ความเชื่อ ความจริง อำนาจในลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีไทย

เป็นที่น่าสนใจว่า “ปัญหาของความเชื่อ” ในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งคำถามท้าทายการมีอยู่และความจริงของ “การทรงเจ้าเข้าผี” ก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ความทันสมัยและอารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย ชนชั้นผู้นำและปัญญาชนสยามคนสำคัญ เช่น สุนทรภู่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ในสมัยนั้นเริ่มเคลือบแคลงสงสัยต่อวิธีการ “เข้าทรง” และอำนาจของ “ผี” ที่พูดผ่านคนทรง บางท่านก็ตั้งคำถามโดยตรง บางท่านก็ต่อต้านโดยใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองของตนในการจัดการกับ “ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผี” ความเชื่อโชคลาง ของขลัง หรือการทำเสน่ห์ยาแฝดต่าง ๆ ที่คนไทยรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในราชอาณาจักรสยาม เช่น จีนและอินเดีย ให้ความเคารพศรัทธาและเชื่อถือมาช้านาน

สุนทรภู่ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการลงผีอย่างชัดเจนในนิราศของท่านหลายเรื่อง เช่น ใน “นิราศเมืองแกลง”[i] ท่านบอกว่า การเข้าทรงลงผีเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง และเป็นความงมงายของชาวบ้าน

“…ให้คนทรงลงผีเมื่อพี่เจ็บ

ว่าเพราะเก็บดอกไม้ที่ชายเขา

ไม่งอนง้อขอสู่ทำดูเบา

ท่านปู่เจ้าคุมแค้นจึงแทนทด

ครั้งตาหมอขอโทษก็โปรดให้ ที่

จริงใจก็รู้อยู่ว่าปด

แต่ชาวบ้านท่านถือข้างท้าวมด

จึงสู้อดนิ่งไว้ในอุรา…”

เช่นเดียวกับในเรื่อง “นิราศพระประธม[ii]” ท่านถึงกับอ่อนเพลียละเหี่ยใจในความงมงายไร้เหตุผลของชาวบ้าน ท่านบอกว่า เจ้าผีช่วยคนไม่ได้เลย ผีจะเป็นที่พึ่งของคนได้อย่างไร ส่วนที่ท่านเห็นว่า พอจะพึ่งได้บ้างก็เห็นจะเป็นเจ้านายหรือขุนนางข้าราชการทั้งหลาย

“…ที่ท้ายบ้านศาลจ้าวของชาวบ้าน

บวงสรวงศาลจ้าวผีบายศรีตั้ง

เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง

ให้คนทั้งปวงหลงลงอบาย

ซึ่งคำปดท้าวว่า จ้าวช่วย

ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย

อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย

ถือจ้าวนายที่ได้พึ่งจึงจะดี…”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้หนึ่งที่ทรงเห็นว่า การเข้าทรงลงผีเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล พระองค์ท่านทรงต่อต้านการเข้าทรง ความเชื่อโชคลาง ของขลัง หรือการทำเสน่ห์ยาแฝดต่าง ๆ มาโดยตลอด เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์มีทั้งทรงประกาศลงโทษคนหลอกลวงทำเสน่ห์ยาแฝด คนธรรมดาหรือพระสงฆ์ที่อวดอุตริปาฏิหาริย์ต่าง ๆ จนถึงขั้นประหารชีวิต[iii] และทรงจัดการกำราบกลุ่มคนทรงศาลเจ้าเสือของชุมชนคนจีนบริเวณถนนเจริญกรุง ในราว พ.ศ. 2409 ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อไปนี้

“…เดิมมีศาลเจ้าของพวกจีนเป็นตึกใหญ่อยู่ริมถนนบำรุงเมืองแห่งหนึ่ง เรียกว่า “ศาลเจ้าเสือ” กีดทางที่ขยายถนน จึงพระราชทานที่หลวงแห่งหนึ่งริมถนนเฟื่องนครให้ย้ายศาลเจ้าเสือมาตั้ง และสร้างศาลใหม่พระราชทานแทนศาลเดิม แต่พวกจีนไม่พอใจจะให้ย้าย คิดอุบายให้เจ้าคนทรงพูดจาพยากรณ์ว่า จะเกิดภัยอันตรายต่าง ๆ จนเกิดหวาดหวั่นกันในหมู่พวกจีนในสำเพ็ง ขอแห่เจ้าเอาใจมิให้คิดร้าย ก็พระราชทานให้แห่ตามประสงค์ และเสด็จออกทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ฉันได้ตามเสด็จไปดูแห่ยังจำได้ กระบวนที่แห่นั้นก็เป็นอย่างเจ๊กมีธงทิวและล่อโก๊ะเป็นต้น แปลกแต่มีคนทรงเจ้าแต่งตัวใส่เสื้อกั๊กนุ่งกางเกง และโพกหัวสีแดง นั่งบนเก้าอี้หามมาในกระบวนสักสองสามคน บางคนเอาเข็มเหล็กแทงแก้มทะลุเข็มคาหน้ามาให้คนเห็น บางคนบันดาลให้คนหามเก้าอี้เดินโซเซไม่ตรงถนนได้ เมื่อมาถึงพระที่นั่งตรัสสั่งให้ตำรวจเข้าหามเจ้าโซเซหามไปได้ตรง ๆ คนดูก็สิ้นเลื่อมใส เมื่อเสร็จการแห่แล้ว โปรดฯให้กรมเมืองประกาศว่า ถ้าเจ้ายังขืนพยากรณ์เหตุร้ายจะเอาผิดกับคนทรง ในไม่ช้าเจ้าเสือเข้าคนทรงอีก แต่คราวนี้ประกาศว่า ที่จะโปรดฯ ให้ย้ายศาลไปสร้างใหม่นั้นเป็นการดีนัก เจ้าพอใจมาก…”[iv]

แม้ว่า พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพข้างต้นนี้ จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับทรงเจ้าเข้าผี แต่ก็ถือได้ว่า เป็นกรณีตัวอย่างของความพยายามฝ่ายรัฐ และชนชั้นผู้นำสยามในการกำราบ หรือส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังลัทธิทรงเจ้าเข้าผีในสมัยนั้น การทรงเจ้าเข้าผี การทำเสน่ห์ยาแฝด การแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ การทำนายโชคชะตาต่าง ๆ เป็นพฤติกรรม และความเชื่อที่ทางชนชั้นผู้นำของสยามในเวลานั้นมองเห็นว่า เป็นอุปสรรคขวางกั้นที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และศิวิไลซ์ จากกรณีตัวอย่างนี้ การขัดขวางการขยายถนนของกลุ่มร่างทรงศาลเจ้าเสือ ถือว่า เป็นตัวอย่างของการขัดขวางวาทกรรมของความทันสมัย การขยายถนนเป็นการสร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง แต่ศาลเจ้า และกลุ่มคนทรงเจ้าเป็นความเชื่อ และพิธีกรรมที่งมงายไม่มีเหตุผลในสายตาของชนชั้นผู้นำสยามเวลานั้น พื้นที่ทางสังคมของคนทรง และตำหนักทรงจึงตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการทางอำนาจจากหน่วยงานของรัฐ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แม้ว่า รัฐไม่ได้ปราบปราม กำราบ หรือจัดการกับลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 จนถึงปัจจุบันอย่างจริงจัง หรือถอนรากถอนโคนทั้งในเมืองและชนบท แต่ก็กล่าวได้ว่า ปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐที่กระทำต่อลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีก็เกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ โดยเฉพาะในกรณีที่อื้อฉาว และส่งผลกระทบต่ออุดมการณ์หลักของชาติอย่างรุนแรง ในรอบศตวรรษที่ผ่านมาลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีโดยเฉพาะผู้นำลัทธิถูกกระทำโดยอำนาจ และกลไกของรัฐหลายรูปแบบ เช่น ส่งกำลังทหารเข้าไปจับกุมในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน และปลุกระดมก่อความไม่สงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร รวมทั้งประหารชีวิตผู้นำคนสำคัญของลัทธิพิธี (กรณีกบฎผีบาปผีบุญ)[v] จับกุมดำเนินคดีพร้อมสั่งปิดที่ทำการของสำนัก (กรณีสำนักปู่สวรรค์)[vi] ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกรณีร่างทรง หรือตำหนักทรงขนาดเล็กที่ถูกจับ และดำเนินคดีในข้อหาหลอกลวง ฉ้อโกงทรัพย์ และดูหมิ่นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งกระแสสังคมในทศวรรษที่ 2530 – 2540 ที่มีสื่อมวลชน ปัญญาชน และนักวิพากษ์สังคมบางกลุ่มออกมาแสดงความเห็น และจัดอภิปรายต่อต้านการทรงเจ้าเข้าผีพร้อมตั้งข้อหาว่า เป็น “แก๊งทรงเจ้า”[vii] พระพยอมกัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว และพระนักเทศน์นักกิจกรรมเพื่อสังคมผู้มีชื่อเสียงและนายดำรง พุฒตาล อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ “เจาะใจ” (ท.ท.บ. 5) บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร “คู่สร้างคู่สม” และสมาชิกวุฒิสภาเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มต่อต้านลัทธิพิธีทรงเจ้าในสังคมไทยขณะนั้น

กรณีของนายชูชาติ งามการ และคณะอดีตร่างทรงองค์เทพจี้กงจากจังหวัดชลบุรีออกมาแฉเคล็ดลับในการทรงเจ้าผ่านรายการโทรทัศน์ และสื่อมวลชนระดับชาติหลายแขนง เมื่อกลางปี พ.ศ. 2540 นับได้ว่า เป็นจุดสูงสุดของขบวนการต่อต้านการทรงเจ้าเข้าผีในสังคม นายชูชาติ งามการและคณะ ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า การเข้าทรงลงผีเป็นเรื่องของการแสดง ผี หรือคนที่มาสิงร่างทรง หรือ คนทรง อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของการแสดงของร่างทรง ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ขององค์เทพหรือเจ้าทั้งหลาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ปฏิกิริยาของสาธารณชนมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายชูชาติและคณะ ประเด็นนำเสนอของนายชูชาติและคณะที่เน้นเหตุผลเชิงประจักษ์และการกล่าวหาว่า การทรงเจ้าเป็นเรื่องงมงายถูกโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยวาทกรรมที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”[viii]

กรณีตัวอย่างนี้น่าสนใจตรงที่ว่า การต่อสู้ทางวาทกรรมระหว่างรัฐกับคนทรง หรือฝ่ายเหตุผลนิยมและทันสมัยนิยมกับฝ่ายทรงเจ้าเข้าผีในสังคมไทยนั้น แม้ฝ่ายแรกจะมีอำนาจและเครื่องมือของอำนาจต่าง ๆ อยู่ในมือ แต่ในความเป็นจริงไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่มีวาทกรรมใดที่ครอบงำได้อย่างเด็ดขาด ฝ่ายที่ถูกกระทำ เช่น คนทรงและลูกศิษย์ยังมีพื้นที่ทางสังคมและช่องทางอีกมากในการตอบโต้ แม้ว่า จะไม่มีสื่อมวลชนกระแสหลักและกลไกของระบบราชการสนับสนุนก็ตาม ความเชื่อและพิธีกรรมของการทรงเจ้าเข้าผีก็เบ่งบานในตำหนักทรงทั่วประเทศ ธุรกิจเกี่ยวกับการใบ้หวย ดูดวง ตรวจโชคชะตาราศี สะเดาะเคราะห์ ตลาดพระเครื่อง และวารสารสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับกระแสศาสนาพาณิชย์ทั้งหลายังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างแพร่หลาย ประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผียังคงดำเนินต่อไปอีกในสังคมไทย ปฏิบัติการทางวาทกรรมและการตอบโต้ยังคงจะต้องเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอีกตราบเท่าที่สังคมยังคงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่อไป[ix]


[i] สุนทรภู่. “นิราศเมืองแกลง”. ในชีวิตและงานของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 10. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณคาร, 2518), หน้า 107.

[ii] สุนทรภู่. “นิราศพระประธม”. ในชีวิตและงานของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 10. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณคาร, 2518), หน้า 460, 463.

[iii] ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาคสอง (พ.ศ. 2401 – 2404). (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โสภณพิพัธนากร, 2465).

[iv] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. ความทรงจำ. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506), หน้า 157 – 158.

[v] เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530) หน้า 491 – 516.

[vi] Yagi, Susuke. “Sanak Puu Sawan: Rise and Oppression of a New Religious Movement in Thailand.” (Unpublished Ph.D.dissertation, University of Washington, 1988).

[vii] ข่าวสด. 2 กันยายน 2539. ส.ศิวรักษ์และคนอื่น ๆ . พุทธกับไสยในสังคมไทย. (กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาและสถาบันสันติประชาธรรม, 2538).

[viii] Pattana Kitiarsa. “You may Not Believe, But Never Offend the Spirits: Spirit-medium Cult Discourses and the Postmodernization of Thai Religion.” (Unpublish Ph.D.dissertation, University of Washington, 1999).

[ix] ขอขอบคุณที่มาบทความ พัฒนา กิติอาษา เรื่อง ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย มหาวทิยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/h9images

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.se-ed.com/product/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%88.aspx?no=9786165145978

ขอขอบคุณภาพจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%28%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%88%29#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Sunthornphu.jpg

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.su-usedbook.com/products_detail/view/7415598

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *