มูลเหตุจูงใจที่ทำให้คนสนใจไสยศาสตร์

การที่คนเราสนใจ “ไสยศาสตร์” นั้นมีมูลเหตุ 2 ประการ คือ เพราะความกลัว เช่น กลัวผี กลัวต้นไม้ใหญ่ กลัวภัยพิบัติ กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย และกลัวอุบัติเหตุต่าง และเพราะความต้องการ เช่น ต้องการโชคลาภ ต้องการชัยชนะในการแข่งขันความสุข และความปลอดภัย เป็นต้น ส่วนวัตถุประสงค์ในการที่จะเชื่อและปฏิบัติตามความเชื่อนั้นก็มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน คือ ในด้านก่อ ได้แก่ การนำมาซึ่งโชคดี ความสำเร็จ ความสุข ความปลอดภัย และในด้านการทำลาย ได้แก่ การมุ่งทำลายสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ เช่น เคราะห์ร้าย ศัตรู โรคภัยไข้เจ็บ และภัยพิบัติ เป็นต้น[i]

ประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์

“ไสยศาสตร์” (superstition) คือ การเชื่อถือโดยรู้สึกเกรงขามหรือกลัวในสิ่งที่เข้าใจว่า อยู่เหนือธรรมชาติหรือในสิ่งลึกลับ อันไม่สามารถจะทราบด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และสิ่งนั้นอาจะให้ดีหรือร้ายแก่ผู้เชื่อถือได้ ซึ่งสามารถจำแนกไสยศาสตร์ออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย วิญญาณ ผีสางเทวดา เครื่องราง ของขลัง และโชคลาง[ii

วิญญาณ

ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่า วิญญาณเป็นนามธรรมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับพลังงานทางวัตถุ หากแต่ว่า เป็นพลังงานทางด้านนามธรรม มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา อำนาจการบันดาลของวิญญาณทำให้เกิดโอปปาติกะ (สัตว์ที่ผุดขึ้น) ซึ่งอาจเป็นเทวดา สัตว์นรกหรือเปรตก็ได้ การติดต่อกับโอปปาติกะตามความเชื่อทางไสยศาสตร์สามารถทำได้โดย

  1. อาทาสปัญญา คือ เชิญเทวดาในกระจกหรือแก้วแล้วถามปัญหา เช่น ผีถ้วยแก้ว
  2. กุมารีปัญหา คือ เชิญเทวดาเข้าสิงสรีระของกุมารี เช่น การเข้าทรง
  3. การเข้าสมาธิติดต่อ ซึ่งผู้ที่จะทำได้ต้องเป็นผู้ที่ได้สมาธิขั้นสูงเท่านั้น

ผีสางเทวดา

คนไทยมีความเชื่อเรื่องผีว่า มีอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่ให้คุณและให้โทษ ผีใหคุณที่ได้รับการยกย่องบูชาและเซ่นไหว้ ได้แก่ ผีเรือน ผีบ้าน พระภูมิ เจ้าพ่อหลักเมือง ปู่เจ้าสมิงพราย และปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ส่วนผีที่ให้โทษก็มีอยู่ไม่น้อย แต่คนไทยก็มีวิธีเซ่นไหว้ขอร้องมิให้ผีมาทำอันตราย บรรดาผีทั้งหลายที่คนไทยรู้จักมานานมีดังนี้ คือ

  • แม่โพสพ เป็นผีที่คนไทยเชื่อว่า คุ้มครองการทำไร่นาให้ได้ผลดี สมควรให้ความเคารพ เมื่อรับประทานข้าวอิ่มแล้วผู้ใหญ่ในสมัยก่อนมักสอนให้เด็กไหว้แม่โพสพทุกครั้ง
  • นางกวัก เป็นผีผู้หญิง ซึ่งคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพ่อค้าแม่ค้าเชื่อกันมาก มักมีนางกวักไว้บูชา โดยเชื่อว่า จะทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง เพราะมีเสน่ห์กวักมือเรียกให้ลูกค้าเข้าร้านได้มาก มักทำเป็นรูปผู้หญิงกวักมือ แต่งกายแบบสมัยโบราณ คือ นุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มผ้าแถบสไบเฉียง หวีผมปะบ่า
  • แม่ย่านาง เป็นผีผู้หญิงแก่ มีหน้าที่รักษาเรือ ชาวเรือถือกันว่า แม่ย่านางซึ่งสถิตอยู่ที่หัวเรือเป็นผู้ที่บันดาลแต่ความสุขสวัสดี และให้ความคุ้มครองรักษาพวกเขาตลอดเวลาที่อยู่ในน่านน้ำ
  • นางตะเคียนหรือพรายตะเคียน เป็นผีผู้หญิงประจำต้นตะเคียน ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ คนไทยไม่นิยมนำไม้ตะเคียนมาปลูกสร้างบ้าน เพราะกลัวนางตะเคียนสิงอยู่ ใครเคราะห์ร้ายไปซื้อไม้ตะเคียนมาทำเสาต้องรีบจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทันที คนไทยบางคนเมื่อเห็นเสาตกน้ำมัน จะเชื่อว่า นางตะเคียนร้องไห้ จำเป็นต้องทำพิธีเซ่นไหว้ขออภัยจากนาง
  • ผีกระสือ เป็นผีที่เข้าสิงผู้หญิง มีแสงคล้ายไฟวับแวมอย่างหิ่งห้อย ชอบออกหากินตอนกลางคืนตามที่สกปรก เป็นผีที่อดอยากมาก น้ำลายจึงไหลอยู่เสมอ เชื่อกันว่า ผีกระสือกินจุ ตะกละตะกลาม และชอบใช้ผ้านุ่งสีดำของผู้หญิงเช็ดปาก
  • นางตานี เป็นผีผู้หญิงสิงอยู่ในต้นกล้วยตานี คนในสมัยโบราณไม่ใครปลูกต้นกล้วยไว้ในบ้าน เพราะกลัวผีตานีหลอก
  • ผีปอบ เป็นผีที่เข้าสิงในร่างกายคนแล้วแย่งอาหารกินจนคนผ่านผอมลงทุกวัน และเมื่อกินถึงตับไตไส้พุงแล้วก็ต้องตายไปในที่สุด โบราณให้สังเกตว่า คนที่ถูกผีปอบเข้าสิ่งนั้นมักตาขวาง ไม่กล้าสบตาคน และร่างกายจะผอมซูบลงเรื่อย ๆ
  • ผีโขมด เป็นผีที่มีรูปร่างเป็นดวงไฟ มีแสงวิบวับ อยู่ตามที่ที่มีน้ำสกปรก ชอบปรากฏตัวตอนกลางคืน เป็นผีขนาดย่อม ๆ ไม่ทำร้ายคนให้เดือนร้อนอะไรนัก เพียงแต่หลอกให้คนหลงทางเล่น คือ ทำเป็นส่งทางให้คนเดินตามไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

เครื่องรางของขลัง

ของขลัง (fetish) หมายถึง สิ่งของเฉพาะอย่างยิ่งซึ่งมีอำนาจสิงอยู่ ผู้ใดนำของขลังผูกเข้ากับเส้นเชือกแขวนคอเอาไว้จะเกิดความอบอุ่นใจ มั่นใจในตนเอง และกล้าที่จะออกไปเสี่ยงภัย แต่ถ้าของขลังชิ้นนั้นไม่ได้ผลก็จะทิ้งไปแล้วพยายามหาอันใหม่มาทดแทนได้

คนไทยมีการนับถือเครื่องรางมาแต่โบราณ สังเกตได้จากหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีการกล่าวถึง เครื่องรางของขลังเสมอ ด้วยคิดว่า เครื่องรางของขลังสามารถจะป้องกันภยันตรายทั้งปวง และที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้เกิดกำลังใจว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ช่วยตนได้ เครื่องรางของขลังจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ศรัทธา

โชคลาง

โชคลาง หมายถึง เครื่องหมายที่ปรากฏให้เห็น เพื่อบอกเหตุร้ายหรือเหตุดี ซึ่งคนไทยมีความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติและงดเว้นปฏิบัติอยู่โดยทั่วไป บรรดาสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่สังคมไทยยึดมั่นว่า เป็นเครื่องหมายของโชคร้ายหรือโชคดีพอสรุปได้ว่า มีดังนี้

  • นามธรรมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต อันได้แก่ ชื่อของคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เช่น เด็กทารกที่เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ พ่อแม่ญาติพี่น้องกลัวว่า จะตายจึงตั้งชื่อเป็นมงคลว่า “อยู่” เพื่อเป็นโชคลางว่า เด็กคนนั้นจะไม่ตาย หรือถ้าพ่อแม่เป็นคนจน อยากจะให้ลูกมีชีวิตที่มั่งคั่งก็อาจตั้งชื่อลูกว่า “บุญมี” เพื่อเป็นลางที่ดี
  • รูปธรรมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต อันได้แก่ รูปร่างลักษณะของคนสัตว์ สิ่งของ และสถานที่ที่ดีและไม่ดี เช่น ลักษณะของคนไม่ดีไม่น่าคบ คือ ผมหยิก หน้ากร้อ คอเอียง พูดสองเสียง หน้าฟันขาว หรือ “มอญขาว ลาวใหญ่ ไทยเล็ก เจ๊กดำ” เป็นต้น หรือลักษณะของกล้วยแฝดเป็นของต้องห้ามสำหรัฐหญิงท้อง และความยึดมั่นว่า ผู้ชายห้ามกินน้ำเต้า มะเฟือง ห้ามลอดราวผ้าผู้หญิง รวมทั้งเรื่องไฝและปานนั้นรวมอยู่ในเรื่องของโชคลางด้วย
  • ความฝัน ความฝันถือกันว่า เป็นการสะท้อนถึงโชคลางที่จะส่งผลกระทบถึงชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต เช่น คนฝันว่า งูรัดก็ถือกันว่าจะได้เนื้อคู่เป็นต้น
  • ประสบการณ์ ประสบการณ์บางอย่างจัดว่า เป็นโชคลางที่จะส่งผลกระทบในด้านนั้นหรืออย่างนั้น เช่น การเห็นขบวนศพเป็นลางของโชคดี หรือเสียงจิ้งจกทัก แปลว่า ให้หยุดกระทำสิ่งที่คิดจะกระทำ เป็นต้น
  • ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สังคมยึดถือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อันได้แก่ ฝนตกหรือท้องฟ้าสว่างปลอดโปร่ง เป็นโชคลางของความเยือกเย็น ความปลอดภัยและความปลอดโปร่งของชีวิตหรือกิจกรรมที่กำลังจะดำเนินอยู่ เห็นดาวตกห้ามทัก หากทักแล้วชีวิตของผุ้ที่จะมาเข้าท้องมนุษย์นั้นจะเข้าท้องสุนัขแทน เพราะดาวนั้นถือเหมือนว่า เทวดาจะมาจุติ เวลารุ้งขึ้นก็ห้ามชี้ที่รุ้งมิฉะนั้น นิ้วจะด้วน แต่ถ้าเผลอทำไปแล้วให้เอานิ้วเช็ดก้นเสีย ส่วนเวลาฝนตกห้ามเอาขันครอบหัวเล่น ซึ่งที่จริงเหตุผลน่าจะมาจากความกลัวฟ้าผ่าตายนั่นเอง
  • พิธีการ สังคมไทยเชื่อว่า พิธีการต่าง ๆ เป็นการนำสัญลักษณ์แห่งความสุขและความเจริญของชีวิตมาให้ เพราะพิธีการต่าง ๆ จะนำมาซึ่งโชคลางที่ดี

[i] รัชนีกร เศรษฐโฐ, 2532 (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) หน้า 183

[ii] รัชนีกร เศรษฐโฐ, 2532 (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) หน้า 185 – 187

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/vectorpouch

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *