รูปแบบศิวลึงค์

รูปแบบของศิวลึงค์นั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลายและมีความประณีตสวยงามแตกต่างกันออกไปตามแต่วัตถุประสงค์ของผู้สร้างทำและฝีมือเชิงช่างของแต่ละท้องถิ่น สำหรับการกำหนดรูปแบบของศิวลึงค์ จะขอกล่าวพอสังเขปดังนี้

รูปแบบศิวลึงค์ แบบแท่งกลมทรงกระบอก

แบบแท่งกลมทรงกระบอก เป็นการสร้างเลียนแบบองคชาตของเพศชายแกะสลักรายละเอียดและองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือนของจริงบางองค์จะปรากฏใบหน้าบุคคลแบบเอกามุขลึงค์เข้ามาประกอบด้วย พบจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย

ศิวลึงค์ “เอกามุขลึงค์” (ในภาคตรีมูรติ)
ที่มาภาพ ศิวลึงค์ : ศาสนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์. โดยสมมาตร์ ผลเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

แบบแท่นกลมทรงกระบอก แกะสลักรายละเอียดและองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือนองคชาตเพศชาย บริเวณกึ่งกลางสลักเป็นรูปใบหน้าคนหนึ่งใบหน้าซึ่งหมายถึงใบหน้าของพระศิวะนั่นเอง และมีชื่อเรียกว่า เอกามุขคลึงค์ (Eka Mukhalinga) หรือหากสลักรูปบุคคลประนับยืนเต็มตัว เรียกวา ลึงคอุทภวมูรติ ทั้งสองแบบนี้พบน้อยมาในประเทศไทย

ภาพศิวลึงค์ในภาคเอกามุขลึงค์ ถ้ำเมืองโพปาล ประเทศอินเดีย
ที่มาภาพ ศิวลึงค์ : ศาสนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์. โดยสมมาตร์ ผลเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

รูปแบบศิวลึงค์ แบบแท่งหินธรรมชาติ

รูปแบบศิวลึงค์ แบบแท่งหินธรรมชาติ หรือแกะสลักแห่งหินธรรมชาติเป็นแกะสลักแท่งหินธรรมชาติเป็นเพียงการโกลนขึ้นรูปเคร่า ๆ เท่านั้น เช่น ศิวลึงค์ปราสาทตาเมืองธม จังหวัดสุรินทร์

รูปแบบศิวลึงค์ แบบสมมติเอาสิ่งธรรมชาติแทนศิวลึงค์

รูปแบบศิวลึงค์ แบบสมมติเอาสิ่งธรรมชาติแทนศิวลึงค์ เช่น จอมปลวก ก้อนหินขนาดใหญ่ หรือภูเขาเป็นศิวลึงค์ เช่น ภูเขาลึงคบรรพต ซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทวัดภู แขวงเมืองจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาชนลาง หรือภูเขากุเลน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น

รูปแบบศิวลึงค์ แบบผสม

รูปแบบศิวลึงค์ แบบผสม เป็นการแกะสลักหินเป็นแท่งแบ่งความสูงออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

  • ส่วนล่าง แกะสลักเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยม ส่วนกลางสลักเป็นแท่งรูปแปดเหลี่ยม และ
  • ส่วนยอดบนสุดสลักเป็นแท่งทรงกระบอกปลายกลมมน รูปแบบนี้ มีปรากฏแพร่หลายในประเทศกัมพูชาและในประเทศไทย ถึงแม้รูปแบบค่อนข้างแตกต่างจากแบบอื่น ๆ แต่คนทั่วไปยังคงเรียกติดปากว่า ศิวลึงค์ หากพิจารณาตามลักษณะทางกายภาพและคติความเชื่อในศาสนาฮินดูแล้ว ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องต้องเรียกว่า “ตรีมูรติ” ทั้งนี้เพราะแท่งหินรูปเคารพนี้ประกอบด้วยสัญลักษณ์ของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู 3 องค์ คือ ฐานล่างสุดรูปสี่เหลี่ยมนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนพระพรหม เรียกว่า “พรหมภาค” ถัดขึ้นมาเป็นรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่า “วิษณุภาค” เป็นสัญลักษณ์แทนพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดในนิกายไวษณพนิกาย
  • ส่วนยอดบนสุดทรงกระบอกนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของนิกาย ไศวนิกาย เรียกว่า “รุทรภาค” ดังนั้น การเรียกรูปเคารพที่มีส่วนผสม 3 แบบนี้ว่า ศิวลึงค์จึงไม่น่าจะถูกต้องนัก ที่ถูกต้องควรเรียกว่า “ตรีมูรติ” แปลว่า เทพเจ้า 3 องค์ แต่คนทั้งหลายเคยชินกับการเรียกชื่อว่า “ศิวลึงค์” จึงเป็นการใช้เรียกโดย “อนุโลม”
  • รูปเคารพแบบตรีมูรตินี้ ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะปักไว้บนแท่นโยนีโทรณะ ให้ทั้งสามส่วนโผล่ออกมาพ้นฐานแต่ในประเทศอินเดีย นิยมฝังส่วนที่เป็นพรหมภาคและวิษณะภาคลึกลงไปใต้ฐานโยนีโทรณะ
การติดตั้งศิวลึงค์ที่ปักส่วนพรหมภาคและวิษณุภาคไว้ในฐานโยนีโทรณะ ถ้ำเอลโลรา ประเทศอินเดีย
ที่มาภาพ ศิวลึงค์ : ศาสนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์. โดยสมมาตร์ ผลเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

จัดทำรูปเคารพที่มีเทพเจ้าสูงสุดของฮินดูมารวมอยู่ด้วยกันนั้น อาจวิเคราะห์สาเหตุได้เป็น 2 นัยด้วยกัน คือ นัยแรก อาจเกิดชาวฮินดูต่างก็ชื่นชอบและศรัทธาเลื่อมใสในมหิทธานุภาพ หรืออิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้าแต่ละองค์ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนแต่เป็นมหิทธานุภาพในทางดีต่อสังคม ครั้นจะเลือกนับถือบูชาเพียงองค์หนึ่งองค์ก็เสียดายมหิทธานุภาพของเทพองค์อื่น ๆ ในทำนองรักพี่เสียดายน้อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้สูญเสียในมหิทธานุภาพของเทพองค์ใดองค์หนึ่งไป จึงเคารพบูชาเทพทั้งสามองค์ไปพร้อม ๆ กันทั้งสามองค์ ส่วนนัยที่สอง อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งแข่งขันกันเองของชาวพราหมณ์ – ฮินดู ต่างนิกายกัน โดยต่างฝ่ายต่างยกย่องเทพเจ้าที่ตนนับถือว่า มีความดี มีอิทธิฤทธิ์ มีอำนาจ เหนือกว่าเทพเจ้าองค์อื่น ๆ

ดังนั้น รูปลักษณ์ที่อยู่บนสุด จึงมีความสำคัญกว่าสัญลักษณ์ของเทพเจ้าอีก 2 องค์ ที่ฝังลงไปในโยนีโทรณะ ดังนั้น เมื่อมีการตั้งรูปเคารพในการครรภคฤหะของรางค์ประธาน ส่วนที่เป็นพรหมภาคและวิษณุภาค จะถูกฝังอยู่ภายใต้ฐานโยนีโทรณะ ให้โผล่เฉพาะส่วนที่เป็นรุทรภาคเท่านั้น จากปรากฏการณ์เช่นนี้ แสดงว่า คนในชุมชนรอบปราสาทหินนั้น นับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู นิกายไศวนิกาย ซึ่งนับถือว่า พระศิวะเป็นใหญ่เหนือ พระพรหม และพระวิษณุในลัทธิไวษณนิกาย นั่นเอง[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ศิวลึงค์ : ศาสนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์. โดยสมมาตร์ ผลเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *