พระศิวะในคัมภีร์ปุราณะ

หลังยุคพระเวท พระรุทรในคัมภีร์พระเวทได้ลดความสำคัญลงแล้วเกิดเทพองค์ใหม่พระนามว่า “พระศิวะ” ขึ้นมาแทน สำหรับพระนาม “ศิวะ” นั้นหมายถึง “ความกรุณา” หรือชุบให้สะอาด เรื่องราวเกี่ยวกับพระศิวะในยุคก่อนการเกิดขึ้นของไศวนิกายปรากฏอยู่ในคัมภีร์ศิวอาคมกับคัมภีร์ศิวอุปนิษัท

จากนั้นเรื่องราวของการบูชาพระศิวะจึงปรากฏในคัมภีร์ปุราณะของไศวนิกายทั้งห้าคัมภีร์ คือ ลิงคปุราณ สิวปุราระ สกันทปุราณะ กูรมปุราณะ และพรหมาณฑปุราณะ ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวเกี่ยวกับพระศิวะในการรับรู้ของสังคมอินเดียโดยตรง นอกจากนี้ในคัมภีร์อัคนิปุราณะก็มีการกล่าวถึงพระศิวะไว้เช่นกัน

  • คัมภีร์ลิงคปุราณะ เป็นคัมภีร์ที่มีความยาว 12,000 โศลกกล่าวถึงการบูชาพระศิวะ โดยเฉพาะในรูปแบบของพระศิวลึงค์ และกล่าวถึงการอวตาร 28 ปางพระศิวะ
  • คัมภีร์ศิวปุราณะ (บางครั้งเรียกว่า วายุปุราณะ) เป็นคัมภีร์ที่มีความยาว 14,000 โศลก เป็นปุราณที่พระวายุ (พระพาย) เป็นผู้เล่ากล่าวถึงการสดุดีพระศิวะ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึง เรื่องการสร้างโลกการสืบต่อ และการสิ้นสุดของโลก ความศักดิ์สิทธิ์ในการทำสมาธิบริกรรมพึงพระศิวะ เป็นต้น
  • คัมภีร์กันทปุราณะ มีความยาว 84,000 โศลก เป็นปุราณะที่มีความยาวมาก แบ่งออกเป็น 6 สังหิตา (เล่ม) เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระสกันทะหรือพระสกันทกุมาร เทพเจ้าแห่งสงคราม ผู้เป็นโอรสของพระศิวะและพระอุมา – ปารวตี เรื่องการอภิเษกสมรสของพระศิวะกับพระนางอุมา – ปารวตี เรื่อง นคร โลก และเรื่องปรัชญาของไศวนิกาย เป็นต้น
  • คัมภีร์กูรมปุราณะ มีความยาว 8,000 โศลก กล่าวถึง เรื่องราวสมัยที่พระวิษณุอวตารเป็นเต่า (กูรมาวตาร) เป็นผู้เล่า ในปุราณะเรื่องนี้ กล่าวถึง การบูชาพระศิวะ การอวตารของพระศิวะ และถือว่า พระศิวะเป็นเทพสูงสุด
  • คัมภีร์พรหมาณฑปุราณะ มีความยาว 12,000 โศลก กล่าวถึงความเป็นมาของจักรวาลตามคำบอกเล่าของพระพรหม ซึ่งมีเรื่องราวของพระศิวะอยู่ในคัมภีร์นี้ด้วย

สำหรับกำเนิดของพระศิวะตามที่ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า พระศิวะเป็นโอรสของพระกาศยปะกับนางสุรภี หากพิจารณาจากตำนานเกี่ยวกับพระศิวะในคัมภีร์ปุราณะ พบว่า กำเนิดของพระศิวะมีความคล้ายคลึงกับกำเนิดของพระรุทรในคัมภีร์พระเวท ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่า พระศิวะในยุคปุราณะ คือ พระรุทรในสมัยพระเวทนั่นเอง

พระศิวะในยุคปุราณะนี้เองที่ได้รรับการยกย่องขึ้นเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งใพระเป็นเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ถือกันว่า พระศิวะ เป็นผู้ล้างหรือผู้ทำลาย แต่เนื่องจาก ในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ถือว่า สัตว์ไม่ตายสูญ หากคงวนเวียนเกิดอยู่วัฏสงสาร จึงไม่ถือว่า พระศิวะเป็นผู้ทำลายอย่างเดียว แต่ทรงเป็นผู้ที่สร้างใหม่ด้วย ดังนั้น จึงถือกันว่า เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นของใหม่ที่ดีขึ้น

สำหรับลักษณะของพระศิวะตามที่ปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ ในสมัยปุราณะ คือ พระกายสีขาว พระศอสีนิล พระเกศเจือแดง มุ่นมวยอย่างฤาษี มี 2 พระกรบ้าง 4 พระกรบ้าง 8 พระกรบ้าง หรือ 10 พระกรบ้าง ส่วนพระพักตร์มีพระพักตร์เดียว ยกเว้นในปางปัญจนะมี 5 พระพักตร์ มี 3 พระเนตร พระเนตรที่สามตั้งขึ้นตรงอยู่กลางพระนลาฏ ทรงสังวาลเป็นงู ทรงประคำทำด้วยกะโหลกศีรษะมนุษย์ ทรงสายธุรำ 1 สาย

พระศิวะมีพระมเหสี คือ พระอุมา มีพระโอรส คือ พระคเณศ (พระพิฆเนศวร) และพระสกันทกุมาร (พระขันธกุมาร) พระองค์ประทับบนเขาไกรลาส หากเสด็จลงมายังโลกมนุษย์จะประทับที่เมืองพาราณสี มีโคนนทิเป็นพาหนะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *