ประวัติความเป็นมาของกฎหมายเกี่ยวกับการสมรส

ครอบครัวเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญหน่วยหนึ่งในสังคม เริ่มจากชายหญิงตกลงที่จะอยู่กินและใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นสามีภริยาและตั้งเป็นครอบครัวถือว่า เป็นสถาบันที่เล็กที่สุดในสังคม แต่มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ เป็นการดำรงอยู่สืบเผ่าพันธุ์ของมวลมนุษย์

ประเทศไทยมีกฎหมายครอบครัวมาแต่โบราณ โดยอิงหลักประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์ทรงออกกฎหมายในรูปพระบรมราชโองการ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการรวบรวมไว้ในกฎหมายตราสามดวง เรียกว่า “กฎหมายลักษณะผัวเมีย” ใช้บังคับมาแต่ปี พ.ศ. 2347 ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียนั้น ไม่มีบทบังคับให้จดทะเบียนสมรส การพิสูจน์ความเป็นผัวเมีย ก็โดยอาศัยพยานบุคคลที่รู้เห็นการอยู่กินร่วมเรือนฉันผัวเมียของชายหญิง[1] ทั้งนี้ ถ้าจะย้อนไปดูตามเอกสาร และตำราทางวิชาการเท่าที่ค้นพบได้ จะขอแบ่งประวัติความเป็นมาของกฎหมายครอบครัวเป็นยุค ๆ ดังนี้

กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในยุคโบราณ

กฎหมายครอบครัวแต่เดิมนั้น มีชื่อเรียกว่า “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” ซึ่งบังคับใช้มาอย่างน้อยที่สุดปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากฎหมายลักษณะผัวเมียใช้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 ปี พ.ศ. 1904 ต้นสมัยอยุธยา จนกระทั่ง เมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 มีกรณีคดีเมียนายบุญศรีฟ้องหย่า และศาลตัดสินให้หย่าได้ พร้อมทั้งได้ทรัพย์สิน ทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่า เมียนายบุญศรีมีชู้ เพราะบริบททางวัฒนธรรม และเงื่อนไขทางกฎหมาย ในขณะนั้น ศาลไม่น่าจะตัดสินเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง ซึ่งมีการกล่าวถึงเงื่อนงำว่า ตุลาการผู้ตัดสิน คือ ตัวชายชู้ รัชกาลที่ 1 จึงทรงให้นำเอาตัวบทกฎหมายมาศึกษา ก็ปรากฎว่า เป็นกรณีหญิงหย่าชายให้หย่าได้ ดังนั้น จึงมีพระราชวินิจฉัยว่า กฎหมายคลาดเคลื่อนไปมาก โปรดให้มีการชำระตัวบทกฎหมายต่าง ๆ และรวมพระไอยการลักษณะผัวเมียบรรจุไว้ในกฎหมายตราสามดวง หรือประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 และใช้บังคับสืบมา

ความสัมพันธ์ในครอบครัว สะท้อนออกมาในรูปของกฎหมายลักษณะผัวเมียนี้เป็นความสัมพันธ์แห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง เป็นความสัมพันธ์ที่ชายเป็นใหญ่ และอยู่บนพื้นฐานของการกดขี่ทางเพศ และชนชั้น การกดขี่ที่กล่าวนี้ เป็นการกดขี่ที่ชอบด้วยกฎหมายของชายต่อหญิง สามีต่อภริยา เช่น การให้อำนาจสามีที่จะปราบปรามตีโบยหญิงในกรณีที่หญิงทำผิดได้ สิทธิของชายที่จะมีภริยากี่คนก็ได้ ตั้งแต่ประเภทเมียกลางเมือง เมียกลางนอก เมียกลางทางภาษี ภริยาพระราชทาน ไปจนถึงภริยาทูลขอพระราชทาน การแบ่งส่วนในสินสมรสที่ให้สามีได้ส่วนมากกว่าภริยา การลงโทษเมื่อหญิงมีชู้ เหล่านี้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะผัวเมียที่น่าจะมีรากเหง้ามาจากอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่สถานภาพของสตรีต่ำมาก ในขณะที่อำนาจของบิดาหรือสามีมีอย่างกว้างขวางเกือบไร้ขอบเขต[2]

กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในยุคฝรั่งเข้าเมือง

กฎหมายลักษณะผัวเมียที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง และใช้บังคับมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่กล่าวขวัญกันว่า ได้ให้สิทธิแก่สตรี ที่สำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงตราพระราชบัญญัติผัวขายเมียที่กำหนดว่า สามีจะขายภริยาโดยที่ภริยาไม่ยินยอมด้วยเหมือนสมัยก่อนหาได้ไม่ นี่เป็นการแก้ไขกฎหมายที่ครึกโครมยิ่ง เพราะถือว่า เป็นการให้สิทธิแก่ภริยาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ดี ในบริบทของสังคมสมัยนั้น คงจะหาได้ยากที่ผู้หญิงจะกล้าลุกขึ้นมาขัดขืนสามี และไม่ยอมสามีขายตนเพื่อชำระหนี้สินของครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาเงื่อนไขของสังคมในขณะนั้นแล้ว ก็คงยากที่ภริยาจะปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของสามีได้ และบทบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผัวเมียอื่น ๆ ก็ยังคงเดิม

ต่อมาอิทธิพลของต่างประเทศที่เข้ามาทำการติดต่อกับประเทศไทย นับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นี้ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องทรงปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจ มิฉะนั้น เอกราชทางการศาลที่ประเทศไทยได้สูญเสียไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จะไม่ได้กลับคืนมา

การชำระกฎหมายให้ทันสมัยที่เริ่มมาในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีชาวต่างประเทศที่ประกอบด้วย ชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และลังกา เป็นที่ปรึกษา และมีการดำเนินการติดต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 ยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่ง รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 การชำระสะสางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเสร็จสิ้นลงทั้ง 6 บรรพ ใน พ.ศ. 2477 และกฎหมายลักษณะผัวเมียก็ถูกยกเลิก และมีการประกาศใช้กฎหมายครอบครัว ซึ่งเป็นบทบัญญัติบรรพ 5 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2478 ขึ้นมาแทน[3]

กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในยุคปรับเปลี่ยนพยายามก้าวสู่ประชาธิปไตย

การริเริ่มคิดแก้ไขบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีมาหลายสิบปีแล้ว ในแง่ของการให้สิทธิแก่สตรีเพิ่มมากขึ้น บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ชี้ให้เห็นถึงความเสียเปรียบในทางกฎหมายของสตรี ซึ่งเป็นหญิงมีสามี และหญิงซึ่งยังไม่มีสามีอยู่หลายประการ นับตั้งแต่เรื่องอายุของผู้ที่จะทำการหมั้นและสมรส กำหนดให้ชายหญิงแตกต่างกัน การเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร การจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเหตุหย่า ทั้งหลายเหล่านี้ ชี้ให้เห็นสภาพที่หญิงตกอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าชายมาตลอด ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรมอันเป็นประเทศที่มีนโยบายให้ความยุติธรรมแก่พลเมืองโดยความเสมอภาคกันควรยึดถือ

แม้ว่า การดำริที่จะชำระสะสางบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเห็นวี่แววว่า จะเป็นรูปร่างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ก็ตาม การดำเนินการพิจารณาตรวจชำระบทบัญญัติบรรพ 5 นี้ได้ใช้เวลานานยิ่งนัก ไม่มีการให้ข้อมูลแก่มวลชน หรือประชาชน เมื่อแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ และอย่างเพียงพอ จนกระทั่ง ประมาณปี พ.ศ. 2512 สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายได้เริ่มเรียกความสนใจจากคนในเมืองหลวง โดยการจัดอภิปรายออกโทรทัศน์ ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ และถึงขั้นยื่นข้อเสนอแก่คณะกรรมการกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2513 ทว่าข้อเสนอที่ให้แก้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายนั้นไม่ได้เรียกร้องให้สตรีมีสิทธิเท่ากับบุรุษ แต่เป็นการขอแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา การจัดประเภทของทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นสำคัญ

การตรวจชำระบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ดำเนินไปช้ามาก จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ให้กำลังปราบปราม สูญเสียชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนหลายร้อย จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้รัฐบาลทหารต้องออกนอกประเทศ และมีการพระราชทานจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน มีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาเป็นนายกรัฐมนตรี และบรรยากาศมุ่งเน้นไปที่การให้โอกาสแก่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกรุยทางให้ระบอบประชาธิปไตย สำหรับในรัฐธรรมนูญที่ร่างสำเร็จในปี พ.ศ. 2517 มีบทบัญญัติในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมกับระบุให้แก้ไขกฎหมายที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญภายในเวลา 2 ปี

จึงมีการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 อย่างจริงจังขึ้นนับแต่นั้น และได้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 ทว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ได้มีบทบัญญัติให้สิทธิชายและหญิงเท่าเทียมกัน และกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมบรรดากฎหมายทั้งหลายที่มีบทบัญญัติขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญภายใน 2 ปี ทำให้ร่างแก้ไขบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง และต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จใน 2 ปี นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทำให้ร่างแก้ไขนั้นต้องพับไว้ก่อน และในระหว่างนั้นก็ได้ใช้บทบัญญัติเดิมแห่งบรรพ 5 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2478

กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในยุคอ้างประชาธิปไตย

คือ การเริ่มใช้พระราชบัญญัติโดยให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วนที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ตามหลักแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2517 ได้กำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบรรดากฎหมายทั้งหลายที่ไม่ได้ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงภายใน 2 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2517 ต่อมาจึงได้ประกาศ “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นไป

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 นี้ ได้ประกาศยกเลิกบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 เกือบทั้งหมด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน ทั้งนี้ บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 นี้ไม่กระทบกระเทือนบทบัญญัติของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 บางมาตรา และไม่กระทบกระเทือนการต่าง ๆ ที่มีความสมบูรณ์ตามบรรพ 5 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2477

กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในยุคโลกาภิวัฒน์

ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) ซึ่งการแก้ไขบทบัญญัติเหล่านั้นเป็นผลดีหรือผลเสียต่อผู้หญิงและเด็กผู้ที่ถูกสังคมกระทำต่อเสมอมา

แต่การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบรรพ 5 ในปี พ.ศ. 2533 นั้น ไม่กระทบกระเทือนในส่วนของความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส สัญญาก่อนสมรส การเป็นบิดามารดากับบุตร การเป็นผู้ปกครอง และการรับบุตรบุญธรรมที่ได้มีอยู่แล้วในวันที่ใช้พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 นี้ และการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขบางส่วน บางมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งได้มีผลใช้บังคับตามพรราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519

โดยสรุปแล้ว การศึกษาบทบัญญัติกฎหมายของครอบครัว จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัวที่ได้ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2519  กับ พ.ศ. 2533 เป็นส่วนใหญ่ เพราะกาลเวลาได้ผ่านไปมาก เหตุเฉพาะที่ได้ระบุว่า ให้ใช้กฎหมายครอบครัวเดิม คือ ฉบับ พ.ศ. 2477 จึงเหลือน้อยเต็มที อย่างไรก็ตาม การศึกษาประวัติความเป็นมาของกฎหมายทั้งหมดย่อมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นแนวทางที่จะเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคมได้[4]


[1] สมพร พรหมหิตาธร, 2544. คู่มือปฏิบัติงานดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิมพ์อักษร. หน้า 11.

[2] วิระดา สมสวัสดิ์, 2546. ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง (ด้านสิ่งแวดล้อม) ในเวทีโลก. เชียงใหม่ : ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 11.

[3] วิระดา สมสวัสดิ์, 2546. ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง (ด้านสิ่งแวดล้อม) ในเวทีโลก. เชียงใหม่ : ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 11 – 12.

[4] วิระดา สมสวัสดิ์, 2546. ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง (ด้านสิ่งแวดล้อม) ในเวทีโลก. เชียงใหม่ : ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 23 – 24.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *