วาระทางการเมืองผ่านฐานคิดสตรีนิยม มายาคติทางเพศ

มายาคติทางเพศยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงและการถูกเลือกปฏิบัติและการพัฒนากลไกคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและเพศหลากหลาย ที่ผ่านมามีการศึกษาและงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและความเสมอภาคระหว่างเพศที่ชี้ให้เห็นว่า การสร้างความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางเพศอย่างแท้จริง แต่ก็ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะยังมีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผนวกกับค่านิยมทางสังคมที่ครอบงำผู้หญิงให้อยู่ใต้อำนาจ ทำให้ผู้หญิงไม่ต่อสู้รักษาสิทธิของตนเอง แม้จะมีกฎหมายเปิดช่องให้แล้วก็ตาม ด้วยมายาคติทางเพศที่ยังแข็งตัว การบังคับใช้กฎหมายจึงยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนทำงานด้านการยุติความรุนแรงและการขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

การสร้างความรู้ความเข้าใจกับสังคมเพื่อลดคติและการเหยียดเพศ ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้หญิงทำมาอย่างต่อเนื่อง ในยุคก่อนที่สื่อสังคมจะได้รับความนิยม องค์กรผู้หญิงสามารถสร้างช่องทางในการสื่อสารกับสังคมได้อย่างมีประสิทธิผลเพราะมีความใกล้ชิดกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่ให้ความสนใจและการสนับสนุนการรณรงค์ และสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณและสร้างแรงกดดันให้กับผู้กำหนดนโยบายและออกกฎหมาย

ความสำเร็จในการสร้างสำนึกสาธารณะในเรื่องสิทธิผู้หญิง อาจดูได้จากความสำเร็จเชิงประจักษ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากปรากฏการณ์การปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงที่เกิดขึ้น ตัวแสดงในการปกป้องสิทธิทางเพศนั้นขยับมาสู่ตัวแสดงที่นอกเหนือจากรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือสถาบันการศึกษาไปสู่กลุ่มประชาชนและสามัญชนที่แสดงจุดยืนปฏิเสธและประฌามการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้หญิงว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมนี้แล้ว ส่งผลให้เกิดกระแสกระเพื่อมผ่านสื่อสังคมและสื่อกระแสหลัก ทำให้ผู้กระทำได้รับการตักเตือนและต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด เช่น กรณีโปสเตอร์รณรงค์ง่วงไม่ขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 ของกลุ่มงานจราจร สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นรูปนายตำรวจเอามือลูบศีรษะผู้หญิงที่นั่งต่ำกว่าและอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การตั้งกลุ่มสื่อสังคมเพื่อวิพากษ์และต่อต้านการทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องโรแมนติกในละครโทรทัศน์

การสื่อสารกับสังคมยังเป็นงานสำคัญในงานสร้างความเป็นธรรมทางเพศ แต่ก็พบว่า ในปัจจุบัน เมื่อสื่อสังคมแพร่หลายองค์กรผู้หญิงหลายองค์กรประสบกับปัญหาสื่อสารสาธารณะ ยังขาดการสื่อสารกับสังคมและยังไม่ได้ใช้สื่อสังคมเพื่อประโยชน์ในงานรณรงค์มากนัก ส่วนหนึ่งที่กระแสสตรีนิยมในปัจจุบันเหมือนมีช่องว่างกับสาธารณะชนเพราะไม่สามารถปรับตัวเรื่องการสื่อสารมาสู่การสร้างเนื้อหาเพื่อสื่อผ่านสื่อสังคมได้ เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่า ขาดนักสื่อสารผ่านสื่อสังคมที่มีความเข้าใจสตรีนิยม องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารสาธารณะในปัจจุบันจะต้องสามารถผลิตเนื้อหาเพื่อสื่อสารสังคมได้เอง เพราะไม่อาจพึ่งพิงนักสื่อสารมวลชนของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อประเภทอื่นอย่างในอดีตที่ความนิยมกำลังลดลงเรื่อย ๆ ในประเทศไทยองค์กรที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ นับว่า ประสบความสำเร็จในการรณรงค์เพื่อสิทธิของเพศทางเลือกและการสร้างความยอมรับในทางอัตลักษณ์ให้กับสังคมได้ดีกว่าองค์กรที่ทำงานส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในมิติอื่น ๆ เพราะมีศักยภาพในการผลิตเนื้อหาและประเด็นในการสื่อสารในช่องทางที่สร้างได้เอง การขับเคลื่อนการสื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่องและอย่างมียุทธศาสตร์จะช่วยกัดเซาะมายาคติทางเพศ นอกจากจะต้องทำงานกับสาธารณชนแล้ว อีกด้านที่สำคัญคือ การทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเรื่องการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้หญิงและเพศหลากหลายในสถาบันทางสังคมการเมืองของประเทศให้สามารถตั้งคำถามกับความเข้าใจเรื่องเพศและมายาคติที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของงานขจัดความไม่เป็นธรรมทางเพศ เพื่อที่จะนำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงงานที่ตนทำเพื่อลดอุปสรรคอันมีที่มาจากอคติทางเพศในการส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *