ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในสังคมไทย

คำว่า “เข้าทรงลงผี” หรือ “ทรงเจ้าเข้าผี” (spirit mediumship) เป็นคำในภาษาไทยที่สามารถพบได้ทั่วไปทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน และเป็นคำเก่าแก่แต่ก็มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวพอสมควร แต่เมื่อพิจารณาชุดของคำดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนของปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม จะเห็นได้ว่า กินความหมายกว้างขวาง และคลุมเครือค่อนข้างมาก ทั้งยังครอบคลุมความเชื่อ และพิธีกรรมที่มีวิญญาณ และคนทรงเป็นศูนย์กลางในหลากหลายรูปแบบ เนื้อหา และที่มาการ “ทรงเจ้าเข้าผี” โดยทั่วไป หมายถึง การเข้าทรง หรือการติดต่อผี หรือวิญญาณผ่านคนทรงโดยทั่วไป ไม่ว่าร่างทรง หรือคนทรงจะเป็นชายหรือหญิง ไม่ว่าการเข้าทรงลงผีแต่ละครั้งจะมีวัตถุประสงค์ในการรักษาพยาบาลหรือไม่ก็ตาม ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กร การจัดการ และความสัมพันธ์ทางสังคม ลักษณะต่าง ๆ ระหว่างร่างทรงกับลูกศิษย์ และบริบททางสังคมของการทรงเจ้าเข้าผีเรียกว่า “ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผี” (spirit medium cults)

ในบริบทของสังคมไทย ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนาดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาช้านาน นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่า การทรงเจ้าเข้าผีมีอยู่ในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ไต/ไทก่อนการรับพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการปรากฏตัว และการคงอยู่ของการทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไต/ไท ได้แก่ ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยปัจจุบัน เช่น ผีปู่ย่าในล้านนา ผีปู่ตาในอีสาน ผีตายายในภาคใต้ เป็นต้น การติดต่อวิญญาณของผีบรรพบุรุษ ผีอื่น ๆ ในวัฒนธรรมไต/ไท รวมทั้งวิญญาณขององค์เทพที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และจีน ส่วนใหญ่จะอาศัยร่างทรง หรือคนทรงเป็นสื่อกลางและเป็นผู้นำพิธีกรรมคนสำคัญ แม้ว่า ความเชื่อ และพิธีกรรมของพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ จะได้รับการรองรับความชอบธรรมโดยชนชั้นผู้ปกครองของไทยนับตั้งแต่การสถาปนารัฐแบบดั้งเดิมอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรศรีอยุธยา เป็นต้นมา แต่ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีบทบาทสำคัญแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในสังคมไทยสมัยใหม่ปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อ และพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด ในขณะที่เนื้อหาสำคัญจะเน้นเรื่องการทำหน้าที่ของคนทรง หรือร่างทรง เพื่อติดต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของผี หรือวิญญาณเหมือนกัน สามารถแบ่งลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในสังคมไทยออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในชุมชนชนบท ส่วนใหญ่จะเป็นการทรงเจ้าเข้าผีที่มีรากฐานมาจากความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาดั้งเดิม สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์รวมทั้งวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น หรือประจำกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของความซับซ้อนในระบบความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนาของสังคมชนบทและสังคมไทยทั่วไป โดยมีพุทธศาสนานิกายเถรวาท และลัทธิพราหมณ์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกสองส่วนที่เหลือ ในลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในชนบท ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำพิธี หรือคนทรงมากกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด เช่น ม้าขี้ นางเทียม หมอลำผีฟ้า หมอลำทรง หมอลำผีฟ้อน หมอลำเหยา ส่วนผู้ชายมักจะมีบทบาทสำคัญในส่วนที่เป็นลัทธิพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับผีบรรพบุรุษบางส่วน และพุทธศาสนา เช่น เฒ่าจ้ำหรือขะจ้ำ หมอธรรม เป็นต้น
  2. ลัทธิพิธีทรงเจ้าผีในชุมชนกึ่งเมือง เขตชานเมือง และหัวเมืองต่าง ๆ การปรากฏตัวของลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในบริเวณดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญเติบโตของชุมชนเมือง และการขยายตัวของประชากรในเขตเมืองในประเทศไทย ในบริเวณชุมชนดังกล่าว จะมีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า ลัทธิพิธีหลายอย่างที่เคยได้รับการเชื่อถือในหมู่บ้านชนบทเริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่เขตเมืองพร้อมกับการขยายตัวของคนชนบทเข้าสู่เมือง ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในบริเวณนี้ จะเน้นเรื่องเครือญาติ และความผูกพันตามประเพณีในระดับครอบครัว และชุมชนน้อยลง แต่หันมาเน้นเรื่องของความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณ หรือผีที่สำคัญในระดับเหนือกว่าชุมชนเฉพาะท้องถิ่น รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ของรัฐ ความมั่งคั่งทางวัตถุ และบริโภคนิยมมากขึ้น วิญญาณที่สำคัญมักจะเป็นวิญญาณของวีรบุรุษวีรสตรีในประวัติศาสตร์ เจ้านาย หรือเชื้อพระวงศ์ เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วไป หรือเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นต้น
  3. ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และตัวเมืองขนาดใหญ่ ลักษณะพิเศษของลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีในกลุ่มนี้ ได้แก่ การเข้ามาขององค์เทพจากความเชื่อ และพิธีกรรมของศาสนาที่มาจากอินเดีย จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ผสมผสานกันความแพร่หลายขององค์เทพที่เป็นวิญญาณของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ตัวละครสำคัญในวรรณคดีไทย และตำนานพื้นบ้าน เจ้านาย หรือวีรบุรุษวีรสตรีที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกจากนี้ คนทรง ตำหนักทรง และการจัดพิธีกรรมในกลุ่มนี้ จะเน้นที่ความยิ่งใหญ่อลังการในการเสริมบารีของร่างทรงแต่ละคน และการให้ความสำคัญกับลูกศิษย์มากเป็นพิเศษ หลายกรณีมักจะมีเรื่องของธุรกิจการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด

พรมแดนที่แบ่งแยกลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีแต่ละประเภทนั้น ส่วนใหญ่มักจะไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด การจัดแบ่งประเภทข้างต้น เป็นเพียงการแบ่งตามพื้นที่ทางสังคมอย่างกว้าง ๆ เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจภาพรวมของปรากฏการณ์ทรงเจ้าเข้าผีในสังคมไทยสมัยใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีที่กล่าวมานี้ต่างก็ได้ติดต่อ คบหาสมาคม และเรียนรู้จากกันและกันตลอดเวลา บรรดาองค์เทพที่ได้รับความนิยมในตำหนักทรงที่กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา นครสวรรค์ ลำพูน เชียงใหม่หรือที่ไหนก็ตามเป็นองค์เดียวกัน และมีความเชื่อ และพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสด็จพ่อ ร. 5 เจ้าแม่กวนอิม หลวงปู่โต เป็นกลุ่มองค์เทพในลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีที่ได้รับความนิยมในชุมชนแทบทุกหนทุกแห่งของประเทศ ในขณะที่วิญญาณของเจ้า หรือเทพบางองค์ก็ได้รับความนิยมเฉพาะถิ่นเฉพาะท้องที่ เช่น ท้าวสุรนารี หรือย่าโม จะได้รับความนิยมในเขตจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง พระยาชัยภูมิภักดีชุมพล หรือเจ้าพ่อพญาแลได้รับความนิยมในเขตจังหวัดชัยภูมิ เสด็จเตี่ย (กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ได้รับความนิยมในจังหวัดชุมพร ชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียง แน่นอนว่า เจ้าหรือองค์เทพเหล่านี้มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วไป เพราะว่าวิถีชีวิตของคนไทยสมัยใหม่ที่มีพลวัตค่อนข้างมาก มีการเดินทาง การติดต่อสมาคม การประกอบอาชีพ และการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกันอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ลักษณะร่วมประการสำคัญในลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีทั้ง 3 ประเภทก็คือ ทั้งร่างทรงและลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ผ่านวัยกลางคน และมีครอบครัวแล้ว ดูเหมือนว่า ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีจะเป็นพื้นที่ทางสังคมที่แสดงให้เห็นบทบาท และหน้าที่ของเพศหญิงด้านจิตวิญญาณที่ได้รับการสืบทอดมาจากอดีตอย่างชัดเจน ผู้หญิงเป็นผู้นำในพื้นที่ของความเชื่อ และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี และวิญญาณ ส่วนผู้ชายเป็นผู้นำในพื้นที่ของพุทธศาสนา และศาสนาหลักอื่น ๆ การแบ่งแยกบทบาทระหว่างเพศค่อนข้างชัดเจนเช่นนี้ ได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา และสังคมไทยพอสมควร

นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่อธิบายว่า การที่ผู้หญิงเป็นร่างทรง และเป็นลูกศิษย์ร่างทรงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะว่า ผู้หญิงตกเป็นฝ่ายที่ถูกบังคับควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ทางศาสนา และสังคมมากกว่าผู้ชาย ทั้งยังต้องเป็นฝ่ายรับภาระโดยตรงในการจัดการดูแลกฎระเบียบและข้อห้ามทางศีลธรรมของครอบครัว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเรื่องเพศสัมพันธ์ และสุขภาพอนามัยของผู้หญิง การสืบทอดมรดกผ่านเครือญาติฝ่ายหญิง และกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของครอบครัว ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสภาวะที่เปราะบางทางจิตใจและร่างกาย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางโลกย์ภายใต้บริบทแวดล้อมที่สถาบันเครือญาติ และครอบครัวในชุมชนต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่บทบาททางสังคมของผู้ชายได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนผ่านทางอุดมการณ์พุทธศาสนา การศึกษาในระบบโรงเรียน และความเป็นอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ของชีวิตนั้น เครือญาติ และการสืบมรดกผ่านสายเลือดฝ่ายหญิงได้ถูกระบบเศรษฐกิจการตลาด และอำนาจจากสังคมภายนอกเข้ามารุกรานจนอ่อนกำลังลง เมื่อพิจารณาจากบทบาทและความคาดหวังทางเพศในสังคมไทยโดยรวมที่บอกว่า “ลูกผู้ชายเป็นกำลังทางเกียรติยศ ส่วนลูกผู้หญิงเป็นกำลังทางเศรษฐกิจของครอบครัว” ความกดดันในชีวิตประจำวันจึงน่าจะตกอยู่ที่ฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย การหันหน้าเข้าหาตำหนักทรง หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่าง ๆ ของผู้หญิงจึงสะท้อนให้เห็นถึงภาวการณ์ดิ้นรนแสวงหาทางออกให้กับชีวิต และหาคำตอบว่า จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความบีบคั้นกดดัน และความทุกข์ด้วยปัญหาทางโลกย์ทั้งหลายได้อย่างไร

ในลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีส่วนใหญ่ ผู้หญิงมีอำนาจ บารมี และความเป็นอิสระที่จะใช้เทคโนโลยีของพิธีกรรมเพื่อปลดเปลื้องความคาดหวัง และความกดดันต่าง ๆ ที่พวกเธอต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเธอเป็นร่างทรง เธอก็มีลูกศิษย์ หรือคนมาขอความช่วยเหลือ ให้ความเคารพเชื่อฟัง รวมทั้งมีบทบาทในการเป็นที่พึ่งทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณได้ด้วย นักมานุษยวิทยาหลายท่านเรียกพฤติกรรม การแสดงออก และความหมายที่ผู้หญิงแสดงออกมาในขณะทำหน้าที่เป็นร่างทรงว่า เป็น “พฤติกรรมขบถที่เกิดขึ้นในรูปของพิธีกรรม” คนทรงผู้หญิงอาศัย “เสียงพูดและอำนาจของผี” เพื่อแสดงพฤติกรรม หรือความต้องการที่ถูกกดบังคับ หรือห้ามปรามในชีวิตจริงออกมาแล้วสังคมยอมรับได้ พิธีกรรมการทรงเจ้าเข้าผีในที่นี้จึงเป็นเสมือภาวการณ์ชดเชยที่ลึกลับซับซ้อน เป็นการใช้อำนาจของผีแสดงออกทางพฤติกรรม คำพูด และสัญลักษณ์เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปหรือถูกกดบังคับไว้ในชีวิตจริง[i]


[i] ขอขอบคุณที่มาบทความ พัฒนา กิติอาษา เรื่อง ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย มหาวทิยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/h9images

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *