แนวคิดเกี่ยวกับโหราศาสตร์ ความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทย

ความหมายของโหราศาสตร์

ได้มีผู้ให้ความหมายเกี่ยวกับโหราศาสตร์ไว้ มีรายละเอียดดังนี้

สุดถนอม เอี่ยมละออ (2558) โหราศาสตร์ หมายถึง การทำนาย หรือการพยากรณ์ชะตาของผู้มาใช้บริการ[1]

มานพ นักการเรียน (2554)[2] ได้อธิบายถึงคำว่า โหราศาสตร์ (Astrology) ว่ามีศัพท์มาจากภาษาสันสฤต หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยเวลาและคำว่า โหราศาสตร์ ตามตำราของ “วราหมิหิระ” กล่าวว่า เป็นคำที่มาจากคำประสมสองคำ คือ “อโห” และ “ราตรี” ซึ่งแปลว่า วันและคืน โหราศาสตร์มาจากคำว่า “อโห” แปลว่า กลางวัน และ “ราตรี” แปลว่า “กลางคืน” แต่ได้ตัดอักษรพยางค์แรก และพยางค์หลังออกเสีย จึงเหลือเพียงคำว่า “โหรา” มีอีกคำที่ใช้แทนคำว่า “โหราศาสตร์” คือคำว่า “โชติยศาสตร์” ซึ่งมาจากคำว่า “โชติ” แปลว่า “แสงสว่าง” หรือ “ดวงดาว”

รสสุคนธ์ นิลพงษ์ (2553)[3] ได้อธิบายถึง “โหราศาสตร์” (Astrology) ว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วยโมงยาม ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับดาว ธาตุ และโลก เป็นวิชาที่มีหลักเกณฑ์การคำนวณ และแรงดึงดูดของกระแสธาตุ หรือกำลังของดวงดาวในจักรวาล โหราศาสตร์ยังเป็นวิชาที่กล่าวถึง พลังอำนาจ หรืออิทธิพลของดวงดาวที่มีต่อโลกมนุษย์ เกิดการรวมตัวกัน ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกมนุษย์ ซึ่งแสดงเป็นกาลเวลา ความมืด ความสว่าง ความร้อน ความเย็น การดึงดูดพลังงานให้รุ่งโรจน์ หรืออัปปางต่อพฤติกรรมของมนุษย์

โหราศาสตร์ยังเป็นวิชาที่ตั้งอยู่บนฐานของสถิติศาสตร์ และดาราศาสตร์ ซึ่ง “โหราศาสตร์” คือ วิทยาศาสตร์ เพราะมีเหตุมีผล มีหลักมีฐาน มีที่มาที่ไป มีสถิติเป็นเครื่องยืนยันรับรองจากการบันทึกและการจดจำ ซึ่งเล่าต่อกันมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับอิทธิพลพลังอำนาจของดวงดาวที่โคจรอยู่บนท้องฟ้า บางกรณีก็ยังใช้เป็นสูตรตายตัวไม่ได้ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยจากสถิติ และความชัดเจนของผู้เป็นโหราศาสตร์นั้นเอง

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร (2537)[4] ได้ให้ความหมายของ “โหราศาสตร์” ว่า โหราศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการพยากรณ์ และเป็นการใช้ตำแหน่งของดวงดาว จึงมีความเกี่ยวข้องกับวิชาดาราศาสตร์จากการประชุมสัมมานาทางวิชาการเรื่อง “โหราศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ได้มีการอธิบายความหมายโหราศาสตร์ไทย ไว้หลายความหมาย เช่น ศาสตราจารย์มอเนียร์ วิลเลี่ยมส์ ได้ให้ความหมายของคำว่า “โหรา” คือ “ส่วนที่ 24 แห่งโหราตร์” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตตรงกับคำภาษามคธว่า “อโหรัตต” แปลว่า วันกับคืน ดังนั้น คำว่า “โหรา” จึงมีความหมายตรงกับคำว่า “ชั่วโมง”

สุดถนอม เอี่ยมละออ (2558)[5] ได้สรุปว่า “โหราศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำนาย หรือการพยากรณ์ชะตาของมนุษย์และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลก โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลักและมีการรวบรวมเป็นสถิติเพื่อเป็นข้อมูลในการพยากรณ์สิ่งต่าง ๆ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับ ดาว ธาตุ และโลก เป็นวิชาที่มีหลักเกณฑ์การคำนวณ และแรงดึงดูดของกระแสธาตุหรือกำลังของดวงดาวในจักรวาล ซึ่งสามารถทำให้ล่วงรู้อนาคต หรืออดีตของมนุษย์ได้

ความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทย

ประวัติความเป็นมาของวิชา “โหราศาสตร์” ซึ่งมีมาก่อนพุทธกาล อาจารย์ที่เรียนรู้เรื่องดวงดาวในท้องฟ้าพวกแรกในโลก คือ ดาบสหรือฤาษีที่อาศัยอยู่ในป่า หรือตามถ้ำต่าง ๆ ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้สำเร็จญาณสมาบัติชั้นสูง สามารถส่งกระแสจิตไปยังดวงดาวต่าง ๆ และได้สอบถามถึงความเป็นมาของดวงดาวเหล่นั้น และได้มีนิทานปรากฏเล่าต่อกันมา ดวงดาวต่าง ๆ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู พระเกตุ และดาวอื่น ๆ มีการโคจรรอบโลกเรา และก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีอักขระใด ๆ บันทึกไว้[6]

ก่อนพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญในภพชาติต่าง ๆ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านได้เกิดเป็นดาบสอีกภพหนึ่งได้ไปพบพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง และได้ปรารถนาขอให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตข้างหน้าเช่นเดียวกับท่าน และในที่สุดก็ได้ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ 7 วัน ก็มีดาบสมาเยี่ยม พอเห็นเจ้าชายก็ก้มกราบและพยากรณ์ว่า ท่านต้องได้ตรัสรู้อนตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตแน่นอน และหนึ่งในหมู่ดาบสนั้นก็มีพระโกณฑัญญะพราหมณ์ด้วย ท่านโกณฑัญญะได้ถวายคำพยากรณ์ว่า เจ้าชายจะไม่ครองราชย์สมบัติ จะเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม จนบุรรลุเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นศาสดาเอกของโลกอย่างแน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนพราหมณ์คนอื่น ๆ ถวายเป็น 2 นัยยะ คือ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลกหรือถ้าครองราชสมบัติจะได้เป็นพระจักรพรรดิมหาราชเจ้า ปรากฏว่า คำพยากรณ์ของพราหมณ์หนุ่มโกณฑัญญะเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นยำตรงความเป็นจริง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยได้ศึกษา และสำเร็จศิลปวิทยาแขนงต่าง ๆ รวม 18 วิชา และหนึ่งในนี้ คือ วิชาโหราศาสตร์ และวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่วิชาที่สำเร็จธรรมได้

ผู้ศึกษาโหราศาสตร์ส่วนมากมักจะมีการคำนับครู หรือไหว้ครู ครูก็คือ รูปปั้นพระฤาษี หรือดาบสและพระโหราจารย์ทั้ง 5 คือ 1) พระอัญญาโกณฑัญญะมหาเถระ 2) พระวังคีสะมหาเถระ 3) พระอุตมะรามะมหาเถระ 4) พระอุทุมพรมหาเถระ และ 5) พระอุตมะมังคลาจารย์มหาเถระ

ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ถ่ายทอดวิชาโหราศาสตร์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น เวลาพยากรณ์ดวงชะตามักจะเกิด “อุคนิมิต” หรือเกิดญาณสังหรณ์ให้อ่านความหมายของดวงดาวได้อย่างแม่นยำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องมงายไม่มีเหตุผล แต่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและมีความจริง ซึ่งผู้พยากรณ์มองไม่เห็น ดังนั้น ก่อนจะเริ่มวิชาโหราศาสตร์จึงนิยมบูชาครูก่อนเสมอ


[1] สุดถนอม เอี่ยมละออ. (2558). การศึกษาวิธีการดำเนินธุรกิจและปัจจัยความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์ ประเภทไพ่ยิปซีในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา.

[2] มานพ นักการเรียน. (2554). พระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย.

[3] รสสุคนธ์ นิลพงษ์. (2553). โหราศาสตร์ไทย.

[4] ประมวณ วรรณโชติผาเวช. (2550). การประเมินความแม่นยำของโหราศาสตร์ไทยในการพยากรณ์ ลักษณะส่วนบุคคลและพฤติกรรมในการทำงาน. งานนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[5] สุดถนอม เอี่ยมละออ. (2558). การศึกษาวิธีการดำเนินธุรกิจและปัจจัยความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์ ประเภทไพ่ยิปซีในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา.

[6] รสสุคนธ์ นิลพงษ์. (2553). โหราศาสตร์ไทย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *