“พระตรีมูรติ” รูปเคารพพระศิวะในอินเดีย

ราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในแถบอินเดียภาคเหนือได้เริ่มปรากฏรูปเคารพของพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ในรูปของมุขลึงค์ ซึ่งพระสทาศิวะในลักษณะของมุขลึงค์ดังกล่าว ได้มีปรากฏเรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์คุปตะ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 รูปเคารพพระสทาศิวะกลับได้ไปปรากฏความนิยมอยู่ทางอินเดียใต้ ในขณะที่อินเดียเหนือในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ถือได้ว่า เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจาก ได้ปรากฏพระสทาศิวะใน 2 รูปแบบ คือ 1) แบบที่ถูกปรับเปลี่ยนโดยเอาลักษณะของ “ลึงค์” ออกเหลือไว้เพียง “มุข” จำนวน 3 หน้า และ 2) แบบที่ปรากฏเป็นรูปเคารพเต็มองค์ จนในที่สุดราวพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา สมัยราชวงศ์ปาละ – เสนะ แถบแคว้นแบงกอล ความนิยมเคารพบูชาพระสทาศิวะ ก็ได้ย้อนกลับไปยังอินเดียเหนืออีกครั้ง โดยรูปเคารพพระสทาศิวะตั้งแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นมานั้น ได้ปรากฏอิริยาบถแปลกใหม่ โดยลักษณะบางอย่างอาจไม่มีกล่าวถึงในคัมภีร์เลยก็เป็นได้ ซึ่งนี่สะท้อนความนิยมขั้นสูงสุดของการเคารพบูชาพระสทาศิวะในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ โดยที่รูปเคารพพระสทาศิวะดังที่ได้กล่าวถึงไปทั้งหมดนั้น มีรายละเอียดดังนี้

อินเดียภาคเหนือ ระยะแรก (พุทธศตวรรษที่ 3) ในระยะแรกสุดนั้น รูปเคารพพระสทาศิวะ (พระศิวะ) มักปรากฏอยู่ในรูปของ “มุขลึงค์” ดังตัวอย่างของมุขลึงค์ที่เมืองอัลลาฮาบัค รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 ตรงกับสมัยราชวงศ์ศุงคะ โดยมุขลึงค์ดังกล่าวมีพระพักตร์ปรากฏอยู่ทั้งสี่ทิศและอีกหนึ่งพระพักตร์ตรงยอดบนสุด รวมเป็น 5 พระพักตร์ หรือที่เรียกกันว่า ปัญจมุขลึงค์ ซึ่งปัญจมุขลึงค์ที่ถูกสลักขึ้นนี้ มีลักษณะที่ประกอบกันขึ้นเป็นภาคของพระสทาศิวะที่เป็นภาคสุงสุดและยิ่งใหญ่ที่สุด โดยพระสทาศิวะนั้น จะเป็นผู้ที่อยู่เหนือเกินกว่าความเข้าใจของมนุษย์ปุถุชน เฉียบแหลม สว่าง และโชติชวงชัชวาล

ปัญจมุขลึงค์ พบที่เมืองอัลลาฮาบัค รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 ราชวงศ์ศุงคะ
ที่มาภาพ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อินเดียภาคใต้ (พุทธศตวรรษที่ 13 – 14) ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ความนิยมในการสร้างรูปเคารพพระสทาศิวะได้ย้ายไปปรากฏยังอินเดียวใต้ ในขณะที่ไม่ปรากฏรูปเคารพดังกล่าวในอินเดียเหนือแต่อย่างใด ดังตัวอย่างของ “พระตรีมูรติ” ที่ถ้ำเอเลฟันตะ โดยศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก อินทราวุธ กำหนดว่าเป็นศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ ซึ่งที.เอ.โคพินาถ เสนอว่า รูปเคารพดังกล่าวไม่น่าจะเป็นพระตรีมูรติ อันเป็นอีกพระนามหนึ่งของพระสทาศิวะ โดยให้เหตุผลดังนี้

  1. ไม่มีคัมภีร์อาคม หรือปุราณะใดที่ระบุประติมานวิทยาได้ตรงกับลักษณะรูปแบบที่ปรากฏ
  2. หากนี่เป็นพระตรีมูรติจริง จะต้องมีเศียรหนึ่งเป็นพระวิษณุ ซึ่งทรงกีรีฏมงกุฎ แต่จากรูปแบบที่ปรากฏ ทั้งสามเศียรต่างก็ทรงชฎามงกุฎเหมือนกันหมด
  3. พระพรหมควรจะมี 4 เศียร ไม่ใช่เศียรเดียวดังรูปแบบที่ปราฏ
  4. ความเป็นพระสทาศิวะ น่าจะสอดคล้องกับรูปสลักอื่น ๆ ภายในถ้ำนี้ ที่ต่างก็เป็นรูปสลักเกี่ยวกับพระศิวะ
พระตรีมูรติ บ้างว่า เป็นพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ถ้ำเอเลฟันตะ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ
ที่มาภาพ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพพระสทาศิวะ (พระศิวะ) พบที่รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ
ที่มาภาพ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประติมากรรมพระสทาศิวะในรูปมนุษย์ยุคแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 โดยค้นพบประติมากรรมชิ้นนี้ในพื้นที่รัฐทมิศนาฑูในปัจจุบัน เป็นรูปสลักหินทรายซึ่งถูกทำลายไปบางส่วน เหลือเพียงพระหัตถ์บางส่วนไว้ โดยพระหัตถ์ขวาที่เหลืออยู่นั้น ทรงฑมรุ ดาบ และแสดงปางอภัยมุทรา ส่วนในพระหัตถาซ้ายทรงตรีศูลและหอก

อินเดียภาคเหนือ ระยะหลัง (พุทธศตวรรษที่ 15 – 16) ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ความนิยมพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ก็ได้ย้อนกลับขึ้นมายังอินเดียเหนืออีกครั้ง โดยเมื่อนักโบราณคดีทำการค้นพบรูปประติมากรรมของพระสทาศิวะและนำไปเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในประเทศอินเดียและประเทศรอบข้างแล้ว กลับพบว่า ชิ้นผลงานพระสทาศิวะจำนวนหลายชิ้นที่ไม่ได้ถืออาวุธตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ เช่น ประติมากรรมพระสทาศิวะขนาดเท่าคนจริงชิ้นแรก ๆ ที่มีขชุรโหนั้น เป็นรูปเคารพพระสทาศิวะที่ประทับนั่งสุขาสนะ ห้อยพระบาทซ้ายบนดอกบัว รูปสลักชิ้นนี้สลักเป็นรูปบุรุษที่มีพุงใหญ่ มองเห็นสามหน้า สวมสร้อยคอ สวมสายญัชโยปวีต และทรงถือศรีวัตสะ ซึ่งไม่มีคัมภีร์ใดได้กล่าวไว้มาก่อน

รูปสลักพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ขนาดเท่าคนจริงชิ้นแรก ๆ พบที่เมืองขชุรโห รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์จัณเฑละ
ที่มาภาพ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ยังมีรูปสลักพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ที่มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปอีกหลายรูปแบบดังเช่น พระสทาศิวะที่มีสี่พระบาท หรือ “สทาศิวะจตุรบาท” จากวัดกัณฑริยมหาเทพ เมืองขชุรโห พระสทาศิวะ (พระศิวะ) สลักชิ้นนี้ มีความพิเศษอยู่ตรงที่ เป็นรูปสลักของพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ที่มีทั้งหมด 4 พระบาท โดยที่พระบาทคู่หน้าจะประทับนั่งขัดสมาธ และพระบาทคู่หลังจะประทับนั่งห้อยพระบาทแบบปรลัมพปาทาสนะ โดยกำหนดอายุชิ้นงานนี้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15

พระสทาศิวะ (พระศิวะ) จตุรบาท พบที่วัดกัณฑริยมหาเทพ เมืองขชุรโห รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ราชงศ์จัณเฑละ
ที่มาภาพ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รูปสลักพระสทาศิวะ (พระศิวะ) ครึ่งพระองค์ พบที่รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์ปาฏิหาริย์
ที่มาภาพ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อีกชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ รูปสลักพระสทาศิวะ (พระศิวะ) กับศักติ โดยชิ้นงานดังกล่าวนี้ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยสลักให้เห็น 3 พระพักตร์ แบ่งเป็นพระพักตร์ของไภรวะ มหาเทวะ และอุมาพักตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องและอิทธิพลของรูปสลักที่มักจะรู้จักกันในชื่อ “ตรีมูรติ” ที่ถ้ำเอเลฟันตะ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย หรือจะเป็นรูปสลักพระสทาศิวะครึ่งองค์ที่พบในรัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย

โดยรูปสลักพระสทาศิวะ (พระศิวะ) กับศักตินั้น เป็นรูปสลักพระสทาศิวะ (พระศิวะ) 10 พระกร ทรงตรีศูลที่มีงูเห่าพันรอบ ดาบ ถ้วย ลูกประคำ และลูกศร ส่วนในพระหัตถ์ซ้ายนั้น ทรงโล่ คันธนู และทรงโอบศักติที่ประทับบนพระเพลาไว้ใกล้ ๆ พระอุระ ทรงชฎามงกุฎที่ประดับด้วยหัวกระโหลก อีกทั้งยังมีโคนนทิหมอบอยู่เบื้องพระบาท ทั้ง ๆ ที่ตามคัมภีร์นั้น ได้ระบุไว้ว่า สัตว์พาหนะของพระสทาศิวะ (พระศิวะ) คือ “ละมั่ง” ซึ่งนักวิชาการได้กำหนดอายุชิ้นงานนี้ไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 จะเห็นได้ว่า พระสทาศิวะ (พระศิวะ) ได้รับความนิยมมากทั่วทั้งประเทศอินเดีย โดยที่ความนิยมดังกล่าว ได้แผ่ขยายข้ามไปยังดินแดนใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรขอมโบราณ จะเห็นได้จากร่องรอของอารยธรรมฮินดูที่กระจายตัวให้เห็นทั่วเมืองพระนคร[1]

พระสทาศิวะพร้อมศักติ พบที่รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์ปาฏิหาริย์
ที่มาภาพการนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ การนับถือพระสทาศิวะจากอินเดียสู่เขมรโบราณ และอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนายสฏฐภูมิ บุญมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *