วิวัฒนาการและแนวคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุ

ประวัติศาสตร์การบัญญัติกฎหมายเรื่องทรัพย์สินที่เกี่ยวพระภิกษุนั้น ตามที่ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรที่นำมาบังคับใช้กับพระภิกษุตามพุทธศาสนาของประเทศในขณะนั้น คือ กฎหมายตราสามดวงที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะผัวเมียและกฎหมายลักษณะมรดก เบื้องต้นจุดกำเนิดของการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร อาจเนื่องจากการที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชน และในอดีตมีการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า จึงทำให้ชาวไทยพุทธมีความเคารพศรัทธาและได้บวชหรืออุปสมบท และฆราวาสที่มีความเคารพเลื่อมใสพระพุทธศาสนาต้องการทำบุญเพื่อให้ตนเองพ้นทุกข์ ถ้าหากได้ทำบุญแล้วจะทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้น หรือถ้าเสียชีวิตไปแล้วจะได้ไปสวรรค์ ดังนั้น จึงมีการทำบุญถวายทรัพย์สินซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยถวายให้กับวัดหรือพระภิกษุโดยเฉพาะในฐานะเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ในสมัยดั้งเดิมแรก ๆ ที่มนุษย์เข้ามารวบรวมอยู่เป็นชุมนกฎหมายยังมิได้กระทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร[1] ภายหลังชุมชนขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีมนุษย์อยู่ร่วมกันมากขึ้นฆราวาสที่มีความเคารพเลื่อมใส พระพุทธศาสนาได้ช่วยกันสร้างวัด และกุลบุตรต้องการอุปสมบทเพิ่มขึ้น เมื่อมีการสร้างวัด และลูกหลานของตนเองได้ทำการอุปสมบท ดังนั้น ศาสนิกชนทั่วไปก็ต้องการทำบุญ หรือถวายทรัพย์สินก็เพิ่มมากขึ้น จึงอาจเกิดปัญหาในเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุที่อาจมีมากขึ้นตามสังคมที่มีชุมชนขนาดใหญ่ เมื่อศาสนิกชนทั่วไปเล็งเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอุปสมบทนั้นไม่สมควรตกเป็นของฆราวาส เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนา ดังนั้น ทรัพย์สินใดซึ่งพระภิกษุได้มาในระหว่างที่ยังอยู่ในสมณเพศ จึงไม่สมควรให้เป็นทรัพย์มรดกที่จะตกทอดไปยังทายาทของพระภิกษุ[2] จึงมีการบัญญัติกฎหมายเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุดังที่ได้วางหลักไว้ในกฎหมายลักษณะมรดก การศึกษาประวัติศาสตร์ยังมีประโยชน์ที่ทำให้เรารู้ถึงวิธีต่าง ๆ ทางกฎหมายที่มนุษย์ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นในอดีตกาล ซึ่งกฎหมายในอดีตอาจนำมาบังคับใช้เท่าที่จำเป็นในสังคม ปัจจุบันได้ด้วย ดังนั้น มนุษย์ในอดีตจนถึงปัจจุบันจึงต้องพัฒนาด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือทรัพย์มรดกของพระภิกษุ เพื่อให้ทันกาลต่อความเจริญก้าวหน้าในสังคมที่เจริญเติบโตขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์มรดกนั้นเป็นกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในอดีตมานานแล้ว ซึ่ง “กฎหมายลักษณะมรดกมีจารีตประเพณีใช้บังคับมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยพิจารณาได้จากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”[3] ที่จารึกเกี่ยวกับการตกทอดทรัพย์มรดกแต่มิได้จารึกเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุและใน “สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัฐสมัยมาเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บัญญัติกฎหมายลักษณะมรดกขึ้นมา”[4] ที่ทรัพย์สินของเจ้ามรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเช่นกัน และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการรวบรวมกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยา[5] ซึ่งกฎหมายที่ได้รวบรวมมานั้นได้ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงที่ได้บัญญัติเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุไว้ในกฎหมายลักษณะมรดก ตัวอย่างเช่น การตกทอดทรัพย์สินของพระภิกษุ เป็นต้น ภายหลังได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ว่าด้วยมรดกซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดกนี้ ได้ร่างขึ้นโดยอาศัยจารีตประเพณีกฎหมายเดิมของสังคมไทยในอดีต และในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 และให้เพิ่มบทบัญญัติ บรรพ 6 ตั้งแต่มาตรา 1599 ถึงมาตรา 1755 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นต้นไป[6] โดยประมวลกฎหมายดังกล่าวนี้ก็ยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันด้วย เมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ก็เป็นอันยกเลิกกฎหมายลักษณะมรดกไปในตัว[7]

“การรับรองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นอกจากให้สิทธิแก่บุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในระหว่างมีชีวิตอยู่แล้วยังรับรองให้เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิหวงแหนให้กรรมสิทธิ์ของตนนั้นตกทอดแก่ญาติ หรือบุคคลอื่นใดที่ตนเห็นสมควรเมื่อตนถึงแก่กรรมด้วยดังนั้น จึงเกิดหลักการและเหตุผลของกฎหมายลักษณะมรดก”[8]

พระภิกษุนั้นก็เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่จะแตกกันที่ฐานะทางสังคมเท่านั้น ดังนั้น กฎหมายจึงได้มีการบัญญัติเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของพระภิกษุไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3 มาตรา คือ มาตรา 1622 มาตรา 1623 และมาตรา 1624 และกฎหมายในอดีตก็ยังบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาในกรณีที่สามีต้องการอุปสมบทนั้น คือ กฎหมายลักษณะผัวเมียและการตกทอดทรัพย์สินของพระภิกษุภายหลังที่ท่านมรณภาพนั้น คือ กฎหมายลักษณะมรดก โดยในอดีตนั้นได้มีการวางหลักกฎหมายเรื่องการตกทอดทรัพย์มรดกไว้ดังที่ได้กล่าวมาอันเป็นจุดเริ่มต้นของหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดกฉบับปัจจุบัน ดังนั้น จึงแยกหลักกฎหมายว่าด้วยมรดกแต่ละยุคสมัยได้ดังนี้

วิวัฒนาการและแนวคิดกฎหมายมรดกในสมัยสุโขทัย

ในอดีตมนุษย์ที่ได้อยู่รวมเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่ชนชั้นต้องมีการสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องมีภาษาเป็นของตนเองในแต่ละท้องถิ่นของกลุ่มชนในการสื่อสารกันให้เข้าใจในการดำรงชีพ และในกลุ่มชนชั้นต้องมีภาษาพูดเป็นของตนเองในแต่ละท้องถิ่นที่ได้อยู่อาศัย หรืออาจเป็นภาษามือที่ใช้ในการสื่อสารกัน และยิ่งไปกว่านั้นบางหมู่ชนที่อยู่ร่วมกันมากขึ้น และมีความเจริญมากขึ้นนั้น อาจมีเอกลักษณ์ของกลุ่มชนของตนเองที่แตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น การวาดภาพสิ่งของต่าง ๆ ก็เป็นการสื่อสารให้กับบุคคลอื่น ๆ ให้เข้าใจได้ เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ นั้นอาจไม่เป็นที่เข้าใจกันในการพูดหรือภาษามือในการใช้ติดต่อสื่อสาร ดังนั้น การเขียนนั้นอาจมีความจำเป็นในการสื่อสารกันอาจจะมีการวาดภาพสิ่งต่าง ๆ เพื่อสื่อสารตัวอย่างเช่น เขียนภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ เขียนภูมิประเทศหรือต้นไม้ เป็นต้น ก็อาจเป็นที่เข้าใจกันได้กับกลุ่มชนอื่น ดังนั้น จึงมีการพัฒนาภาษาเขียนเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกันที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั่วไป เช่น ติดต่อค้าขายกันในการสั่งซื้อสิ่งของในการเขียนบนกระดานไม้ เป็นต้น แต่ก็ต้องมีภาษาที่เป็นกลางที่หมู่ชนอื่นต้องรู้ด้วยว่า เมื่อเขียนคำใด ๆ แล้วมีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน เพราะว่าเมื่อกลุ่มคนอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่แล้ว และได้ขยายขึ้นไปเรื่อยจนเป็นสังคมขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีภาษาเขียนที่ควรเรียนรู้และใช้ร่วมกัน สำหรับมนุษย์จึงได้มีการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี เนื่องจาก พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 1826[9] การประดิษฐ์ตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหงนี้โดยทั่วไปแล้วเรียกว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” และได้จารึกเกี่ยวกับมรดกในศิลาจารึกมีข้อความมรดกว่า ศิลาจารึกมีข้อความมรดกไว้ดังนี้ “…ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล ล้มหายตายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อ เสื้อคำมัน ช้างขอลูก เมียเยียวข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น…”[10]

หมายความว่า เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ข้าทาสบริวาร รวมทั้งที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์ปลูกหมาก ปลูกพลู ตกทอดไปยังบุตรทั้งสิ้น ญาติอื่นไม่ได้รับส่วนแบ่งมรดกเลย”[11]

เมื่อพิเคราะห์ตามหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงแล้วมรดกตกทอดแก่ทายาทชั้นบุตรเท่านั้น และทรัพย์มรดกที่ตกทอดกับทายาทชั้นบุตรก็น่าจะมีการรับทรัพย์มรดกในส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น ถ้าหากบุตรของเจ้ามรดกที่ได้ไปบวชก็น่าจะมีสิทธิรับมรดกเท่ากับทายาทคนอื่นจากบิดามารดาที่เป็นเจ้ามรดก เนื่องจากว่า บุตรที่ได้บวชนั้นก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกเพียงแต่หลักศิลาจารึกมิได้จารึกเกี่ยวกับทายาทชั้นบุตรที่ได้ไปบวชก็มีสิทธิรับมรดกเอาไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลักศิลาจารึกนั้นได้จารึกเฉพาะทายาทชั้นบุตรของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกทุก ๆ คน

ดังนั้น เมื่อหลักศิลาจารึกมิได้จารึกไว้ว่า บุตรที่ได้ไปบวชนั้นก็มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมอาจเป็นเพราะว่าการบวชในสมัยนั้นเป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา และมีหน้าที่สืบทอดทางพระพุทธศาสนา อันเนื่องจากไปอุปสมบทแล้วจึงแยกจากทางโลกไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งพระภิกษุต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยวัดจะเป็นศูนย์รวมเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนแต่ตามความเป็นจริงพระภิกษุก็เป็นบุตรของเจ้ามรดก

และตามหลักความเป็นจริงทายาทของเจ้ามรดกก็จะรวมถึงบุตรที่ได้ไปบวชก็มีสิทธิรับมรดกด้วยเช่นกันดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่หลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั้นมิได้จารึกเรื่องการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกของพระภิกษุว่า เมื่อพระภิกษุได้มรณภาพทรัพย์มรดกของพระภิกษุจะตกทอดแก่ผู้ใด ซึ่งถ้าหากพระภิกษุมีบุตรก่อนอุปสมบททรัพย์มรดกก็น่าจะตกแก่ทายาทชั้นบุตรตามหลักศิลาจารึก แต่ถ้าพระภิกษุไม่ได้สมรสมาก่อนหรือสมรสแล้ว แต่ไม่มีบุตรทรัพย์มรดกของพระภิกษุก็น่าจะตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ เนื่องจากว่า ชาวไทยพุทธในสมัยอดีตมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรัพย์สินของพระภิกษุนั้นก็น่าจะเป็นทรัพย์สินของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุด้วย

ดังนั้น จะขอยกตัวอย่างในการแบ่งทรัพย์มรดกในสมัยสุโขทัยซึ่งจะคล้ายกับสังคมในปัจจุบันบางประการ คือ ในส่วนที่ทรัพย์มรดกตกทอดแก่บุตรเลี้ยงดูบิดามารดาโดยเจ้ามรดกมีเจตนาต้องการยกทรัพย์สินของตนให้กับบุตรที่เลี้ยงดูตนในวัยชราได้ ดังนี้

“พ่อแม่มีลูกชาย 3 คน ลูกหญิงหนึ่งคน ลูกชายคนหนึ่ง ไปกันายอยู่กับขุน ลูกชายคนหนึ่งไปบวช อีกคนหนึ่งไปค้าขาย ลูกสาวซึ่งเข้าใจว่า เป็นคนสุดท้องอยู่เลี้ยงดูอุปัฐฐากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ตายให้แบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น 15 ส่วน ดังนี้ (1) ให้ลูกผู้ไปอยู่กับนากับขุน 2 ส่วน เพราะว่าพ่อแม่ยังหวังพึ่งได้อยู่ (2) ให้ลูกชายผู้ไปค้าขาย 2 ส่วน เพราะถ้าพ่อแม่เสียทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็ยังหวังจะพึ่งลูกได้ (3) ให้ลูกผู้ไปบวช 5 ส่วนเพราะจะเป็นผู้ช่วยให้พ่อแม่พ้นทุกข์ซึ่งหมายความว่า ช่วยให้ไปสวรรค์ (4) ส่วนลูกสาวที่คอยรักษาอุปัฐฐากพ่อแม่มิให้ทรัพย์สมบัติสูญหายไปให้ได้รับส่วนแบ่ง 6 ส่วน”[12]

เมื่อพิเคราะห์ตามตัวอย่างการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับบุตรที่ไปบวชนั้น จะกำหนดให้รับทรัพย์มรดกได้น้อยกว่าบุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาเท่านั้น แต่ก็ยังได้มากกว่าบุตรคนอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นเจตนาของเจ้ามรดกที่ต้องการยกทรัพย์มรดกให้กับบุตรคนใดได้มากน้อยเท่าใดเท่านั้น ดังนั้น ตามตัวอย่างข้างต้นก็จะคล้าย ๆ กับการแบ่งทรัพย์มรดกของสังคมไทยในปัจจุบันที่สืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยกรุงสุโขทัยโดยเจ้ามรดกต้องการยกทรัพย์มรดกให้กับบุตรคนไหนมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่ตามเจตนาของเจ้ามรดก และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำมาบังคับใช้ในปัจจุบันได้บัญญัติให้บุตรทุกคนของเจ้ามรดกมีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่า ๆ กันทุกคน ถึงแม้ว่า จะได้ไปบวชหรืออุปสมบทก็ตามซึ่งน่าจะสอดคล้องกับหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทชั้นบุตรได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน แต่บทบัญญัติของกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในปัจจุบันก็อาจจะแตกต่างกับหลักศิลาจารึกบางประการเท่านั้นที่บัญญัติให้ทายาทอื่น ๆ ก็มีสิทธิรับทรัพย์มรดกตัวอย่างเช่น บิดามารดา ญาติพี่น้องก็มีสิทธิรับทรัพย์มรดก เป็นต้น ดังนั้น กฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในปัจจุบันก็น่าจะนำหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเกี่ยวกับการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกสมควรตกเป็นของทายาทชั้นบุตรทุก ๆ คน

วิวัฒนาการและแนวคิดกฎหมายมรดกในสมัยอยุธยา

อาณาจักรอยุธยาได้สถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 1893 โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองสืบต่อจากอาณาจักรสุโขทัยสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาจักรนั้น มีเหตุอันเนื่องมาจากการรุกรานของอยุธยา[13] แต่อาณาจักรสุโขทัยก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาและมีการปกครองแบบอาณาจักรอยุธยาเพราะว่าในลักษณะสังคมและการปกครองสมัยนี้เป็นอาณาจักรที่มีขนาดใหญ่ และมีพลเมืองจำนวนมาก จึงมีการปกครองที่แตกต่างจากอาณาจักรสุโขทัย สำหรับกฎหมายซึ่งถือเป็นแม่บทอันสำคัญเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาก็คือ “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” อันมีที่มาจากประเทศอินเดีย

เนื่องจากกฎหมายในสมัยอยุธยานี้ได้ถูกทำลายหรือสูญหายเป็นจำนวนมาก อันเกิดจากประเทศพม่าได้ทำศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาจึงทำให้การค้นคว้าต้นฉบับมีน้อย ดังนั้น “หลักฐานอันสำคัญที่ใช้ประกอบการค้นคว้าถึงกฎหมายในกรุงศรีอยุธยานั้น คือ ชุมชนกฎหมายที่ได้ประมวลในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ในสมัยนี้ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยบุคคลทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมายที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตนหามาได้ ฉะนั้น กฎหมายให้ความสำคัญต่อสิทธิของบุคคลในเรื่องทรัพย์สินที่บุคคลนั้น ๆ ทำมาหาได้ ซึ่งถ้าพิเคราะห์เจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว เมื่อมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนแล้วก็มีสิทธิ์ห้ามบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ทั้งยังมีสิทธิในการติดตามทวงคืนจากผู้ที่แย่งกรรมสิทธิ์จากเจ้าของที่แท้จริงได้

“ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 43 ปี พ.ศ. 1903 บัญญัติว่า  “หัวป่าและที่มีเจ้าของสืบสร้างและผู้นั้นตายได้แก่ลูกหลาน” ถ้อยคำสำคัญในประโยคนี้เป็นการกล่าวถึงเรื่องมรดกตกทอดที่เป็นที่ดิน”[14]

ในสมัยอยุธยานี้มีจำนวนประชากรมากกว่าสมัยสุโขทัย จึงมีความจำเป็นต้องบันทึกเรื่องทรัพย์สินไว้เพื่อที่ทายาทจะได้ทราบเกี่ยวกับมรดก โดยได้ประกาศกฎหมายลักษณะมรดกบังคับให้ญาติพี่น้องบุตรภรรยาผู้ตายทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อสมุหมรดก เพื่อจัดการแบ่งปันตามกฎหมาย กฎหมายมรดกได้กำหนดไว้ว่า ถ้าไม่มีพินัยกรรมไว้ให้แบ่งมรดกเป็น 4 ส่วน คือ ภาคหลวง ภาคบิดามารดา ภาคญาติซึ่งรวมทั้งบุตรด้วยและภาคภริยา “กฎหมายลักษณะมรดกในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความแตกต่างกับกฎหมายในสมัยกรุงสุโขทัยในประการสำคัญ คือ กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ กำหนดส่วนแบ่งแก่ญาติของผู้ตายให้ได้รับมรดกหมดทุกคน”

เรื่องการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างคู่สมรสในสมัยกรุงศรีอยุธยาน่าจะเป็นต้นฉบับในการวางหลักในเรื่องทรัพย์สินในกรณีที่สามีต้องการจะอุปสมบทและในภายหลังได้อุปสมบทแล้ว ได้วางหลักการตกทอดทรัพย์มรดกในกรณีที่พระภิกษุได้มรณภาพ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ได้รวบรวมกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยรวบรวมกฎหมายเท่าที่รวบรวมได้นำไปบังคับใช้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยได้บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายลักษณะผัวเมียและกฎหมายลักษณะมรดกเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุซึ่งจะว่ากล่าวกันต่อไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปการแบ่งทรัพย์มรดกในสมัยกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวมีการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทโดยธรรมนั้นคือ บิดา มารดา ญาติพี่น้อง บุตรและคู่สมรสของเจ้ามรดก ซึ่งจะสอดคล้องกับการแบ่งทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำมาบังคับใช้ในปัจจุบันและถ้าพิเคราะห์ในกรณีทายาทโดยธรรมที่ไปบวชหรืออุปสมบทก็น่าจะมีสิทธิรับทรัพย์มรดกด้วยเช่นกันในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ แต่ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้นได้แบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทชั้นบุตรเท่านั้นโดยมิได้กำหนดว่าเมื่อสามีหรือภรรยาตายต้องแบ่งมรดกระหว่างคู่สามีภรรยา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าลูกคนสุดท้องต้องเลี้ยงดูบิดาหรือมารดาหรือมิฉะนั้น ก็อาจเป็นบุตรคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบิดามารดาในกรณีที่บุตรคนนั้นอาศัยอยู่โดยมิได้แยกครอบครัวไปอยู่ที่อื่น อันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอดีตกาลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

วิวัฒนาการและแนวคิดกฎหมายมรดกในสมัยตันกรุงรัตนโกสินทร์

จุดเริ่มต้นที่ปรากฏกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในสมัยอดีตนั้นก็คือ “สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ได้มีการชำระสะสางและรวบรวมกฎหมายกรุงศรีอยุธยาขึ้นไว้ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ประทับตราราชการไว้เป็นสำคัญ 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ คชสีห์ และตราบัวแก้ว” จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง สาเหตุที่ได้มีการรวบรวมกฎหมายเก่าขึ้นเมื่อต้นรัชกาลที่ 1 ปรากฏมูลกรณีในพระราชปรารภว่า นายบุญศรีช่างตีเหล็กหลวงร้องทุกข์กล่าวโทษพระเกษมกับนายราชาอรรถว่า พิจารณาคดีไม่สัจเป็นธรรม ในมูลคดีที่อำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรี ซึ่งอำแดงป้อมนั้นได้กระทำความผิด โดยมีชู้กับนายราชาอรรถแต่ก็สามารถฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นธรรมแก่นายบุญศรี กฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในสมัยนี้เป็นกฎหมายที่รวบรวมขึ้นไว้ในกฎหมายตราสามดวงจึงเป็นกฎหมายกรุงศรีอยุธยา ได้ชำระรวบรวมเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2347 โดยการรวบรวมกฎหมายในสมัยอยุธยานั้น เพื่อจัดให้เป็นหมวดหมู่เพื่อจำแนกหลักเฉพาะกฎหมายเรื่องเดียวกันไว้ในแต่ละลักษณะการประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ 1 มีลักษณะต่าง ๆ รวม 29 ลักษณะด้วย ซึ่งจะประกอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมีย กฎหมายลักษระมฤดกและกฎพระสงฆ์รวมอยู่ด้วยที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง โดยกฎหมายลักษณะผัวเมียได้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตัวอย่างเช่น การสิ้นสุดการสมรสในกรณีที่สามีได้บวชหรืออุปสมบท สินเดิมและสินสมรสตกเป็นกรรมสิทธิ์ของภรรยานับแต่สามีได้อุปสมบทตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 เป็นต้น และตามกฎหมายลักษณะมรดกนั้นได้บัญญัติเรื่องการตกทอดแห่งทรัพย์มรดก ตัวอย่างเช่น คู่สามีภรรยาถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตก่อนทรัพย์มรดกนั้น คือ สินเดิม และสินสมรสซึ่งสินเดิมของเจ้ามรดกนั้นให้ตกทอดกับทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ส่วนสินสมรสนั้นแบ่งกันคนละครึ่งกับคู่สมรสและส่วนที่แบ่งให้กับคู่สมรสนั้น คือ เจ้ามรดกนั้นทรัพย์มรดกก็ตกทอดกับทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกับสินเดิมตามกฎหมายลักษณะมรดกในบทที่ 21 เป็นต้น และในการศึกษาค้นคว้ากฎหมายลักษณะผัวเมียและกฎหมายลักษณะมรดกดังกล่าวนี้นั้น คือ ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาในกรณีที่สามีต้องการอุปสมบทและการตกทอดทรัพย์สินหรือทรัพย์มรดกของพระภิกษุโดยเฉพาะ ส่วนกฎพระสงฆ์นั้นเป็นลักษณะที่เป็นข้อบังคับให้พระสงฆ์ปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาให้ประพฤติตนสมกับการเป็นพระภิกษุ และถ้าหากฝ่าฝืนก็ต้องถูกลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำการฝ่าฝืน แต่กฎหมายที่วางหลักเกี่ยวข้องกับการศึกษานั้น คือ เรื่องภูมิลำเนาของพระภิกษุตามกฎหมายของพระสงฆ์ ดังนั้น กฎหมายในอดีตดังกล่าวน่าจะเป็นต้นฉบับในการบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังนำมาบังคับใช้ในปัจจุบันเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินหรือทรัพย์มรดกระหว่างสามีภรรยาและการตกทอดทรัพย์สินของพระภิกษุมาตรา 1623 ทั้งนี้จะอธิบายลักษณะกฎหมายดังกล่าวทั้ง 3 ลักษณะได้ดังนี้

1.กฎหมายลักษณะผัวเมียหรือพระอัยการลักษณะผัวเมีย

1.1เรื่องความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา

กฎหมายลักษณะผัวเมียได้บัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไว้คือ เรื่องสินเดิมและสินสมรส ซึ่งเป็นต้นแบบในการบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสินส่วนตัวและสินสมรสอธิบาย ดังนี้

กฎหมายลักษณะผัวเมีย ในบทที่ 64 ได้บัญญัติ คือ “ชายก็ดีหญิงก็ดีได้ทาษเป็นทรัพย์มรดกแห่ง พ่อแม่ พี่น้อง มาก็ดีไถ่มาก็ดี และหรือได้รับพระราชทานพัทยาไร่นาอากร และเมื่อเขาผัวเมียยังอยู่ด้วยกันใช้ให้เอาเป็นสมรส”

กฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 72 บัญญัติ คือ

“…อนึ่ง บิดามารดาพี่น้องลูกหลานในหญิงก็ดี ชายก็ดี แลเขาล้มตายไซ้

ในชายได้สิ่งใดมากน้อยเท่าใดก็ดี ในหญิงได้สิ่งใดมากน้อยเท่าใดก็ดี

ท่านว่า เขาผัวเมียได้ทำบุญด้วยกันเขาให้เอาเป็นสินสมรส

แม้นบิดามารดา ญาติ ในหญิงให้สิ่งใดแก่หญิงก็ดี

บิดามารดา ญาติในชายให้แก่ชายก็ดี เมื่อวันมีแขกให้เอาเป็นเดิม

ถ้าให้เมื่อมาอยู่เป็นผัวเมียกันแล้วให้เอาเป็นสมรส

แม้นได้ไร่นาอากรเมื่ออยู่เป็นผัวเมียก็ให้คิดเอาเป็นสมรส…”

“สินเดิม เป็นทรัพย์ที่ชายหญิงได้มาก่อนการเป็นสามีภรรยากัน

คำว่า สินเดิมมีนัยเดียวกันกับคำว่า

ทุนสินเดิมจะต้องมีลักษณะที่สามารถใช้เป็นทุนได้ในการอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน

อาจเป็นทรัพย์ที่ทั้งสองฝ่ายเอามากองหรือรับรองว่า

ให้เป็นทุนในเวลาแต่งงานกัน ทรัพย์ที่ชายหญิงได้มาเมื่อวันมีแขกให้เอาเป็นสินเดิม (บทที่ 72)

สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่สามีภรรยาได้มาภายหลังแต่งงานอยู่กินด้วย”[15]

พิเคราะห์ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 64 นี้ จะบัญญัติเรื่องสินสมรสที่บิดามารดมอบทรัพย์สินให้คู่สามีภรรยามีกรรมสิทธิ์ทั้งสองคน ซึ่งตามบทดังกล่าวนี้โดยผลของกฎหมายนั้น ถือว่า ทาสนั้นเป็นสินสมรสถึงแม้ว่า มีการไถ่ตัวทาสและได้ทรัพย์สินก็ถือว่า เป็นทรัพย์สินระหว่างสมรสและถ้าได้รับพระราชทานที่นา ไร่ สวน ก็ให้ตกเป็นสินสมรส

และบทที่ 72 นี้ได้บัญญัติแบ่งแยกเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรสระหว่างสามีภรรยาเอาไว้ ดังนั้น สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายได้มาก่อนแต่งงานย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีหรือภรรยาก่อนที่จะได้สมรสและภายหลังแต่งงานกันแล้ว ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ด้วยกันหรือทำมาหาได้ด้วยกันนั้นย่อมตกเป็นสินสมรสที่สามีภรรยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

1.2กรณีเหตุของการหย่าขาดจากการสมรสระหว่างสามีภรรยา

กฎหมายในอดีตเกี่ยวกับการหย่านั้นมีบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของกฎหมายตราสามดวงในบทที่ 65 บัญญัติว่า “สามีภริยาวิวาทจะหย่ากัน สามีให้หนังสือแก่ภริยา ภริยาให้หนังสือแก่สามีต่อหน้าผู้เถ้าผู้แก่ ท่านว่า ฟังเอาหนังสือสามีภริยานั้นได้ เขาสามีภริยาขาดจากผัวเมียกัน”

ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 65 นี้พิเคราะห์แล้วน่าจะเป็นการตกลงยินยอมทั้งสองฝ่ายที่ทำหนังสือการหย่ากันต่อหน้าผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งอาจจะเป็นญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็ได้ ดังนั้น การหย่าตามกฎหมายลักษณะผัวเมียตามบทที่ 65 นี้น่าจะต้องทำเป็นหนังสือเป็นหลักฐานว่า ได้หย่าขาดจากกัน และเมื่อพิเคราะห์เรื่องการหย่าตามกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในสมัยปัจจุบัน กฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีเรื่องเหตุของหย่าขาดจากการสมรสในกฎหมายลักษณะผัวเมียนี้ การที่สามีภรรยาต้องการหย่าขาดจากการสมรสในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้จะแยกพิเคราะห์ได้ คือ

1.ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 65 วางหลักว่าต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานด้วย คือ การทำหนังสือต่อหน้าผู้เฒ่าผู้แก่ ดังนั้น การหย่าขาดกรณีนี้น่าจะเป็นการตกลงยินยอมของฝ่ายสามีและภรรยาที่ไม่ต้องการอยู่กินกันฉันสามีภรรยา เพราะว่าด้วยกันไม่ได้อย่างปกติสุข จึงต้องแยกทางกัน การหย่าขาดจากการสมรสจึงมีผลตามบทที่ 65 การสมรสสิ้นสุดทันทีซึ่งจะสอดคล้องกับการสิ้นสุด การสมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1515 นั้น คือ ได้จดทะเบียนหย่ากัน

2.ในอดีตก็มีการฟ้องร้องเรื่องการหย่ากันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องอำแดงป้อมฟ้องหย่าและได้มีคำตัดสินให้มีการหย่าขาดจากการสมรส ซึ่งน่าจะเป็นการตัดสินที่คล้ายคลึงกับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาการสิ้นสุดการสมรสในปัจจุบัน

เมื่อมีการหย่าก็ต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 บัญญัติว่า

“…ผัวเมียที่อยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างผิดใจกัน

จะหย่ากันไซ้ ก็ให้หญิงส่งสินสอดขันหมากแก่ชาย ถ้ามีลูกด้วยกันไซ้

ท่านก็มิให้ส่งสินสอดขันหมากแก่ชายเลยให้เรียกสินเดิมทั้งสองข้าง

และสินสมรสไซ้ให้แหวกปันเป็นสามส่วนให้ชายสองส่วน ให้แก่หญิงส่วนหนึ่ง

และถ้าหญิงนั้น เขามีทุนเดิมซื้อจ่ายายได้กำไร แลชายหาทุนเดิมมิได้ไซ้

และท่านให้สินสมรสนั้นสามส่วน ได้แก่ หญิงสองส่วน ได้แก่ ชายส่วนหนึ่ง

เพราะชายหาทุนมิได้ ชายได้ไปหารักษาจึ่งได้…”

ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 68 นี้เป็นกรณีที่มีหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและได้มีการแบ่งปันสินสมรสในระหว่างที่อยู่กินด้วยกัน และการแบ่งสินสมรสนั้น ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาที่สามีมีสินเดิมฝ่ายเดียวนั้น หากภายหลังได้หย่าขาดจากกัน สามีได้สินสมรสทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ส่วนภรรยาไม่มีสิทธิในสินสมรส[16] แต่ถ้าทั้งสามีภรรยามีสินเดิมทั้งสองฝ่ายนั้น ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษา คือ ถ้าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน ชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน[17] ซึ่งการแบ่งสินสมรสตามหลักฎีกานี้ภรรยาได้สินสมรสน้อยกว่าสามีอาจจะเป็นเพราะว่าสามีมีภรรยาหลายคนที่ต้องเลี้ยงดูรวมทั้งบุตรที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูด้วยและกฎหมายลักษณะผัวเมียนี้สามีน่าจะมีอำนาจจัดการสินสมรสฝ่ายเดียวเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงวางหลักให้สามีได้รับสินสมรสมากกว่า

1.3การสิ้นสุดจากการสมรสระหว่างสามีภรรยา

การสิ้นสุดการสมรสตามกฎหมายหรือไม่นั้น กฎหมายลักษณะผัวเมียนั้นวางหลักไว้ว่า การบวชหรืออุปสมบทนั้น เป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดหรือยังไม่สิ้นสุดต้องเป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ โดยกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 นั้นได้วางหลักไว้ว่า เมื่อสามีอุปสมบทแล้ว การสมรสนั้นสิ้นสุดทันที ซึ่งการวางหลักกฎหมายตามบทที่ 38 นั้นจะสอดคล้องกับกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 37 แต่บทที่ 37 นี้กฎหมายได้วางเงื่อนไขไว้ว่า การสมรสนั้นสิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุดนั้น ต้องพิเคราะห์ว่า คู่สมรสต้องการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาหรือต้องการหย่าร้างกันตามกฎหมายที่ได้วางเงื่อนไขไว้ และตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 37 และบทที่ 38 นั้น กฎหมายยังได้บัญญัติเรื่องทรัพย์สินไว้ว่า ทรัพย์สินของชายทั้งสินเดิมและสินสมรสนั้นให้ตกแก่หญิงในภายหลังที่อุปสมบท

ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 37 นั้นจะวางหลักไว้แตกต่างจากบทที่ 38 ซึ่งในกรณีนี้ต้องพิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะถือว่า การสมรสจะสิ้นสุดหรือไม่ตามเงื่อนไขที่กฎหมายได้วางหลักไว้ โดยกฎหมายในบทที่ 37 นี้ได้บัญญัติไว้ว่า

“…สามีศรัทธาในพระศาสนาสละภรรยาแลทรัพย์สิ่งสีนสรรพเหตุ

ออกบวชเป็นภิกษุและสามเณรแล้ว

สินเดิมและสินสมรสของชายสิทธิแก่หญิง

พ่อแม่พี่น้องชายจะเอา อย่าพึงให้เลย

ถ้าเมื่อแรกจะบวชนั้นชายแหวกแบ่งปันทรัพย์สิ่งใดไว้ จึ่งได้

ถ้าหญิงยังครองตัวอยู่ถ้าผัว ผัวศึกออกมาอยู่กินด้วยหญิงอีกเล่าไซ้

บุตรภรรยาแลทรัพยสิ่งของทั้งปวงนั้นก็สิทธิแก่ชาย

เหตุว่าเรือนท่านเคยอยู่ อู่ท่านเคยนอน หมอนท่านเคยเรียง

เสบียงท่านเคยกิน ถ้าหญิงทำชู้ นอกใจผัวไซ้ ให้ไหม…”

ดังนั้น พิเคราะห์ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 37 แล้วสามารถวิเคราะห์ได้หลายประการด้วยกัน คือ

1.การบวชตามกฎหมายลักษณะผัวเมียใบบทที่ 37 ดังกล่าวนี้น่าจะเป็นการบวชในระยะสั้นโดยผู้บวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรนี้ยังต้องการที่จะสึกออกมา ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะหย่าร้างกับภรรยาของตน จึงน่าจะสอดคล้องกับการอุปสมบทของชาวไทยพุทธในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อุปสมบทตอนเข้าพรรษา อุปสมบททดแทนบุญคุณบิดามารดา เป็นต้น โดยสามีเจตนาที่จะบวชระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพียง 1 เดือน 3 เดือน หรือ 1 พรรษาและภายหลังสึกออกมา แล้วก็กลับมาอยู่กินฉันสามีภรรยาดังเดิม

2.กฎหมายลักษณะผัวเมียตามบทที่ 37 นี้ยังมีเงื่อนไขในกรณีที่ภรรยาต้องการกลับมาอยู่กินฉันสามีภรรยาการสมรสยังไม่สิ้นสุดและถ้าภรรยานอกใจสามีไปหลับนอนกับชายอื่น ซึ่งตามบทที่ 37 ตอนท้ายนี้ได้วางหลักไว้ให้ปรับไหม ซึ่งน่าจะเป็นการปรับไหมชายชู้ที่กระทำอนาจารกับภรรยาของตนเอง ดังนั้น ถ้าภายหลังสึกออกมาแล้วกลับมาอยู่กินฉันสามีภรรยาดังเดิม ตามหลักกฎหมายก็ถือว่า การสมรสยังไม่สิ้นสุดดังที่กล่าวมา เนื่องจาก หญิงยินยอมอยู่กินด้วยและทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและสินเดิมนั้น ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ดังเดิมของสามีเหมือนครั้งที่ยังไม่ได้อุปสมบท แต่ถ้าภรรยาไม่ต้องการอยู่กินกับสามี ตัวอย่างเช่น มีสามีคนใหม่หรือทั้งสองฝ่ายมีเจตนาตั้งแต่อุปสมบทว่าจะไม่อยู่ร่วมกับฉันสามีภรรยา คือ ต้องการหย่าขาดจากกันเมื่อภายหลังอุปสมบทไปแล้ว ตามกรณีที่ได้กล่าวมานี้ การสมรสก็น่าจะเป็นอันสิ้นสุดตามบทที่ 37 ซึ่งน่าสอดคล้องกับกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 โดยถือว่า การสมรสเป็นอันสิ้นสุด

3.ประเด็นเรื่องทรัพย์สินดังกล่าวตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 37 นี้ จะวางหลักเรื่องสินเดิมและสินสมรสนั้น ถ้าหากฝ่ายชายมิได้แบ่งทรัพย์สินให้กับทายาทของตนก่อนอุปสมบทสินเดิมและสินสมรสก็ตกเป็นของภรรยา แต่เพียงผู้เดียวและกฎหมายก็ยังห้ามมิให้แบ่งทรัพย์สินให้กับบิดามารดา ญาติพี่น้องของตนก่อนอุปสมบททรัพย์สินที่แบ่งปันให้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่ฝ่ายชายได้ยกให้กับบุคคลนั้น ๆ ตามที่กฎหมายได้วางหลักเอาไว้

4.กฎหมายลักษณะผัวเมียให้ความเป็นธรรมแก่ภรรยาของพระภิกษุที่สมควรยกสินเดิมและสินสมรสให้กับภรรยาของตนเองเพราะต้องดำรงเลี้ยงชีพด้วยตัวเองตามลำพังและอาจต้องมีบุตรที่ต้องเลี้ยงดูอีกด้วย แต่ถึงแม้ว่า มิได้ดูแลบุตรก็ตามทรัพย์สินบางอย่างอาจต้องมีค่าบำรุงรักษาหรือมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น โค กระบือ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูหรือที่ดินก็ต้องจ่ายค่าภาษีให้กับรัฐ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากว่า ภายหลังสามีได้อุปสมบทและศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องการลาสิกขาบทอีกเลย ดังนั้น ทรัพย์สินทั้งหมดก็สมควรตเป็นของหญิงที่เป็นภรรยาตามกฎหมาย

5.กรณีการอุปสมบทตอนแรกอาจจะบวชระยะสั้นเพื่อต้องการกลับมาอยู่กันกับภรรยา และภรรยายังครองตัวเป็นโสด ซึ่งยังต้องการอยู่กินฉันสามีภรรยา เมื่อภายหลังสามีได้สึกออกมา ดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 แต่ภายหลังได้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงต้องการบวชอย่างถาวร หรือตลอดชีวิตโดยไม่สึกเลย เมื่อได้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้วตามบทบัญญัติในบทที่ 37 การสมรสก็น่าจะเป็นอันสิ้นสุดตามกฎหมายลักษระผัวเมียในบทที่ 38 เพราะกฎหมายวางหลักไว้ว่า สละซึ่งทรัพย์สินและภรรยาตั้งแต่เริ่มอุปสมบทแล้ว และเมื่อได้อุปสมบทโดยไม่สึกออกมาทรัพย์สินทั้งสินเดิมและสินสมรสนั้นตกเป็นของภรรยาของพระภิกษุทั้งหมด นับตั้งแต่สามีได้อุปสมบทโดยสามีมิได้แบ่งทรัพย์สินให้กับทายาทหรือบุคคลอื่น ๆ ก่อนที่จะอุปสมบทดังกฎหมายได้วางหลักไว้

ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้การสมรสเป็นอันสิ้นสุดทันทีเมื่อสามีได้บวชหรืออุปสมบท ซึ่งกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 38 บัญญัติไว้ว่า

“…หญิงชายราษฎรกินเปนผัวเมียกัน สามีศรัทธาสละภรรยาแลทรัพยสิ่งของชวดเปนภิษุ สามเณรแล้ว แลสึกออกมาจะคืนอยู่กินด้วยหญิงอีกไซ้ ถ้าหญิงมิสมักเปนภรรยาชายนั้นต่อไปก็ตามใจหญิง เหตุว่าบวดแล้วขาดจากผัวเมียกัน ถ้าชายถูลากข่มขืนหญิงนั้น ท่านให้ไหมชายดุจทำแก่หญิงม่ายนั้น…”

ดังนั้น พิเคราะห์ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 แล้วสามารถวิเคราะห์ได้หลายประการด้วยกัน คือ

1.ฝ่ายสามีนั้นศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องการบวชหรืออุปสมบท ดังนั้น กฎหมายได้วางหลักว่า เมื่อศรัทธาพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องการอุปสมบทจึงมีเจตนาที่จะตัดขาดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยารวมทั้งทรัพย์สินนั้น ก็สมควรยกให้กับภรรยาทั้งหมดเมื่อได้อุปสมบทแล้ว ซึ่งการอุปสมบทตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 นี้อาจจะต้องการอุปสมบทตลอดชีวิต หรืออุปสมบทระยะเวลาหนึ่งแล้วสึกออกมา

2.เมื่อฝ่ายสามีได้อุปสมบทแล้ว กฎหมายก็วางหลักไว้ว่า การสมรสเป็นอันสิ้นสุดทันทีตามกฎหมายโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ซึ่งน่าจะคล้ายกับการจดทะเบียนหย่าขาดจากการสมรสในกฎหมายปัจจุบันตามมาตรา 1515 ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายภรรยาก็เป็นหญิงม่ายและถ้าหากฝ่ายชายสึกออกมาภายหลักก็เป็นพ่อม่ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกในบทที่ 38

3.หากสามีสึกออกมาและต้องการกลับมาอยู่กินกับภรรยาคนเดิมนั้นกฎหมายวางหลักว่า ถ้าภรรยาไม่ยอมอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาดังเดิมนั้นก็แล้วแต่เจตนาของฝ่ายหญิง ซึ่งถ้าภรรยาคนเดิมไม่ต้องการอยู่ด้วยกันและฝ่ายชายทำอนาจารกับฝ่ายหญิงกฎหมายก็วางหลักให้ปรับฝ่ายชายเหมือนกับทำกับหญิงม่ายโดยกฎหมายผลของกฎหมายนั้นถือว่า เป็นบุคคลอื่นไปแล้ว ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน

4.ในกรณีที่ฝ่ายหญิงตกลงยินยอมอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาดังเดิมนั้น กฎหมายก็มิได้วางหลังเรื่องทรัพย์สินทั้งที่เป็นสินเดิมและสินสมรสนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายชายเช่นเดิม ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น เมื่ออุปสมบทการสมรสก็เป็นอันสิ้นสุดทันทีที่ทรัพย์สินตกเป็นของภรรยาตั้งแต่อุปสมบทแล้ว ถึงแม้ว่า ฝ่ายหญิงยินยอมอยู่ด้วยกันดังเดิมกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินก็ไม่ตกเป็นของฝ่ายชาย เมื่อพิเคราะห์แล้วก็น่าจะเหมือนกับการสมรสครั้งใหม่กับหญิงอื่น ถึงแม้ว่า จะเคยเป็นสามีภรรยากันมาก่อนก็ตาม

ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียที่เกี่ยวกับภรรยาต้องการบวช ตัวอย่างเช่น บวชเป็นแม่ชี ภรรยาก็ต้องได้รับความยินยอม จึงถือว่า เป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดตามบทที่ 39 บัญญัติว่า

“ภิริยาลาสามีจะไปบวด สามีก็ยอมให้ภิริยาไปบวด

ท่านว่า สามีภิริยาขาดจากผัวเมียกัน

ถ้าภิริยาสึกออกมามีสามีอื่นไซ้

ท่านว่าหาโทษมิได้

ถ้าสามีมิได้สละให้บวดภิริยากระทำความผิดแล้วหนีไปบวด

ถ้าสึกออกมามีชู้มีผัวไซ้ ให้ไหมโดยขนาด

เพราะเหตุว่าสามีเขามิได้สละให้ไปบวด”

ซึ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 39 นี้จะแตกต่างกันที่สามีต้องให้ความยินยอมเท่านั้น การสมรสก็จะสิ้นสุดตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ดังเห็นได้ว่า ทั้งสองมาตรานี้ได้วางหลักไว้ว่า เมื่อได้บวชแล้วการสมรสย่อมสิ้นสุดทันทีความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก็ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ แล้วตั้งแต่ได้บวชตามเจตนาของตนเองที่ต้องการศึกษาพระธรรมวินัยที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ซึ่งทั้งกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 และบทที่ 39 นี้พิเคราะห์แล้วจะแตกต่างกัน ถ้าสามีต้องการบวชหรืออุปสมบทก็ไม่ต้องได้รับความยินยอมกับภรรยาได้ แต่ฝ่ายภรรยาเมื่อต้องการบวชต้องได้รับความยินยอมจากสามีซึ่งโดยผลของกฎหมายนั้น ถือว่า การสมรสสิ้นสุดทันทีโดยพิเคราะห์ได้ คือ

1.ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 39 เมื่อภรรยาได้สึกออกมาถ้าภรรยาต้องการอยู่ด้วยกับสามีคนดิมโดยฝ่ายชายยินยอม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38 แล้วก็จะคล้ายกันดังที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นการสมรสครั้งใหม่ถึงแม้ว่า จะเป็นสามีคนเดิมก็ตามดังที่กล่าวมาแล้วในกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 38

2.ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในบทที่ 39 เมื่อภรรยานั้นต้องการบวชโดยไม่ได้ความยินยอมจากสามี เมื่อสึกออกมาและภายหลังได้มีคู่สมรสคนใหม่นั้น ถือว่า สามีได้รับความเสียหาย เพราะการสมรสยังไม่สิ้นสุดตามกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายได้วางหลักให้ปรับไหมสามีคนใหม่ เนื่องจากว่า สามีคนเดิมยังมิได้หย่าร้างกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ถ้าสามีไม่ได้ยินยอมให้บวชโดยผลของกฎหมายนั้นถือว่า การสมรสยังไม่สิ้นสุด


[1] ร.แลงกาต์,ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533) หน้า 6.

[2] พินัย ณ นคร, คำอธิบายกฎหมายลักษณะมรดก พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2555) หน้า 255.

[3] สุภาพ สารีพิมพ์. คำบรรยายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก. พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2553) หน้า 1.

[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า 1

[5] สหัส สิงหวิริยะ, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : นิติธรรม, 2547) หน้า 4.

[6] ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 มิถุนายน 2478

[7] สหัส สิงหวิริยะ. เรื่องเดิม หน้า 5

[8] อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิขย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก, (กรุงเทพมหานคร : นิติบรรณการ, 2550) หน้า 1.

[9] กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ. หนังสือประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์ กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก. พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550) หน้า 9.

[10] เรื่องเดียวกัน หน้า 12.

[11] พรชัย สุนทรพันธุ์. คำอธิบายกฎหมายลักษณะมรดก พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพมหานคร : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2546) หน้า 1.

[12] กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ. เรื่องเดิม. หน้า 31.

[13] แสวง บุญเฉลิมวิภาส. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2552) หน้า 77.

[14] หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ. คำบรรยายประวัติศาสตร์กฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2517) หน้า 40.

[15] กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ,เรื่องเดิม, หน้า 51.

[16] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 152/2527 การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาซึ่งสมรสกันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าชายมีสินเดิมฝ่ายเดียว หญิงไม่มีสินเดิม ชายได้สินสมรสทั้งหมด หญิงไม่มีส่วนได้เลย

[17] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2531 สามีภรรยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 การแบ่งสินสมรสต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *