การรับประทานอาหารให้เหมาะสมสำหรับเด็กโรคอ้วน อ้วน

โรคอ้วน คือ การสะสมของไขมันในปริมาณมากเกินไปในร่างกายจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ โรคอ้วนเกิดจากการได้รับพลังงานจากการรับประทานมากเกินความต้องการของร่างกาย และมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อย โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว และสิ่งแวดล้อม

การสำรวจเด็กไทยที่อ้วนในช่วงอายะ 1 – 2 ปี มีความเสี่ยงจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีภาวะอ้วนเป็น 2 เท่าของเด็กวัยเดียวกันที่ไม่อ้วน และถ้าเด็กยังคงอ้วนถึงอายุ 3 – 5 ปี โอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่า[1]

การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย พ.ศ. 2560 พบว่า เด็กไทยอายุ 6 – 14 ปี บริโภคขนมกรุบกรอบ อาหารประเภททอด รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เป็นจำนวนมาก และจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่า เด็กไทยอายุ 6 – 14 ปี มีพฤติกรรมนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน และนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ อาจส่งผลให้เด็กเกิดโรคอ้วน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน

  1. ผิวหนัง มีรอยสีดำคล้ำบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ แสดงถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
  2. ระบบทางเดินหายใจ นอนกรน อาจมีการหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจาก มีไขมันสะสมรอบทางเดินหายใจ ส่งผลให้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ นอนหลับไม่สนิทในช่วงกลาง คือ ทำให้ง่วงหลับช่วงกลางวัน เรียนไม่รู้เรื่อง สมาธิสั้น การรักษาประคับประคอง คือ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ
  3. กระดูกและข้อ สะโพก ต้นขา และเข่ามีการผิดรูป เนื่องจาก น้ำหนักตัวที่มากเกินจะกดลงบนข้อ และกระดูก ทำให้มีอาการปวดข้อ ท่าเดินผิดปกติ ความยาวขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน การรักษา ประกอบด้วย การใส่กายอุปกรณ์และการผ่าตัด
  4. ภาวะแทรกซ้อนอื่น โรคไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันพอกตับ ทำให้ตับอักเสบและตับแข็ง โรคไต โรครังไข่เป็นถุงน้ำ ความดันในสมองสูงขึ้น การขาดแร่ธาตุและวิตามิน

การดูแลเด็กที่เริ่มอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน

การดูแลเด็กที่เริ่มอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 ด้าน ได้แก่

  1. การรับประทานอาหารให้เหมาะสม
  2. การเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย
  3. การลดพฤติกรรมแน่นิ่ง

โดยในบทความนี้ จะอธิบายถึง “การรับประทานอาหารให้เหมาะสมสำหรับเด็กโรคอ้วน” เท่านั้น

การรับประทานอาหารให้เหมาะสม มีหลักการ ได้แก่

  1. การลดอาหารพลังงานสูง คือ อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน น้ำตาล แป้ง
  2. การลดอาหาร และเครื่องปรุงที่มีเกลือ (หรือโซเดียม) สูง
  3. การเพิ่มอาหารพลังงานต่ำ

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารให้เหมาะสม ประกอบด้วย

  1. การหลีกเลี่ยงวิธีปรุงอาหารด้วยน้ำมันและไขมัน โดยเลือกใช้วิธีต้ม นึ่ง อบ ปิ้ง ย่าง แทนการทอด และหลีกเลี่ยงอาหารที่มี กะทิ เนย และเนยเทียม เป็นส่วนประกอบ
  2. การลดการรับประทานไขมันจากนม และผลิตภัณฑ์จากนม โดยเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย หรือนมรสจืดขาดมันเนย รวมทั้งโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ชนิดไขมันต่ำ และไขมัน 0% และหลีกเลี่ยงนมเปรี้ยว นมรสหวาน และนมถั่วเหลือง เนื่องจาก มีน้ำตาลสูง
  3. การเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดไขมัน หรือมีไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่ส่วนอก ปลา หมูเนื้อแดง
  4. การหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น กุนเชียง ไส้กรอกหมู ไส้กรอกไก่ หมูยอ แฮม เบคอน ซี่โครงหมูติดมัน เนื้อหมูติดมัน ไส้อั่ว และหลีกเลี่ยงการรับประทานหนังสัตว์
  5. การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้สำเร็จรูป น้ำชาเขียวพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาลทราย หรือน้ำเชื่อม หรือนมข้นหวาน เป็นต้น
  6. การหลีกเลี่ยงอาหารว่างที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม ช็อคโกแลต มันฝรั่งทอด โดนัท พิซซ่า ขนมน้ำกะทิ ขนมถุง ผลไม้ดอง เป็นต้น
    • เด็กควรเลือกรับประทานอาหารว่างที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น นมรสจืดพร่องมันเนย นมรสจืดขาดมันเนย ขนมที่ไม่หวานจัด ไม่เค็ม และไม่มันจนเกินไป ผลไม้สดรสไม่หวานจัด โดยไม่รับประทานเครื่องจิ้มต่าง ๆ เช่น น้ำตาลพริก เกลือ กะปิหวาน น้ำปลาปวาน ผงบ๊วย เป็นต้น
    • ตัวอย่างอาหารว่างที่ควรรับประทาน
      • ผลไม้รสไม่หวานจัด อาทิเช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ ฝรั่ง สาลี่ กล้วยน้ำว้า ส้ม
  7. การหลีกเลี่ยงอาหารจานเดียวที่มีไขมันและพลังงานสูง เช่น
    • ข้าวขาหมู (690 กิโลแคลอรี)
    • ผัดซีอิ้ว (658 กิโลแคลอรี)
    • ข้าวมันไก่ (596 กิโลแคลอรี)
    • ข้าวมันไก่ทอด (557 กิโลแคลอรี)
    • ข้าวผัก (561 กิโลแคลอรี)
    • ข้าวไข่เจียว (440 กิโลแคลอรี)
    • ข้าวหมกไก่ (481 กิโลแคลอรี)
    • ข้าวราดผัดกระเพราไก่ ไข่ดาว (545 กิโลแคลอรี)
    • ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ (603 กิโลแคลอรี)
    • ผัดไทย (557 กิโลแคลอรี)
    • สปาเกตตี้คาโบนาร่า (470 กิโลแคลอรี)
    • ผัดมักกะโรนี (536 กิโลแคลอรี)
  8. การเพิ่มการรับประทานผักในอาหารทุกมื้อ เนื่องจาก ผักมีพลังงานต่ำ มีเส้นใยอาหาร ซึ่งจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว รับประทานอาหารอื่นได้น้อยลง และผักมีวิตามินและแร่ธาตุ

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยน ดังนี้

  1. ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้อง
  2. การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมโดยไม่มีการกักตุนน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน
  3. การให้กำลังใจและชมเชยเมื่อเด็กมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง
  4. การไม่ให้อาหารเป็นรางวัลแก่เด็กที่มีภาวะอ้วน

ขอขอบคุณที่มาบทความ “คำแนะนำการบริโภคอาหารสำหรับเด็กโรคอ้วน” โดยสาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


[1] ลัดดา เหมาะสุวรรณ, 2548. การให้อาหารเด็ก 1 – 5 ขวบ.ในสาหรี่ จิตตินันท์ และลัดดา เหมาะสุวรรณ (บรรณาธิการ), แนะแนวการอบรมเลี้ยงดูเด็ก จากแรกเกิดถึง 5 ปี (หน้า 131 – 146). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *