อิทธิพลของสีที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

ที่อยู่อาศัยนับว่า เป็น “ปัจจัย 4” เป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก เพราะคนไทยมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องคุ้นเคยกันเป็นครอบครัวใหญ่มาแต่โบราณ ความเชื่อในเรื่องที่อยู่อาศัยกับการดำรงชีวิตในสังคมไทยเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น จากการพบเห็นบ้านทรงไทยที่มีรูปแบบคล้ายกับวัดแสดงให้เห็นความคิดคนไทยได้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างแยกไม่ออกกลายเป็นวัฒนธรรมและเกี่ยวกับหลักของโหราศาสตร์ไทยของคนไทย ในปัจจุบันมีศาสตร์และความเชื่อแง่มุมต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย เช่น หลักของภูมิโหราศาสตร์และความเชื่อแง่มุมต่าง ๆ มากมาย ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย เช่น หลักของภูมิโหราศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ร่วมสมัยและมีอิทธิพลมากในปัจจุบันได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย ในเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของผู้ที่อยู่อาศัยกับตัวบ้าน ทำเล ทิศทาง และที่ตั้งของบ้าน ในส่วนของความเชื่อนี้ ปรากฏว่ามีเรื่องของสีที่นำมาใช้ตามหลักภูมิโหราศาสตร์การนำสีมาใช้นี้ได้กล่าวถึงหลักของธาตุทั้งห้า เช่น ธาตุดิน (สีเหลือง) ธาตุทอง (สีขาว) ธาตุน้ำ (สีน้ำเงิน ผ้า สีดำ) ธาตุไม้ (สีเขียว) ธาตุไฟ (สีแดง) ตามชะตาราศีเกิดส่วนตัวกับผู้เป็นเจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัว สภาพแวดล้อมในชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกัน เป็นการนำความเชื่อเรื่องโชคลางโฉลกสีมาปรับใช้ให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติกับผู้ที่เป็นเจ้าของด้วยการกำหนดสีต่าง ๆ ให้ถูกโฉลก นอกจากนี้แล้ว ก็ส่งผลกับความรู้สึกด้วย

สีกับความรู้สึกที่อยู่อาศัย

สีภายในบ้านมีผลต่ออารมณ์ของความรู้สึกของมนุษย์ เนื่องจาก พฤติกรรมของคนส่วนมากมาจากสภาพแวดล้อม ประสบการณ์และจิตวิทยาบนพื้นฐานของผลกระทบจากสีที่เรารับเข้ามาจากภายนอกผ่านทางลูกนัยน์ตา เมื่อรับสีที่แตกต่างกัน การรับรู้จากสายตาจะกระตุ้นปฏิกิริยาในสมองอย่างฉับพลัน จึงทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป การทดลองใช้สีในโทนต่าง ๆ ให้เหมาะกับการใช้งาน เริ่มจากสีโทนเย็น อย่างเช่น สีฟ้าอ่อนและสีเขียวอ่อนจะช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านมีความเงียบสงบ เหมาะกับห้องที่ต้องการความสงบ อย่างเช่น ห้องนอน ส่วนสีชมพูเหมาะสำหรับทาสีห้องของเด็ก เพราะจะช่วยกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความแข็งแรงของร่างกาย ถ้าเด็กที่ขี้ตื่น ตกใจง่ายควรใช้สีฟ้า จะทำให้เด็กรู้สึกสงบลง ผนังบ้านถ้าใช้สีขาวหรือสีโทนอ่อนเพียงสีเดียว จะช่วยให้ห้องขนาดเล็กดูกว้างขึ้นและให้ความรู้สึกเย็นลงในหน้าร้อน สำหรับในห้องนั่งเล่น อาจใช้สีม่วงอ่อนซึ่งช่วยเร้าจินตนาการหรือสีเหลืองอ่อนเพื่อกระตุ้นจิตใจให้สดชื่นและมีความกระตือรือร้น เพื่อให้คนในบ้านเกิดกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นก็ได้

สำหรับสีโทนร้อนอย่างสีเข้ม ๆ ควรใช้ในห้องที่ต้องการบรรยากาศร่าเริงสดใส เช่น ห้องที่เด็ก ๆ ชอบเล่นกันหรือห้องครัว แต่ควรต้องใช้สีกลาง ๆ ลดความเข้มของสีลงบ้าง เพราะจะไปกระตุ้นร่างกายให้ทำงานเร็วเกินไป ตัวอย่างเช่น ในร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด นิยมใช้สีแดงเป็นส่วนมากเพราะสีแดงมีผลไปกระตุ้นต่อมน้ำลายทำให้เรารู้สึกหิวและทำให้สายตาของเราล้า ทำให้เพิ่มความหิวมากยิ่งขึ้น แต่ร้านอาหารบางแห่งมักจะใช้สีส้มหรือสีพีชอ่อน ๆ กับผนังหรือผ้าม่านเพราะเป็นสีที่ให้ความรู้สึกต้อนรับขับสู้และสดใสขึ้น

สีเหลืองเหมาะกับบ้านที่ต้องการความสดใส สว่างและเยือกเย็น เพราะเข้าได้กับวัสดุตกแต่งหลายชนิด ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป

สีส้มให้ความรู้สึกอบอุ่นสดใสแต่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป จึงนิยมใช้ส่วนที่เป็นของตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ เช่น เก้าอี้ โซฟาที่เป็นผ้าหรือสิ่งทอรวมทั้งใช้เป็นสีของชุดเครื่องครัว สีที่เข้ากันกับสีส้มได้ดี คือ สีขาวควันบุหรี่และสีเทาอ่อน ๆ

หลักการใช้สีตกแต่ง

สีที่นำมาใช้ในการตกแต่ง ผู้ออกแบบจะต้องรู้จุดประสงค์ของการใช้สีกับงานที่จะตกแต่ง เพราะงานจะสมบูรณ์ได้อยู่ที่การวางโครงสี การวางโครงสีเป็นตัวกำหนดกลุ่มสีพื้นและสีประกอบที่จะตกแต่งห้อง เช่น สีพื้น คือ สีของผนัง ฝา และเพดาน สีประกอบเช่น วงกบ ประตู หน้าต่าง สีของเครื่องเรือน และอุปกรณ์อื่น ๆ สีทั้งสองต้องผสมผสานเป็นอันเดียวกัน และสอดคล้องกับที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปมักใช้สีกับห้องต่าง ๆ ดังนี้

  1. ห้องรับแขก เป็นห้องที่บ่งบอกรสนิยมของเจ้าของบ้าน ควรใช้สีอบอุ่น หรือสีอ่อน เพราะทำให้ดูนุ่มนวล สะอาดเรียบร้อย และเป็นมิตร เช่น สีครีม สีงาช้าง ไม่ควรใช้สีฉูดฉาด หรือสีทึม ๆ เพราะจะทำให้บรรยากาศรู้สึกไม่น่าเชื้อเชิญ
  2. ห้องนอน ควรใช้สีที่เหมาะสมกับวัยและเพศของผู้ใช้ โดยทั่วควรเป็นสีเรียบ ๆ กลาง ๆ ไม่สดหรือเข้มจนเกินไป ควรใช้สีอบอุ่นทำให้ห้องดูผ่อนคลาย ห้องนอนเด็กควรใช้สีที่สดใส อ่อนโยน สะอาดตา ห้องหนุ่มสาว นิยมใช้สีอุ่น สว่าง หรือปนสีขาว วัยผู้ใหญ่ นิยมใช้สีกลาง ๆ ถึงอบอุ่น หรือสีหม่นด้วยการผสมเทาเพื่อให้รู้สึก สุขุม สงบ เยือกเย็น
  3. ห้องอาหาร ควรเป็นสีที่ดูสะอาดสว่าง สดชื่นสบายตา เสริมบรรยากาศในการรับประทานอาหาร เช่น สีขาว สีครีม สีเขียวอ่อน เป็นต้น
  4. ห้องน้ำ เป็นห้องขนาดเล็กจึงควรใช้สีอ่อน หรือสว่างจะทำให้ห้องดูกว้างและสะอาดตา หรือใช้สีวรรณะเย็น จะทำให้รู้สึกสดชื่น ไม่ควรใช้สีเข้มจนดูมืด
  5. ห้องประชุม ควรใช้สีที่เย็นตา สว่าง ให้ดูกว้างขวางไม่อึดอัด หรือสีอ่อน เพื่อให้บรรยากาศไม่รู้สึกเคร่งเครียดจนเกินไป เช่น สีครีม สีงาช้าง หรือสีฟ้าอ่อน
  6. ห้องเรียน และห้องสมุด เป็นห้องที่ต้องการแสงสว่างมาก เพดานควรเป็นสีที่สะท้อนแสดงได้ดี เช่น สีขาว ควรมีผนังด้านใดด้านหนึ่งเป็นสีเย็นตา หรือเทาเพื่อพักผ่อนสายตา ไม่ควรใช้สีสดตัดกันจะทำให้รู้สึกลายตา
  7. สีอาคาร สีภายนอกอาคารควรคำนึงถึงความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เช่น อาคารในเขตร้อนจะใช้สีสว่าง เพื่อสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้ามาในอาคาร สีของหลังคาจะสดใส ส่วนอาคารในเขตหนาวจะใช้สีทึม หม่น หรือโทนอบอุ่น เช่น สีน้ำตาล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *