แนวคิดเกี่ยวกับช่วงวัยของประชากร

การจัดกลุ่มของคนรุ่นต่าง ๆ ตามเกณฑ์ในช่วงอายุ หรือที่เรียกกันว่า “เจนเนอเรชั่น” นั้นมีการริเริ่มมาจากแนวคิดของชาวตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา (Society for Human Resource Management (SHRM), 2004)[1] คำว่า “เจนเนอเรชั่น” (Generation) จึงหมายถึง กลุ่มคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน (The American Heritage Dictionary, 1992) [2] ซึ่งมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ หรือจากสภาพแวดล้อมคล้ายกัน ๆ กัน และในสังคมหนึ่ง ๆ และประสบการณ์ดังกล่าวได้หล่อหลอมให้เกิดเอกลักษณ์ในทัศนคติร่วมกันในกลุ่มคนรุ่นราวคราวเดียวกันนั้น ๆ (Glass, 2007, pp. 98-103)[3]และในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเจนเนอเรชั่นนั้น บรรดานักวิจัย และนักการตลาดได้ทำการแบ่งประชากรออกเป็นเจนเนอเรชั่นต่างๆ ตามช่วงอายุที่แตกต่างกัน โดยใช้เกณฑ์การแบ่งเจนเนอเรชั่นจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่มีความสำคัญ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นส่วนส่งผลให้แนวคิดของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่นมีความแตกต่างกัน โดยแต่ละเจนเนอเรชั่นล้วนถูกหลอมรวมให้มีความคิด (Mindset) ค่านิยม ทัศนคติ มุมมองทางสังคม และมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยจะเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างถาวร และเติบโตไปพร้อมกับคนในเจนเนอเรชั่นนั้น

เจนเนอเรชั่นในที่นี้ หมายถึง กลุ่มคนที่เกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อม ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้มีประสบการณ์ ค่านิยม ทัศนคติ รวมถึงรูปแบบในการใช้ชีวิตที่คล้ายกัน (Glass, 2007, pp. 98-103) ซึ่งการศึกษาความแตกต่างของเจนเนอเรชั่นนั้น จะทำให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมได้ เนื่องจาก กลุ่มคนที่เจริญเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน และถูกปลูกฝังความคิด ความเชื่อที่เหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีพฤติกรรมแตกต่างจากกลุ่มคนอีกรุ่นอย่างเห็นได้ชัด (Billingham, 2007)[4] นอกจากนี้ การเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนในแต่ละเจนเนอเรชั่นนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่อยู่รวมกันได้ (Humphrey, and Stokes, 2000)[5] จึงสามารถกล่าวได้ว่า การศึกษาเจนเนอเรชั่นจะช่วยทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรม และความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัยได้

จากความหมายของเจนเนอเรชั่น (Generation) ที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า เจนเนอเรชั่น (Generation) หมายถึง กลุ่มคนที่เกิดในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ประสบการณ์ที่สำคัญเหมือนกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คนกลุ่มนี้ มีทัศนคติและความคิดคล้ายกัน

การจัดกลุ่มเช่นนี้ก่อให้เกิดการศึกษาวิเคราะห์ความแตกต่างเชิงคุณลักษณะ ความคิดและพฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคและการทำงานของคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันในแต่ละยุคสมัย โดยแต่ละยุคก็จะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางสังคมตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เราเข้าใจคุณลักษณะและแนวโน้มเชิงพฤติกรรมของประชากรในแต่ละยุคสมัยดีขึ้น เมื่อเราสามารถเข้าใจความแตกต่างของประชากรแต่ละกลุ่มได้ดี เราก็จะสามารถเข้าถึง หรือบริหารงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับคุณลักษณะพฤติกรรมและความต้องการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสินค้าหรือบริการ กระบวนการติดต่อสื่อสาร การมอบหมายงาน กระบวนการจูงใจในการทำงาน ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีการนำแนวคิด และผลการศึกษาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เชิงการบริหารจัดการหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การพัฒนาองค์กร การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น (Howe, Strauss, 2000)[6] เนื่องจาก การจัดแบ่งกลุ่มคนตามช่วงอายุนั้นมีความหลากหลายแนวคิด และมีการทับซ้อนกันในบางช่วงอายุ ตามเกณฑ์ซึ่งปรับปรุงมาจากเกณฑ์การจัดกลุ่มตามแนวคิดตะวันตกของ Mannheim (1952)[7] โดยแบ่งกลุ่มเจนเนอเรชั่นออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มเกิดก่อนสงครามโลก หรือกลุ่มเงียบ กลุ่มเกิดหลังสงครามโลก กลุ่มเอ็กซ์ และกลุ่มวาย ซึ่งในที่นี้ผู้วิจัยจะขอไม่ศึกษากลุ่มเงียบ เนื่องจาก ปัจจุบันประชากรกลุ่มนี้ถือว่า มีจำนวนน้อย และไม่มีกำลังซื้อในตลาด ตามรายละเอียดดังนี้

  1. กลุ่มเกิดหลังสงครามโลก หรือเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) คือ บุคคลที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2489 – 2507 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมาหลังยุคฟื้นตัวของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงขยายตัวทางเศรษฐกิจ กลุ่มนี้จึงเป็นนักสู้ มีความอดทนสูง ทำงานหนักมาตลอดชีวิต มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่วิ่งไล่ตามเทคโนโลยี มีการศึกษาไม่สูงนัก ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่หวือหวา ชอบการสื่อสารแบบเห็นหน้า กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ผู้ค้าหรือนักการตลาดควรให้ความสนใจ เพราะมีจำนวนประชาชนมาก มีเงิน และมีกำลังซื้อ โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
  2. เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) คือ บุคคลที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2508 – 2523 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอย คนกลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน มีความต้องการที่จะทำธุรกิจส่วนตัว ทะเยอะทะยาน แต่รักอิสระ คนกลุ่มนี้จึงมีความภักดีน้อยกว่ากลุ่ม Baby Boomer เนื่องจาก ประสบการณ์ความยากลำบากของรุ่นผู้ใหญ่ จึงดิ้นรนต่อสู้เพื่อตัวเองมาก มีความรู้ด้านเทคโนโลยีพอสมควร และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ เนื่องจาก เกิดมาในยุคที่เริ่มมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง
  3. เจนเนอเรชั่นวาย (Generation Y) คือ บุคคลที่เกิดในช่วง ปี พ.ศ. 2524 – 2538 คนกลุ่มนี้จะเป็นรุ่นลูกของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีบุตรช้า โดยลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้ คือ มีความมั่นใจในตัวเองสูง เน้นการทำงานหนักเพื่อหวังผล มีความทะเยอทะยานสูง โหยหาความสำเร็จ โดยเฉพาะความสำเร็จทางการเงิน ชอบเสี่ยง ชอบความท้าทาย ชอบนวัตกรรมใหม่ ๆ เนื่องจาก เติบโตมากับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้มีความสามารถในด้านการใช้เทคโนโลยีสูง จึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่าสังคมรอบข้าง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (2560)[8]  ได้ศึกษาโครงสร้างประชากรไทย และวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจจุดร่วมของพฤติกรรม โดยแบ่งผู้บริโภคออกเป็น 6 กลุ่มตามช่วงอายุ ดังนี้

  • ยุคก่อนสงครามโลก (Greatest Gen) เป็นกลุ่มที่ 1 เกิดช่วงปี 2444 – 2467 (อายุ 93 – 116 ปี)
  • ยุคระหว่างสงครามโลก (Silent Gen) เป็นกลุ่มที่ 2 เกิดช่วงปี 2468 – 2488 (อายุ 72 – 92 ปี)
  • ยุคสิ้นสุดสงครามโลก มีลูกมาก (Baby Boomer) เป็นกลุ่มที่ 3 เกิดช่วงปี 2489 – 2507 (อายุ 53 – 71 ปี)
  • ยุคที่มีการควบคุมอัตราการเกิด (Gen X) เป็นกลุ่มที่ 4 เกิดช่วงปี 2508 – 2522 (อายุ 38 – 52 ปี)
  • ยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Gen Y) เป็นกลุ่มที่ 5 เกิดช่วงปี 2523 – 2540 (อายุ 20 – 37 ปี)
  • ยุคเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีและพ่อแม่ทำงานนอกบ้าน (Gen Z) เป็นกลุ่มที่ 6 เกิดตั้งแต่ปี 2541 ขึ้นไป (อายุน้อยกว่า 20 ปี)

ประชากรไทย 67 ล้านคน พบว่า สัดส่วนโครงสร้างประชากรจะแบ่งเป็นกลุ่ม Greatest Gen (3 แสนคน) Silent Gen (5.4 ล้านคน) Baby Boomer (15 ล้านคน) Gen X (16.6 ล้านคน) Gen Y (19 ล้านคน) และ Gen Z (10.6 ล้านคน)

Generation และการแบ่งช่วงอายุ (Atthachai Sriworabhat, 2565)[9]

การแบ่ง Generation นั้นก็เป็นเสมือนการจำแนกกลุ่มของคนออกตามช่วงอายุ หรือปีเกิด ทำให้สามารถทราบถึงพฤติกรรม ความคิดและทัศนคติ แนวโน้มการใช้ชีวิต ผู้คนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษาหรือเพื่อทำความเข้าใจผู้คนรอบข้าง และการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าตามวัตถุประสงค์ทางการตลาด และการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่มีหลากหลายในช่วงอายุภายในองค์กร เป็นต้น

1. Baby Boomer (พ.ศ. 2489 – 2507)

คนกลุ่มที่เกิดช่วงนี้ หรือเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ซึ่งเติบโตมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงบลงแล้ว ในสถานการณ์บ้านเมืองที่เพิ่งผ่านการสู้รบมาหมาด ๆ นั้น และก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้น ประชากรที่หลงเหลืออยู่ในแต่ละประเทศก็ยังต้องร่วมมือกันในการเร่งฟื้นฟูประเทศของตัวเองในทุก ๆ ด้าน ซึ่งไม่ว่าจะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือการเมืองนั้นจะให้กลับมาแข็งแกร่งและมั่นคงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม พิษของสงครามที่ผ่านพ้นไปที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งประชากรมากมายถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม จึงทำให้แรงงานคนของประเทศนั้นจึงไปเป็นจำนวนมาก แล้วประเทศเหล่านี้ จึงขาดแรงงานที่จะขับขับเคลื่อนประเทศ จึงมีค่าความนิยมทางสังคมว่า จะต้องมีลูกกันหลายๆ คน เพื่อที่จะสร้างแรงงานขึ้นมาให้พัฒนาประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer)” นั่นเอง

2. Generation X (พ.ศ. 2508 – 2522)

ต่อเนื่องจากค่านิยมจากในยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ที่มีลูกกันมาก จึงได้ส่งผลให้ทั่วโลกมีเด็ก ๆ เกิดจำนวนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ในหลาย ๆ ฝ่ายเกรงว่า หากยิ่งมีค่านิยมกันในแบบเดิมต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้จึงไม่เพียงพอ และจะถึงขั้นการขาดแคลนได้ในที่สุด ดังนั้น ยุคเจนเนอร์เรชั่น X (Generation X) จึงถูกบัญญัติขึ้นก็เพื่อเป็นการโต้แย้ง และยับยั้งค่านิยมจากความคิดเก่าจากยุคเบบี้บูมเมอร์นั่นเอง คน Generation X จึงให้ความสำคัญกับความสมดุลของการทำงาน และการใช้ชีวิตมากขึ้น แล้วมีการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร ซึ่งในหลากหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มก่อเกิดแนวคิดในการรณรงค์ให้คนมีลูกกันได้เพียง 1 คนที่จะเริ่มต้นในยุคนี้

3. Generation X (พ.ศ. 2523 – 2540)

ถัดจากยุค Generation X ก็คือ ยุคเจนเนอร์เรชั่น Y (Generation Y) หรือเรียกกันอีกชื่อก็คือ ยุค Millennials นั้น ก็คือ คนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2540 ซึงคนกลุ่มนี้ได้รับการเติบโตกันขึ้นมาในช่วงยุคที่มีความเปลี่ยนแปลง และมีค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย (Baby Boomer) กับรุ่นพ่อแม่ (Gen X) ซึ่งได้ผสานเข้ากับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แบบชนิดก้าวกระโดด เช่นเดียวกันกับอินเทอร์เน็ตที่มีการเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ดังนั้น ในยุคปัจจุบัน คน Generation Y จึงถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ และเป็นวัยที่เพิ่งเรียนจบเข้าทำงาน แล้วไปเข้าสู่วัยกลางคนที่จะเริ่มสร้างครอบครัว และเรียกได้ว่า เป็นกลุ่มคนที่กำลังจะกำหนดทิศทางของมนุษยชาตินั่นเอง

4. Gen Z (พ.ศ. 2540 – 2552)

Generation-Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2552 คนกลุ่ม Generation-Z  นี้จะมีแนวความคิดและมีทัศนคติใกล้เคียงกับคน Generation-Y เนื่องจาก เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และมีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้วเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในเทคโนโลยีบางอย่าง ตัวอย่างเช่น Google, Facebook และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เป็นต้น ในเริ่มบุกเบิกยุค Generation-Y และในปัจจุบันกลุ่มคน Generation-Z ก็ยังใช้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่น Generation-Z มีความแตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ ที่ผ่านมา คือ คนกลุ่มนี้เติบโตมากับการเลี้ยงดูที่แตกต่างออกไป เป็นวิถีชีวิตสมัยใหม่ของสภาพครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต่างต้องออกไปทำงานทั้งคู่ เพื่อแบกรับค่าครองชีพที่สูงและมีการแข่งขันกันมากขึ้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จึงมักได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง

5. Generation Alpha (พ.ศ. 2553 ขึ้นไป)

Gen Alpha คือ คำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา Gen Alpha จึงเป็นกลุ่มคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมีการเรียนรู้รวดเร็วในด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่ม Gen Alpha นี้จะยังมีอายุน้อยมาก ๆ อยู่ โดยในปัจจุบันเริ่มมีค่านิยมที่ย้อนกลับไปคล้ายคลึงกับยุค Generation X คือ คนเริ่มตระหนักถึงการมีลูกน้อยลง และหรือไม่มีเลย เนื่องจากการไตร่ตรองของพ่อแม่ในมิติต่างๆ มากขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความพร้อม สภาพการเงิน และสภาพสังคม รวมไปถึงแนวทางในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป (คือ มีอิสระในการใช้ชีวิตน้อยลง)

อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2025 ประชากรเจนอัลฟ่านี้ จะยังมีสูงขึ้นถึงกว่า 2,000 ล้านคนในโลก และในช่วงกลางทศวรรษ 2030 ประชากรเจนอัลฟ่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความเป็นพลเมืองโลกมากกว่าคนยุคก่อน จะผ่านเทคโนโลยีสื่อสารที่จะมีการเชื่อมโยงทั่วโลก และจะก่อให้เกิดกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ มากขึ้น


[1] Society for Human Resource Management (SHRM). (2004). “Generational Difference Survey, Society for Human Resource Management”. Alexandria: VA.

[2] The American Heritage Dictionary. (1992). “3rd Edition, Houghton Mifflin Company”. New York: 351.

[3] Glass, A. (2007). “Understanding generational differences for competitive success. Industrial and Commercial Training”. 39(2): pp. 98-103.

[4] Billingham, D. (2007). “Digital generations: Children, young people and new media. Mahwah”. NJ: Lawrence Erlbaum Associates.

[5] Humphrey, B. and Stokes, J. (2000). “The 21st Century supervisor: Nine Essential Skills for Frontline Leader”. San Francisco, Calif.: Jossey-Bass/Pfeiffer.

[6] Howe, N. & Strauss, W. (2000). “Millennial Rising: The Next Great Generation”. Random House: New York.

[7] Mannheim, K. (1952). “The problem of Generation, In Kecskemet”. P. (ed.), Essays on the Sociology of Knowledge, Routledge & Kegan Paul: London.

[8] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ. (2560). ประชากรไทย Gen Y ใหญ่สุด พฤติกรรมสร้างโอกาส-ความเสี่ยง (1). 37(3,316), กรุงเทพฯ: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ.

[9] Atthachai Sriworabhat. (2565). Generation และการแบ่งช่วงอายุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565. จาก jahnnoom https://www.jahnnoom.com/generation/.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *