โหราศาสตร์

วันหัวเรียงหมอน

เมื่อจะทำพิธีมงคลสมรส หรือจะอยู่กินกับเมียใหม่นั้น แม้ท่านจะหาฤกษ์ยามวัน เดือน ปี อย่างอื่นได้ดีแล้วก็ตาม แต่ท่านควรเลือกดูตำราวันหัวเรียงหมอนนี้อีก ต้องเลือกให้ได้ในวันหัวเรียงหมอน จึงจะอยู่ด้วยกันยืนยาวนานและราบรื่น ดังต่อไปนี้

เดือนใดก็ตาม ขึ้น 2 ค่ำ 7 ค่ำ 10 ค่ำ 11 ค่ำ 12 ค่ำ 13 ค่ำ เป็นวันหัวเรียงหมอน แต่งงานสมรสดีนักแล นอกนั้น ไม่ดีอย่าทำเลย

เดือนใดก็ตาม แรม 4 ค่ำ 7 ค่ำ 10 ค่ำ 13 ค่ำ 14 ค่ำ เป็นวันหัวเรียงหมอน แต่งงานสมรสดี นอกนั้น ไม่ดีอย่าริทำเลยไม่ดีนักแล

วันเสียประจำเดือน

คือ เดือนใดที่ตรงกับวันเม็งที่ห้ามเรียกว่า “วันเสียประจำเดือน” แต่ละเดือนไป คือ

วันพละสัททา หรือวันเสียประจำเดือน

เกี๋ยง ห้า เก้า ระวิ จันทัง เสียอาทิตย์กับจันทร์

ยี่ หก สิบ อังคารัง เสียอังคารวันเดียว

สาม เจ็ด สิบเอ็ด โสรีคุร เสียเสาร์กับพฤหัส

สี่ แปด สิบสอง สุโขพุธา เสียสุกร์กับพุธ

วันจม วันฟู

เป็นวันสำหรับดูประกอบการมงคล ถ้าหากแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ และทำมงคลอื่น ๆ ให้ใช้วันฟู แต่ถ้าแต่งงาน บวชพระ ให้ใช้วันจม

เดือนวันจมวันฟู
เกี๋ยงศุกร์เสาร์
ยี่เสาร์อังคาร
สามอาทิตย์พุธ
สี่จันทร์พฤหัสบดี
ห้าอังคารศุกร์
หกพุธเสาร์
เจ็ดพฤหัสบดีอาทิตย์
แปดอาทิตย์อังคาร
เก้าจันทร์พฤหัสบดี
สิบอังคารศุกร์
สิบเอ็ดพุธเสาร์
สิบสองพฤหัสบดีอาทิตย์

วันดิถีทั้ง 5

วันนันทาดิถี

คือ ถ้าเดือนใดก็ตามที่ขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ 6 ค่ำ 11 ค่ำ ตรงกับวันศุกร์ ชื่อว่า วันนันทาดิถี

มีประวัติว่า มีหญิงคนหนึ่งเป็นมเหสีของพระราชา ต่อมาพระราชาทรงเบื่อหน่ายต่อนาง ทำให้นางเสียใจ จึงไปถามปุโรหิตประจำราชสำนัก โหรจึงบอกวิธีแก่นางว่า ให้นางไปเอาเสื้อของพระราชากับของนางมาทำเป็นตุงตัวหนึ่ง แล้วนำไปถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธรูปในวันนันทาดิถี นางก็ทำตาม ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายตุงในวันนันทาดิถีนั้น จึงทำให้พระราชากลับมารักนางเหมือนเดิม โบราณอาจารย์จึงถือว่า วันนันทาดิถีเป็นวันมงคลดี ดังคำท่านอธิบายเป็นโคลงไว้ว่า

นันทาควรก่อสร้าง ฆราวาส์

ทังพระวิหารศาลา ใหม่หม้า

ขุดสระรูปพุทธา ชินธาตุ มวลเหย่

การท่องเทียวทางค้า เสพเฝ้าภูบาล (พระมหาราชครู)

นันทาลุลาภล้วน วันดี

ยอยกมหาเถรชี ท่านเจ้า

สังฆราชสวามี อุปราช มวลเหย่

อภิเษกเจ้าเหง้า ตัดช่อ ตุงไชย (พระครูอดุลสิลกิตติ์)

วันภัทราดิถี

คือ ถ้าเดือนใดก็ตามที่ขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ ตรงกับวันพุธ ชื่อว่า “วันภัทราดิถี”

มีประวัติว่า ยังมีนายบ้านผู้หนึ่งจะสร้างบ้านจึงไปถามปุโรหิตว่า จะทำในวันไหนดี ปุโรหิตบอกว่า ให้ทำในวันภัทราดิถี นายบ้านก็ทำตามนั้น ต่อมาไม่นานในวันหนึ่งพระราชาเสด็จออกจากพระนครไปทางนั้น เห็นนายบ้านสร้างเรือนใหม่สวยงามดี เมื่อเดินผ่านไปแล้วตอนเสด็จกลับผ่านบ้านหลังนั้นอีก บังเอิญฝนตกลงมา พระราชาไม่รู้ว่า จะเสด็จไปหลบฝน ณ ที่ใดจึงตรัสแก่เสนาอามาตย์ผู้ติดตามว่า เมื่อสักครู่นั้นที่ผ่านมาเห็นคนกำลังสร้างบ้านหลังหนึ่ง เราควรจะไปพักหลบฝน ณ ที่นั้น จึงเสด็จเข้าไปแล้วตรัสกับนายเจ้าของบ้านนั้นว่า เรามาพักอยู่บ้านหลังนี้จงเกิดเป็นมงคลแก่บ้านหลังนี้เถิด แล้วจึงพระราชทานเครื่องประดับที่ทำด้วยทองแก่เจ้าของบ้านเป็นอันมาก เหตุนั้นโบราณจารย์จึงถือว่า วันภัทราดิถีเป็นวันมงคลดี ดังคำท่านอธิบายเป็นโคลงว่า

ภัทราควรส่งได้ สารศรี

นำบ่าวสาวนารี ชื่นช้อย

สระสรงเกศเกศี สัพพะเครื่อง เคราเหย่

แหวนธัมรงค์นิ้วน้อย มาศม้าวขระโจมคำ (พระมหาราชครู)

ภัทราควรยกย้าย เคหา

สลักแต้มรูปา แต่งต้อง

แปงเรือนตัดไม้มา สร้างใหม่ ดีเหย่

แถมนามศักดิ์แล้วหย้อง วุฒิราชเรืองบาน (พระครูอดุลสีลกิตต์)

ที่มาบทความ วันดี วันเสีย ฤกษ์ยาม ตามปฏิทินล้านนา ฉบับวัดธาตุคำ https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/tLAfmFTcHRfxBwOCzDOqKJSib70N2XMtOinGyrMk.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *