22033 (1)

ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นศาสนาที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 82 นับถือ ศาสนานี้มีความเชื่อเรื่องวรรณะ หรือชนชั้นในสังคม เป็นระบบที่เข้มงวดมานานนับพันปีแล้ว แต่ละวรรณะมีกฎเกณฑ์กำหนดระเบียบความประพฤติ และประเพณีในหมู่ของตน มีข้อกำหนดเรื่องการแต่งงาน อาหารการกิน การปฏิบัติทางศาสนา ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์วรรณะของตน อาจได้รับโทษหนักเบาแล้วแต่กรณี หรืออาจขับไล่ออกจากวรรณะก็ได้ ผิดกับระบบชั้นของสังคมของชาติอื่น ๆ ซึ่งคำว่า “วรรณะ” แปลว่า สี อักษร ชาติ กำเนิด ลักษณะ คุณสมบัติ รูป ประเภท

ในคัมภีร์พระเวท ได้สอนไว้ว่า มนุษยชาตินั้น หากจะแบ่งประเภทออกไปแล้ว ย่อมสามารถแบ่งได้เป็นสี่ประเภท หรือสี่วรรณะด้วยกัน คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร ซึ่งวรรณะพราหมณ์ ได้แก่ ผู้ยังความแพร่หลายให้เกิดแก่วิทยาการด้านต่าง ๆ กล่าวคือ หากมีความชำนาญในวิชาหนึ่งวิชาใด แล้วนำเอาวิชานั้นไปสอน หรือเผยแพร่ให้แก่ผู้อื่น ๆ ถือว่า เป็นครู อาจารย์ ในวิชาหนึ่ง เช่น วิชาจิตศาสตร์ นิติศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ บุคคลที่ทำหน้าที่นี้ ถือว่า เป็น “วรรณะพราหมณ์”

“พราหมณ์” มีความหมายถึง ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับ พระพรหม และพระเวท รวมถึงอาตมัน ซึ่งในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ได้บอกไว้ว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ย่อมมีลักษณะ ๑๑ ประการตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “ธรรมของพราหมณ์” ผู้ที่เป็นพราหมณ์อาจจะประกอบการค้าขาย การกสิกรรม หรือธุรกิจอื่นได้ เพื่อการครองชีพที่สมควรในยามยากลำบาก หรือคราวมีภาวะคับขัน

“วรรณะกษัตริย์” ได้แก่ ผู้ที่เป็นนักรบหรือผู้ป้องกัน เป็นวรรณะที่สองรองมาจากวรรณะพราหมณ์ มีสิทธิในการปกครองประเทศชาติ นั่นก็คือ “ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกษัตริย์” ซึ่งวรรณะก็ต้องมีธรรมะของกษัตริย์ 11 ประการ ทำนองเดียวกับวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่เหมือนกัน ผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์มีหน้าที่ รักษา คุ้มครอง ป้องกัน รักษาดินแดน รู้จักใช้อาวุธต่าง ๆ รู้จักใช้ยุทธวิธีตามสมัยตลอดจนรู้หลักวิชาการกฎหมายด้วย แต่หากจำเป็นในยามวิบัติ พระธรรมศาสตร์ก็อนุญาตให้ประกอบอาชีพอื่นได้ เช่น เป็นครูอาจารย์การทำกสิกรรมและการค้าขาย เพื่อการครองชีพได้

“วรรณะแพศย์” ได้แก่ ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบการกสิกรรมและพาณิชยกรรมต่าง ๆ แต่ในยามวิบัติกาล พระธรรมศาสตร์ก็อนุญาตให้อาจประกอบอาชีพอื่นได้ทุกอย่างตามกาลเทศะ แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นอาชีพที่สุจริตเท่านั้น

วรรณะที่สี่ เป็น “วรรณะศูทร” ถือว่า วรรณะนี้ถือกำเนิดมาจากบาทของพระพรหม ฉะนั้น วรรณะนี้จึงทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ในกิจการต่าง ๆ โดยทั่วไป วรรณะศูทรจะมีลักษณะเจ็ดประการ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้วรรณะที่สูงกว่าทั้งสามวรรณะ คือ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ และวรรณะแพศย์

ทั้งนี้ ในประเทศอินเดียมีความพยายามที่จะยกเลิกระบบชนชั้นมาโดยตลอด ผู้ที่ดำเนินการท่านแรก คือ “พระพุทธเจ้า” พระพุทธองค์ทรงนำแบบก้าวหน้า ในสังคมชาวพุทธจะไม่มีชนชั้น มีแต่ความเสมอภาคกัน แต่สังคมอินเดียเห็นว่า เป็นอุดมคติเกินไป ชาวอินเดียส่วนใหญ่จึงรับไม่ได้ และศาสนาพุทธก็ถูกศาสนาฮินดู พยายามกลมกลืนในเวลาต่อมา ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบชนชั้นในอินเดียในยุคปัจจุบัน คือ “ดร.อัมเบ็คการ์” เป็นผู้ที่ชาวพุทธอินเดีย ยกย่องถึงกับให้เป็นสรณะที่สี่ต่อจากพระรัตนตรัย ในปี พ.ศ. 2499 ดร.อัมเบ็คการ์ ในฐานะรัฐมนตรียุติธรรมของอินเดีย ได้นำชาวอินเดียในชนชั้นต่ำสุด คือ พวกจัณฑาลทั่วประเทศชุมนุมประกาศตนเป็นชาวพุทธตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เป็นเหตุให้จำนวนชาวพุทธ์เพิ่มขึ้นในอินเดีย

ศาสนาในประเทศอินเดีย

ประเทศอินเดียถือได้ว่า เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญของโลกสามศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน และยังมีศาสนาอื่น ๆ ที่ได้มีการแพร่หลายเข้ามาในประเทศอินเดีย และได้ลงหลักปักฐานมีการเจริญเติบโตขึ้นภายใต้บรรยากาศของความอดกลั้น ผ่อนปรนศาสนาสำคัญ ๆ ในลักษณะดังกล่าว อาทิ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์

ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ที่มีกำเนิดมาจากการกราบไหว้บูชาผีสางเทวดาในรูปพิธีกรรมตามแบบอย่างง่าย ๆ ปรัชญาฮินดูมุ่งสอนมนุษย์ให้ยอมรับนับถือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเทพวิญญาณ พระเวทเป็นคัมภีร์เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดในโลก

ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นต้นกำเนิดของศาสนาอื่น ๆ อีกสามศาสนา คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน และศาสนาซิกข์ ซึ่งศาสนาพุทธและศาสนาเชนเกิดร่วมสมัยเดียวกัน ส่วนศาสนาซิกข์เกิดในพุทธศตวรรษที่ 21 ศาสนาอิสลามเข้ามาสู่อินเดีย พร้อมกับการรุกรานเข้ามาทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกของอินเดีย ได้นำวัฒนธรรมเปอร์เซีย และซาราเซนเข้ามา และได้มีส่วนปรุงแต่งภูมิปัญญา และรสนิยมที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนเป็นผลให้เกิดประดิษฐกรรมทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และดนตรีที่สำคัญมากมายสืบต่อมา

การนับถือศาสนาของชาวอินเดียมีจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาต่าง ๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ประมาณร้อยละ 83 ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๑๑ ศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ 3 ศาสนาซิกข์ประมาณร้อยละ 2 ศาสนาพุทธประมาณร้อยละ 1 และศาสนาเชนประมาณร้อยละ 0.5

อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู การดำรงชีพของชาวอินเดียโบราณมีความสัมพันธ์กับศาสนามาก คัมภีร์พระเวท ซึ่งมีอายุประมาณ 1,500 – 500 ปีก่อนพุทธกาล เป็นตำราประวัติศาสตร์และวรรณคดีเล่มแรกของอินเดีย ประกอบไปด้วย คัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์ยชุรเวท และคัมภีร์สามเวท รวมเรียกว่า “ไตรเพท” ซึ่งต่อมา มีพวกอารยันเดิมทั้งสองพวกมีความสามารถ และมีความเจริญเท่าเทียมกัน จึงหาวิธีต่าง ๆ มาต่อสู้กัน จึงหันไปหาทางศึกษาวิธีการใช้คาถาอาคมต่าง ๆ จึงเกิดคัมภีร์อาถรรพเวทขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง

ทั้งนี้ ลัทธิฮินดูมีวิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ โดยได้นำเอาความเชื่อหลากหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบว่า ลัทธิฮินดูนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งลัทธิฮินดูนี้แพร่หลายไปทางตอนใต้ของประเทศอินเดียหลังพุทธกาลเล็กน้อย โดยจะยึดหลักจากคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นวรรณคดีภาษาสันสกฤต ที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณ 250 – 50 ปีก่อนพุทธกาล มีทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง รวมทั้งสาระของเรื่องเป็นปรัชญาทั้งสิ้น ถือได้ว่า เป็นแก่นแท้ของศาสนาฮินดู ลัทธิฮินดูได้ถือว่า คัมภีร์พระเวทเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพราหมณ์เป็นผู้แทนจากพระเจ้า

พระเจ้าสมัยฮินดูได้เปลี่ยนจากการถือว่า พระพรหมเป็นเทพสูงสุด ได้มานับถือนารายณ์เป็นเทพสูงสุด เรียกว่า ปรพรหม ซึ่งพระองค์มีประสงค์จะสร้างโลกจึงได้แบ่งเป็นสามภาค เรียกว่า “ตรีเทพ” หรือ “ตรีมูรติ” ได้ถือ พระพรหมให้เป็นผู้สร้างโลก พระวิษณุให้เป็นผู้บริหารโลก และพระศิวะให้เป็นผู้ทำลายโลก

ในสมัยที่ฮินดูรุ่งเรืองในอินเดีย การแบ่งชั้นวรรณะเข้มงวดมากขึ้น ห้ามแต่งงานข้ามวรรณะและในการอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องของแต่ละวรรณะจะพึงประพฤติปฏิบัติ จะก้าวก่ายกันไม่ได้

ลัทธิฮินดูมีหลายนิกาย บางนิกายก็นับถือ พระวิษณุ บางนิกาย ก็นับถือ พระอิศวร บางนิกาย ก็นับถือ พระพรหม และเทพเจ้าอื่น ๆ อีกหลายองค์ เช่น พระอุมา พระอินทร พระจันทร์ เป็นต้น

คำสอนที่หล่อเลี้ยงชาวฮินดูอันที่สำคัญ คือ “คัมภีร์ภควัตคีตา” แปลว่า เพลงของพระเจ้า เป็นระบบคำสอนแบบรวม คำสอนของพวกพราหมณ์ที่เคยแพร่หลายเป็นเวลานาน เน้นสาระสำคัญสี่ประการ ประกอบกัน คือ

  • ความเจริญสูงสุดเกี่ยวกับสัญญาณของโลกเรียก “พรหม”
  • ความไม่แน่นอนของวัตถุโลก
  • การเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ
  • ความพยายามที่จะหนีจากการเวียนว่ายตายเกิด

พุทธศาสนากับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดีย พุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งมีแบบฉบับขนบธรรมเนียมสืบต่อกันมาหลายพันปี โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีอิทธิพลมาก พุทธศาสนาได้ทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าแบบเก่าของอินเดียหลายประการ บางอย่างได้แนวปฏิบัติในรูปวัฒนธรรมใหม่ จึงมีสิ่งดีงามใหม่ ๆ ขึ้นหลายประการ เช่น

  • พุทธศาสนาได้สอนหลักแห่งกรรม โดยยืนยันว่า ความดี และความชั่วเป็นไปตามกรรมที่ตนได้ทำ ไม่ใช่เอาการกำเนิดเป็นเครื่องตัดสิน และจะใช้หลักคุณธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งในเรื่องนี้ มหาตม คานธี และเยาวหราล เนห์รู ผู้นำคนสำคัญของอินเดียก็ได้สดุดีเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ
  • พระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับระบบการซื้อขายทาสในอินเดีย มีบทบัญญัติห้ามพระภิกษุมีทาส ซึ่งเป็นแนวทางสังคมใหม่ที่ในระยะต่อมา ก็มีการเลิกระบบทาส พุทธศาสนาจึงมีส่วนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
  • ชาวอินเดียโบราณเชื่อในเรื่อง “พรหมลิขิต” อย่างแพร่หลาย เป็นเหตุให้ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ผู้ที่ต้องการความเจริญ หรืออยากพ้นทุกข์ ก็คอยให้พรหมบันดาล เอาแต่สวดอ้อนวอน ขาดการขวนขวายแก้ไขปัญหา พระพุทธศาสนาสอนหลักแห่งกรรม ทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว ปรับปรุงชีวิตของคน ให้สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์
  • ชาวอินเดียโบราณจะแสวงหาบุญด้วยการฆ่าสัตว์ และบูชายัญ เพื่อการบูชาเทพเจ้า ก่อให้เกิดความทุกข์โศกให้แก่มนุษย์ และสัตว์เป็นอย่างมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เลิกวิธีการดังกล่าว และให้มาสร้างความดีด้วยการให้ความสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้อภัยกัน ชำระจิตใจให้สะอาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในแนวใหม่ และดีกว่าเดิมและเป็นไปตามแนวสันติภาพ

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/macrovector

ที่มาของบทความจากรายงานกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เรื่อง การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่องานแต่งงานและฮันนีมูนรองรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียกลุ่มกำลังซื้อสูง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2559.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *