การประกันภัยรถยนต์ คือ อะไร

การประกันภัยรถยนต์ คือ การประกันความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์ โดยการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2536 โดยมีจุดมุ่งหมายก็เพื่อคุ้มครองผู้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยจากรถยนต์ เนื่องจาก รถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจาก สิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์คันนั้น นอกจากนี้ ยังมีการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่ผู้เอาประกันภัยและสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้หลายรูปแบบตามความต้องการ

การประกันภัยรถยนต์ มีกี่ประเภท? แตกต่างกันอย่างไร?

การประกันภัยรถยนต์ มี 2 ประเภท คือ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

  1. การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หมายถึง การที่เจ้าของรถแต่ละคันต้องจัดให้มีประกันภัยตามความคุ้มครองที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้แก่ การประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “การประกันภัย พ.ร.บ.” เป็นการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้เจ้าของรถยนต์ ซึ่งใช้รถยนต์ หรือมีรถยนต์ไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. (เว้นแต่ รถยนต์ที่ พ.ร.บ.ฯ ระบุยกเว้นไว้ เช่น รถยนต์ของสำนักพระราชวัง รถยนต์สำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ รถยนต์ของกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น) มิเช่นนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมายถึง การที่เจ้าของรถแต่ละคันตัดสินใจทำประกันภัยรถยนต์ของตนด้วยความสมัครใจ เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวรถ และ/หรือความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอก

ความคุ้มครองเบื้องต้น ครอบคลุมอะไรบ้าง?

การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถว่า หากได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย จากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุกติดตั้งมากับรถนั้นก็จะได้รับการชดใช้ และเยียวยาในความคุ้มครองภายใต้การประกันภัย พ.ร.บ.นี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัย และได้แบ่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ค่าเสียหายเบื้องต้น บริษัทประกันวินาศภัยจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกายให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับการร้องขอ โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นดังต่อไปนี้
    1. ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อหนึ่งคน
    2. ค่าทดแทนกรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
    3. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
  2. ค่าสินไหมทดแทน ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามข้อนี้ต้องรอพิสูจน์ความรับผิดก่อน ฝ่ายใดที่เป็นฝ่ายผิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
    1. ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าอนามัยของผู้ประสบภัยตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาทต่อหนึ่งคน
    2. ค่าทดแทนการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร ค่าปลงศพให้แก่ผู้ประสบภัยเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาทต่อหนึ่งคน
    3. ค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วันต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ แบ่งความคุ้มครองเป็น 5 ประเภท ดังนี้

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เป็นการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม และสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเภทอื่น ๆ โดยให้ความคุ้มครอง 3 หมวดหลัก ดังนี้

  1. หมวดการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก
    1. ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกินวงเงินสูงสุดตามการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
    2. ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ไม่รวมถึงที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยในขณะเกิดอุบัติเหตุ คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัย หรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม ครอบครอง
  2. หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหายไฟไหม้ ไม่ว่าจะเสียหายทั้งคัน หรือบางส่วน เช่น กระจกมองข้างรถถูกขโมย สะเก็ดไฟมาโดนรถไฟไหม้ทั้งคัน เป็นต้น
  3. หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยอันเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น กันชนหน้ารถแตกหักจากการขับรถชนต้นไม้ ประตูรถได้รับความเสียหายจากการถูกเฉี่ยวชนกิ่งไม้หล่นใส่หลังคารถ เป็นต้น

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 2

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 เป็นการให้ความคุ้มครองที่รองลงมาจากการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 โดยมีความคุ้มครองเพียง 2 หมวดหลัก ดังนี้

  1. หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
    1. ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกินวงเงินสูงสุดตามการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายจะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรของผู้ขับขี่นั้น
    2. ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ไม่รวมถึงที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยในขณะเกิดอุบัติเหตุ คู่สมรส บิดามารดา บุตรของผู้เอาประกันภัย หรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม ครอบครอง
  2. หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 3

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 ให้ความคุ้มครองเฉพาะหมวดการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกเพียงอย่างเดียว ซึ่งประกอบด้วย ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกิดวงเงินสูงสุดตามการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 4

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 4 ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองในการประกันภัย พ.ร.บ. แต่จำนวนเงินจำกัดความรับผิดชอบตามกฎหมาย สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ในการประกันภัยประเภทนี้จำกัดจำนวนเงินไว้ไม่เกิน 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งเท่านั้น

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 5

การประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 แบบคุ้มครองเฉพาะภัย หรือที่เรียกกันว่า การประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 ซึ่งเปิดความคุ้มครองให้แต่ละบริษัทประกันวินาศภัยสามารถเลือกขยายความคุ้มครองได้โดยกำหนดบังคับให้ทุกกรมธรรม์ต้องมีความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเป็นความคุ้มครองขั้นต่ำในปัจจุบันมีแบบประกันภัยที่เป็นที่นิยม 2 แบบ คือ

  1. แบบที่ขยายความคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากการประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า 2+ ให้ความคุ้มครองคล้ายคลึงประเภท 2 และเพิ่มความเสียหายต่อตัวรถยนต์ในจำนวนเงินที่จำกัดอันเนื่องมาจากการชนกับยานพาหนะทางบกและต้องมีคู่กรณีเท่านั้น และ
  2. แบบที่ขยายความคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากการประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า 3+ ให้ความคุ้มครองคล้ายคลึงประเภท 3 และเพิ่มความเสียหายต่อตัวรถยนต์ในจำนวนเงินที่จำกัดอันเนื่องมาจากการชนกับยานพาหนะทางบกและต้องมีคู่กรณีเท่านั้น

นอกเหนือจากความคุ้มครองหลักในการประกันภัยทั้ง 5 ประเภทข้างต้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยยังสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้ายได้อีก 3 แบบ คือ

  1. การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล – ร.ย.01 ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ทุพพลภาพชั่วคราวของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งอยู่ใน หรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย ซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ
  2. ค่ารักษาพยาบาล – ร.ย.02 ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลของผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ซึ่งอยู่ใน หรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย ซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ
  3. การประกันตัวผู้ขับขี่ – ร.ย.03 ให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถูกควบคุมตัวในคดีอาญา ซึ่งบริษัทประกันภัยจะดำเนินการโดยไม่ชักช้าตามจำนวนเงินที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลกำหนดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

อัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง

อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) แบ่งตามประเภทของรถ และอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. เบี้ยประกันพื้นฐานตามประเภทรถ
  2. กลุ่มรถยนต์
  3. ลักษณะการใช้รถ
  4. อายุรถยนต์
  5. ขนาดรถยนต์
  6. จำนวนเงินเอาประกันภัย
  7. อายุผู้ขับขี่
  8. อุปกรณ์เพิ่มพิเศษ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *