ลักษณะของตราสินค้าที่ดี

ลักษณะของตราสินค้าที่ดี

ตราสินค้าที่ดีมีลักษณะสำคัญหลายประการ อาทิ ความสม่ำเสมอและสอดคล้องของคุณภาพสินค้ากับข้อความที่สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย และการมีชื่อสินค้าที่ดี ดังนี้

  1. ควรง่ายต่อการออกเสียงและจำได้ง่าย (Simple to Spell)
  2. ควรมีลักษณะสั้น ๆ และง่ายต่อการจำ (Short and Easy to Remember) เพราะจะช่วยให้การส่งเสริมการขายและการโฆษณาทำได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการลดค่าใชจ่ายด้านเนื้อที่โฆษณาได้ด้วย ตัวอย่างตราสินค้าที่สั้น ๆ ได้แก่ บรีส และชาร์ป เป็นต้น
  3. ควรให้จินตภาพของสินค้าแก่ผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง (Imaginative) อาทิ เช่น ชื่อของยาสีฟันก็ควรจะมีลักษณะที่ควรแสดงความใกล้ชิด เช่น ใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถคาดคะเนได้ว่า ชื่อนั้นควรเป็นสินค้าอะไร
  4. แปลกและแตกต่าง (Unusual and Distinctive) โดยไม่ควรใช้คำนามเชิงสามัญ (Generic Name) ได้แก่ ชื่อที่อธิบายถึงผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น รถยนต์ก็ไม่ควรใช้ชื่อตราสินค้า “รถยนต์” เพราะนอกจากนี้ไม่แสดงถึงความแตกต่างของสินค้าแล้ว ชื่อดังกล่าวนี้หากตั้งขึ้นมา บริษัทอื่นก็สามารถจะใช้ชื่อเดียวกันนี้ได้ เพราะถือว่า ชื่อดังกล่าวไม่ใช่ตราสินค้าแต่เป็นชื่อที่บรรยายถึงสินค้าซึ่งทุกคนสามารถทำตามได้
  5. ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย (Protectable) การคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบการรายอื่นไม่สามารถปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบได้
  6. เป็นที่ยอมรับเป็นสากล (Universally Acceptable) กล่าวคือ ชื่อสินค้าจะต้องกล่าวได้โดยไม่เคอะเขิน หรือมีความหมายพ้องกับคำที่มีความหมายไม่ดีในอีกภาษาหนึ่ง เช่น คำว่า “Nova” มีความหมายว่า “ไม่วิ่ง” ในภาษาสเปน

เป้าหมายในการสร้างตราสินค้า

ในกรณีตราสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว และมีจำนวนสินค้าเข้าสู่ตลาดมากมาย สภาวเช่นนี้ผู้ผลิตจะสามารถควบคุมทิศทางของการรับรู้ของผู้บริโภคได้บ้างผ่านการออกแบบสินค้า คุณภาพและคุณสมบัติของสินค้า คุณค่าของสินค้า (Value) และภาพลักษณ์ของสินค้า (Image) ดังนั้น เป้าหมายของการสร้างตราสินค้า ได้แก่

  1. เพื่อให้ง่ายในการปกป้องสิทธิทางกฎหมายซึ่งเป็นของผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์
  2. เพื่อรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในตลาดซึ่งผู้ซื้อและผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถพบปะกันเพื่อสื่อสารกันได้โดยตรง
  3. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์ให้เกิดความแตกต่างกัน และมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด

นอกจากนี้ การสร้างตราสินค้าจึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า จะได้รับประโยชน์จากสินค้าและบริการ เช่นเดียวกัน เสมอจากการบริโภคตราสินค้าเดียวกัน ซึ่งรวมไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อสินค้าในแง่ของลักษณะทางกายภาพของสินค้า ประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับ ระดับราคา วิธีการใช้ และแหล่งผลิตหรือแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ด้วย

ตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 ประการ คือ Brand Vitality และ Brand Stature ตราสินค้าจะมี Vitality ได้ก็ต่อเมื่อ

  1. สามารถทำให้เกิดการแยกแยะความแตกต่าง (Differentiate) กับตราสินค้าคู่แข่งในความคิดของผู้บริโภคได้ และ
  2. ความแตกต่างนั้นต้องเป็นความต้องการที่มีความเกี่ยวพันกับผู้บริโภค

นอกจากนี้ จะเรียกว่า ตราสินค้าหนึ่งมี Stature ก็ต่อเมื่อตราสินค้านั้น

  1. ได้รับการยกย่องสูง (High Esteem) และ
  2. ผู้บริโภคเป้าหมายมีความคุ้นเคย (Familiarity) ต่อตราสินค้านั้นสูง

นอกจากนี้ ยังสามารถระบุความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ไว้ดังนี้

  1. หากตราสินค้าที่มีความคุ้นเคย (Familiarity) ต่อผู้บริโภคในระดับสูงแต่ไม่ค่อยได้รับการยกย่อง จะถือว่า ตราสินค้านั้นมีปัญหา จำเป็นต้องปรับปรุงคุณค่าของตราสินค้าเสียใหม่ก่อนที่จะทำการออกโฆษณาต่อไป
  2. กรณีที่ตราสินค้าที่มีความเกี่ยวพันสูงแต่ว่าผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับตราสินค้านั้น ๆ ต่ำ จำเป็นต้องเร่งทำการรณรงค์ให้ผู้บริโภคทราบถึงตราสินค้านั้น ๆ ให้มากขึ้น
  3. กรณีที่ตราสินค้ามี Vitality สูงแต่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคย (Familiarity) ต่ำจำเป็นต้องเร่งทำการโฆษณาตราสินค้านั้นให้มากขึ้น
  4. ตราสินค้าที่ความแตกต่างและความเกี่ยวพันค่อย ๆ ลดต่ำลงเรื่อย ๆ ตราสินค้านั้นก็กำลังจะได้รับการยกย่องลดน้อยลงและความคุ้นเคยในหมู่ผู้บริโภคลงเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า การสร้างตราสินค้าให้มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้นั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้สึกที่ดีมีระดับให้กับตราสินค้า สร้างความรู้สึกคุ้นเคยและความรู้สึกเกี่ยวพันแสวงหาจุดเด่นที่ตราสินค้ามีอยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภครู้จักเข้าใจและจดจำตราสินค้าได้ในแง่มุมที่ดี ทั้งยังสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างตราสินค้าคู่แข่งได้และอาจนำมาซึ่งคุณค่าทางใจบางอย่างแก่ผู้บริโภค

ที่มาบทความ ชฎาพร บางกรวย. (2008) การสร้างความเอมั่นต่อสินค้าไทยผ่าน Thailand’s Brand สู่ตลาดต่างประเทศ. กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์.  https://oldweb.ditp.go.th/contents_attach/78333/78333.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *