แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยประชากรศาสตร์ ลักษณะประชากรศาสตร์

ปัจจัย หมายถึง ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อความต้องการซึ่งแบ่งปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมีความสำคัญเหนือการตอบสนองของแต่ละบุคคลที่มีวัตถุและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพฤติกรรม[i] ประชากรศาสตร์เป็นแนวคิดที่ชี้ให้เห็นประเด็นความแตกต่างในด้านคุณสมบัติทางประชากรระหว่างบุคคล ซึ่งมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป โดยมองว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติทางประชากรที่แตกต่างกัน ก็จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไปด้วย[ii]

ลักษณะด้านประชากรศาสตร์ หมายถึง การแบ่งส่วนตลาดตามตัวแปรด้านประชากรศาสตร์ ประกอบด้วย เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน[iii] และลักษณะทางประชากรศาสตร์ หมายถึง ลักษณะของผู้บริโภค ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ รายได้ สถานภาพ ระดับการศึกษา[iv]

ปัจจัยประชากรศาสตร์ คือ ลักษณะด้านประชากรศาสตร์เป็นปัจจัยที่นักการตลาดนิยมนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งส่วนตลาด เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ เป็นต้น บุคคลที่มีลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่แตกต่างกัน ย่อมมีความคิดทัศนคติและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน[v]

อัจฉรา นพวิญญูวงศ์ (2550) กล่าวว่า ประชากรศาสตร์เป็นการศึกษาเชิงปริมาณเกี่ยวกับประชากรเพื่อศึกษาจำนวน ความหนาแน่น และการกระจายตัวของประชากร ตัวแปรด้านประชากรศาสตร์จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ[vi] ได้แก่

  1. อายุ บุคคลที่มีอายุแตกต่างกันจะมีความต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน เช่น วัยรุ่นจะเป็นวัยที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ
  2. เพศ ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะเพศที่แตกต่างกันมักมีการตัดสินใจในเรื่องสินค้า และบริการแตกต่างกัน
  3. สถานภาพสมรส ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ที่เป็นม่ายมักจะซื้อเสื้อผ้าที่หรูหราเพื่อเสริมให้ตนเองดูดี
  4. การศึกษา โดยผู้ที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำ เนื่องจาก ผู้ที่มีการศึกษาสูงมีโอกาสที่จะมีรายได้ที่มากกว่า
  5. อาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความจำเป็นและความต้องการของสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน เช่น พนักงานบริษัทมักจะซื้อสินค้าที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ เกษตรกรรมมักจะซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ เป็นต้น
  6. รายได้ จะมีผลต่ออำนาจและการตัดสินใจซื้อ คนที่มีรายได้ต่ำ จะซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพและมีความไวต่อราคามากกว่าคนที่มีรายได้สูง
  7. ถิ่นที่อยู่อาศัย ถิ่นที่อยู่อาศัยที่เป็นเขตเมืองจะมีการตัดสินใจซื้อมากกว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยนอกเมือง
  8. ประเภทสินค้าที่ระลึกที่สนใจ ประเภทสินค้าที่เก็บได้นานไม่เน่าเสีย จะมีการตัดสินใจซื้อมากกว่าสินค้าที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน
  9. ค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการซื้อสินค้าที่ระลึก นักท่องเที่ยวที่มีความพึงพอใจในการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจซื้อมากขึ้น

วสุดา รังสิเสนา ณ อยุธยา และอาษา ตั้งจิตสมคิด ศึกษาเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการสั่งอาหารผ่านสื่อออนไลน์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ปัจจัยด้านลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการสั่งอาหารผ่านสื่อออนไลน์ประกอบด้วย อายุ รายได้ และสถานภาพที่แตกต่างกันโดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ นักเรียน/นักศึกษา ซึ่งจากผลวิจัยผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น[vii]

เสาวนีย์ สุวรรณาภรณ์ (2554) ศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ สถานภาพสมรส ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน และวัยทำงาน มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก[viii]


[i] มัธณา กันชะนะ. (2557). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช้อปปิ้งออนไลน์ของซุปเปอร์สโตร์. วิทยานพินธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด.

[ii]ศิริลักษณ์ คำพึ่ง. (2562). พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อการเลือกซื้อโยเกิร์ตแช่แข็ง กรณีศึกษาเขตกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ.

[iii]ศรัณยนันฑ์ ศรีจงใจ. (2561). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านช่องทางการถ่ายทอดเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. ปริญญาบริหารูรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

[iv]ศิริลักษณ์ คำพึ่ง. (2562). พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อการเลือกซื้อโยเกิร์ตแช่แข็ง กรณีศึกษาเขตกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ.

[v] เปรมกมล หงส์ยนต์. (2562). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์ (ลาซาด้า) ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสยาม.

[vi] อัจฉรา นพวิญญูวงศ์. (2550). ปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อและการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการขายเสื้อเชิ้ตบุรุษมีตราสินค้าในตลาดบน. การศึกษาอิสระบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

[vii] วสุดา รังสิเสนา ณ อยุธยา และอาษา ตั้งจิตสมคิด. ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการสั่งอาหารผ่านสื่อออนไลน์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 10

[viii]เสาวนีย์ สุวรรณาภรณ์. (2554). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *