การปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า

การทำบุญพระตามกำลังวันเกิด

การทำบุญพระตามกำลังวันเกิด เรียกได้ว่า เป็นทั้งการทำบุญและการสะเดาะเคราะห์ตามเจตนาของผู้ทำ บางคนทำเฉพาะวันเกิดของตน บางคนทำให้ญาติหรือคนรู้จัก (ทั้งที่ฝากมาทำและไม่ได้ฝากมาทำ) บางคนก็ทำโดยไม่จำกัดเฉพาะวันของตนเอง

วิธีการทำบุญสะเดาะเคราะห์ประเภทนี้มีวิธีการ คือ นำเศษสตางค์ (เหรียญบาท) ที่มีอยู่แล้วหรือแลกจากเจ้าหน้าที่ไปหยอดลงในบาตรจำลองที่มีประจำพระพุทธรูปแต่ละองค์ ตามจำนวนกำลังที่กำหนดไว้แตกต่างกันไปดังนี้ คือ

วันอาทิตย์ มีกำลัง ๖

วันจันทร์ มีกำลัง ๑๕

วันอังคาร มีกำลัง ๘

วันพุธ มีกำลัง ๑๗

วันพฤหัสบดี มีกำลัง ๑๙

วันศุกร์ มีกำลัง ๒๑

วันเสาร์ มีกำลัง ๑๐

ราหู (วันพุธกลางคืน) มีกำลัง ๑๒

การที่กำลังในแต่ละวันมีจำนวนไม่เท่ากัน เนื่องมาจากว่า ในสมัยพุทธกาลครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะทรงบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น ในแต่ละวันพระองค์ทรงแสดงพระอิริยาที่แตกต่างกันไป ในหนึ่งพระอิริยาบถนั้น เรียกว่า “ปาง” และขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น มีเทวดาลงมาคุ้มครองพระองค์ในแต่ละวันในจำนวนที่แตกต่างกันไปเรียกกันว่า “กำลัง” นั่นเอง

การทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิดนั้น แรงบันดาลใจหรือจุดมุ่งหมายของแต่ละคนแตกต่างกันไป จากการสังเกตการณ์และพูดคุยจะทราบได้อย่างชัดเจนว่า พวกหนึ่งมาทำบุญให้พระประจำวันเกิดตัวเองมีประมาณร้อยละ ๙๐ อีกพวกหนึ่งก็มาทำบุญแต่จะใส่เหรียญให้กับพระประจำวันเกิดทุกวัน และอีกพวกหนึ่ง คือ ทำเพื่อการสะเดาะเคราะห์แต่จะมีจำนวนน้อยมาก แต่ก็ยังมีบ้างที่ทำบุญเนื่องจากเป็นเหมือนสูตรสำเร็จที่เมื่อมาแล้วเขามีอะไรให้ทำก็จะทำทุกอย่างโดยไม่ได้มีความตั้งใจมาก่อน ในบริเวณเดียวกันที่ตั้งโต๊ะหมู่พระประจำวันเกิดนี้มีโต๊ะของเจ้าหน้าที่สำหรับให้คำแนะนำในวิธีการทำบุญและบริการแลกเหรียญเพื่อการทำบุญในแต่ละวันที่หอพระนี้จะมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเป็นระยะ ๆ ทั้งเด็ก หนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ ไม่ว่าไทยหรือจีน มีสถานภาพทางสังคมต่างกันอย่างไร ก็มาทำบุญสะเดาะเคราะห์ด้วยการใส่บาตรพระกันถ้วนหน้า เป็นการเสริมบุญให้กับตัวเองทำแล้วสบายใจก็ทำกันไปไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น

เมื่อสังเกตจะเห็นได้ว่า ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่ศาลหลักเมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาสักการะตลอดวันตลอดคืนนั้น ในส่วนของการทำบุญประเภทนี้นั้น จะมีการเชิญชวนแฝงทางธุรกิจอยู่ในที เทศกาลตรุษจีนมีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมามนัสการเจ้าพ่อหลักเมืองอย่างหนาตา และตรงที่มีการทำบุญพระประจำวันเกิดนั้น เจ้าหน้าที่ก็ปรบมือและตะโกนเรียกผู้คนทั้งในหอพระและในบริเวณศาลฯ ให้ขึ้นมาทำบุญ โดยมีเหรียญไว้บริการให้แลกเรียบร้อย ลักษณะเช่นนี้ดูเป็นกลวิธีทางการค้ามากกว่าเป็นการเชิญชวนให้ทำบุญตามศรัทธาของผู้คน

การปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า

ในสมัยก่อสัตว์ที่คนโบราณปล่อยนั้นมักนิยมปล่อยตามวัดถือว่า ได้บุญเป็นการสะเดาะเคราะห์และถือกันว่า ถ้าเป็นของวัดแล้วก็จะไม่มีใครทำร้าย คนที่เอาของวัดไปจะตกนรก จึงแน่ใจได้ว่า สัตว์ที่ปล่อยไปจะปลอดภัย หรือบางทีทำพิธีสะเดาะเคราะห์บางอย่างต้องใช้ไก่เป็น ๆ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเขาก็จะตัดหางไก่แล้วเอาไปปล่อยวัด ส.พลายน้อย เคยอ่านพบในพงศาวดารว่า

เคยปล่อยช้างเป็นพุทธบูชาที่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้กลายมาเป็นสำนวนว่า “ปล่อยพระบาท” ในภายหลัง แต่สัตว์เช่นช้างที่ปล่อยพระบาทนี้ มักจะเป็นช้างที่ถูกจำเริญงา คือ ตัดงาเสียหลายหนแล้ว ดังมีปรากฏในพงศาวดารตอนหนึ่งว่า “ช้างต้นพระบรมจักรพาฬหัตถีนั้น งายาวออกให้จำเริญเข้าไปเกือบจะถึงไส้งาอยู่แล้ว เกรงจะล้มเสีย จึงดำรัสว่า เราจะเอาไปถวายพระพุทธบาทแล้วจะปล่อยไปป่า”

จากเรื่องที่กล่าวมาจะเห็นว่า คนโบราณปล่อยสัตว์หวังได้บุญทั้งนั้น และกำหนดการทำบุญปล่อยสัตว์ของคนโบราณก็มักจะทำกันในระยะเทศกาลต่าง ๆ หรือมีการเจ็บป่วย ในส่วนที่ทำในระยะเทศกาลก็ทำกันในตอนตรุษสงกรานต์ ทั้งนี้มีปรากฏหลักฐานในหนังสือภูมิสถานกรุงศรีอยุธยานั้น มีหมู่บ้านอยู่สองแห่งที่จับสัตว์มาขาย คือ บ้านพระกรานหรือปากกรานจับปลาหมอเกราะ บ้านป้อมหัวพวนขาย นกอังชัน นกกระจาบ นกสีชมพู นกปากตะกั่ว นกและปลาเหล่านี้มีคนจับใส่กรง และอ่างมาเร่ขายให้ชาวกรุงศรีอยุธยา มีการซื้อขายนกและปลากสำหรับปล่อยกันแล้วและรู้ละเอียดไปถึงชนิดของนกและปลาเหล่านั้นอีกด้วย แต่ตกมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ การปล่อยนกและปลาดูจะไม่ถือเฉพาะตรุษสงกรานต์เท่านั้น แม้ในเทศกาลอื่นก็มีด้วยเหมือนกัน ดังปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนที่ว่าด้วยเลี้ยงพระตรุษจีนตอนหนึ่งว่า “แลในการตรุษจีนี้ จ่ายเงินให้ซื้อปลาปล่อยวันละ ๑๐ ตำลึง บรรทุกเรือมาจอดที่แพลอย เวลาทรงพระเต้าษิโณทกแล้วโปรดให้พระเจ้าลูกเธอนำลงโปรดที่เรือปลาแล้วตักปลานั้นปล่อยไปหน้าที่นั่ง”

นอกจากจะปล่อยนกปล่อยปลาตามเทศกาลดังกล่าวแล้ว เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยร้ายแรงเกิดขึ้น ก็นิยมปล่อยนกปล่อยปลาด้วยเหมือนกัน ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ก็ได้มีบันทึกไว้ว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ความไข้ซึ่งบังเกิดทั่วไปแก่สมณะชีพราหมณ์ แลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินครั้งนี้เพื่อกรรมของสัตว์ ใช่จะเป็นแต่กรุงเทพมหานครก็หาไม่เมืองต่างประเทศ แลเกาะหมากเมืองไทรก็เป็นเหมือนกัน ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไขด้วยคุณยาเห็นจะไม่หาย จึงให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร เมื่อวันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบค่ำ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่ง ยังรุ่งแล้ว เชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุ ทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทานประน้ำปริตรทั้งทางบกทางเรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีลทั้งพระราชวงศานุวงศ์ที่มีกรมหากรมมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในก็โปรดสั่งมิให้เฝ้า ให้งดกิจราชการเสีย มิให้ว่า มิให้ทำ ให้ตั้งใจทำบุญสวดมนต์ ให้ทานบรรดาไพร่ซึ่งนอนเวรประจำรักษาพระราชวังชั้นใน แลชั้นนอกก็ให้เลิกปล่อยไปบ้านเรือง โดยทรงพระเมตตาว่าประเพณีสัตว์ทั่วกัน ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกันจะได้ไปรักษาพยาบาล ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์ มิได้ไปนั้น ก็พระราชทานเงินตราให้ความชอบ แลให้จัดซื้อปลาแลสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทรงปล่อยสิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก คนโทษที่ต้องเวรจำอยู่นั้นก็ปล่อยออกสิ้นเว้นแต่พม่าข้าศึก บรรดาประชาราษฎร์ทั้งปวงก็รับสั่ง ห้ามมิให้ไปเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสัตว์ในน้ำแลบนบก ให้อยู่แต่ในบ้านเรือนต่อเมื่อมีการร้อนควรจะต้องไปจึงให้ไป เดชะอานิสงส์ศีลแลทานบารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์ให้ทำดังนี้ มาจนถึง ณ วันเสาร์ เดือนเจ็ด แรมเจ็ดค่ำ ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว

ข้อความนี้คงทำให้เห็นถึง ประเพณีการปล่อยนกปล่อยปลาได้ชัดเจนขึ้นอีกว่า เป็นประเพณีที่ได้ทำในโอกาสต่าง ๆ กัน และถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ได้บุญได้กุศล กล่าวกันว่า แม้แต่ผู้ที่จะสิ้นบุญหมดอายุ เมื่อได้ปล่อยนกปล่อยปลาแล้วก็อาจจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้อีก ความเชื่อนี้จะได้ถือกันมาตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ[i]


[i] จีรนันทน์ ดีประเสริฐ. (2537). การสะเดาะเคราะห์ เสี่ยงทาย แก้บน ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *