การวางแผนครอบครัว วิธีการคุมกำเนิด

“การที่ชายหญิง หรือคู่สมรส ที่จะอยู่ร่วมกันและได้วางแผนร่วมกันว่า พร้อมที่จะมีลูกด้วยกันเมื่อใด และจะมีลูกด้วยกันกี่คน จึงจะสามารถที่จะเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีคุณภาพ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เพราะเมื่อชายหญิงทั้งคู่ซึ่งหากยังไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก ดังนั้น ก็ควรจะใช้วิธีการวางแผนการคุมกำเนิด ที่เหมาะสมกับตนเองและคู่สมรส เพื่อเป็นการที่จะรอเวลาที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ หรือการที่จะเว้นระยะการมีลูกคนต่อไปไว้ก่อน

วิธีการคุมกำเนิด

วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับเพศชาย

1.ถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่ใช้ได้ง่าย สะดวกและปลอดภัยทุกสถานการณ์ นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ด้วย

วิธีการใช้ถุงยางอนามัย
  • หยิบถุงยางอนามัยออกจากซองใช้มือบีบปลายถุงยางไล่ลมออกแล้วครอบไปบนปลายอวัยวะเพศ ในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัว โดยให้ขอบที่ม้วนอยู่ด้านนอก
  • รูดขอบถุงยางที่ม้วนอยู่ด้านนอกเข้าหาตัวจนสุด แล้วจึงจะสอดอวัยวะเพศเข้าไปในช่องคลอดได้และเมื่อหลั่งน้ำอสุจิแล้วให้ถอนอวัยวะเพศออกก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัว โดยใช้มือจับที่ชอบถุงยาง เพื่อกันไม่ให้น้ำเชื้อเลอะออกมานอกถุงยาง แล้วจึงถอดถุงยางออก ระวังอย่าให้น้ำอสุจิไหลออกมาเปรอะเปื้อนช่องคลอด
  • ห่อถุงยางที่ใช้แล้วให้มิดชิด แล้วทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย

2.หมันชาย

วิธีนี้เป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดถาวร จึงเหมาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเพียงพอแล้ว การทำหมันชายจะทำที่บริเวณลูกอัณฑะโดยเจาะถุงลูกอัณฑะตรงกลาง แล้วคีบดึงท่อน้ำเชื้ออสุจิแต่ละข้างขึ้นมาผูก และตัดท่อทางเดินน้ำเชื้ออสุจิ ซึ่งจะทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเล็ดลอดออกมาผสมกับไข่ได้ หลังทำหมันแล้ว จะยังคงมีตัวอสุจิค้างอยู่ในท่อทางเดิน ดังนั้น ในระยะ 3 เดือนหลังทำหมัน ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย จึงจะป้องกันการตั้งครรภ์อย่างได้ผล หรือจะให้แน่ใจ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจน้ำเชื้อว่า ไม่มีตัวอสุจิแล้ว

วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับเพศหญิง

1.ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราววิธีหนึ่งที่เหมาะกับผู้หญิงทั้งที่มีลูกแล้วและยังไม่มีลูก แต่มีข้อห้ามสำหรับบางคนที่มีโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะมาก อ้วนมาก โรคตับ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทานยาแผงแรกควรพบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่าเหมาะสมจะรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

โดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด แผงแรกให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ 5 ของรอบเดือนในเดือนนั้น และวันต่อมา ให้รับประทานยาเรียงไปตามลูกศรวันละ 1 เม็ด จนหมดแผงเมื่อหมดแผงแรกให้หยุด 7 วัน แล้วจึงเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ ไม่ว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่มาก็ตาม
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด แผงแรกให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ 5 ของรอบเดือนในเดือนนั้น วันต่อมา รับประทานยาเรียงไปตามลูกศรวันละ 1 เม็ดจนหมดแรง แล้วเริ่มแผงต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องหยุดยา หรือคำนึงถึงประจำเดือน

ผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดส่วนใหญ่ ประจำเดือนจะมาปกติทุกเดือน จำนวนไม่มากนัก และมาอย่างสม่ำเสมอ

ยาเม็ดคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ เพราะมีส่วนช่วยยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น จนตัวอสุจิผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ยาก และทำให้เยื่อบุมดลูกไม่เจริญเต็มที่

สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน หรือยาเม็ดคุมกำเนิดที่รับประทานหลังการ่วมเพศนั้น ไม่ควรใช้เป็นประจำ เพราะนอกจากจะมีผลต่อการคุมกำเนิดต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดธรรมดาแล้ว ยังจะมีผลต่อการมีประจำเดือน คือ จะมีเลือดออกผิดปกติ คลื่นไส้ และถ้าใช้ผิดวิธี จะไม่สามารถป้องกัน การตั้งครรภ์ได้

2.ยาฉีดคุมกำเนิด

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีลูกแล้ว หรืออยู่ในระยะหลังคลอด และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดได้

ยาฉีดคุมกำเนิดแต่ละเข็ม จะมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3 เดือน ผลข้างเคียงที่พบ คือ บางคนอาจมีประจำเดือนน้อยลง หรือออกกะปริบกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือนมาเลย

3.ยาฝังคุมกำเนิด

ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดชั่วคราวอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีลูกแล้ว สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 3 ปี

ก่อนฝังยา แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ถ้าไม่มีข้อห้ามใด ๆ และจะฝังหลอดยาขนาดเล็กบริเวณต้นแขนด้านในเหนือข้อศอก โดยจะฉีดยาชาก่อนฝังยา หลังการฝังยาสามารถทำงานได้ตามปกติ บางคนอาจมีอาการข้างเคียงของประจำเดือนเหมือนกับยาฉีดคุมกำเนิด คือ มีเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือไม่มีเลย

ควรรับการฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือน หรือภายหลังแท้งไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์

4.ห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดชั่วคราวเหมาะสำหรับผู้หญิงที่เคยมีลูกแล้ว เพราะปากมดลูกจะกว้างกว่าคนที่ไม่เคยคลอดลูก สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3 – 8 ปี

ห่วงอนามัย ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีทั้งชนิดรูปร่างคล้ายตัว T และคล้ายสมอเรือ ทั้ง 2 ชนิดมีลวดทองแดงพันที่แกนและแขนทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ตอนปลายของห่วงมีสายไนล่อน สำหรับผู้ที่ใส่ห่วงสามารถตรวจด้วยตนเองทุกเดือน หลังหมดประจำเดือน

5.หมันหญิง

การทำหมันหญิง คือ การคุมกำเนิดชนิดถาวร โดยการผูกและ/หรือตัดท่อนำไข่ทำให้ท่อตัน ไข่และตัวอสุจิไม่สามารถมาพบและผสมกันได้

หมันหญิง สามารถทำได้ 2 ช่วง คือ ช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ หรือภายใน 48 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า “หมันเปียก” เป็นการทำหมันทางหน้าท้อง โดยผ่านลงไปในช่องท้องตรงใต้สะดือ

ส่วนอีกช่วงที่ทำได้ คือ ช่วงเวลาปกติ คือ จะทำหมันในระยะใดก็ได้ เรียกว่า “หมันแห้ง” มักจะผ่านลงไปในช่องท้องเหนือหัวเหน่า

หลังจากทำหมันหญิงแล้ว จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที และประจำเดือนจะมาตามปกติ มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิมทุกประการ

6.การนับวันหรือนับระยะร่วมเพศ

วิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีรอบประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอและจะต้องรู้วันที่มีไข่สุกแน่นอน ซึ่งควรบันทึกการมีประจำเดือน ในรอบ 1 ปีไว้ก่อน เพื่อหาค่าเฉลี่ยของวันไข่สุก จะได้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในวันที่มีไข่สุก ซึ่งเป็นช่วงที่ตั้งครรภ์ได้หรือจะใช้วิธีนับ 7 วันก่อนหรือหลังของรอบประจำเดือน ซึ่งเป็นระยะปลอดภัยที่สามารถร่วมเพศได้โดยไม่ตั้งครรภ์ แต่วิธีนี้มีโอกาสที่จะผิดพลาดและเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงมาก

กรณีที่คู่สมรสแต่งงานมานานกว่า 2 ปีแล้ว ยังไม่มีลูกและต้องการมีลูก สามารถตรวจสอบว่า เป็นคู่สมรสที่อยู่ในภาวการณ์มีบุตรยากหรือไม่ ดังนี้

  1. มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง (ใช่ หรือ ไม่ใช่)
  2. ไม่ได้คุมกำเนิดมาอย่างน้อย 2 ปี (ใช่ หรือ ไม่ใช่)
  3. อายุน้อยกว่า 35 ปี และต้องการมีลูก (ใช่ หรือ ไม่ใช่)

**หากคู่สมรสตอบว่า ใช่ 2 ใน 3 ข้อ กรุณาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือปรึกษาแพทย์**

สำหรับคู่สมรสที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ไม่ได้คุมกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ควรไปพบแพทย์ก่อน 2 ปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *