kpoppreorder การดูดวง (หมอดู) หลักโหราศาสตร์กับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย

“ธุรกิจหมอดู” เป็นธุรกิจที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือซบเซา ในปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจที่บีบคัน ทำให้เกิดอาการหรือภาวะเครียด ภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้ทุกคนพยายามหาทางออกที่ดีกว่าให้กับชีวิต และจิตใจของตนเอง โดยที่เลือกจะปรึกษากับ “หมอดู” เป็นทางเลือกที่คนทั่วไปนิยมเลือกเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง ซึ่งความนิยมการดูดวงของคนไทยนั้นล้วนแล้วแต่มาจากหลักการทำนายด้านโหราศาสตร์ทั้งสิ้น โดยความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ในประเทศไทยปรากฎพบเป็นหลักฐานจากการกำเนิดสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2490

          “โหรศาสตร์” หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า มาอธิบายกับปรากฎการณ์ของมนุษย์ในด้านดวงชะตา วัน เดือน ปีเกิด การทำนายอนาคตรวมไปถึงการใช้ลักษณะของร่างกาย ลายมือ การเสี่ยงทานจากไพ่ เซียมซี หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ[i]

          ความเชื่อด้านโหราศาสตร์ผูกพันกับคนไทยมาช้านาน จากกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตของผู้คน เช่น การหาฤกษ์ยามในการขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน รวมถึงการตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์เกี่ยวข้องกับบุคคลตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสังเกตได้จาก ปฏิทิน เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม นิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ส่วนมากมักมีคอลัมน์เกี่ยวกับโหราศาสตร์การทำนายดวงชะตะ คนส่วนมากเมื่อเกิดความไม่มั่นใจ ต้องการปรึกษาหรือต้องการเสริมความมั่นใจ เนื่องจาก การไปหาจิตแพทย์ในประเทศไทยนั้นถูกมองว่า เป็นคนสติไม่ดี ดังนั้น โหราศาสตร์จึงได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย โหราศาสตร์ได้รับความนิยมตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

          โหราศาสตร์มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นความรู้ที่เกิดจากการสังเกตปรากฎการณ์ทางธรรมชาติแล้วบันทึกเก็บสถิติไว้ จนมีทฤษฎีและหลักการเป็นของตนเอง ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มีทั้งสนับสนุนและขัดแย้งกับความเชื่อของโหราศาสตร์ ปัจจุบันอิทธิพลของโหราศาสตร์มีมากขึ้นได้รับความสนใจมากขึ้นในวงการจิตวิทยาและกระแสนิวเอจ มีหลักพุทธศาสนาหลายข้อที่สามารถอธิบายโหราศาสตร์ได้ คือ เรื่องนิยาม ๕ เรื่องกรรมและวัฏฏะ เรื่องธาตุ ๔ เรื่องจริต เรื่องเสรีภาพ ความเพียร และการพึ่งตนเอง จากการวิเคราะห์หลักธรรมเหล่านี้ผนวกกับการใช้หลักความเชื่อในทางพุทธศาสนา สรุปได้ว่า โหราศาสตร์ไม่สามารถบอกความจริงได้ทั้งหมด เนื่องจาก มนุษย์มีเสรีภาพหรือเจตนาที่จะเลือกกระทำได้โดยเสรี ภายในสิ่งแวดล้อมที่จำกัดด้วยผลของกรรม ซึ่งประโยชน์ที่เด่นชัดของโหราศาสตร์ คือ ช่วยในการทำความเข้าใจนิสัยและศักยภาพของตนเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นและถูกทิศทาง ช่วยให้เข้าใจผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นอุปกรณ์ช่วยในการให้การปรึกษา และช่วยทำให้เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องกรรม[ii]

          อย่างไรก็ตาม คนไปหาหมอดู เพราะอยากรู้อนาคตมากที่สุด คาดหวังว่า เมื่อมาหาหมอดูแล้ว ทำให้สบายใจมากขึ้น คนส่วนใหญ่เมื่อมีปัญหาจะไม่ไปรับบริการจากหน่วยสังคมสงเคราะห์ เพราะไม่เชื่อว่า หน่วยงานดังกล่าวจะช่วยเหลืออะไรได้ เมื่อมีปัญหาคนส่วนใหญ่จะเลือกปรึกษาคนใกล้ชิดก่อน รองลงมา คือ ปรึกษาหมอดู ส่วนนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชอยู่อันดับสุดท้าย และคนจะดูหมอเรื่องการทำงานเรื่องคู่ครองและการศึกษามากที่สุด และเมื่อคนมีปัญหาที่ปรึกษากับคนใกล้ชิดไม่ได้ แล้วมักจะไปพึ่งหมอดู เรื่องงาน คู่ครอง และการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญในการดูหมอ เพราะเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หมอดูมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา ถ้าหมอดูมีความรู้ที่ถูกต้องในศาสตร์การทำนาย และมีความรู้ในสัจธรรมการดำเนินชีวิตย่อมจะแนะนำผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิผล ในทางตรงกันข้าม ถ้าหมอดูไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการทำนาย และการให้การปรึกษา อีกทั้งมีความเชื่อที่ผิดหลักความจริงตามธรรมชาติ ย่อมแนะนำให้ผู้ใช้บริการไปสู่ความเดือดร้อนในที่สุด[iii]

          การที่หนังสือพิมพ์รายวันคมลัมน์เกี่ยวกับโหราศาสตร์ และข่าวการทำนายดวงเมืองหรือดวงบุคคลสำคัญได้รับความสนใจ มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง สะท้อนให้เห็นว่า การทำนายทายทักเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย กิจกรรมที่สำคัญต่อชีวิตของคนไทยล้วนเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์และผลการวิเคราะห์โหราศาสตร์การเมืองในหนังสือพิมพ์ส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมาย บุคคลหลากหลายอาชีพทุกระดับชั้น ทุกเพศ ทุกวัย จากชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ชนชั้นกลาง จนถึงผู้นำระดับประเทศ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โหราศาสตร์มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน โดยจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตามการดูดวงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดพลวัตในสังคมไทย[iv]

          ลักษณะของวิชาโหราศาสตร์ดั้งเดิมมีลักษณะเป็นศาสตร์บริสุทธ์ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาและไสยศาสตร์ แต่โหราศาสตร์ในสังคมไทยมีพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจาก ความเชื่อของหมอดูแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยความเชื่อดังกล่าวจะถูกสอดแทรกในกระบวนการการทำนาย นอกจากนั้น ความเชื่อและความคาดหวังของผู้รับบริการ และสถานการณ์ในสังคมที่บุคคลนั้นเผชิญอยู่ มีผลกับความเชื่อต่อคำพยากรณ์ของหมอดู และทัศนคติต่อโหราศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า คำทำนายของหมอดู ย่อมประกอบไปด้วยความเชื่อ ทัศนคติต่อโลกและชีวิตของหมอดู บุคคลมีความเชื่ออย่างไรย่อมต้องแนะนำบุคคลอื่นอย่างนั้น ดังนั้น ความเข้าใจสัจธรรมของชีวิตของหมอดู ย่อมจะเป็นแนวทางการให้คำปรึกษาไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง[v]

          โหราศาสตร์มีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งการนำโหราศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการ นอกจากนั้น ยังให้ความเห็นว่า โหราศาสตร์เป็นเพียงสถิติชนิดหนึ่ง ผู้ที่เชื่อถือโหราศาสตร์ไม่ใช่คนล้าสมัย ในการทำงานบางอย่างยากที่จะตัดสินใจ เมื่อได้ใช้หลักโหราศาสตร์บางครั้งก็ช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น และยังช่วยสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานอีกด้วย เช่น การดูฤกษ์ยามในการเริ่มทำงาน การใส่เสื้อผ้าสีต่าง ๆ การเลือกสีรถ ทำเลที่ตั้งของโต๊ะทำงาน การเลือกบุคคลจากการดูโหงวเฮ้ง เป็นต้น

เมื่อจำแนกความคิดเห็นตามระดับการตัดสินใจในการทำงาน พบว่า

บุคคลระดับบริหารที่ต้องมีการตัดสินใจสูง และมีปัญหาการตัดสินใจมาก ทำงานเสี่ยงมีการลงทุนสูงหรือเป็นเจ้าของงานโดยตรง บางครั้งก็ต้องปรึกษาหมอดูหรือนักโหราศาสตร์มาช่วยในการตัดสินใจได้แน่วแน่มากขึ้น เกิดความมั่นใจในตัวเอง

ส่วนบุคคลในระดับที่ไม่ต้องมีการตัดสินใจสูงจะสนใจโหราศาสตร์เชิงการทำนายเรื่องโชคลาภและการเสี่ยง ส่วนในเรื่องการทำงานไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจาก มีความรู้น้อยและมีโอกาสก้าวหน้าน้อย จึงคาดหวังความร่ำรวยด้วยการเสี่ยงเพียงประการเดียว[vi]

          มุมมองด้านการรับรู้ของการดูดวง โดยแบ่งการรับรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ รับรู้ว่า การดูดวงเป็นข้อเท็จจริง เป็นเรื่องราวที่หมอดูสร้างขึ้น หรือเป็นสิ่งลี้ลับ อัศจรรย์ จากผลการศึกษา พบว่า ผู้ใช้บริการดูดวงแสดงความเห็นว่า การดูดวงใช้หลักสถิติในการเก็บข้อมูลแล้วนำมาให้ความหมาย ทำให้เกิดความแม่นยำและเป็นศาสตร์ที่เชื่อถือได้ โดยมีการอ้างอิงจากตำราที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาทำนายโชคชะตา (มากที่สุด) รองลงมา รับรู้ว่า เป็นเรื่องอัศจรรย์ ลี้ลับ ที่ใช้สำหรับการทำนายอนาคตและเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อถือได้ และรับรู้ว่า เป็นเรื่องราวที่หมอดูทำนายขึ้นเองหรือสร้างขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการดูดวงมีมุมองต่อการดูดวงว่า เป็น “ข้อเท็จจริง” เป็นสำคัญ เพราะเชื่อว่า ศาสตร์ที่ใช้ในการทำนายทายทักนั้น ใช้หลักสถิติในการเก็บข้อมูลแล้วนำมาให้ความหมายที่ทำให้เกิดความแม่นยำและเชื่อถือได้ อีกทั้งผู้ใช้บริการดูดวงบางกลุ่มยังเชื่อว่า การดูดวงนั้น ถือเป็นเรื่องอัศจรรย์ ลี้ลับที่สามารถเชื่อถือได้ ส่วนมุมมองที่บอกว่า การดูดวงนั้นเป็นเรื่องราวที่หมอดูสร้างขึ้น ทำให้เห็นว่า ผู้ใช้บริการดูดวงนั้น มีแนวโน้มที่เชื่อว่า การเข้าหาหมอดูหรือดูดวงนั้น เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มีการอ้างอิงตามหลักสถิติ ซึ่งไม่เชื่อว่า การดูดวงเป็นเรื่องที่หมอดูเป็นผู้สร้างคำทำนายเหล่านั้นขึ้นเพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในคำทำนายนั้น[vii]


[i] สุวภรณ์ เพียรสุภาพ. (2556). ทัศนคติและพฤติกรรมต่อความเชื่อด้านโหราศาสตร์ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาการจัดการมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล.

[ii] จักรเทพ รำพึงกิจ. (2551). การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีต่อโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน. วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

[iii] พิไลรัตน์ รุจิวณิชย์กุล. (2524). การศึกษาปัญหาสุขภาพจิตของผู้มารับบริการจากหมอดู : ศึกษาเฉพาะกรณีผู้มารับบริการจากหมอดูของสมาคมโหราศาสตร์แห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[iv] นิโลบล ปางลีลาศ. (2552). การวิเคราะห์เนื้อหาความคิดเห็นของผู้อ่านที่มีต่อเนื้อหาเกี่ยวกับโหราศาสตร์การเมืองไทยในหนังสือพิมพ์รายวัน. วิทยานิพนธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[v] สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล. (2535). หมอดู : กระบวนการสร้างตัวตนและความสัมพันธ์ทางสังคม. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[vi] อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา. (2550). การนำโหราศาสตร์ไทยมาใช้ในการบริหารจัดการองค์การสื่อสารโทรคมนาคม. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย. 2(2). 34 – 43.

[vii] อัครกิตติ์ สินธุวงศ์ศรี. (2560). พฤติกรรมการดูดวงของคนเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารวิจัยสังคม 40(1), 201 – 225.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *