ความเชื่อเรื่อง “ทวด” ในท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย

“ทวด” (Tuat) สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันทรงอำนาจ หรือ มานา (Mana) ในแบบฉบับไทยท้องถิ่นภาคใต้ คือ หนึ่งในรากและความเชื่อทางจิตวิญญาณที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นี่เสมอมาทุกยุคทุกสมัย เราสามารถที่จะพบตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ทวด” ได้อย่างแพร่หลายในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างย่านบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลาไปจนถึงในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย โดยเข้าใจกันว่า “ทวด” หมายถึง ดวงวิญญาณที่มีเดชานุภาพสูงต้องมีการปฏิบัติบูชาเอาใจ จึงจะให้คุณ และให้โทษ หากมีการล่วงละเมิด ทวดปรากฏในหลายรูป คือ ทวดที่เป็นครึ่งสัตว์ครึ่งเทพ เช่น ทวดงู ทวดจระเข้ อาทิ ทวดงูพญาขันตามความเชื่อของชาวบ้านในตำบลพญาขันธ์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ทวดงูพ่อตาหลวงรอง ตำบลสมิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทวดแหลมจาก ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ทวดคลองนางเรียม ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทวดหัวเขาแดง (ทวดจระเข้) คือ พ่อค้าจีน เดิมชื่อ “กิ้ม” เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับปู่เจ้าเขาเขียว เดิมชื่อ “โหม่งซัน” ซึ่งทั้งสองมีความสัมพันธ์กับทวดหุม ทวดที่ปรากฏในรูคน เช่น ทวดหุม จังหวัดสงขลา หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี และที่วัดพะโคะ จังหวัดสงขลา แต่ทวดถ้าเป็นหญิงจะเรียกว่า “เจ้าแม่” เช่น เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี และเจ้าแม่ไทรทอง จังหวัดนราธิวาส[i]

ตำนานทวดงูพ่อตาหลวงรอง ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่แต่เดิมนั้นว่า ตาหลวงรองเป็นคนมีน้ำใจไมตรี และมีคุณธรรมสูง นอกจากนี้ ยังประกอบคุณงามความดีเอาไว้มาก กล่าวคือ สร้างกรรมขาว หรือผลบุญเอาไว้อย่างใหญ่หลวง ชาวบ้านที่นี่ล้วนนับถือในคุณงามความดีที่ท่านเคยมี พอครั้งท่านตาหลวงรองสิ้นอายุบนโลกใบนี้ไปแล้ว ก็ได้ไปเกิดเป็น “ทวด” อันหมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนิยมเคารพกราบไหว้บูชา กล่าวคือ ได้มาเกิดเป็นงูทวดที่มีชื่อ “ทวดตาหลวงรอง” หรือ “ทวดตารอง” คนต่างถิ่นนิยมเรียกว่า “งูทวดพ่อตาหลวงรอง” ดังอักษรที่ลงไว้ตรงบริวเณฐานของประติมากรรมเคารพบูชา

ตำนานทวดแหลมจากตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ซึ่งชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวล้วนเชื่อกันว่า ทวดแหลมจากมีรูปกายเป็นจระเข้ใหญ่ มีถ้ำใหญ่อยู่แห่งหนึ่งเป็นที่อาศัยที่ซึ่ง ณ ถ้ำแห่งนี้เอง ชาวบ้านล้วนเชื่อกันว่า ภายในมีทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ถ้วยชามที่เป็นทองคำฝังเอาไว้อยู่ภายในเป็นจำนวนมาก และภายในถ้ำนี้ยังปรากฏว่า มีเข้ใหญ่เฝ้าถ้ำ (จระเข้ใหญ่เฝ้าถ้ำ) ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นจระเข้เจ้าและศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งขนานนามให้ว่า “ทวดแหลมจาก” มีหน้าที่เฝ้าปกป้องรักษาทรัพย์สมบัติดังกล่าว คนแต่ครั้งโบราณ หรือชาวบ้านในสมัยก่อนจะสามารถเข้าไปหยิบยืมทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของทวดแหลมจากได้ในยามขัดสน แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องนำมาคืนในระยะเวลาที่กำหนด ครั้งกาลต่อมา มีคนพาลเข้าไปหยิบยืมทรัพย์ของทวดแล้วไม่ได้นำไปใช้คืนให้ ทวดจึงโกธร และปิดถ้ำลงด้วยหินก้อนขนาดใหญ่ตรงบริเวณปากทางเข้า ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครสามารถเข้าไปหยิบยืมทรัพย์สมบัติของทวดได้อีก ปัจจุบันชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังเชื่อว่า ทวดแหลมจากในรูปของจระเข้ทวดขนาใหญ่ยังคงสถิตอยู่ภายในถ้ำแห่งนั้น

ตำนานทวดช้าง หรือพ่อทวดช้าง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เชื่อกันว่า ทวดช้าง หรือพ่อทวดช้าง สถิตอยู่ในเขารูปช้าง ชาวบ้านในแถบนี้ล้วนเชื่อว่า ทวดช้างเป็นทวดศักดิ์สิทธิ์ในรูปของพญาช้างใหญ่ นิยมเคารพกราบไหว้มาช้านานแล้ว และเชื่อตกทอดกันว่า พ่อทวดช้างจะช่วยดลบันดาลให้สามารถดำรงชีพอยู่อย่างปลอดภัยและเป็นสุขได้ โดยจะทำการบวงสรวงท่านทุกปี (ราววันที่ 9 – 18 สิงหาคมของทุกปี)

ตำนานเทวดาตาเดียว หรือเจ้าพ่อตาเดียว (ทวดในรูปคน) คือ ทวดศักดิ์สิทธิ์ในรูปคนผู้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชาววิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง พบเป็นศาลสำหรับสถิตบูชาปรากฏพบอยู่บริเวณไหล่เขาใกล้ตัวอาคารเรียนของแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ถนนกาญจนวณิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยรูปประติมากรรมเคารพบูชาดังกล่าวหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยเป็นรูปลักษณ์เศียรครูฤษีตั้งอยู่บนพื้นศาล จุดเด่นที่น่าสนใจก็คือ เศียรดังกล่าวมีดวงตาเพียงข้างเดียว ส่วนด้านหลังเป็นลักษณะของศาลสำหรับสถิตบูชา มีตำนานความเชื่อในแบบท้องถิ่นนิยมของที่นี่เล่าว่า ท่านเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่แต่ดั้งเดิม ด้วยความเป็นห่วงผู้ที่เข้ามาขอใช้สถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ไว้ประกอบสำมาอาชีพเลี้ยงตนในอนาคต ท่านจึงคอยเฝ้าดูแลความปลอดภัยภายในวิทยาลัยให้เป็นปกติสุขดังปัจจุบัน บางคนก็เชื่อว่า หากใครมีเรื่องไม่สบายใจอะไรก็ขอให้เข้ามาทำการบนบานศาลกล่าวบอกท่านไว้ ท่านก็จะช่วยให้สมดั่งมุ่งหวังทุกคนไปจนมีการสร้างศาลบูชาท่านเพิ่มจากเดิมมีพียงศาลเดียวเป็น 3 ศาลในปัจจุบัน ส่วนการบูชา หรือพิธีกรรมในการบวงสรวงท่านนั้นให้ใช้อาหารคาวหวานอะไรก็ได้ แต่ห้ามนำเนื้อหมูมาบูชาเพราะเชื่อว่า ทวดท่านตำรงตนเป็นมุสลิม

ดร.ฉันทัส ทองช่วย ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “งูทวด” ในความทรงจำและตามความเชื่อของชาวจังหวัดพัทลุงไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมื่อครั้งท่านยังเด็ก ท่านพักอาศัยและเรียนหนังสืออยู่ที่จังหวัดพัทลุง เคยเห็นฝูงงูเป็นจำนวนมาก ทั้งตัวใหญ่ ทั้งตัวขนาดกลาง ทั้งตัวเล็ก ตัวน้อย เลื้อยฟาดผ่านกลางหมู่บ้านที่ท่านเคยอาศัยอยู่ โดยมีงูบองหลาขนาดใหญ่ มีหงอนแดงตรงกลางหัว เลื้อยนำขบวน ผู้ใหญ่ภายในหมู่บ้านจึงห้ามปรามคนที่คิดจะตีงูเหล่านี้ว่า จะไม่เป็นการดีต่อหมู่บ้าน เพราะมีงูทวด เลื้อยนำขบวน ว่าเป็นงูเจ้าที่ห้ามทำร้ายท่าน เพราะจะนำภัยอันใหญ่หลวงมาสู่หมู่บ้านของเราได้”

ผศ.จำเริญ แสงดวงแข ได้แสดงทรรศนะในประเด็น “ทวดงู” หรือ “งูทวด” นี้ เป็นความเชื่อที่มีมานานแล้ว เชื่อกันว่า ทวดงู เป็นงูศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทำการเซ่นสรวงบูชาเอาใจจึงจะเป็นคุณ แต่หากกระทำการลบหลู่ดูหมิ่นก็จะได้รับผลเสียตามมา ทวดงูเกิดขึ้นมาจากดวงวิญญาณของบรรพชนจริงหรืออันนี้ไม่สามารถทราบได้แน่ชัด แต่ที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่ากันว่า ทวดงูเป็นอจินไตย คือ เกิดขึ้นเอง และมีมานานแล้ว

ความเชื่อในเรื่อง “ทวด” ถือเป็นความเชื่อเก่าแก่ เป็นรากของบรรพชนและของผู้คนที่ในท้องถิ่นภาคใต้ อันแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนและปัจเจกชนของผู้คนในท้องถิ่นภาคใต้อย่างเด่นชัด นอกจากนี้ รูปแบบความเชื่อดังกล่าวยังช่วยหล่อหลอมจิตวิญญาณ รวมถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของผู้คนในท้องถิ่นภาคใต้เข้าด้วยกันอย่างชวนขบคิด ความเชื่อในเรื่อง “ทวด” จึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้คนในท้องถิ่นภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง[ii]


[i] สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, 2529. ความเชื่อเนื่องแต่ลัทธิศาสนาของชาวใต้. สถาบันทักษิณคดีศึกษา. และเอมอร บุญช่วย, 2544. ศึกษาตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวกับทวดในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา. มหาวิทยาลัยทักษิณ.

[ii] ขอบคุณที่มาบทความ ศศลักษณ์ ทองขาว, คุณาพร ไชยโรจน์ และอำนาจ ทองขาว. ความเชื่อทางจิตวิญญาณทวดที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/liuzishan

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *