องค์พระเสี่ยงทาย

การเสี่ยงทายที่เป็นที่รู้จักและนิยมเชื่อถือกันมาก คือ “องค์พระเสี่ยงทาย” องค์พระเสี่ยงทายเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร เนื้อโลหะ (ปัจจุบันมีการปิดทองทับของเดิม) ส่วนมากองค์พระมีน้ำหนักประมาณ ๑๒ – ๑๕ กิโลกรัมซึ่งมีความหนักพอสมควรสำหรับการยกมือหรือเคลื่อนย้าย การเสี่ยงทายด้วยการยกองค์พระเสี่ยงทายนั้น ถ้ามองกันภายนอกแล้วจะมีความรู้สึกว่า ผู้หญิงหรือคนที่มีรูปร่างบอบบางไม่น่าจะมีกำลังพอที่จะยกขึ้นได้ การที่จะยกขึ้นได้นั้นเหมาะที่จะเป็นคนที่ดูสมบูรณ์แข็งแรงมากกว่า แต่ความเป็นจริงจะใช้หลักสรีรศาสตร์หรือเหตุผลของความน่าจะเป็นมาใช้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้าม ผู้หญิงรูปร่างผอมบางสามารถยกขึ้นสูงท่วมหัวได้ 3 ครั้งติดต่อกัน นายทหารวัยไม่เกิน ๓๕ ปี ยกไม่ขึ้นได้แค่ขยับทั้ง ๒ ครั้ง คุณป้ายังสาวอายุ ๖๐ ปี ยกขึ้น ๒ ครั้ง ผู้ชายรูปร่างผอมเกร็งสามารถยกขึ้นได้ทั้ง ๓ ครั้งแบบชูสุดแขน แต่ทว่ากลับหัวเสียบ่นให้เจ้าหน้าที่ฟังว่า “ซวยแน่กู ยกขึ้นหมดเลย ตายแน่ทีนี้” จะเห็นได้ว่า ในกรณีของพี่ผู้ชายคนนี้นั้น การที่จะยกองค์พระเสี่ยงทายขึ้น – ไม่ขึ้น สำเร็จ – ไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับแรงอธิษฐานของแต่ละบุคคล ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ตายตัว

คนที่มายกพระเสี่ยงทายมีทุกเพศทุกวัยทุกฐานะ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หนุ่มสาว ผู้สูงอายุ ทหาร นักธุรกิจ ข้าราชการ แม่ค้า ผู้ใช้แรงงาน นักเรียนนักศึกษา ทั้งคนไทย คนจีน ต่างนิยมมาเสี่ยงทายด้วยวิธีนี้กันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลต่าง ๆ เช่น ขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน มาฆบูชา สงกรานต์ ผู้คนจะมีมากกว่าวันธรรมดาหลายเท่า หมุนเวียนเข้าออกกันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะที่หอพระซึ่งมีองค์พระเสี่ยงทายประดิษฐานอยู่ ผู้คนเมื่อไหว้พระหรือทำบุญในหอพระเรียบร้อยแล้วมานั่งรอเพื่อยกพระ บางคนมีการนั่งสมาธิก่อนยก บางคนจับไม่ถูกท่าไม่กระชับ บางคนไม่ได้ตั้งค่าอธิษฐาน แต่ละคนมีวิธีการแตกต่างกัน เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ อาจมีผลต่อการเสี่ยงทายที่จะไม่เป็นไปดังคำอธิษฐาน ก่อนนั้นที่ยังมีคนมาเสี่ยงทายไม่มากนักจะมีเจ้าหน้าที่นั่งประจำอยู่เพื่อคอยแนะนำ และกล่าวนำการเสี่ยงทายที่สมบูรณ์ แต่เมื่อคนมากขึ้นเจ้าหน้าที่ก็ค่อย ๆ หายไป แต่ถ้ามีคนที่รู้จักหรือคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถบอกให้มากล่าวบทนำให้ได้

บทกล่าวนำอธิษฐานต่อองค์พระเสี่ยงทาย

เริ่มด้วยการกล่าวบทนะโม ๓ จบ แล้วจึงกรายที่ตักขององค์พระเสี่ยงทาย จากนั้นกล่าวว่า “ข้าพเจ้า (ชื่อนามสกุล) ขออธิษฐานเสี่ยงทายต่อองค์พระเสี่ยงทาย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมืองด้วยเรื่อง (เรื่องที่เราต้องการขอหรือต้องการทราบ)

ถ้าเป็นจริงหรือได้ประสบความสำเร็จ ขอให้ยกพระขึ้นหรือขอให้องค์พระมีน้ำหนักเบา (๑)

ถ้าไม่เป็นจริงหรือไม่ประสบความสำเร็จ ขอให้ยกพระไม่ขึ้นหรือขอให้องค์พระมีน้ำหนักหนัก (๒)

ถ้าเป็นจริงหรือได้ประสบความสำเร็จ ขอให้ยกพระขึ้นหรือขอให้องค์พระมีน้ำหนักเบา (๓)

คำอธิษฐานขึ้นอยู่กับเราเองว่า จะขอให้ยกขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีควรจะยกอย่างน้อย ๓ ครั้งและให้เป็นไปตามคำอธิษฐานอย่างน้อย ๒ ใน ๓ ครั้ง ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว

ในส่วนตัวข้าพเจ้าเองไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้สักเท่าไรนักแต่กระนั้นก็ยังไม่กล้ายก กลัวว่า จะยกไม่ได้พลอยเสียกำลังใจไปเปล่า ๆ แต่ในที่สุดก็ต้องลอง ต้องขอบอกว่า เป็นการลองมากกว่าความตั้งใจที่ต้องการเสี่ยงทาย ข้าพเจ้าเริ่มด้วยการกล่าวนำทำใจให้นิ่งที่สุด นั่งในท่าเทพบุตรเพราะคิดว่า จะช่วยส่งให้มีแรงมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วท่ายกพระที่ถือปฏิบัติกันมามีว่า ผู้หญิงให้นั่งพับเพียบ มือซ้ายจับเข่าขวาขององค์พระ มือขวาจับบริเวณไหล่ซ้ายขององค์พระ ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ มือทั้งสองจับเข่าขององค์พระทั้งสองข้าง แล้วจึงยก แค่เกณฑ์นี้ไม่ได้เคร่งครัดอะไรเลย ใครสะดวกนั่งอย่างไรให้เหมาะ ให้ช่วยมีแรงส่งดีก็ทำกันไป ในการอธิษฐานครั้งแรกข้าพเจ้าขอให้เป็นจริงตามคำอธิษฐานขอให้องค์พระมีน้ำหนักเบา ผลก็คือยกไม่ขึ้นและไม่เขยื้อนแม้แต่น้อย ข้าพเจ้าเริ่มใจไม่ดีแต่ก็พยายามนิ่ง แล้วอธิษฐานใหม่ด้วยเรื่องเดิมแต่ขอให้ยกไม่ขึ้น ผล คือ ยกไม่ขึ้นแต่ขยับเล็กน้อย ครั้งสามอธิษฐานเหมือนข้อแรก ผลก็คือ ขยับเล็กน้อยแต่ยกไม่ขึ้น ตรงนี้เองที่ทำให้สงสัยว่า เป็นเพราะน้ำหนักขององค์พระหรือเปล่าที่ทำให้ยกไม่ขึ้น หรือเพราะท่านรู้ว่าเรามาทดสอบไม่ใช่เพราะศรัทธา ก็ยังไม่แน่ใจจึงลองยกใหม่อีกครั้งแต่เปลี่ยนคำอธิษฐานครั้งแรก ขอให้ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น ถ้าเป็นจริงขอให้องค์พระมีน้ำหนักมากยกไม่ขึ้น ปรากฏว่าสามารถยกขึ้นเหนือศีรษะชูไว้ครู่หนึ่ง รู้สึกว่า องค์พระมีน้ำหนักเบายกได้สบายแต่ว่าตรงข้ามกับคำอธิษฐาน ครั้งที่สองและสามขอให้ยกไม่ขึ้นแต่ก็ยกขึ้นได้อีกอย่างสบาย จะเป็นไปได้หรือไม่ที่องค์พระได้ให้คำทำนายแก่ข้าพเจ้าแล้ว คือ จะไม่ประสบความสำเร็จดังที่ได้อธิษฐานไว้ ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ ทำไมในการยกครั้งแรกที่บอกให้ยกไม่ขึ้นก็ยกไม่ขึ้นทั้งที่ทุกครั้งข้าพเจ้ายกเต็มแรง มีเหตุปัจจัยอะไรอื่นอีกหรือไม่นอกจากความศรัทธายังไม่ทราบเช่นกัน[i]


[i] จีรนันทน์ ดีประเสริฐ. (2537). การสะเดาะเคราะห์ เสี่ยงทาย แก้บน ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *