สาเหตุแรงจูงใจที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจย้ายถิ่นข้ามชาติ หญิงบริการทางเพศ

สาเหตุแรงจูงใจที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจย้ายถิ่นข้ามชาติ ไปเยอรมนี และญี่ปุ่น มีดังนี้

  1. แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ หญิงไทยเดินทางไปเยอรมนี และญี่ปุ่นมีแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจหลักอยู่ 2 ประการ คือ ความต้องการที่จะสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้มั่นคง หรือยกฐานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ต้องการใช้หนี้ หนี้สินที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดเพราะความยากจน แต่เป็นเพราะการพนัน หรือเพราะการลงทุนเพื่อการเดินทางย้ายถิ่น หรือต้องการใช้หนี้แทนพ่อแม่ นั่นคือ การย้ายถิ่นไปเยอรมนีและญี่ปุ่น มิใช่ด้วยปัญหาความยากจน เป็นไปด้วยเห็นว่า จะเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนรายได้ และสิ่งที่เธอขาด คือ โอกาสที่จะสร้างฐานะโอกาสที่จะมีเงินเพียงพอที่จะช่วยเหลือพ่อแม่หลายคนเห็นความจนของพ่อแม่ จึงไม่ต้องการที่จะสภาพเศรษฐกิจเหมือนพ่อแม่ และต้องการหลักประกันที่มั่นคงที่ดูเหมือนจะหาไม่ได้ในประเทศไทย กอรปกับหญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีลูกที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูตามลำพัง ในหญิงหลาย ๆ ราย การย้ายถิ่นนี้ก็เป็นไปเพื่อหาหลักประกันทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้ลูกด้วย เพื่อให้ลูกมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น สำหรับผู้หญิงบางส่วนสิ่งที่ล่อใจให้เธอเดินทาง คือ โอกาสที่จะหารายได้ก้อนโตในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Phannee Chunjitkaruna (2000)[1] มองว่า เป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้แรงงานไทยย้ายถิ่นไปขายแรงงานในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบบจากงานศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการย้ายถิ่นไปเยอรมนีของหญิงไทย (Pataya 2003) [2] พบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจน มิใช่ปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้หญิงย้ายถิ่น การที่จะตัดสินใจย้ายถิ่นนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ หลายประการอีกด้วย เช่น ปัญหาครอบครัว เครือข่ายทางสังคม เป็นต้น นั่นคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ มิจำเป็นต้อง หมายถึง ความเดือดร้อนด้านเงินทอง หรือความยากจนเท่านั้น แต่คงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่า จุดเริ่มต้น คือ ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หรือว่า เป้าหมายอยู่ที่การยกฐานะทางเศรษฐกิจ
  2. ปัญหาทางครอบครัว หญิงไทยส่วนมากเป็นผู้ที่เคยมีครอบครัวแล้ว จากประวัติชีวิตจะพบว่า การเดินทางไปเยอรมนีหรือญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์นั้นสิ้นสุดลง คือ หย่าร้าง เลิกรา หรือแยกกันอยู่กับสามี ความสัมพันธ์ที่แตกร้าวก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจกับผู้หญิง การเดินทางไปต่างประเทศจึงเป็นทางออกของหญิงไทย จำนวนไม่น้อยที่ต้องการหนีปัญหานี้ หรือแม้แต่หนีสามีที่คอยตามรังควาญ นอกจากนั้น ในบางรายการเดินทางไปเยอรมนีหรือญี่ปุ่น ก็คือ การพิสูจน์ตนเองให้สังคมเห็นว่า สามารถแก้ปัญหา และดำเนินการใด ๆ ให้บรรลุถึงเป้าหมายได้ด้วยตนเอง
  3. สร้างครอบครัวและเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งมักจะเป็นแรงจูงใจของหญิงบริการทางเพศที่ตัดสินใจแต่งงานกับชายเยอรมัน และหญิงที่เดินทางผ่านสำนักงานจัดหาคู่ไปเยอรมนีและญี่ปุ่น หญิงไทยที่ตัดสินใจเข้าสู่อาชีพค้าบริการทางเพศต่อชายชาวต่างชาติ ส่วนหนึ่งก็ด้วยความหวังที่จะได้แต่งงานกับ “ชายต่างชาติที่ดี ๆ มีฐานะ” ดังนั้น การไปเยอรมนีของพวกเธอ จึงเป็นการสร้างครอบครัว และเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในขณะเดียวกัน หญิงเหล่านี้ก็คำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย นั่นคือ โอกาสที่เธอจะสามารถจุนเจือครอบครัวทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจ ผู้หญิงส่วนมากจึงตั้งเงื่อนไขต่อชายต่างชาติให้รับผิดชอบส่งเสียค่าเลี้ยงดูแก่ครอบครัว โดยเฉพาะต่อลูกด้วย
  4. การเลียนแบบ และความคุ้นเคยกับการย้ายถิ่นข้ามชาติ จะเห็นว่า หญิงที่เดินทางไปเยอรมนีและญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีญาติ หรือเพื่อน ที่อยู่ในประเทศเยอรมนีหรือญี่ปุ่น ที่เป็นตัวแทนภาพความร่ำรวย ความมีหน้ามีตา จากการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ที่น่าเดินรอยตามรวมทั้งในหมู่บ้านที่ผู้หญิงมีถิ่นกำเนิด หรือหมู่บ้านใกล้เคียงก็เดินทางไปเยอรมนี และญี่ปุ่นกันมาก ทั้งสองประการทำให้ผู้หญิงเกิดความคุ้นเคยกับการย้ายถิ่นข้ามชาติ ไม่หวาดระแวงต่อการชักชวน ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง ภาพการย้ายถิ่นข้ามชาติที่มักปรากฎในหมู่บ้านที่คุ้นเคยมักเป็นภาพของความร่ำรวยความมีหน้ามีตา
  5. การไม่มีความรู้เกี่ยวกับท้องที่ปลายทาง ปัญหาในการปรับตัว หรือความอึดอัดกับสภาพที่อยู่อาศัย รวมทั้งการที่หญิงไทยบางคนถูกหลอกให้ไปทำงานบริการทางเพศ หรือการที่จ่ายค่านายหน้าเพื่อไปเป็นผู้ฝึกงาน แต่กลับเดินทางด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ เงื่อนไขในการออกวีซ่า หรือการทำงานต่าง ๆ ในประเทศปลายทาง หญิงไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางไม่มีความรู้ และก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ขวนขวายที่จะหาความรู้ ทั้งนี้ อาจจะด้วยความไว้วางใจต่อเครือข่ายที่จัดการในการเดินทาง และอาจเป็นเพราะไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมแก่ผู้ที่ต้องการเดินทางเหล่านี้
  6. ค่านิยม โอกาส สถานภาพทางสังคมและชีวิตที่ดีกว่า ในสังคมไทยสำหรับคนชั้นกลางระดับล่างที่มีฐานะปานกลาง มีการศึกษาไม่สูงนัก โอกาสที่จะได้รับการยอมรับในสังคม หรือสถานภาพทางสังคมที่สุง มีไม่มากนัก ประกอบกับการด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ก็เป็นตัวจำกัดความสามารถทางการบริโภคด้วย อีกประการหนึ่งในสังคมไทยมีการให้คุณค่าหรือมีค่านิยมต่อ “เมืองนอก” อะไรที่เกี่ยวพันกับ “เมืองนอก” เช่น การไป “เมืองนอก” จบการศึกษาจาก “เมืองนอก” ดูจะเป็นเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคมอันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากสำหรับชนชั้นกลางระดับล่าง ดังนั้น หญิงไทยหลายต่อหลายคน จึงมองว่า การเดินทางไปเยอรมนีและญี่ปุ่นก็คือ โอกาสที่จะได้ไป “เมืองนอก” คือ โอกาสที่จะได้เรียนต่อ หรือทำงาน หรือทำงานด้านศิลปะ หรือ เพียงต้องการให้สิ่งดี ๆ แก่ชีวิต และอื่น ๆ ที่ไม่สามารถที่จะมีได้ในประเทศ เนื่องจาก ความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ[3]

[1] Phannee Chunjitkaruna. (2000). Pitfalls and Problems in the Search for a Better Life: Thai Migrant Workers in Japan. In Supang Chantavanich et al (ed.): Thai Migrant Workers in East and Southeast Asia 1996 – 1997, Bangkok: ARCM Publication Nr. 019, Bangkok, pp. 246 – 271.

[2] Patyay Ruenkaew. (2003). Heirat nach Deutshland: Motive and Hintergrunde thailandisch 3 dectscher Ehe3schileBunge” (Marriage to Germany : Motive and Background of Thai-German marriages), Frankfurt/New York: Campus Verlag.

[3] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *