การคุ้มครองผลงานตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ลักษณะความเป็นสินสมรสของลิขสิทธิ์และ

กฎหมายลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความหมายลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะความหมาย การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์และการคุ้มครองลิขสิทธิ์

ความหมายของการคุ้มครองลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลในการสร้างสรรค์งานโดยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเอง (originality) โดยมาตรา 4 ให้ความหมายของผู้สร้างสรรค์ หมายความว่า “ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” และ “ลิขสิทธิ์” หมายความว่า “สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น” งานประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 6 ได้แก่ งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานสิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดแผนกวรรณคดี แผนกศิลปะ หรือแผนกวิทยาศาสตร์

จากบทบัญญัติของกฎหมายแสดงให้เห็นว่า การให้คุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ที่ให้ถือว่า เป็นสิทธิ แต่เพียงผู้เดียวหรือสิทธิเด็ดขาด (Exclusive Right) ที่จะกระทำแก่งานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การให้ความคุ้มครองดังกล่าวเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้แก่ผู้สร้างสรรค์ งานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ทั้งในด้านเศรษฐกิจและศีลธรรมที่ผู้สร้างสรรค์เมื่อได้สร้างสรรค์ ผลงานขึ้นมาแล้ว หากมีผู้ใดกรทำละเมิดในลักษณะลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ลักษณะของลิขสิทธิ์ประการสำคัญ คือ ในกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการจดทะเบียน ดังนั้น เมื่อผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ในลักษณะที่มีการแสดงออกทางความคิดจนเสร็จได้เป็นผลงานออกมาแล้ว งานของเขาก็จะได้รับความคุ้มครองทันทีโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ กฎหมายไทยสอดคล้องกับอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม (Berne Copyright Convention) ที่ไม่ได้กำหนดแบบพิธีในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไว้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับลักษณะของงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง เช่น งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม งานศิลปกรรม ฯลฯ ซึ่งสามารถแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ แม้ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างผลงานแล้วไม่ได้นำออกโฆษณา เผยแพร่หรือทำให้ปรากฏ ณ ที่ใด กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองทันที ทำให้ไม่มีการกำหนดแบบให้ต้องจดทะเบียน และกฎมหายได้กำหนดอายุการคุ้มครองเพื่อให้สิทธิแก่ผู้สร้างสรรค์ได้มีโอกาสใช้สิทธิในงานของตนเองตลอดชีวิตและอีก 50 ปี นับแต่วันที่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ทำให้เขาและทายาทสามารถใช้สิทธิทั้งในทางเศรษฐกิจและศีลธรรมได้อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะมอบผลงานนั้น ให้เป็นสาธารณะเพื่อสังคมจะได้นำผลงานของเขาไปใช้อย่างอิสระต่อไป

ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์มีความแตกต่างจากสาขาของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นในเรื่องของการคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ไม่ต้องจดทะเบียนและมีอายุการคุ้มครองที่ยาวนาน และยังมีบทบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นข้อยกเว้นของการละเมิดลิขสิทธิ์ที่บุคลลอื่นสามารถนำผลงานของเขาไปใช้ได้ในลักษณะไม่แสวงหากำไรหรือขัดต่อประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การใช้เพื่อส่วนตัว ใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การเรียนการสอน เป็นต้น

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

กฎหมายบัญญัติเรื่องการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ไว้หลายกรณี ได้แก่ การได้มาโดยการเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นลูกจ้าง ผู้ว่าจ้าง ผู้ดัดแปลงงาน ผู้รวบรวมงาน ในฐานะหน่วยงานของรัฐ การรับโอนสิทธิทั้งในทางนิติกรรม และการรับมรดก

ผู้สร้างสรรค์ ตามนิยามมาตรา 4 หมายถึง ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ โดยนัยนี้ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์งาน (Originality) นั้นด้วยตนเอง

ลูกจ้าง ตามมาตรา 9 กฎหมายให้งานนั้นตกเป็นของลูกจ้าง เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นกับนายจ้าง

ผู้ว่าจ้าง ตามมาตรา 10 คือ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้รับจ้างบุคคลอื่น ผู้ว่าจ้างย่อมได้ลิขสิทธิ์ในงานนั้น

ผู้ดัดแปลงงาน ตามมาตรา 11 คือ การนำงานของผู้อื่นมาดัดแปลง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้นั้นก็จะได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนดัดแปลง

ผู้รวบรวมงาน ตามมาตรา 12 คือ ผู้ที่นำงานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน ผู้นั้นก็จะได้ลิขสิทธิ์ได้งานที่ตนได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้น

กรณีผู้สร้างสรรค์ได้สร้างงานขึ้นโดยการจ้างของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานรัฐนั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 14

นอกจากนี้ บุคคลยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้โดยการรับโอนสิทธิในลิขสิทธิ์หรือการรับมรดก ซึ่งการโอนโดยทางนิติกรรมต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนมิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ

ข้อสังเกตในเรื่องการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นี้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติกรณีของการเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมไว้โดยตรง แต่ได้กล่าวถึงในมาตรา 19 วรรค 2 และวรรค 3 เกี่ยวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือเป็นการยอมรับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อมีการสร้างสรรค์ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิในการใช้งานลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ร่วมไว้จึงต้องนำหลักกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องกรรมสิทธิ์รวมมาพิจารณาและปรับใช้

การคุ้มครองลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 15 ดังนี้

  • ทำซ้ำหรือดัดแปลง
  • เผยแพร่ต่อสาธารณชน
  • ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทีกเสียง
  • ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
  • อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิใน (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ได้

สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรานี้เป็นสิทธิเด็ดขาด (Exclusive Right) ที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะกระทำแก่งานเป็นประการใดก็ได้ตามที่กฎหมายกำหนด และถือเป็นสิทธิในทางเศรษฐกิจ (Economic Right) ที่ผู้สร้างสรรค์สามารถหาประโยชน์ที่เป็นตัวเงินเพื่อคืนทุน หรือเพื่อหากำไรจากผลงานของเขาได้ไม่จำกัด และหากมีบุคคลใดมากระทำแก่งานของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 27 – 31 ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

การคุ้มครองผลงานตามกฎหมายสิทธิบัตร

กฎหมายสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยบัญญัติให้ความหมายการขอรับและผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร การออกสิทธิบัตร สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร การชำระค่าธรรมเนียม การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร การคืน การเลิก และการเพิกถอนสิทธิบัตร ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะความหมายการขอรับ และผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร และสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร

ความหมายของการคุ้มครองสิทธิบัตร

กฎหมายสิทธิบัตรบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผลงานการประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะให้เกิดแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ผู้ประดิษฐ์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องจดทะเบียน เพื่อขอรับความคุ้มครอง ตามนิยามมาตรา 3 ให้ความหมายของสิทธิบัตรไว้ หมายความว่า “หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนดโดยบทแห่งพระราชบัญญัตินี้” การประดิษฐ์ หมายความว่า “การคิดค้น หรือคิดทำขั้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ดีขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธี และแบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า “รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้งหัตถกรรมได้” ส่วนผู้ทรงสิทธิบัตร กฎหมายให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตรด้วย

สิทธิบัตรถือเป็นเอกสารสิทธิ และจัดเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามกฎหมายในลักษณะทรัพย์สินอุตสาหกรรมที่มีความพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ประดิษฐ์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน และได้รับการออกสิทธิบัตรให้ ดังนั้น หากผู้ประดิษฐ์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อสร้างผลงานเสร็จแล้วไม่ยื่นขอรับสิทธิบัตร และมีผู้นำผลงานนั้นไปลอกเลียนแบบประดิษฐ์ หรือออกแบบซ้ำกับงานของตนก็ไม่มีสิทธิดำเนินการใด ๆ กับผู้กระทำได้

การคุ้มครองตามกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ทรงสิทธิถือได้ว่า มีลักษณะของการผูกขาด ที่ต้องการผู้ทรงสิทธิบัตรหาประโยชน์ในงานของตนได้อย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 20 ปีสำหรับการประดิษฐ์ และ 10 ปีสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แล้วงานนั้นจะตกเป็นสาธารณะที่บุคคลอื่นใดก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่สังคม หลังจากที่ผู้ทรงสิทธิได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว

การขอรับและผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร

กฎหมายกำหนดถึงการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ดังนี้

การประดิษฐ์

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ตามมาตรา 5 ต้องมีลักาณะดังต่อไปนี้

  1. เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
  2. มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น และ
  3. สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

การออกแบบผลิตภัณฑ์

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 56 ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรม

ตามกฎหมายกำหนดถึงความใหม่ของงานเป็นสาระสำคัญ ซึ่งมาตรา 6 บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ความใหม่นี้ต้องเป็นความใหม่ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือต้องเป็นงานที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ในที่นี้ไม่เป็นที่เห็นประจักษ์โดยง่ายกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ หรือผลงานนั้น นอกจากนี้ ทั้งงานประดิษฐ์ และงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับความคุ้มครอง ตามกฎหมายต้องสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งในทางอุตสาหกรรม หรือหัตถกรรมตามลักษณะของงาน เพราะเจตนารมณ์ของความคุ้มครองเพื่อต้องการให้ผู้ทรงสิทธินำผลงานของตนมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ อันเป็นเหตุผลหลักของความคุ้มครอง กฎหมายจึงกำหนดระยะเวลาไว้สำหรับการใช้ผลงานตามมาตรา 46 ว่าเมื่อพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่วันออกสิทธิบัตรหรือ 4 ปีนับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแล้วแต่ระยะเวลาใดจะสิ้นสุดทีหลังบุคคลอื่นจะขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ หากขณะนั้นไม่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือไม่มีการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรในประเทศโดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือไม่มีการขายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีนั้น หรือมีการขายในราคาสูงเกินควร หรือไม่พอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศโดยไม่มีเหตุผลสมควร

ผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร ได้แก่ ผู้ประดิษฐ์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้รับโอนสิทธิบัตร ทายาทผู้รับมรดกตามสิทธิบัตร นายจ้าง ผู้ประดิษฐ์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วม

สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร

กฎหมายกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้น มีสิทธิกระทำการตาม มาตรา 36 ได้แก่ สิทธิในการผลิตใช้ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ มีสิทธิใช้คำว่า “สิทธิบัตรไทย” หรืออักษร สบท. หรืออักษรต่างประเทศที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ตามมาตรา 37 มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลใดใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของตนได้ ตามมาตรา 38 กรณีผู้ทรงสิทธิบัตรร่วม ตามมาตรา 40 บัญญัติว่า “ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมแต่ละคนมีสิทธิใช้สิทธิตามมาตรา 36 และมาตรา 37 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมคนอื่น แต่การอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือการโอนสิทธิบัตรตามมาตรา 38 ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตรร่วมทุกคน”

ลักษณะความเป็นสินสมรสของลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

บทบัญญัติของกฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร จะเห็นได้ว่า ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร จัดเป็นสาขาของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถือว่า ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามกฎหมายพิเศษและเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าสามารถนำมาหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและมีคุณค่าต่อการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีในระดับบุคคล สังคมและประเทศชาติ

บทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองไม่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึง การใช้สิทธิของคู่สมรสไว้ในฐานะที่ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจัดเป็นทรัพย์สินด้วย จึงต้องนำหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการจัดการสินสมรสมาประกอบการพิจารณา โดยมาตรา 1474 (1) บัญญัติว่า “สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส” และในวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรส หรือมิใช่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส” เมื่อเทียบกับคำพิพากษาฎีกา 2529/2538 ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในคดีเครื่องหมายการค้าว่า แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 33 ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทในคดีจะได้บัญญัติถึงการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าว่า จะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนเสียก่อนก็ตาม แต่กรณีตามปัญหาในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ได้คิด และออกแบบเครื่องหมายการค้า CLOY เครื่องหมายการค้าตราหัวช้าง และเครื่องหมายการค้าตราหญิงกระโดดเชือกแล้วนำไปจดทะเบียนโดยใช้ชื่อ นายประสงค์ วีระกุล สามีโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนในระหว่างเป็นสามีภรรยากันเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสามลักษณะดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่นายประสงค์ วีระกุลกับโจทก์ผู้เป็นคู่สมรสได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ทั้งนายประสงค์ วีระกุลและโจทก์ย่อมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าร่วมกันในเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามในทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ตาม จากคำพิพากษาฎีกานี้แสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินทางปัญญา จัดเป็นทรัพย์สิน และถือเป็นสินสมรสด้วย กรณีของลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรที่ได้เกิดขึ้นระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นสินสมรส

ดังนั้น เมื่อลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจัดเป็นทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส คู่สมรสของผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ผู้ประดิษฐ์ ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์จึงย่อมมีสิทธิดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ที่ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทรงสิทธิเหล่านั้นด้วย

เนื่องจาก กฎหมายทั้งสองฉบับไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของคู่สมรสไว้โดยตรง ประกอบกับลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร แม้ว่า จะเป็นทรัพย์สินก็เป็นทรัพย์สินตามกฎหมายอื่นไม่ใช่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และด้วยลักษณะอันเฉพาะในการคุ้มครองของกฎหมาย ประเภทของงาน และการใช้สิทธิ จึงต้องพิจารณาสิทธิของคู่สมรสในสินสมรสดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนอถึงการใช้สิทธิและอำนาจการจัดการสินสมรสที่เป็นลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรของคู่สมรส

สินสมรสที่เป็นลิขสิทธิ์

เมื่อผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 6 ได้สร้างผลงานเสร็จก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยอัตโนมัติทันที กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบพิธีการคุ้มครองไว้ว ซึ่งผู้สร้างสรรค์ย่อมได้รับความคุ้มครองแก่งานในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานฯ อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิหรือโอนสิทธิในลิขสิทธิ์ของตนก็ได้ ตามมาตรา 15 และมีสิทธิกระทำต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานของตนตามกฎหมาย กรณีดังที่กล่าวมานี้ย่อมเกิดสิทธิและอำนาจการจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสนั้นแก่คู่สมรสเช่นเดียวกัน

สินสมรสที่เป็นสิทธิบัตร

ผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร จะต้องยื่นขอรับสิทธิบัตร เมื่อได้รับสิทธิบัตรแล้ว จึงจะถือว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้น คู่สมรสที่จะเข้าใช้สิทธิและมีอำนาจจัดการสินสมรสที่เป็นสิทธิบัตรได้ก็ต่อเมื่อการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ทรงสิทธิได้รับการจดทะเบียนแล้วเท่านั้น เมื่อผู้ทรงสิทธิมีสิทธิตามกฎหมายเช่นตามมาตรา 36 คู่สมรสย่อมเกิดสิทธิและอำนาจการจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสนั้นแก่คู่สมรสเช่นเดียวกัน

อำนาจการจัดการสินสมรสของคู่สมรสในลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

อำนาจการจัดการสินสมรสย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา บัญญัติให้สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 1476 ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรานี้ส่วนใหญ่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นเรื่องของการจัดการทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ แต่ในวรรคสอง กำหนดไว้ว่า การจัดการสินสมรสนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในวรรคแรก สามีและภริยาสามารถจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้น คู่สมรสสามารถจัดการสินสมรสที่เป็นลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร โดยอาศัยสิทธิของคู่สมรสที่เป็นผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ประดิษฐ์ และผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ เช่น กรณีลิขสิทธิ์ คู่สมรสสามารถใช้สิทธิในการจัดการสินสมรสตามมาตรา 15 คือ ทำซ้ำ ดัดแปลงงาน นำออกเผยแพร่ ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ในการยื่นขอจดทะเบียน หรืออาจขอใช้สิทธิตามมาตรา 1475 ในการร้องขอให้ลงชื่อของตนเป็นเจ้าของร่วมในเอกสารสิทธิบัตร คู่สมรสสามารถใช้สิทธิในการจัดการสินสมรสตามมาตรา 36 คือ ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรได้ มีสิทธิอนุญาตหรือโอนสิทธิบัตรได้เช่นกัน

การเปรียบเทียบความแตกต่างของสินสมรสที่เป็นลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรมีความแตกต่างกันในกรณีต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้

 ลิขสิทธิ์สิทธิบัตร
การเกิดของสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองกฎหมายให้ความคุ้มครองทันที่สร้างสรรค์งานเสร็จ ไม่มีแบบพิธีกฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนและได้รับสิทธิบัตร
ประเภทของงานที่กฎหมายคุ้มครองคุ้มครองงานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพคุ้มครองงานประดิษฐ์หรืองานออกแบบผลิตภัณฑ์
ลักษณะของงานไม่ต้องมีความใหม่อย่างงานสิทธิบัตร เพียงแต่เป็นงานที่ก่อให้เกิดขึ้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเอง ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากงานของผู้อื่นต้องเป็นการประดิษฐ์หรือออกแบบที่มีความใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือมีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถนำไปใช้ได้
อายุการคุ้มครองมีอายุการคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และอีก 50 ปีนับแต่วันที่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมีอายุการคุ้มครองงานประดิษฐ์ 20 ปี งานออกแบบผลิตภัณฑ์ 10 ปี

เปรียบเทียบอำนาจการจัดการสินสมรสของคู่สมรสในลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 บัญญัติถึงการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกรณีของการจัดการตามมาตรา 1476 (1) – (8) นั้น ส่วนใหญ่เป็นกรณีการจัดการทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในมาตรานี้วรรคสองบัญญัติให้สามีภริยาสามารถจัดการสินสมรสนอกเหนือจากที่กำหนดใน (1) – (8) ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม ดังนั้น การจัดการสินสมรสที่เป็นลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรคู่สมรสสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนี้ เนื่องจาก ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินตามกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งยังมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากทรัพย์สินทั่วไป การใช้สิทธิและอำนาจการจัดการสินสมรสของคู่สมรส ในงานทั้งสองประเภทจึงมีข้อพิจารณาและเปรียบเทียบระหว่างสินสมรสทั้ง 2 ประเภทดังต่อไปนี้

1.สิทธิบัตรต้องจดทะเบียน ทำให้ผู้ประดิษฐ์ หรือออกแบบต้องยื่นคำขอจดทะเบียนตามกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 10 กำหนดให้ผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบมีสิทธิขอรับสิทธิบัตร สิทธิขอรับสิทธิบัตรย่อมโอน และรับมรดกได้ ดังนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิของคู่สมรสของผู้ประดิษฐ์ของผู้รับโอน และของทายาทผู้รับมรดกตามสิทธิบัตรที่จะใส่ชื่อร่วมในคำขอจดทะเบียน

กรณีของลิขสิทธิ์คู่สมรสมีสิทธิในงานสร้างสรรค์ทันทีที่ผู้สร้างสรรค์ทำผลงานเสร็จ

2.สิทธิของคู่สมรสของนายจ้างซึ่งลูกจ้างเป็นผู้ประดิษฐ์ โดยการทำงานตามสัญญาจ้าง ตามกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 11 ในการที่จะใส่ชื่อในคำขอจดทะเบียน และสิทธิในการดำเนินการตามมาตรา 12 กับลูกจ้าง

กรณีของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ มาตรา 9 กำหนดให้งานสร้างสรรค์ตกเป็นของลูกจ้างผู้สร้างสรรค์ ซึ่งแตกต่างกับงานตามสิทธิบัตร ทำให้ลูกจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น คู่สมรสของลูกจ้างจึงย่อมมีสิทธิในการจัดการงานสร้างสรรค์นั้นด้วย เว้นแต่ลูกจ้างผู้สร้างสรรค์งานจะได้ทำสัญญาตกลง ไว้เป็นอย่างอื่นกับนายจ้างแล้ว

3.สิทธิในการร้องขอใช้ชื่อร่วมกับผู้ประดิษฐ์ในสิทธิบัตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475

กรณี ของลิขสิทธิ์คู่สมรสไม่ต้องอาศัยสิทธิตามมาตรานี้ เพราะลิขสิทธิ์ไม่มีเอกสารสิทธิเหมือนสิทธิบัตร

4.สิทธิในการฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวน บำรุง รักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 ซึ่งคู่สมรสในสินสมรสที่เป็นลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร สามารถใช้สิทธิตามมาตรานี้ได้

5.สิทธิที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายคนทำการประดิษฐ์หรือออกแบบร่วมกัน ตามกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 15 คู่สมรสของผู้ประดิษฐ์ หรือออกแบบร่วมแต่ละคนย่อมมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกับผู้ประดิษฐ์ หรือออกแบบนั้น

กรณีของลิขสิทธิ์กฎหมายไม่มีบทบัญญัติเรื่องผู้สร้างสรรค์ร่วม คงมีบัญญัติไว้เฉพาะอายุการคุ้มครองงานที่สร้างสรรค์ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่มีการบัญญัติไว้จึงต้องนำหลักเกณฑ์ เรื่องกรรมสิทธิ์รวมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ และคงนำมาใช้กับคู่สมรสของเจ้าของลิขสิทธิ์ ในการจัดงานสร้างสรรค์ร่วมนั้นเช่นกัน

6.สิทธิตามกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 36 คือ ผลิต ใช้ ขาย หรือมีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือกรรมวิธีตามสิทธิบัตร ซึ่งคู่สมรสย่อมใช้สิทธิ และมีสิทธิจัดการสิทธิบัตรตามมาตรานี้ด้วย

กรณีของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ มาตรา 15 คือ สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับ หรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิคู่สมรสย่อมใช้สิทธิ และจัดการได้รวมถึงการโอนสิทธิในลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ยกเว้นการใช้สิทธิตามหลักธรรมสิทธิ์ในมาตรา 18 เพราะถือเป็นสิทธิส่วนตัวของผู้สร้างสรรค์โดยแท้ คู่สมรสคงทำได้ในลักษณะ การรักษาสิทธิของผู้สร้างสรรค์ในการได้แสดงตนว่า เป็นผู้สร้างสรรค์ และห้ามผู้รับโอนสิทธิ หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือนตัดทอน ดัดแปลง หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์เท่านั้น

7.สิทธิในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิหรือโอนสิทธิให้แก่บุคคลอื่นตามกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 38

กรณีของลิขสิทธิ์ได้กล่าวในข้อ 6. แล้ว

8.สิทธิในการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ตามกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 43 กรณีของลิขสิทธิ์ไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้

จากการที่ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรเป็นประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาที่จัดได้ว่า เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามกฎหมายพิเศษ และถือเป็นทรัพย์สินที่สามารถได้มาระหว่างสมรสทำให้เป็นสินสมรส ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเฉพาะ การพิจารณาและบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้นั้นด้วย แต่กฎหมายทั้งสองฉบับไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิในการจัดการลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรของคู่สมรสไว้โดยตรง จึงต้องพิจารณา กฎหมายประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ การจัดการสินสมรสของคู่สมรสในทรัพย์สินทางปัญญาเปรียบเทียบลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตร โดยดร.ปภาศรี บัวสรรค์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *