all-indian-family-women-hold-spices-their-palms (1)

“อินเดีย” เป็นดินแดนเก่าแก่ และเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก เป็นต้นตอของวัฒนธรรมตะวันออก เป็นแหล่งศาสนาของโลก เป็นแหล่งกำเนิดวรรณคดีที่สำคัญ ซึ่งอารยธรรมเหล่านี้มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อดินแดนใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง โดยอารยธรรมแถบลุ่มน้ำสินธุ ได้ปรากฏมามากกว่า 5,000 ปีแล้ว ได้มีการสันนิษฐานว่า น่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับวัฒนธรรมชน “สุมาเรีย” มาก่อน ก่อนสมัยที่ชนอารยันจะเริ่มอพยพเข้ามาสู่อินเดีย จากเอเชียกลาง ชนชาวอารยันได้นำเอาศาสนา ปรัชญา และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเข้ามาด้วย และเมื่อเข้ามาอยู่แล้ว ก็ได้รับเอาอารยธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วในอินเดียเข้าไว้ด้วย

ในสมัยต้นพุทธกาล การประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า และศาสนาเชนของพระมหาวีระ ทำให้เกิดมีการปฏิรูปทางสังคม ตามหลักธรรมคำสอนของทั้งสองศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 217 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ยกทัพมารุกรานอินเดีย ได้สร้างรอยจารึกในด้านความเชื่อถือเกี่ยวกับอำนาจลึกลับ มหัศจรรย์ และในด้านศิลปของอินเดียไว้อย่างลึกซึ้ง

พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงละจากการทำสงคราม หันมานับถือพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยึดถือมนุษยธรรมเป็นหลัก ก่อให้เกิดศิลปะก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม เจริญเฟื่องฟูอย่างมาก และได้ส่งผู้แทนคณะต่าง ๆ ออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ อิทธิพลของอินเดียก็ได้แผ่ขยายกว้างออกไปถึงเอเชียตะวันออกพร้อมกันไปด้วย ในอีกหนึ่งพันปีต่อมา งานศิลปะประดิษฐ์อันยิ่งยงก็ได้ปรากฏขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ศิลปะแกะสลัก และก่อสร้างทางศาสนา ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในอินเดีย จนถึงปัจจุบันนี้

ชนชาวมุสลิมทั้งที่เป็นพ่อค้าวานิช และที่เป็นผู้รุกรานได้เริ่มเข้ามาในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ส่วนชาวโมกุลที่เข้ามายึดครองอินเดียไว้จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 นั้น ได้พากันเข้ามาเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ผู้ที่เข้ามาครอบครองอินเดียใหม่นี้ ได้นำเอาแบบแผนประเพณี ศิลปาการช่างต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ ความสามารถอื่น ๆ ของตนโดยเฉพาะเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ดี ชาวโมกุลซึ่งได้พยายามรวบรวมอินเดียเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้อาศัยการก่อตั้งระบบการปกครองอันก้าวหน้าขึ้นไว้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของอินเดีย ซึ่งระบบการปกครองดังกล่าวได้มีการถือปฏิบัติต่อมาจนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 24 และเมื่ออำนาจการปกครองของชาวมุสลิมได้เสื่อมโทรลง ประเทศอังกฤษได้เข้ามาอินเดียในฐานะพ่อค้าและก็ได้เข้าครอบครองอินเดียสืบต่อมา จนเป็นผลให้อินเดียสามารถรวมตัวกันเข้ามาอยู่ภายใต้อิทธิพลตามแนวนึกคิดของตะวันตก

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ในอินเดียนั้นได้มีการผสมผสานทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรมของชนต่างเผ่าพันธุ์ วรรณะ อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ชนชาวอินเดียต่างก็ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ตามแนวประเพณีที่ตนถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว หลายศตวรรษโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ปรัชญาและค่านิยมของอินเดีย

วัฒนธรรมของอินเดียไม่สามารถแยกปรัชญาและศาสนาออกจากกันได้ ซึ่งค่านิยมของอินเดีย เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ยิ่งกว่าจีน และญี่ปุ่น ตามประวัติศาสตร์ยุคแรกของอินเดีย เป้าหมายที่สำคัญ คือ “จิตใจของมนุษย์” และการเข้าถึง “สันติทางวิญญาณ” เป็นเป้าหมายของมนุษย์

หลักคำสอนสำคัญของขาวอินเดียเน้นถึงความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เหนือกาลเทศะ และเหนือเหตุผลทุกอย่าง เป็นสิ่งที่สิ้นสุดแสดงออกเป็นถ้อยคำไม่ได้ จะมีลักษณะเป็นหนึ่ง สิ่งนั้น คือ “พรหม” หรือ “พรหมัน” พรหมเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งที่แท้จริง ความแท้จริงที่สมบูรณ์เป็นนามธรรมทุกอย่างและจะกลมกลืนกันเมื่อเข้าถึงโมกษะ คือ พ้นจากพันธนาการโลก และพ้นจากสังสารวัฏที่อวิชชาได้สร้างขึ้น

ศิลปะของอินเดีย

ศิลปะอินเดียก็เหมือนกับลักษณะอื่น ๆ คือ มุ่งสร้างความกลมกลืนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ในถ้ำคูหาโบราณสถานที่มิสซาฟุรและในที่อื่น ๆ จะพบภาพจิตรกรรมเก่าแก่เขียนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ การเขียนภาพระบายสี มีหลักฐานแสดงว่า ได้ถือกำเนิดในยุคหินระยะหลังของอินเดีย ในระหว่างสมัยพุทธกาล การเขียนภาพลวดลายได้ก้าวหน้าไปถึงขั้นสมบูรณ์สูงสุด อย่างชนิดที่จะหาสิ่งที่เจริญอื่นใดมาเปรียบเทียบได้

การสร้างคูหาวิหารขึ้นด้วยการสกัดถ้ำคูหาของโขดเขาที่อะชันตา มีความสูงส่งในด้านแนวความคิดและมีความเด่นในฝีมืออย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ไม่น่าจะมีผลงานทางจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ใดที่จะจัดว่า สมบูรณ์ยอดเยี่ยมอย่างเช่นที่บาดามิ อะชันตา และเอลลอรา

ดนตรีและการฟ้อนรำ

ต้นกำเนิดของศาสนาของอินเดียมีมาแต่การบูชาบวงสรวง ชาวอินเดียเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย คล้ายกับว่า ความผสมกลมกลืนของเสียงดนตรี คือ สรวงสรรค์ เสียงขับร้องของคน และเสียงจากการบรรเลงของเครื่องดนตรี จะสะท้อนถึงกันและกัน

ในด้านการฟ้อนรำ เป็นการฟ้อนอย่างมีแบบแผน ซึ่งมีมาช้านานกว่าสามพันปี ภารตะได้เขียนตำรานาฏศาสตร์ขึ้นไว้ในพุทธศตวรรษที่สาม ผู้ฟ้อนรำบรรยายเรื่องราวโดยใช้การเคลื่อนไหวของมือและเท้า ประกอบกับการแสดงท่าทีอาการด้วยตาและใบหน้า

ปัจจุบัน การฟ้อนรำแบบแผนสำคัญ ๆ มีอยู่สี่แบบ คือ

  1. “ภารตนาฏยัม” เป็นการฟ้อนตามกฎเกณฑ์แต่โบราณของภาคใต้ แสดงโดยนักฟ้อนรำประจำวัดวาอารามต่าง ๆ ในการประกอบพิธีบวงสรวงตามแบบอย่างที่ได้ปฏิบัติติดต่อกันมาหลายศตวรรษ
  2. “กถึกกาลิ” เป็นการฟ้อนรำที่เกิดจากเดราลา แสดงให้ผู้ชมได้เห็นโลกของเทพเจ้า และภูตผีปีศาจ ผู้แสดงแต่ตนสีฉูดฉาด และแสดงบทบาทด้วยท่วงท่าเข้มแข็งคึกคัก
  3. “มณีปุริ” เป็นแบบฟ้อนรำของภาคเหนือ มีลีลาการแสดงที่ประกอบด้วย อาการเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลละมุนละไม และกถึก เป็นแบบฟ้อนรำซึ่งมีวิวัฒนาการภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของราชวงศ์โมกุล และการฟ้อนรำแบบนี้ อาศัยจังหวะเป็นสำคัญ และ
  4. ศิลปะฟ้อนรำพื้นเมือง ประกอบด้วย ลีลาร่ายรำหลายรูปแบบที่นิยมแพร่หลายที่สุดก็คือ การฟ้อนรำแบบ “มณีปุระ” ซึ่งผู้แสดงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สีสวยสดงดงาม

เครื่องแต่งกายของชาวอินเดีย

เครื่องแต่งกายชั้นหนึ่งของสตรีอินเดียที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติ คือ “ส่าหรี” ส่วนผ้าที่ใช้ทำส่าหรีจะมีความยาวระหว่างห้าถึงเก้าหลา และเป็นได้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมจะปักเป็นดอกดวงลวดลายต่าง ๆ กัน ส่งประกายวาววับ ในส่วนเครื่องแต่งกายของสุภาพบุรุษมีที่จัดกันไว้คู่กันเรียกว่า “โคติ” มีทั้งชนิดที่มีขอบ และไม่มีขอบเป็นเครื่องแต่งกายของสุภาพบุรุษที่เกิดขึ้น และเมื่ออิทธิพลของเปอร์เซีย และโมกุล ได้แผ่ขยายเข้ามาสู่อินเดีย และสตรีในชนบทนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดบาดตา ผ้าโพกศีรษะเป็นเครื่องแต่งกายส่วนหนึ่งของบุรุษในรัฐราชสถาน และในหมู่ชาวซิกข์ ผ้าโพกศีรษะเป็นสิ่งที่ได้รับความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ส่วนชาวพื้นเมืองก็มีเครื่องแต่งกายมากมาย

วรรณคดีของอินเดีย

ประเทศอินเดียมีวรรณคดีเก่าแก่ ลึกซึ้ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก แม้กระทั่ง ในต่างประเทศ เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ และรามายณะ ที่ซึ่งเป็นต้นฉบับของเรื่องรามเกียรติของประเทศไทย นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องนิทานต่าง ๆ เช่น นิทานเวตาล และหิโตประเทศ เป็นต้น

รัฐบาลอินเดียได้จัดตั้งสถาบัน เพื่อรวบรวม และศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีอินเดีย และได้แปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในอินเดียปัจจุบัน และเผยแพร่ให้แก่ชาวอินเดีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ได้ทราบอีกด้วย

ประเทศอินเดียนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นชาติเดียวในโลกที่แนวทางชีวิตแบบดั้งเดิมพื้นเมือง และแบบก้าวหน้าตามสมัยนิยม ยังคงเดินควบคู่กันไปอย่างผสมกลมเกลียวกันตลอดมา แม้จะมีสภาพที่ยังมีการต่างพวกต่างวรรณะ ต่างศาสนา ต่างค่านิยมที่มีอยู่อย่างมากมาย แต่ชาวอินเดียก็รักชาติรักอินเดีย มีความภาคภูมิใจในอินเดียอย่างหาชาติใดเปรียบได้ยาก เพราะอินเดียมีอารยธรรม วัฒนธรรมเป็นตัวผูก เป็นฐานหลักให้อินเดียมีเอกลักษณ์ มีความพิเศษอยูในตัวของอินเดียเอง

จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมของอินเดียได้มีการเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งทางศาสนประเพณีบางอย่าง และไทยได้นำเอามาใช้กันตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งประเพณีส่วนมากที่ใช้กันอยู่ยึดถือแบบพราหมณ์ เช่น แรกนาขวัญ พิธีโกนจุก พิธีบวชนาค และทางสถาปัตยกรรมก็มีเกี่ยวกับการปั้นพระพุทธรูป เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/freepic-diller

ที่มาของบทความจากรายงานกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เรื่อง การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่องานแต่งงานและฮันนีมูนรองรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียกลุ่มกำลังซื้อสูง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2559.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *