การแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ กฎหมาย

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

  1. กรณีถูกข่มขืน ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ควรอาบน้ำหรือชำระล้างร่างกายหรือทำประการใด ๆ ที่อาจทำให้สภาพที่เป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่ได้ถูกกระทำ เพื่อให้สามารถเก็บหลักฐานได้ชัดเจน ครบถ้วน
  2. การตรวจร่างกายอย่างเร่งด่วนไม่ว่าตัดสินจะดำเนินคดีหรือไม่ จะเป็นผลดีในแง่การป้องกันการติดโรคจากเพศสัมพันธ์ ป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำได้ภายใน 48 ชั่วโมง และเมื่อตัดสินใจที่จะแจ้งความร้องทุกข์เมื่อใด พยานหลักฐานทางการแพทย์ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ว่าถูกละเมิดทางเพศจริงเพราะการดำเนินคดีการละเมิดทางเพศในไทย ให้ความสำคัญกับผลการตรวจ ร่างกายของแพทย์
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวตามลำพัง เพราะอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็น ผลร้ายกับตนเอง เช่น พยายามฆ่าตัวตาย
  4. ให้กำลังใจตนเอง ไม่ควรลงโทษตนเอง ไม่มีผู้ใดต้องการถูกข่มขืน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความผิดของตนเอง แต่เป็นความผิดของชายที่มากระทำต่างหาก รำลึกอยู่เสมอว่า คุณค่า อนาคต ความสามารถของเรามิได้สูญเสียไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  5. หาบุคคลที่ไว้ใจ เช่น พ่อแม่ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาหรือแจ้งความนำคนผิดมาลงโทษ
  6. ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่หรือกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ได้เพราะตามกฎหมาย ถือเป็น เจ้าพนักงานเช่นกัน เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง ทั้งนี้ให้แจ้งความในทันทีที่สามารถจะทำได้ ในท้องที่ที่เป็นสถานที่เกิดเหตุ
  7. ตั้งสติและพิจารณาว่า มีผู้ใดจะเป็นพยานในเหตุการณ์นั้น พยายามจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือในศาล

การช่วยเหลือกรณีผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเด็ก

  1. กรณีที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่
    1. อย่าปฏิเสธเด็ก จงเชื่อเด็กไว้ก่อน แม้ว่า เรื่องเด็กเล่าจะเชื่อยากเพียงใด เพราะถ้าเด็กสร้างเรื่องขึ้นมา แสดงว่า เด็กกำลังมีปัญหาด้านอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน
    2. รับฟังอย่างสงบ เมื่อเด็กเล่าให้ฟังพยายามให้เด็กค่อย ๆ เล่าลำดับเหตุการณ์ วัน เวลา สถานที่ ผู้กระทำ ด้วยการซักถามประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ก่อนที่เด็กจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อฟังเด็กเล่าอย่าแสดงกิริยาอาการใด ๆ อย่างชัดแจ้ง เพราะจะมีผลทำให้เด็กไม่กล้าเล่ารายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด
    3. ปลอบโยน ให้กำลังใจ และให้ความมั่นใจแก่เด็กว่าเราจะปกป้องคุ้มครอง เขาให้ปลอดภัย บอกให้เด็กทราบว่า การที่เขาเล่าให้เราทราบเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว
    4. วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากเด็ก และหากเป็นเรื่องที่ไม่จริง รายละเอียดและข้อเท็จจริงนั้นจะไม่ชัดเจน ไม่ปะติดปะต่อ การเล่าหลายครั้งของเด็กจะไม่ตรงกัน ซึ่งหากเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและอารมณ์ ก็ควรให้การพิจารณาช่วยเหลืออย่างเหมาะสมต่อไป
  2. กรณีทราบแน่ชัดว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
    1. ควบคุมอารมณ์ในระหว่างพูดคุยให้ได้ รับฟังข้อมูลจากเด็กอย่างมีสติ ไม่ควรแสดงอาการโวยวาย โกรธเคือง หรือมีความวิตกกังวลให้เด็กเห็น เพราะอาจจะทำให้เด็กตกใจ เด็กกลัวจนไม่กล้าบอกความจริง และเด็กอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ
    2. ปลอบโยนให้กำลังใจ และยืนยันว่า เด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากผู้กระทำ ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษ และการที่เด็กเล่าให้ผู้ใหญ่ทราบเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
    3. พาเด็กไปไว้ในที่ปลอดภัย และมีหลักประกันเกี่ยวกับอนาคตของเด็ก
    4. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กสวมใส่ขณะที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย ฯลฯ ที่ผู้กระทำความผิดทิ้งร่องรอยไว้ ตรวจร่องรอยความเสียหายที่ร่างกายเด็กถ่ายภาพไว้ด้วย (ถ้าทำได้) ส่งตัวเด็กเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุด ทันที อย่าชำระล้างร่างกายของเด็กก่อนของตรวจรักษา จดชื่อแพทย์ รวมทั้งวันเวลาสถานที่ขณะที่ตรวจรักษาไว้ด้วย
    5. แจ้งตำรวจ กรณีที่ผู้ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเป็นคนแปลกหน้าให้แจ้งตำรวจทันที เล่ารายละเอียดทุกอย่างเท่าที่ทราบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเด็กอื่นต่อไป
    6. แจ้งหน่วยงานทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อขอความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ในการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจและอารมณ์ให้เด็กและครอบครัว
    7. การให้ที่พักปลอดภัยแก่เด็ก
    8. การขอคำปรึกษาว่าควรจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหรือไม่ แม้ว่า ควรจะฟ้องร้องทุกกรณี ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาความเสียหายที่จะเกิดแก่จิตใจและอารมณ์ของเด็ก ที่เป็นผลจากการดำเนินคดีเป็นสำคัญ

การดำเนินการช่วยเหลือด้านกฎหมาย

  1. กรณีที่ต้องพาเด็กไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
    1. ถ้าควรดำเนินคดีอาญา ต้องอธิบายรายละเอียดให้เด็กฟังว่า จะต้องไปที่สถานีตำรวจทำไป และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะซักถามอะไรจากเด็กบ้าง เช่น หนูถูกใครทำอะไรบ้าง เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร ถูกกระทำกี่ครั้ง
    2. ปลอบเด็กไม่ให้วิตกกังวลหรือหวาดกลัวที่จะตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาตามความจริง เพราะจะทำให้การดำเนินการเสร็จอย่างรวดเร็วไม่ต้องถูกซักถามในสิ่งที่ไม่ต้องการพูดถึงซ้ำอีก
    3. การสอบสวน ตำรวจจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 ทวิ ดังนี้
      1. ต้องมีผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจปกครอง หรือบุคคลอื่นตามที่ผู้เสียหายร้องขอให้มีเข้าร่วมฟังการสอบสวน
      2. ต้องมีอัยการ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมด้วย
      3. ตำรวจต้องส่งตัวผู้เสียหายไปตรวจหาร่องรอยการข่มขืน เช่น คราบอสุจิ บาดแผล
      4. ถ้าเป็นไปได้ ควรขอให้มีนายตำรวจที่เป็นตำรวจหญิงทำการสอบสวนจะดีที่สุด
    4. หลังการสอบสวน ถ้าร้อยเวรนำบันทึกสอบปากคำให้ผู้เสียหายลงชื่อ ผู้ปกครองต้องอ่านให้ละเอียดว่า ตำรวจลงข้อความครบถ้วนตามที่ผู้เสียหายบอกหรือไม่ ถ้าเห็นว่า ยังไม่ถูกต้องก็บอกให้ตำรวจผู้สอบลงให้ถูกต้อง ถ้าตำรวจไม่ทำ ก็อย่าลงชื่อเด็ดขาด และควรบอกผู้ที่ร่วมฟังให้รับรู้ทุกคน ถ้าผู้ที่เข้าร่วมรับไม่ทักท้วง ให้ตำรวจ ไม่ลงข้อความตามที่เป็นจริง ก็ควรไปร้องกับหัวหน้าสถานีตำรวจทันที
    5. กรณีที่เด็กยังไม่มีความพร้อมจะให้การ หรือไม่สามารถให้การได้จนจบความ เพราะปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ให้ขอผัดผ่อนและส่งเด็กให้จิตแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐตรวจรักษา หรือส่งเด็กพบนักจิตวิทยาเด็ก
  2. กรณีที่เด็กต้องให้การต่อศาล
    1. เตรียมความพร้อมของเด็ก โดยการอธิบายบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการ ผู้พิพากษา ทนายจำเลย ทนายโจทก์ (ถ้ามี) พยานโจทก์ พยานจำเลย หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นไปได้ให้พาเด็กไปร่วมฟังการพิจารณาคดีอื่น ๆ ของศาล เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับบรรยากาศในศาล
    2. ปลอบโยน ให้กำลังใจ เพื่อให้คลายความกังวลจากบุคคลต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ในศาล
    3. ประสานงานกับพนักงานอัยการหรือทนายโจทย์ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย (ในกรณีจำเลยเป็นบุคคลใกล้ชิดเด็ก)
    4. ในกรณีที่เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจอย่างรุนแรง ไม่ว่าขณะที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศใหม่ ๆ หรือในระหว่างพิจารณาคดีก็ตาม ควรประสานงานกับพนักงานอัยการ หรือทนายโจทย์เพื่อแถลงให้ศาลทราบถึงสภาพเด็ก ถ้าเป็นไปได้ควรให้แพทย์ผู้รักษาพยาบาลมาเบิกความในฐานะพยานด้วย
    5. กรณีที่ศาลพิพากษามีผลร้ายต่อจำเลยที่เป็นบุพการี หรือผู้ใกล้ชิดเด็ก ต้องเอาใจใส่ปลอบโยน และชี้แจงต่อเด็กว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ และเด็กไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดต่อใคร ทั้งสิ้น ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เป็นคนแปลกหน้า ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า กระบวนการยุติธรรมยังมีข้อบกพร่อง และให้เด็กได้รับการบำบัดฟื้นฟู

ที่มาบทความ เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ โดยดวงพร เพชรคง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *