คติความเชื่อนับถือศิวลึงค์ องค์พระศิวะมหาเทพ

ชาวฮินดูแท้ จะหลอมรวมศรัทธามุ่งเน้นไปที่ “องค์ศิวะมหาเทพ” มากกว่าองค์ประกอบอย่างอื่น แต่ในประเทศไทยเรานั้นแม้ว่าจะมีการนับถือ “ปลัดขิก” ซึ่งมีรากฐานมาจาก “ศิวลึงค์” อันเป็นตัวแทนของ “พระศิวะ” แต่การนับถือปลัดขิกนั้น มิได้มุ่งหวังว่า จะได้รับความคุ้มครอง หรือความมีโชคลาภจากการบันดาลขององค์พระศิวะ แต่จะให้ความสำคัญไปที่ตัวเกจิอาจารย์ที่ทำการปลุกเสก พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเชื่อในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เพราะในประเทศไทยศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ถูกหล่อหลอมรวมเข้ากับพระพุทธศาสนา ดังนั้น เครื่องรางของขลังจากพราหมณ์ – ฮินดู แทนที่จะสื่อไปถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าต้นสังกัดแท้ ๆ กลับถูกโอนไปที่เกจิอาจารย์แทน ในวัฒนธรรมฮินดู การกราบไหว้บูชาศิวลึงค์เป็นเรื่องปกติที่กระทำสืบต่อกันมานานนับพันปีแล้ว เพราะถือว่า ศิวลึงค์เป็นตัวแทนของพระศิวะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลโชคลาภต่าง ๆ ให้แก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา มีดวงตาจำนวนมหาศาลมากกว่า 1,000 ตา ที่ล้อมรอบองค์ศิวลึงค์ เพื่อสอดส่องคุ้มครอง ศาสนิกชนได้เด่นชัดทุกทิศทางอย่างไม่คลาดสายตา

พิธีบูชาศิวลึงค์

พิธีบูชาศิวลึงค์ เรียกว่า “ศิวบูชา” จะกระทำวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ต่อหน้าศิวลึงค์ในเทวาลัย โดยมีพราหมณ์ที่เรียกว่า ไศเวศเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ซึ่งมีขั้นตอนในการประกอบพิธี 3 ขั้นตอน คือ

  1. พิธีอภิเษก เป็นกระบวนการในการชโลม น้ำนมสด เนยและน้ำมันงาลงบนศิวลึงค์ ถือว่า เป็นการชโลมอันศักดิ์สิทธิ์
  2. การจุดธูปและการเผากำยาน เป็นการเผาเครื่องหอมบูชาองค์พระศิวะเจ้า
  3. ไนเวทย การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นการถวายอาหารซึ่งไม่มีเนื้อสัตว์

ขณะที่ประกอบพิธีกรรมในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น ก็จะมีการสวดมนต์ จุดตะเกียง และประดับประดาศิวลึงค์ด้วยดอกไม้โดยเฉพาะดอกมะลิ หรือดอกพุทธชาด พระศิวะจะทรงโปรดเป็นพิเศษ การประกอบพิธีบูชาศิวลึงค์โดยการเทน้ำนมสดราดรดลงไปบนศิวลึงค์นั้น เชื่อว่า ความบริสุทธิ์ของนมเปรียบเสมือนการให้กำเนิดผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์ บางแห่งนอกจากการราดรดนมสดแล้วยังใช้ฝุ่นสีแดงแต้มที่ยอดศิวลึงค์เพื่อแทนความหมายของการก่อกำเนิดชีวิตใหม่ของสรรพสิ่ง

เครื่องบูชาศิวลึงค์

เครื่องบวงสรวงที่ใช้ในการประกอบพิธีบูชาศิวลึงค์นั้นมีส่วนประกอบของเครื่องเซ่นบูชาจำนวนมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับคติความเชื่อของศาสนิกชนในแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามความสำคัญของผู้จัดงานว่า เป็นการประกอบพิธีอย่างเป็นทางการของส่วนร่วมหรือพิธีส่วนตน แต่เครื่องเซ่นหลักที่ใช้ในพิธีกรรม ประกอบด้วย น้ำนมสด น้ำ น้ำมันงา ข้าวตอก ใบมะตูม หญ้าคา มูลโค มะพร้าวอ่อน เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด เมล็ดข้าวแห้ง ธูปและเทียนหอม เป็นต้น

อานิสงส์ของการบูชาศิวลึงค์

ชาวฮินดูมีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการบูชาศิวลึงค์มีผลมากมาย เช่น การบูชาศิวลึงค์ที่ทำจากทองคำ จะทำให้มีฐานะมั่งคั่ง ร่ำรวย ถ้าบูชาศิวลึงค์ด้วยข้าวสุกหรือข้าวสาร จะทำให้มีอาหารสมบูรณ์ ถ้าบูชาศิวลึงค์ด้วยดินจาริมแม่น้ำ จะทำให้เป็นราชาที่ดิน ถ้าบูชาศิวลึงค์ด้วยมูลโคจะไร้โรคภัยไข้เจ็บ ถ้าบูชาศิวลึงค์ด้วยเนยเหลว จะไร้โรคภัย รื่นเริงมีแต่ความสุข ถ้าบูชาศิวลึงค์ด้วยดอกไม้จันทน์ จะมีผิวพรรณงดงาม ถ้าบูชาศิวลึงค์ด้วยดอกไม้ จะไร้โรคภัยอายุยืน เป็นต้น

อำนาจของศิวลึงค์

โยคีในประเทศอินเดียนั้น เป็นสาวะของพระศิวะที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในเทพองค์นี้อย่างสูงยิ่งและโยคีเหล่านี้ เชื่อว่า ครั้งหนึ่งพระศิวะเคยบำเพ็ญพรตเป็นฤาษี และเชื่อว่า ศิวลึงค์นั้นเกิดจากอำนาจของพระศิวะ ผู้ใดมีศิวลึงค์หรือเคารพบูชาศิวลึงค์อยู่เป็นประจำ พระองค์จะทรงคุ้มครองป้องกันภยันตรายทั้งปวงและจะดลบันดาล ให้มีโชค ลาภวาสนาแก่ผู้นั้นตลอดไป ศิวลึงค์มีอำนาจที่จะบันดาลทุกสิ่งอย่างนานับปการให้แก่ผู้บูชาและมีพลังเหนือธรรมชาติ ตามตำนานในเรื่องรามายณะหรือรามเกียรติ์ เล่าถึงอำนาจของศิวลึงค์ไว้ตอนหนึ่งว่า อสูรชื่อ ตรีปุรัม เที่ยวเกะกะระรานชาวบ้านจนเดือดร้อนไปทั้งสามโลก พระเป็นเจ้าจึจงบัญชาให้พระนารายณ์ลงไปปราบแต่พระนารายณ์ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ ได้เพราะอสูรตรีปุรัม ทูนศิวลึงค์ไว้เหนือศีรษะตลอดเวลา พระนารายณ์จึงต้องใช้กลลวงไปชิงเอาศิวลึงค์ไปจากอสูรตรีปุรัมเสียก่อน จึงสังหารปุรัมย์ได้ อำนาจของศิวลึงค์นั้นมีมากเกินกว่าคำบรรยาย ทั้งนี้ผู้ศรัทธาในศิวลึงค์ของพราหมณ์ – ฮินดู จะสรงด้วยน้ำนมสดล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วใช้ผลสีแดงแต้มให้พร้อมกล่าวคำว่า “โอม นมัส ศิวายะ นะมะ ฮา โอม นมัส ศิวะยะ นะมะฮา โอม นมัส ศิวะยะ นะมะฮา” แปลว่า ขอความก้าวหน้า ความสมหวัง และขอพลังวิเศษต่าง ๆ ที่ไม่ธรรมดา

จากตำนานเรื่องเล่า เป็นเพียงการฉายภาพของความเชื่อของศาสนิกชนผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ที่มีต่อองค์พระศิวมหาเทพ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย เรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากจินตนาการ ความเพียรพยายามในการที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่เทพเจ้าที่ตนนับถือ ให้เหนือเทพองค์อื่น ๆ ในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ด้วยกัน เช่น พระพรหมซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในนิกายไวษณพนิกาย ซึ่งเป็นคู่แข่งเพื่อแย่งชิงมวลหมู่ศาสนิกชนในสังคมอินเดียโบราณ ส่วนผลของการบูชาศิวลึงค์จะมีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวไว้ในตำนานหรือไม่นั้น เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ได้ สิ่งเหล่านั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่จะต้องใช้สติปัญญาในการพิจารณาของศาสนิกชนผู้ไฝ่หาที่พึ่งทางใจ[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ศิวลึงค์ : ศาสนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์. โดยสมมาตร์ ผลเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *