โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

โรค “หย่อนสมรรถภาพทางเพศ” หมายถึงอะไร

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ Erectile Dysfunction (ED) ในผู้ชาย หมายถึง การที่ไม่สามารถที่จะทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือคงสภาพการแข็งตัวได้เป็นเวลานานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้

การแข็งตัวขององคชาตเกิดขึ้นได้อย่างไร

การแข็งตัวของอวัยวะเพศ เป็นปรากฎการณ์ทางระบบประสาทและระบบไหลเวียนเลือด ภายใต้การควบคุมของจิตใจ สามารถจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ จากสมองด้านบน จากปฏิกิริยาตอบสนองที่อวัยวะเพศโดยตรง และการแข็งตัวของอวัยวะเพศขณะนอนหลับ

ความรุนแรงของอาการ มีตั้งแต่เป็นน้อยปานกลาง หรือเป็นมาก คือ อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเลย ทำให้เกิดความลำบากใจทั้งกับผู้ป่วยเอง และคู่สมรส แต่ละช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น จะพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมีจำนวนมากที่ไม่สมัครใจ หรือไม่กล้าไปปรึกษาแพทย์

สาเหตุของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  1. สาเหตุทางกาย จากความเสื่อมของระบบประสาท และหลอดเลือดจากอายุที่เพิ่มขึ้น เส้นเลือดตีบจากไขมันเกาะในหลอดเลือด และทำลายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ความผิดปกติขององคชาต การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวขององคชาต
  2. สาเหตุด้านจิตใจ ความเครียด อารมณ์ หงุดหงิด ซึมเศร้า
  3. ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ
  4. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากลุ่มแอนตี้อีสตามีน ยาลดความดันโลหิตสูง รวมไปถึงการได้รับสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่ เป็นระยะเวลานาน ๆ
  5. พฤติกรรมการดำรงชีวิต ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย

ข้อควรพิจารณาเมื่อเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนี้

  • แยกแยะให้ชัดว่า เกิดจากอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ภาวการณ์หลั่งเร็ว หรือเกิดจากการขาดความสนใจทางเพศ
  • ภาวะที่เกิดขึ้น รบกวนคุณภาพชีวิตหรือไม่
  • การดูแลรักษาโรคประจำตัว มีประสิทธิภาพเพียงใด
  • การใช้ชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพเป็นอย่างไร
  • ความสัมพันธ์ระหว่างคู่เป็นอย่างไร ฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ เช่น อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ขาดความสนใจทางเพศ ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

การรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การรักษา แพทย์อาจใช้ยา ซึ่งปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพมากมาย ทั้งในรูปของยากิน ยาอมใต้ลิ้น ยาฉีด ยาฝัง อาจให้อุปกรณ์ช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือใช้การบำบัดทางเพศแล้วแต่ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

การป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพในเรื่องโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  1. หลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสารเสพติด บุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  2. ดูแลรักษาโรคที่เป็นอยู่แต่เนิ่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคซึมเศร้า เป็นต้น
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีวิตามิน และเกลือแร่ที่หลากหลาย เช่น ปลา ธัญพืชไม่ขัดขาว ถั่ว ผักใบเขียว หัวกระเทียม เห็นด สาหร่ายทะเล ลดอาหารไขมัน
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้โลหิตสูงฉีดดีขึ้น ขณะที่ออกกำลังกายร่างกายยังมีการหลั่งสาร “เอ็นโดฟิน” ที่ก่อให้เกิดความสุขได้อีกด้วย
  5. ทำสมาธิ ฝึกการหายใจ ปล่อยวาง จากปัญหาต่าง ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *