เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด วิธีปฏิบัติเพื่อลดอาการเครียด

เทคนิคการผ่อนคลายความเครียดนี้ เป็นวิธีที่ง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง

1. การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ

การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่ควรฝึกนี้ มี 10 กลุ่มด้วยกัน คือ แขนขวา – ซ้าย หน้าผาก ตา แก้ม และจมูก ขากรรไกร ริมฝีปาก และลิ้น คอ อก หลัง และไหล่ หน้าท้อง และก้น ขาขวา – ซ้าย

วิธีการฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อมีดังนี้

นั่งในท่าสบาย เกร็งกล้ามเนื้อไปทีละกลุ่ม ค้างไว้สัก 10 วินาที แล้วคลายออก จากนั้น ก็เกร็งใหม่สลับกันไปประมาณ 10 ครั้ง ค่อย ๆ ทำไปจนครบทั้ง 10 กลุ่ม เริ่มจากการ

  • กำมือ และเกร็งแขนทั้งซ้ายขวาแล้วปล่อย
  • บริเวณหน้าผาก ใช้วิธีเลิกคิ้วให้สูง หรือขมวดคิ้วจนชิดแล้วคลายตา
  • แก้ม และจมูก ใช้วิธีหลับตาปี๋ ย่นจมูกแล้วคลาย
  • ขากรรไกร ริมฝีปาก และลิ้น ใช้วิธีกัดฟัน เม้มปากแน่นและใช้ลิ้นดันเพดานโดยหุบปากไว้แล้วคลาย
  • คอ โดยการก้มหน้าให้คางจรดคอ เงยหน้าให้มากที่สุดแล้วกลับสู่ท่าปกติ
  • อก หลัง และไหล่ โดยการหายใจลึก ๆ แล้วเกร็งไว้ ยกไหล่ให้สูงที่สุดแล้วคลาย
  • หน้าท้องและก้น ใช้วิธีเขม่วท้อง ขมิบก้นแล้วคลาย
  • งอนิ้วเข้าหากัน กระดกปลายเท้าขึ้นสูง เกร็งขาซ้ายและขวาแล้วปล่อย

การฝึกเช่นนี้ จะทำให้รับรู้ถึงความเครียดจากการเกร็งกล้ามเนื้อ และรู้สึกสบายร่างกาย เมื่อคลายกล้ามเนื้อออกแล้วไปสักพัก

2. การฝึกการหายใจ

การฝึกการหายใจ โดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมบริเวณหน้าท้องแทนการหายใจ โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก เมื่อหายใจเข้า หน้าท้องจะพองออก และเมื่อหายใจออก หน้าท้องจะยุบลง กลั้นไว้ชั่วครู่แล้วจึงหายใจออก ลองฝึกเป็นประจำทุกวัน จนสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้สมองแจ่มใส ร่างกายสดชื่นและกระตือรือร้น พร้อมเสมอสำหรับภารกิจต่าง ๆ ในแต่ละวัน

3. การทำสมาธิ

การทำสมาธิ เลือกสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่มีใครรบกวน เช่น ห้องพระ ห้องนอน ห้องทำงานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน หรือมุมสงบในบ้าน นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือชนกันหรือมือขวาทับมือซ้ายตั้งตัวตรง หรือจะนั่งพับเพียงก็ได้ตามแต่จะถนัด กำหนดลมหายใจเข้าออก โดยสังเกตลมที่มากระทบปลายจมูก หรือริมฝีปากบน ให้รู้ว่า ขณะนั้นหายใจเข้าหรือออก หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1 นับไปเรื่อย ๆ จนถึง 5 เริ่มนับใหม่จาก 1 – 6 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1 – 7 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1 – 8 แล้วพอ แล้บมานับใหม่จาก 1 – 9 แล้วพอ กลับมานับใหม่จาก 1 – 10 แล้วพอ ย้อนกลับมาเริ่ม 1 – 5 ใหม่ วนไปเรื่อย ๆ ขอเพียงจิตใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น อย่าคิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่น มีสติ และไม่ประมาท เป็นคนที่มีเหตุมีผล

4. การใช้เทคนิคความเงียบ

การใช้เทคนิคความเงียบ การจะลดความวุ่นวายของจิตใจที่ได้ผล ต้องอาศัยเวลาและความเงียบช่วย โดยมีวิธีการ ดังนี้ เลือกสถานที่ที่สงบเงียบ มีความเป็นส่วนตัว และควรบอกผู้ใกล้ชิดว่า อย่าเพิ่งรบกวนสัก 15 นาที เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังตื่นนอน เวลาพักกลางวัน ก่อนเข้านอน ฯลฯ นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ถ้านั่งควรเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงศีรษะอย่าไขว่ห้างหรือกอดอก หลับตา เพื่อตัดสิ่งรบกวนจากภายนอก หายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ ทำใจให้เป็นสมาธิ โดยท่องคาถาบทสั้น ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เช่น พุทโธ หรือสวดมนต์ เช่น สวดพระคาถาชินบัญชร 3 – 5 จบ เป็นต้น ฝึกครั้งละ 10 – 15 นาที วันละ 2 ครั้ง

การปรับตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต

การปรับตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต ควรหาผู้ที่สามารถให้คำปรึกษาได้ อาจเป็นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด ผู้ให้คำปรึกษา หรือจิตแพทย์  หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาสักระยะหนึ่ง พยายามไม่คาดหวังในสิ่งต่าง ๆ มากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการเกิดอารมณ์รุนแรง ออกกำลังกายทุกวัน สนใจศึกษาคำสอนของศาสนา เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ ปรับปรุงเรื่องมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

การควบคุมความเครียด

คิดในแง่ดี มีปัญหาเล่าสู่กันฟัง สร้างความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว รักษาสุขภาพกายและจิตใจให้แข็งแกร่ง ฝึกเทคนิคคลายเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ วางแผนการบริหารจัดการเวลา จัดการสิ่งที่จัดการได้ก่อน เลือกสิ่งที่เป็นไปได้จริง และตัดสินใจอย่างฉลาด ซึ่งสาเหตุความเครียดเกิดขึ้นได้หลายวิธี เช่น ความเครียดจากการทำงาน เป็นความรู้สึกด้านจิตใจ ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกทั่วไปในปัญหาของสภาพการทำงาน เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา เป็นสภาวะที่ไม่สมดุลที่มีผลมาจากการทำงานในชีวิตแต่ละวัน สัปดาห์เป็นเดือน และปี ซึ่งส่งผลต่อด้านร่างกายและสภาพจิตใจ ทำให้แสดงพฤติกรรมออกมาไม่เหมาะสมต่อสิ่งเหล่านั้น และก่อให้เกิดผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานในด้านลบ เมื่อเกิดความเครียด จึงควรหาวิธีการผ่อนคลายไม่เช่นนั้นโรคร้ายจะตามมา เช่น โรคอ้วน สาเหตุจากความเครียดจะหาทางจัดการความเครียด โดยการรับประทานอาหารมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและขจัดความเครียด แต่ผลที่ได้ตามมา คือ โรคอื่น ๆ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งย่อมเป็นไปได้ไม่แน่นอน

ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในทุกวันนี้ ทุกอาชีพล้วนมีความเครียดไม่ต่างกัน นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้รายได้ไม่พอต่อรายจ่าย กระทบต่อปัญหาสังคม และครอบครัว บางครั้งต้องเจอกับการทำงาน จนส่งให้ยิ่งเครียดขึ้นอีก และความเครียดมากขึ้น จะทำให้โอกาสที่โรคจะรบกวนเข้าสู่ร่างกายและจิตใจตามไปด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *