กระบวนการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติของหญิงไทย

การเดินทางย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติของหญิงไทย เป็นกระบวนการย้ายถิ่นหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นแรงงานภายในประเทศ อันประกอบด้วยการย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ การย้ายถิ่นเพื่อค้าบริการทางเพศ รวมทั้งการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษาต่อ การย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาตินี้เกิดขึ้นได้ด้วยเครือข่ายที่ช่วยหลือจัดพา อันได้แก่ ระบบนายหน้าและแม่แทร็คเครือข่ายทางสังคม สำนักงานจัดหาคู่ทั้งที่จดทะเบียนเป็นรูปบริษัท และที่ดำเนินงานโดยหญิงที่เคยเดินทางมาก่อน รวมทั้งชายเยอรมันและญี่ปุ่น ดังนั้น รูปแบบของการย้ายถิ่นข้ามชาติไปเยอรมนีและญี่ปุ่น อาจสรุปได้ดังนี้

  1. การย้ายถิ่นเพื่อการค้าบริการทางเพศ ซึ่งในเยอรมนีจะเริ่มต้นประมาณปลายทศวรรษที่ 70 (พ.ศ. 2516) และต้นทศวรรษที่ 80 และในญี่ปุ่นเริ่มประมาณ ปี พ.ศ. 2523 – 2524 สำหรับการเดินทางไปเยอรมนี ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ถึง พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ในช่วงนี้คนไทยสามารถเดินทางเข้าเยอรมนีโดยไม่ต้องใช้วีซ่า เมื่อเข้ามาแล้วสามารถอยู่ได้ 90 วัน การทำงานจึงเป็นลักษณะไป ๆ มา ๆ (shuttle prostitution) คือ ทำงานครบ 90 วัน ก็จะเดินทางออกนอกประเทศไปประเทศอื่น หรือกลับประเทศไทย แล้วจึงเดินทางเข้ามาทำงานอีก ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ถึงปัจจุบันด้วยข้ออ้างด้านมาตรการป้องกันการค้าหญิง เยอรมนีบังคับใช้วีซ่ากับบุคคลบางสัญชาติรวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น การเดินทางเข้ามาทำงานลักษณะไป ๆ มา ๆ จึงไม่อาจทำได้อีกต่อไป การเดินทางเปลี่ยนจากการเดินทางด้วยตนเองมาเป็นการจัดพาอย่างชัดเจนด้วย “ระบบแทร็ค” หรือ “แม่แทร็ค” คือ เพื่อน ญาติ คนรู้จักที่เคยมีประสบการณ์การเดินทางมาก่อน และพำนักอยู่ในเยอรมนี ช่วยจัดเตรียมเอกสารในการขอวีซ่า รวมทั้งการหาผู้ชายเพื่อแต่งงาน การเดินทางเข้ามาค้าบริการทางเพศในญี่ปุ่น มักจะเดินทางโดยผ่านระบบนายหน้า ที่มักทำงานประสานงานกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ผู้หญิงจะถูกพาเข้าประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อทำงานในสแน็คบาร์ โดยต้องทำงานจ่ายค่าแทร็คกับเจ้าของร้าน
  2. เดินทางเข้ามาแต่งงาน โดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ ซึ่งในเยอรมนีเรียกกันช่วงต้น ๆ ว่า “ธุรกิจเมียสั่งทางไปรษณีย์” เริ่มต้นประมาณ ปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) นอกจาก บริษัทจัดหาคู่แล้ว บางสำนักงานเปิดบริการแอบแฝงในรูปบริษัทจัดหางาน ในปัจจุบันรูปแบบของสำนักงานจัดการหาคู่จะเป็นการดำเนินการผ่านอินเทอร์เน็ตอีกประเภทหนึ่งของบริการจัดหาคู่ที่มุ่งหวังกำไรเช่นกันเพียงแต่ไม่ได้ดำเนินการในรูปบริษัท คือ หญิงไทยที่แต่งงานกับชายเยอรมันเป็นนายหน้าชักชวนหญิงในท้องถิ่นของตนที่ประเทศไทย หรือทำงานประสานกับญาติ หรือเพื่อนให้หาหญิงที่ต้องการแต่งงาน โดยคิดค่าหัวจากหญิงไทย และชายเยอรมัน แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันที่การเป็นแม่สื่อดังกล่าวเป็นไปโดยไม่หวังผลกำไร
  3. การเดินทางเข้ามาทำงานนี้ไม่ใช่การค้าบริการทางเพศ ซึ่งเริ่มต้นประมาณ ปลายทศวรรษที่ 70 (ประมาณ พ.ศ. 2522) ในเยอรมนีและปลายปี 2523 ในญี่ปุ่นในเยอรมนี ในช่วงเริ่มต้นส่วนมากจะเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวแล้วหลบทำงาน ตั้งแต่ปี 2532 จะเป็นการเดินทางโดยการอำนวยความสะดวกของเครือข่ายทางสังคม งานที่ทำมักได้แก่ งานในร้านอาหาร ผู้ช่วยในครัว หรือคนเสริฟ ช่วงหลังเมื่อมีการบังคับใช้วีซ่าหญิงไทยก็จะใช้การแต่งงานกับชายเยอรมันเพื่อให้ได้สิทธิพำนักสำหรับในประเทศญี่ปุ่น การเดินทางเพื่อเข้ามาทำงาน ก็จะผ่านระบบนายหน้า เช่นเดียวกับการเดินทาง เข้ามาค้าบริการทางเพศ การเดินทางเข้ามามีทั้งที่ใช้วิธีต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย และการเดินทางเข้ามาเป็นผู้ฝึกงาน
  4. การเดินทางเข้ามาเพื่อสร้างครอบครัว หรือเพื่อแต่งงาน กรณีประเทศเยอรมนี หญิงที่เดินทางในรูปแบบนี้ มักจะเป็นหญิงที่ทำงานค้าบริการทางเพศที่ต้องการเลิกอาชีพได้พบปะชายเยอรมันที่ไปเที่ยวในประเทศไทย การพบปะมักเป็นในช่วงที่ผู้หญิงทำงาน รูปแบบนี้เกิดขึ้นหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดประมาณปี 2518 – 2520 อีกกรณีหนึ่งคือ หญิงที่ทำงานในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ทำงานในโรงแรม ร้านอาหาร แล้วพบกับสามีจึงแต่งงานและเดินทางไป กรณีประเทศญี่ปุ่นก็จะเป็นลักษณะคล้ายกัน แต่จะเริ่มต้นเมื่อไรไม่ทราบแน่

การย้ายถิ่นข้ามชาติเพื่อค้าบริการทางเพศก่อให้เกิดการย้ายถิ่นเพื่อการแต่งงาน นั่นคือ เมื่อผู้หญิงทำงานได้ระยะหนึ่ง มักจะพบชายที่พอใจ และเต็มใจแต่งงาน ผู้หญิงมักจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเตรียมเอกสารสำหรับแต่งงาน และส่งไปให้ชายญี่ปุ่นจัดการจดทะเบียน หรือเดินทางไปแต่งงานในกรณีที่ไปเยอรมนี หรือชายญี่ปุ่นและเยอรมันเดินทางมาแต่งงานที่ประเทศไทยแล้วพาเจ้าสาวกลับประเทศไป

จากตัวเลขสถิติทั้งในญี่ปุ่นและเยอรมนีที่พบตัวเลขของเยาวชนไทย และจากข้อมูลที่ว่า เมื่อหญิงไทยแต่งงานกับชายญี่ปุ่นหรือเยอรมันแล้ว มักจะมารับลูกไปอยู่ด้วย หรือบางครั้งจะเดินทางขึ้นไปพร้อมกัน เมื่อตอนที่ผุ้หญิงเดินทางไปแต่งงาน ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นวา การย้ายถิ่นแรงงานของหญิงไทยก่อให้เกิดการย้ายถิ่นของเยาวชนไทย ซึ่งเป็นการย้ายถิ่นต่อเนื่องต่อจากการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติของหญิงไทย และการย้ายถิ่นนี้ก็มีมานานกว่าทศวรรษแล้ว

กระบวนการเดินทางและรูปแบบการเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่น กำหนดสถานภาพของผู้หญิงเมื่อผู้หญิงเดินทางมาถึงประเทศปลายทางแล้ว นั่นคือ เมื่อถึงเยอรมนีและญี่ปุ่น ผู้หญิงจะมีสถานภาพหลัก ๆ เป็นภรรยา และแรงงานในกลุ่มแรงงานนี้ สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • แรงงานค้าบริการทางเพศ แรงงานนี้ในประเทศญี่ปุ่นมักจะเป็นแรงงานที่พำนักอยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นคือ ไม่มีวีซ่า แรงงานหญิงไทยประเภทนี้ในเยอรมนีบางส่วนก็จะพำนักอยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน แต่จะมีบางส่วนที่ใช้การแต่งงานกับชายเยอรมันเป็นหนทางที่ให้ได้สิทธิพำนัก และสามารถอยู่ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  • แรงงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การค้าบริการทางเพศในญี่ปุ่น เช่น กรรมการในโรงงานต่าง ๆ ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเดินทางผ่านระบบนายหน้า และแม่แทร็คแรงงานเหล่านี้ก็มักจะพำนักอยู่ในญี่ปุ่นอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน
  • แรงงานที่พำนักอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้ คือ ผู้ฝึกงาน ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้บางส่วนก็ถูกหลอกลวงจากนายหน้าเช่นกัน
  • แรงงานแอบแฝง กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศเยอรมนีโดยการแต่งงาน ซึ่งดูเหมือนเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เดินทางเข้าประเทศและสามารถอยู่ทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีเป้าหมายชัดเจนในการเดินทางนั่นคือ การทำงาน แต่มิใช่งานค้าบริการทางเพศ หากเป็นงานไร้ฝีมือต่าง ๆ เท่าที่เครือขายจะช่วยจัดหาให้ได้

นอกจาก แรงงานที่กล่าวข้างต้น ซึ่งสามารถพิจารณาได้ว่า เป็นแรงงานโดยตรงนั้นในกลุ่มของหญิงไทยที่มีสถานเป็นภรรยาในเบื้องแรก ณ ช่วงเวลาหนึ่งหญิงเหล่านี้ก็จะขวนขวายหางานทำ เพราะยังมีภาระที่ต้องส่งเสียครอบครัว ดังนั้น เมื่อได้ทำงานหญิงเหล่านี้ก็พัฒนาตนเองมาเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่กลุ่มเหล่านี้ก็จะมีสถานภาพทางกฎหมายที่ถูกต้อง[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ รายงานการศึกษาวิจัยสิทธิหญิงไทย กรณีเคลื่อนย้ายแรงงานข้าติชาติ โดย ดร.พัทยา เรือนแก้ว. กรุงทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *