จาคะในที่นี้มีอยู่ 2 ประการ
    1. การสละหรือให้สิ่งของ (อามิสจาคะ) หมายถึง การให้สิ่งของเป็นการแลกเปลี่ยน ยึดเหนี่ยว สานสัมพันธ์ความรักให้แน่นแฟ้น มั่นคง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ แต่ในเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี การให้ต้องมีขอบเขต มิใช่ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งร่างกายตัวเอง จริงอยู่ในบางแห่งจะเห็นหลักคำสอนเรื่องนี้ว่า คนที่รักกันก็พร้อมที่จะเสียเวลาให้แก่กัน แม้กระทั่งชีวิตซึ่งดูเหมือนว่า ค่านิยมของคนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องความรักมักจะมุ่งไปในประเด็นนี้เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ดูเหมือนว่า จะขาดปัญญาไปในบางเรื่องบางประเด็น ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้น แต่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักการข้อนี้ก็คือ การให้ต้องมีวิจารณญาณ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “การเลือกให้เป็นสิ่งที่พระองค์ (พระสุคต) ทรงสรรเสริญ”
    2. การสละความไม่ดีความชั่วร้ายภายในจิตใจ (กิเลสจาคะ) หมายถึง คนที่มีความรักต้องคำนึงถึงข้อนี้เป็นสำคัญ และดูเหมือนว่า จะเป็นเรื่องหลักที่พระพุทธศาสนาเน้นหนัก เนื่องจาก เป็นหลักการที่จะทำให้ชีวิตคู่หรือคนที่เริ่มมีความรักต่อกันสานสัมพันธ์กันต่อไปอย่างยั่งยืน เช่น สละความเกียจคร้าน ความมักง่าย ความเห็นแก่ตัว ความขี้หงุดหงิด อิจฉาริษยา เป็นต้น เมื่อถูกอีกฝ่ายหนึ่งขอ เช่น ฝ่ายหญิงขอให้ชายคนรักเลิกจากอบายมุข ถ้าฝ่ายชายรักฝ่ายหญิงอย่างจริงใจจะต้องจาคะ คือ เลิกจากอบายมุขตามที่ฝ่ายหญิงขอร้องได้ เป็นต้น

จากหลักการสร้างความรักแบบจาคะทั้ง 2 ประการนี้ เรื่องที่ต้องรณรงค์หรือสร้างค่านิยมให้เป็นบรรทัดฐานด้านความรักของคนในสังคมก็คือ ความรักที่พร้อมที่จะสละความไม่ดี ไม่งาม ความเลวในตัวของแต่ละคนออกไป เพื่ออนาคตที่ก้าวหน้าและความรักที่สดใส ยั่งยืน มิใช่หลงประเด็นไปสร้างความรักที่มีโมหะเป็นพื้นฐาน อันจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ แต่ต้องประคับประคองเรื่องความรักให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นไปเพื่อการถนอมความรัก มิใช่ปล่อยให้ความรักเกินขอบเขต แต่ต้องมีสติ และสามารถห้ามใจตัวเอง อย่าให้ตกเป็นทาสของตัณหาและราคะที่จะผลักดันให้ความรักลงเอยด้วยความใคร่ คือ การมีเพศสัมพันธ์กัน

จากหลักการที่กล่าวมาทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า ความรักทุกประการในพระพุทธศาสนาจัดเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจ เนื่องจากความรักทุกประเภทล้วนมีอิทธิพลต่อความเจริญก้าวหน้าและความถดถอยของชีวิตได้ทั้งสิ้น ความรักที่ถูกต้องในทัศนะของพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นความรักที่เป็นกุศลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญญาไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์หรือความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ส่วนความรักที่เป็นอกุศลเป็นเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวัง หาทางป้องกันและปรับให้เป็นความรักที่เป็นกุศลแทน เพื่อไม่ให้ความรักประเภทนี้กลายมาเป็นยาพิษที่ทำลายชีวิตและสังคม เมื่อนั้นเราก็เห็นความรักที่ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ เป็นความรักที่บริสุทธิ์ใจที่จะสร้างสีสันให้แก่ชีวิตและสังคมได้อย่างงดงามยิ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *