เรื่อง “เพศ” “เพศศึกษา”

เรื่อง “เพศ” เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน ดังนั้น มนุษย์จึงมีสิทธิที่จะรับรู้ เข้าใจ และเป็นสุขกับเพศตนเอง ภายใต้จริยธรรมของสังคมและสิทธิของบุคคลอื่น

ความสนใจเรื่องเพศก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เด็กเล็ก ๆ เริ่มถามเรื่องเพศ และเมื่อโตขึ้นก็จะพยายามหาความรู้เพิ่มขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หลายคนเรียนรู้จากสื่อที่ไม่เหมาะสม เช่น การ์ตูน หนังสือปลุกใจ นวนิยายทางเพศ โทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ฯลฯ สื่อส่วนใหญ่เหล่านี้มักสร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศและสร้างอารมณ์เพศมากกว่าจะให้ความรู้ทางเพศอย่างถูกต้อง และบางครั้งอาจทำให้เกิดการเรียนรู้ผิด ๆ เช่น ความวิปริตทางเพศต่าง ๆ

ปัจจุบันนักจิตวิทยาพัฒนาการได้ศึกษาและสรุปว่าการเรียนรู้เรื่องเพศจากพ่อแม่หรือครูเป็นสิ่งที่เหมาะสม ช่วยให้เด็กในวัยต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องเพศ จะได้ปฏิบัติตัวได้เหมาะสมตามพัฒนาการทางเพศ และป้องกันปัญหาทางเพศที่อาจเกิดขึ้น

พัฒนาการทางเพศ

อายุ 1 – 2 ปี

เรียนรู้ที่จะรู้จักความรัก ความผูกพันและสร้างความไว้วางใจแม่ ผ่านพฤติกรรมของแม่ (การมอง พูด คุย อุ้ม สัมผัส สีหน้า ท่าทาง แววตา ฯลฯ) ที่คอยตอบสนองอย่างพอเหมาะต่อความต้องการพื้นฐานของเด็ก เริ่มเรียนรู้ว่า ใครักหรือไม่รัก ไว้ใจได้หรือไม่ได้

หน้าที่ของพ่อแม่

เลี้ยงลูกด้วยความรัก ให้ความอบอุ่น สัมผัสโอบอุ้มตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

อายุ 3 – 5 ปี

รู้จักเพศตัวเองชัดเจน ว่าตนเป็นเพศใด เริ่มมีความสนใจเรื่องเพศอย่างเปิดเผยตามธรรมชาติ มักมีคำถามเรื่องเพศ เช่น “หนูมาจากไหน” “ทำไมน้องไม่มีจู๋” ฯลฯ มีความอยากรู้อยากเห็ฯ อยากลอง เด็กผู้ชายหลายคนเริ่มสำรวจตัวเองและมีพฤติกรรมเล่นอวัยวะเพศ

หน้าที่ของพ่อแม่

ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา และใช้ภาษาง่าย ๆ สั้น ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องบทบาททางเพศ และเลี้ยงลูกให้ถูกต้องตามเพศ

อายุ 6 – 10 ปี

เมื่อถึงวัยนี้ เด็กจะมีความรู้สึกว่า ตนเป็นเพศใด และเริ่มมีบทบาทที่เหมาะสมกับเพศของตน และรู้จักพัฒนาตนเองให้เข้ากับเพื่อนเพศเดียวกัน (โดยสนใจกิจกรรม รวมทั้งมีความคิดฝันทางเพศร่วมกับเพื่อนได้) มีการเล่าสมมติเป็นพ่อแม่หรือสามีภรรยาในหมู่เพื่อน มีการใช้คำพูดแปลก ๆ มากขึ้น สนใจเรื่องเพศ ความรู้เรื่องเพศได้มาจากหนังสือ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ เด็กจะค้นพบความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย

หน้าที่ของพ่อแม่

สอนให้เด็กเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างเพศ และทำตัวให้เหมาะสมกับเพศของตน

วัยรุ่น

มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนอย่างมาก เด็กผู้หญิงจะเริ่มมีหน้าอกก่อน จึงจะมีประจำเดือน เด็กผู้ชายเสียงจะแตก อวัยวะเพศเติบโตเต็มที่ และมีการหลั่งอสุจิ (ฝันเปียก) จะมีความรู้สึกทางเพศและมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น (ความต้องการทางเพศเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่จะถูกทำให้มีมากหรือน้อยขึ้นกับประสบการณ์ทางเพศและสื่อต่าง ๆ ที่มากระตุ้น)

วัยรุ่นจะให้ความสนใจเพศตรงข้ามมากขึ้น มีการวมกลุ่มตามความสนใจ ทัศนคติ ฯลฯ และในเพศชายส่วนใหญ่มีพฤติกรรมสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง จะมากว่าเพศหญิง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในการระบายความต้องการทางเพศของมนุษย์

หน้าที่ของพ่อแม่

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของวัยรุ่นยอมรับฟังความคิดและเหตุผลของลุก สอนหรือแนะนำโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ลูกยอมรับและควรหลีกเลี่ยงการบังคับควรเสนอแนะทางออกให้ลูกโดยให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย

หลักการในการสอนเรื่องเพศกับลูก

  1. ไม่ดุว่าลูก เมื่อลูกถามเรื่องเพศ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติที่สามารถถามและพูดคุยกับพ่อแม่ได้
  2. ตั้งใจฟังลูกและตอบคำถามตามความเป็นจริง ด้วยกริยาท่าทางปกติเหมือนกับการพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไป
  3. อย่าคิดว่า การสอนลูกเรื่องเพศเป็นการกระตุ้นให้ลูกมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น เพราะได้มีการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า เด็กที่ได้รับความรู้เรื่องเพศจากพ่อแม่หรือครู จะมีเพศสัมพันธ์ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับความรู้เรื่องนี้
  4. หาโอกาสสอนลูกเรื่องเพศจากชีวิตประจำวัน เช่น จากหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ ทีวี นิตยสารต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อช่วยให้ลูกมีทักษะชีวิตที่ดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *