พระคเณศ (พระพิฆเนศ) เทพแห่งการเริ่มต้นที่ดี อมตะเทพอินเดีย ความรู้และปัญญายิ่งใหญ่

พระคเณศหรือพระพิฆเนศ (สันสกฤต: गणेश ทมิฬ: பிள்ளையார் อังกฤษ: Ganesha) เทพแห่งการเริ่มต้นที่ดี เป็นเทพเจ้าที่รู้จักมากที่สุดองค์หนึ่งในสังคมปัจจุบัน โดยทั่วไปมีความเชื่อกันว่า เป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จที่สามารถช่วยขจัดปัญหาอุปสรรค และเป็นเทพแห่งความฉลาดและสติปัญญา ตามประวัติพระคเณศเนโอรสของพระศิวะกับพระนางปารวตี ทรงมีเศียรเป็นช้าง พระกรรณกว้างใหญ่ งวงยาว ร่างกายเป็นมนุษย์ มี 4, 6 และ 8 กร แล้วแต่ภาคที่จะเสด็จมา

พระคเณศจัดเป็นเทพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาเหล่าทวยเพทของศาสนาฮินดูที่มีอยู่ในประเทศไทย พระคเณศในประเทศไทยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่สร้างขึ้นหรือผลิตซ้ำขึ้นในประเทศไทย และกลุ่มที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดีย

ตามคัมภีร์มุทคละและคเณศปุราณะ ได้ยกย่องให้พระคเณศเป็นเทพเจ้าสูงสุด และกล่าวถึงปางต่าง ๆ 32 ปาง มีหลายปางที่สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ขจัดอุปสรรคทั้งมวล และให้ตนประสบความสำเร็จ เป็นที่นับหน้าถือตา พระคเณศในวัยผู้ใหญ่มีมากับพันปาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการและวัตถุประสงค์ของผู้ศรัทธา และช่างผู้สร้าง อาทิ พระคเณศปางที่สอดคล้องกับบางอาชีพ เช่น ปางแพทย์ (พระคเณศสวมชุดกาวน์) ปางสอนหนังสือ (พระคเณศสอนหนังสือหนู) พระคเณศปางเล่นคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในประเทศอินเดีย รัฐบาลได้สร้างพระคเณศปางหย่อนบัตรเลือกตั้งขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ชาวอินเดียออกไปเลือกตั้งใน 2543 ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

พระคเณศ 32 ปาง ตามคัมภีร์มุทคละ และคเณศปุราณะ ประกอบด้วย 1) ปางเด็กน้อยน่ารัก 2) ปางคเณศรุ่นหนุ่ม 3) ปางเทพแห่งความจงรักภักดี 4) ปางเทพผู้กล้าหาญ 5) ปางเทพผู้ทรงพลัง 6) ปางผู้เกิดสองหน 7) ปางบันดาลความสำเร็จ 8) ปางเทพในลัทธิตันตระ 9) ปางผู้สร้างอุปสรรคแก่คนไม่ดี 10) ปางเทพผู้ปราดเปรียว 11) ปางผู้ปกป้องคนอ่อนแอ 12) ปางผู้ประทานความสำเร็จ 13) ปางผู้เป็นเลิศ 14) ปางผู้ประทานความสำเร็จ 15) ปางผู้ร่ายรำอย่างมีความสุข 16) ปางเทพตันตระ 17) ปางอักษรเดียว 18) ปางผู้ประทานพร 19) ปางหนึ่งในบทบูชาโอม 20) ปางผู้เป็นกำลังใจ 21) ปางผู้เป็นเลิศ 22) ปางผู้มีงาเดียว 23) ปางผู้สร้างสรรค์ 24) ปางผู้ลงฑัณฑ์มารร้าย 25) ปางผู้ปลดปล่อยมนุษยชาติให้เป็นไท 26) ปางแห่งวาราณสี 27) ปางเทพ 2 หน้า 28) ปางเทพ 3 หน้า 29) ปางผู้ขี่สิงห์ 30) ปางดาบสผู้ยิ่งใหญ่ 31) ปางผู้ช่วยไถ่บาป และ 32) ปางผู้ขจัดซึ่งควาทุกข์โศก

พระคเณศเป็นเทพเจ้าที่ขจัดอุปสรรค อีกทั้งยังเป็นเทพแห่งความฉลาดรอบรู้ในศิลปวิทยาต่าง ๆ  มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย เป็นเทพองค์หนึ่งที่พ่อค้าและพราหมณ์ชาวอินเดียซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายนำมาเผยแพร่ศาสนาสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 – 10 สำหรับสังคมไทย จากหลักฐานที่พบในปัจจุบัน สันนิษฐานกันว่า ยอมรับนับถือพระคเณศประมาณสมัยสุโขทัย ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า สังคมไทยมีความคุ้นเคยกับพระคเณศมาเป็นเวลานานและยังมีพลังสนองตอบต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้มข้น

คุณลักษณะของพระคเณศตามความเชื่อ สามารถตีความหมายในเชิงสัญญะได้ดังนี้

รูปสัญญะความหมายหรือความคิด
พระเศียรทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มได้ด้วยความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งมวล คิดใหญ่
พระกรรณใหญ่เฉลียวฉลาด มีความสามารถในการรับฟังและพิจารณาผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ
พระเนตรรีเล็กการมีสมาธิมั่น
งวงนำความรู้ที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นที่เป็นทวิลักษณ์ คือ ความผิด – ความถูก ความดี – ความชั่ว งวงยาวใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักการกระทำ หรือค้นหาสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาจากอุปสรรคต่าง ๆ และพบความสำเร็จสมความปรารถนา
งาข้างเดียวความซื่อสัตย์ ธำรงรักษาความดี ละเว้นความชั่ว
พระโอษฐ์เล็กพูดน้อย
พระนาภีใหญ่ความสามารถในการย่อยความดี และความชั่วทั้งหมดในชีวิตได้อย่างสงบ
หนูความหยาก แม้ว่า จะควบคุมได้ก็อาจเป็นสาเหตุแห่งหายนะได้ เมื่อมีความอยากต้องควบคุมไว้ไม่ให้มีอำนาจเหนือจิตใจเรา นอกจากนี้ ทรงใช้หนูเป็นพาหนะเดินทางด้วย จึงต้องศึกษาการใช้ความต้องการทั้งหลายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ขวานตัดความยึดติดทั้งหลาย ทรงใช้ขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนบริวารของพระองค์
โมทกะ[i]ประทานให้เราเป็นรางวัลที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์
ท่าประทานพรทรงประทานพรและปกป้องเส้นทางแห่งจิตวิญญาณเพื่อไปสู่พระเจ้า
โอมคำศักดิ์สิทธิ์ในภาษาสันสกฤตเขียนคล้ายเศียรของช้างที่ชูงวงขึ้น ॐ และในภาษาทมิฬ “โอม” เขียนเหมือนเศียรช้าง ௐ

จากคุณลักษณะและคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการนี้ รวมเรียกว่า “พหุลักษณ์” ของพระคเณศที่มีการให้ความหมายเชิงปรัชญาและศาสนาฮินดู ซึ่งเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับของคนต่างศาสนาทั่วไป พระคเณศเป็นเทพที่ขจัดอุปสรรคและเทพแห่งความฉลาดและสติปัญญา ยังเป็นตัวแทนสติปัญญาและอารมณ์ ระหว่างความเมตตาและความงาม เป็นเทพแห่งการเริ่มต้นที่ดี ดังนั้น ชาวฮินดูต้องกราบไหว้พระคเณศก่อนลงมือทำการสิ่งใด[ii]


[i] ขนมโมทกะหรือขนมลัฑทูทำเป็นลูกกลมขนาดมะนาวผลเล็ก ทำจากแป้งถั่ว (แป้งจะนา) ทอดในน้ำมันเนย ใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ทอดจนสุกทำเป็นขนมกลม ๆ บางทีทำด้วยแป้งถั่วเหลืองหรือทำด้วยมะพร้าวก็ได้ เอามะพร้ามขูดผสมแป้งสาลีหรือแป้งข้าวเจ้า ใส่น้ำตาลแล้วทอดจนสุก

[ii] โสภนา ศรจำปา. (2557). พระคเณศ อมตะเทพอินเดียสู่สังคมไทยในมิติภาษาและวัฒนธรรม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *