น้ำพุทธมนต์

น้ำกับความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาเชื่อว่า “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุขร่มเย็นไม่มีความทุกข์ร้อน ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ จากความเชื่อของสังคมไทยส่วนใหญ่ เชื่อว่า น้ำสามารถชำระล้างความอัปมงคลให้ออกไปจากร่างกายและจิตใจได้ ดังนั้น น้ำจึงเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาไม่ว่าจะเป็นทางด้านพิธีการพิธีกรรมหรือประเพณีวัฒนธรรมที่มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับน้ำ จะเห็นได้จากพิธีกรรมทางศาสนา ดังนี้ การสรงน้ำพระพุทธรูปในศาสนาพุทธ หรือการเข้าพิธีล้างบาป หรือศีลจุ่มในศาสนาคริสต์ แสดงให้เห็นถึง คุณค่าและความเชื่อเรื่อง “น้ำ” ว่า เป็นเครื่องชำระล้างสิ่งสกปรกและมลทิน ถือกันว่า เป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เฉกเช่นเมื่อมีน้ำในการเพาะปลูกต่าง ๆ ก็ได้ผลเป็นที่สังเกตว่า นับแต่โบราณกาลมาว่า พื้นที่แหล่งอารยะธรรมที่เจริญรุ่งเรืองล้วนมีบ่อเกิดอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ “น้ำ” จึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่าง ๆ ทั้งพิธีมงคลและอวมงคล[i]

ความเชื่อในส่วนของชาวบ้านและบริบทสังคมทั่วไปมีการจัดประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำหลายประเพณี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง งานบุญบั้งไฟ หรือแห่นางแมวเพื่อขอฝน รวมไปถึงการละเล่นทางน้ำต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้น้ำเพื่อบริโภคและชำระร่างกายในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของน้ำ ในลักษณะของน้ำมนต์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติในการชำระสิ่งที่สกปรก สิ่งที่เป็นมลทินและไม่เป็นมงคลทั้งหลายให้ออกจากร่างกายมนุษย์ไป[ii]

ความเชื่อเรื่องน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ อดีตสันนิษฐานว่าไม่ได้เป็นคติความเชื่อในพุทธศาสนา โดยจากการศึกษาวรรณกรรมหรือคัมภีร์โบราณต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาไม่ปรากฏเรื่องพิธีกรรมเสกน้ำพระพุทธมนต์ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพิธีกรรมทางพุทธทั้งในนิกายมหายานและเถรวาท โดยฝ่ายมหายานจะมีพิธีกรรมที่ซับซ้อนกว่าฝ่ายเถรวาทซึ่งถือว่าการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจากโองการของพระพุทธเจ้า จึงใช้ในการรดน้ำบนรูปเคารพต่าง ๆ โดยถือความสำคัญของน้ำสะอาดว่า เป็นปัจจัยสำหรับชำระร่างกายหรือสิ่งต่าง ๆ ให้บริสุทธิ์นำมาซึ่งความเป็นมงคล[iii]

การทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการเคารพและเปล่งเสียงหรือสวดมนต์คาถา เป็นการสร้างให้เกิดพลังงานศักดิ์สิทธิ์สามารถถ่ายทอดลงไปในน้ำพระพุทธมนต์ โดยพระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธีกรรมจะหยดน้ำตาเทียนน้ำขี้ผึ้งลงไปในขันน้ำซึ่งเป็นขั้นตอนที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดพลังของพระพุทธมนต์ลงไปในน้ำที่เรียกว่า “การเสกน้ำพระพุทธมนต์” แล้วจึงนำน้ำไปใช้ในพิธีกรรม อาทิ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ หรืองานทำบุญต่าง ๆ[iv]

โดยปกติแล้วในยุคปัจจุบัน การสะเดาะเคราะห์โดยการใช้น้ำมนต์ยังมีใช้กันอยู่ในผู้ที่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำมนต์เท่านั้น น้ำมนต์ได้ชื่อว่า เป็นน้ำเสกที่เป็นสิริมงคลที่ใช้สำหรับอาบ กิน หรือประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคลหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บ (พจนานุกรมฉบับเฉลิพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๓๐ หน้า ๒๘๓) โดยมีการทำพิธีประกอบน้ำมนต์ที่วัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยให้พระผู้ใหญ่ เกจิอาจารย์ หรือท่านที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ประกอบพิธี ในสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่เจริญ การรักษาโรคด้วยน้ำมนต์เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อการแพทย์การสาธารณสุขเข้ามาถึง การรักษาโรคด้วยน้ำมนต์ก็ค่อย ๆ พ่ายแพ้การรักษาทางวิทยาศาสตร์จนเกือบหมดความนิยมลง เหลือเป็นเพียงการใช้น้ำมนต์ในการดื่ม ประพรม อาบเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือเพื่อการสะเดาะเคราะห์ (ในลักษณะที่เรียกว่า ล้างซวย) เสียเป็นส่วนมาก[v]


[i] อัษฎาวุฒิ ศรีทน และดร. อุมารินทร์ ตะลารักษ์. (2564). บ่อน้ำล้างศักดิ์สิทธิ์กับการสื่อสารความหมายทางวัฒนธรรมของชุมชนเทือกเขาภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น. การประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 22, วันที่ 25 มีนาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

[ii] สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[iii] สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2539). น้ำ : บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม.

[iv] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. (2562) “น้ำศักดิ์สิทธิ์” มุรธาภิเษก การรดน้ำที่ยิ่งใหญ่ทรงเป็นพระราชาธิพบดีโดยสมบูรณ์. ศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562.

[v] จีรนันทน์ ดีประเสริฐ. (2537). การสะเดาะเคราะห์ เสี่ยงทาย แก้บน ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *