instagram-icons-3d-render (1)

วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง (2556) กล่าวถึง อินสตาแกรม (Instagram) เป็นแอพพลิเคชั่นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ สำหรับการแชร์รูปภาพที่กำลังได้รับความนิยมในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ผู้ใช้สามารถแชร์รูปภาพ ข้อความ และคลิปวิดีโอ เพื่อที่จะสื่อสารไปยังผู้ที่กำลังติดตามได้ นอกจากนั้น ยังมีจุดเด่นเรื่องการฟิลเตอร์สำหรับการตกแต่งรูปที่สวยงามและหลากหลาย สามารถเชื่อมโยงการโพสต์ผ่านทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) , ทวิตเตอร์ (twitter) , ทัมเบอร์ (tumblr) และฟลิคเกอร์ (flicker) ถือว่า เป็นสื่อสังคมออนไลน์หนึ่งที่มีประโยชน์และความจำเป็นมากกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันโดยสามารถสร้างการรับรู้ตราสินค้าและการเชื่อมโยงตราสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการเลือกใช้อินสตาแกรมด้วยความนิยมและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างเหมาะสม สามารถสร้างการบอกต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และสามารถสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคผ่านสื่ออินสตาแกรมได้อย่างดี จึงมีการนำเสนอเนื้อหาและกลยุทธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสื่ออินสตาแกรมเป็นสื่อที่ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ผ่านการนำเสนอรูปภาพ และสามารถสร้างทัศนคติเชิงบวกกับการสื่อสารทางการตลาด[i]

อินสตาแกรมจึงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ประเภทหนึ่งที่ร้านค้าต่าง ๆ เลือกใช้เป็นช่องทางในการขายสินค้าและติดต่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า อีกทั้งอินสตาแกรมจัดเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดแบบบอกต่อ (Viral Marketing) ชั้นดีเนื่องจาก เมื่อมีผู้ใช้งานมากด Like ในรูปต่าง ๆ ก็จะเกิดการกระจายและแบ่งปันไปยังผู้ใช้งานอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการบอกต่อและโปรโมทสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าให้กับร้านค้านั้น ๆ ด้วยความสะดวกสบาย ใช้งานง่าย และต้นทุนต่ำจึงทำให้ปัจจุบันมีร้านค้าเกิดขึ้นบนอินสตาแกรมเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถมองได้ว่า ภาพรวมคนไทยมีการซื้อ – ขายกันผ่านออนไลน์มากขึ้นและมีความเชื่อใจในการซื้อของโดยไม่ต้องเห็นสินค้าจริงมากขึ้น และแน่นอนว่า การแข่งขันย่อมเกิดขึ้นจากการที่มีร้านค้าจำนวนมาก จึงหนีไม่พ้นการเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคาคุณภาพ หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของผู้ค้า ดังนั้น การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ ความสามารถของอินสตาแกรมที่มีประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด[ii] ดังนี้

  1. ใช้งานได้ฟรี (Free Application) อินสตาแกรมเป็นแอฟพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี ถือเป็นสื่อที่ไม่มีต้นทุน ซึ่งเป็นตัวเลือกในการลดต้นทุนการประชาสัมพันธ์ตราสินค้ารวมทั้งยังกระจายสู่คนหมู่มากได้ดีอีกด้วย
  2. การแบ่งปันรูปภาพ (Photo Sharing) คือ การแบ่งปันรูปภาพ ซึ่งผู้รับสารจะเห็นภาพได้ชัดเจนจากการประชาสัมพันธ์ตราสินค้าผ่านอินสตาแกรมไม่ว่าจะเป็นจากบัญชีผู้ใช้ของตราสินค้าเอง หรือผ่านบัญชีผู้ใช้ของบุคคลอื่น ซึ่งจะกระตุ้นความสนใจ การรู้จักและพฤติกรรมการซื้อของผู้รับสารได้
  3. การระบุตำแหน่ง (Check – in) ตั้งแต่มีสื่อสังคมออนไลน์ ตำแหน่ง (Location) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โทรศัพท์มือถือมีความสามารถที่ระบุตำแหน่งที่อยู่หรือตำแหน่งที่ต้องการทำการเช็คอินได้ มีประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ตราสินค้า คือ ผู้บริโภคสามารถรับรู้ตำแหน่งที่ทำการเช็คอินได้ว่า ตราสินค้า หรือร้านค้านี้อยู่ที่ใด ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้จักตราสินค้ามากขึ้น
  4. คำอธิบายใต้ภาพ (Caption) ในการแบ่งปันรูปภาพผ่านอินสตาแกรม ผู้ใช้จะสามารถลงคำอธิบายใต้ภาพได้ ซึ่งจะทำให้ผู้รับสารรู้จัก และเข้าใจตราสินค้าในการประชาสัมพันธ์ตราสินค้าได้มากขึ้น
  5. แฮชแท็ก (#Hashtag) ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่บอกว่า รูปภาพที่ถูกแบ่งปันไปนั้น เป็นรูปภาพที่เกี่ยวกับอะไร ในการทำการประชาสัมพันธ์การตลาดนั้น รูปภาพที่ถูกแบ่งปันส่วนใหญ่จะถูกแฮชแท็ก (#Hashtag) ถึงชื่อตราสินค้า ชื่อสินค้า หรือชื่อแคมเปญของตราสินค้า ซึ่งรูปที่ถูกแฮชแท็ก (#Hashtag) จะเข้าไปอยู่ในแฮชแท็ก (#Hashtag) เดียวกัน ซึ่งสะดวกที่จะทำให้เป็นที่สนใจของผู้รับสาร
  6. การแบ่งปันที่ไม่จำกัด (Unlimited Sharing) ขนาดของความจุข้อมูลที่ถูกแบ่งปันในโลกของสังคมออนไลน์มีไม่จำกัด กล่าวคือ จะสามารถแบ่งปันข้อมูล ข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว แม้อาจจะจำกัดเพียงแค่ขนาดของข้อมูลในการแบ่งปันแต่ละครั้ง แต่จำนวนครั้งที่แบ่งปัน จะแบ่งปันเท่าใดก็ได้ในทางการประชาสัมพันธ์ตราสินค้าก็ควรจะแบ่งปันข้อมูลในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อประสิทธิผลที่ดีที่สุด ไม่มากเกินไปจนทำให้เกิดทัศนคติในแง่ลบ และไม่น้อยเกินไปจนไม่เกิดการรับรู้
  7. การแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real – time sharing) ข้อมูล และรูปภาพที่ถูกแบ่งปันผ่านอินสตาแกรมรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการแบ่งปันข้อมูลในเวลาปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ และตราสินค้ายังสามารถตอบสนองต่อปฏิกิริยาสื่อสารกลับของผู้รับสารได้ทันทีอีกด้วย
  8. การเป็นผู้ติดตามบุคคลมีชื่อเสียง (Celebrity Followers) นอกจากที่ผู้ใช้จะใช้ติดตามเพื่อน และคนที่ตนสนใจแล้ว ผู้ใช้ยังมีพฤติกรรมที่ชอบที่จะติดตามบุคคลมีชื่อเสียง ดาราศิลปินด้วยความที่ลักษณะพิเศษของอินสตาแกรมต่างจากสื่อสังคมออนไลน์อื่น อย่างเช่น เฟซบุ๊กที่ต้องเพิ่มการเป็นเพื่อนซึ่งกันและกัน ที่ดาราส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมรับบุคคลทั่วไปเป็นเพื่อนในสังคมออนไลน์ แต่สำหรับอินสตาแกรมนั้น ผู้ใช้ทั่วไปสามารถที่จะกดติดตาม (Follow) บุคคลมีชื่อเสียงได้โดยที่ไม่เกิดสิ่งรบกวนต่อบุคคลมีชื่อเสียงเหล่านั้น ดังนั้น บุคคลทั่วไปจะสามารถติดตามชีวิตการอัพเดทเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากบุคคลมีชื่อเสียงได้ ซึ่งบุคคลมีชื่อเสียงแต่ละคนจะมีจำนวนผู้ติดตามมากน้อยขึ้นอยู่กับการเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมของบุคคลนั้น ด้วยเหตุนี้ ตราสินค้าในปัจจุบัน จึงเลือกที่จะให้บุคคลมีชื่อเสียงทำการเสนอสินค้า (Celebrity Endorsement) ผ่านทางอินสตาแกรมของพวกเขาเหล่านั้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับสาร คือ ผู้ใช้ต่าง ๆ ที่ทำการติดตามบุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งตราสินค้าต้องวางแผน และเลือกใช้บุคคลมีชื่อเสียงให้เหมาะสม เพื่อที่จะเกิดประสิทธิผลต่อผู้รับสารกลุ่มเป้าหมาย

[i] วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง. (2556). Marketing Idea ไอเดียการตลาดพลิกโลก. กรุงเทพมหานคร : กรุงเทพธุรกิจมีเดีย.

[ii] สุรสิทธิ์ อุดมธนวงศ์. (2561). อิทธิพลของการรับรู้คุณค่าตราสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มยานยนต์ที่มีผลต่อคุณค่าของการแบ่งปันทางอิเล็กทรอนิกส์และความผูกพันตราสินค้าของผู้บริโภค. คณะบริหารธุรกิจ, สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *