ความเครียด เศรษฐกิจพอเดียง พระพุทธศาสนา

“ความเครียด”

“ความเครียด” เป็นคำที่บุคคลส่วนใหญ่รับรู้ และให้ความหมายไปในทางลบ โดยบุคคลทั่วไปมักจะตีความหรือบอกความรู้สึกให้คนอื่นรับรู้ถึงความเครียดที่เกิดขึ้น ด้วยภาษาพูดของท้องถิ่นหรือตามวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล ด้วยภาษาพูดของท้องถิ่นหรือตามวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล เช่น เบื่อ เซ็ง เหนื่อย เพลีย ไม่มีความสุข ขัดใจ คับข้องใจ เป็นต้น โดยแท้จริงแล้ว ความเครียดเป็นประสบการณ์ที่อยู่รอบ ๆ ตัวของมนุษย์ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่เลือกเพศ และวัย เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถประสบได้ในชีวิตประจำวัน โดยบุคคลแต่ละบุคคลจะมีการตอบสนองหรือรับรู้ประสบการณ์ของความเครียดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิหลัง วัฒนธรรมลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล โดยบุคคลมักรับรู้ว่า ตนเองมี “ความรู้สึกเครียด” จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองในด้านต่าง ๆ ทั้งสรีรวิทยา ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และสังคม ความเครียดที่เกิดขึ้นมีหลายระดับหากบุคคลมีความเครียดในระดับต่ำจะช่วยทำให้บุคคลเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานและการดำเนินชีวิต แต่หากบุคคลมีความเครียดอยู่ในระดับรุนแรงและไม่สามารถจัดการหรือบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นได้จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของบุคคลประสบกับปัญหา นำปสู่ความเครียดเรื้อรัง และเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาในภายหลัง

ความเครียดในมุมของแนวคิดตะวันตก มองว่า เป็นภาวะที่บุคคลไม่สามารถปรับตัวหรือสูญเสียความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในชีวิต ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดตามแนวคิดตะวันตกได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นระยะเวลานานและมีมุมมองที่หลากหลาย[i] ดังเช่น เซลเย่ (1956) กล่าวว่า ความเครียดไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งเร้า แต่ขึ้นอยู่กับการตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเร้าชนิดใดก็ตาม การตอบสนองนั้นจะเหมือนกันโดยจะเหนี่ยวนำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงภาวะทางชีวภาพ และแสดงให้รู้ได้โดยการเกิดกลุ่มอาการปรับตัวแบบทั่วไป (General adaptation syndrome: GAS) และกลุ่มอาการปรับตัวเฉพาะที่ (Local adaptation syndrome: LAS) ซึ่งกลุ่มอาการปรับตัวดังกล่าวมักเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน โดยร่างกายมีการปรับตัวแบบทั่วไปเกิดขึ้นก่อนและกลุ่มอาการปรับตัวเฉพาะที่เกิดขึ้นตามมา” ต่อมาในปี 1967 มีนักทฤษฎีเชิงสิ่งเร้า (Stimulus – Oriented Theories) ถูกพัฒนาขึ้นโดย Holmes และ Rahe ทฤษฎีนี้เชื่อว่า “ความเครียด” เกิดจากสิ่งเร้าที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมของบุคคล เน้นที่เหตุการณ์ (Event) และการเกิด (Occurrence) ถ้าเหตุการณ์ใดก็ตามนำไปสู่ความยุ่งยากทางด้านจิตใจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมหรือส่งผลต่อสมรรถนะของบุคคล (Performance) ในการปฏิบัติหน้าที่เหตุการณ์นั้น ๆ เรียกว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด (Stressor) Homes และ Rahe (1967) กล่าวว่า “ความเครียด” คือ ปริมาณการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งส่งผลให้มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีความหลากหลาย อาจส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งทางบวก ทางลบ และมีความแตกต่างกับในระดับ (Degree) ของการปรับตัวและทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้และกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ได้แก่ ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ (Interaction theories) ทฤษฎีนี้ได้เริ่มพัฒนามาเป็นระยะเวลานาน แต่ตัวแบบที่ชัดเจนที่สุดถูกพัฒนาขึ้นโดย Lazarus (1984) กล่าวถึง “ความเครียด” ไว้ว่า “ความเครียดไม่ใช่สิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของบุคคล และไม่ใช่การตอบสนอง แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interaction) ของบุคคลกับสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด เมื่อบุคคลเผชิญกับความเครียดรวมทั้งสาเหตุของความเครียดต้องอาศัยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนเพื่อประเมินค่าความเครียดด้วยการรู้คิด” แม้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมเดียวกัน บุคคลแต่ละคนอาจจะแปลความหมายแตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า สิ่งเร้าจากภายนอกส่วนใหญ่ไม่สามารถจะบอกได้ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการประเมินค่าด้วยการรู้คิดของแต่ละบุคคล

ความเครียดในมุมมองของแนวคิดตะวันออกได้ถูกพัฒนามาเป็นระยะเวลานานเช่นกัน โดยมีความสัมพันธ์กับแนวคิดของศาสนาและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องที่นั้น ๆ โดยมองว่า ความเครียดเป็นภาวะที่บุคคลขาดความสงบสุขในจิตใจ

เมื่อกล่าวถึงแนวคิดความเครียดตามแนวคิดพระพุทธศาสนามองเห็นได้ว่า “ความเครียด” คือ ความทุกข์ ขาดความสุข ความสงบในจิตใจ ซึ่ง “ความทุกข์” เป็นนามธรรม แปลตามรู้ศัพท์ แปลว่า ทนได้ยาก อันหมายถึง สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่ทนอยู่ได้ยาก จะดำรงอยู่ในสภาวะเดิมของมันได้ยาก เพราะมีอันจะต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์ตามแนวคิดพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท[ii] คือ 1. ทุกข์เวทนา ความรู้สึกว่า ทุกข์ หรืออาการที่มนุษย์เสวยทุกข์ 2. ทุกข์ในอริยสัจ ได้แก่ ความทุกข์ เพราะมีตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา (ความทะยานอยากให้อารมณ์ที่น่าใคร่) ภวตัณหา (ความทะยานอยากเป็นต่าง ๆ ) และวิภวตัณหา (ความทะยานอยากไม่เป็นนั้นเป็นนี่) และ 3. ทุกข์ในไตรลักษณ์ ได้แก่ ความทุกข์เพราะความเกิด – ดับ ของสังขาร ซึ่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก และการปรุงแต่งภายในความคิดและจิตใจของมนุษย์ก่อให้เกิดอารมณ์ที่พึงพอใจ เฉย อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ การเกิดขึ้นของอารมณ์เหล่านี้ เป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ที่ส่งผลให้บุคคลมีความเครียดเกิดขึ้น อีกหนึ่งแนวคิดทฤษฎีที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย และมักจะได้ยินคุ้นหู ได้แก่ แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เศรษฐกิจ” ทุกคนมักมองในประเด็นของเศรษฐกิจ การบริโภค การสร้างความมั่งคั่งเป็นหลัก แต่เมื่อเรามองความหมายตามตัวหนังสือ ในด้านพระพุทธศาสนา คำว่า “เศรษฐ” หมายถึง ประเสริฐ เลิศ ดี ส่วนคำว่า “กิจ” หมายถึง กิจกรรมหรืออาชีพการงาน ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า “เศรษฐกิจ” คือ กิจที่ประเสริฐที่สุดในฐานะที่จะทำให้มนุษย์อยู่กันอย่างผาสุข[iii]

แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ “ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกัน ในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ ในการวางแผนดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจ ในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี[iv] จากหลักแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจะเห็นได้ว่า มุ่งเน้นให้บุคคลปฏิบัติตนและดำรงตนให้อยู่ในทางสายกลาง แม้ยังไม่มีการเขียนหรือระบุไว้อย่างชัดเจนถึงการเกิดความเครียดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เมื่อศึกษาที่มาของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงปีวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 พบว่า มีต้นเหตุมาจากการมุ่งแสวงหาความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง เกิดภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรง และมีการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอยู่ตลอดเวลา โดยการกระตุ้นกิเลสทำให้เกิดความอยาก ส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่แตก เพราะเป็นการเจริญเติบโตอยู่บนฐานที่ไม่มีความพร้อม ดังนั้น เมื่อมองถึงการเกิดความเครียดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงกล่าวได้ว่า การที่บุคคลขาดความพอดี ไม่ประมาณตน ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีความประมาทในการดำเนินชีวิต จึงส่งผลให้ชีวิตขาดความสมดุลเกิดปัญหา หรือความทุกข์ ตามมา นั่นก็คือ “เกิดความเครียดนั่นเอง”

กล่าวโดยสรุป แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดตามความคิดตะวันตกและตะวันออก พบว่า ทั้งสองแนวคิดมีมุมมองของความเครียดที่คล้างคลึงกัน ความเครียดตามแนวคิดตะวันตกเป็นการสูญเสียความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเผชิญกับสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ในชีวิต หากบุคคลสามารถปรับตัวหรือเผชิญกับสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ บุคคลนั้นก็จะกลับคืนสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนแนวคิดตะวันออกมองว่า ความเครียดเกิดจากความทุกข์ที่เกิดจากสิ่งเร้าจากภายนอก และการปรุงแต่งภายในจิตใจและความคิดของบุคคล ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ขาดความสุขและความสงบภายในจิตใจ  


[i][i] Rice, V.H. Theories of Stress and Its Relationship to Health. In : R.V.Hill, Editor. Handbook of Stress, Coping, and Health. 2en ed. Los Angeles: SAGE; 2012.

[ii] ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. (2550). ทุกข์ในพระพุทธศาสนา : ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎกออรถกถาฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา. โครงการธรรมศึกษาวิจัยมหาบัณฑิตพุทธศาสนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

[iii]พระมหาศิริวัฒน์ อริยเมธี (จันต๊ะ). (2549). วิเคราะห์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จากมุมมองของพระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่ : เชียงใหม่โรงพิมพ์และแสงศิลป์.

[iv]คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง. (2549). นานาคำถาม เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *