“ปุราณะ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” ของชาวฮินดู

ดินแดน “อินเดีย” อันเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญในซีกโลกตะวันออกได้ให้กำเนิดและเผยแพร่ความรู้เรื่องจักรวาลวิทยาไปยังดินแดนอื่น ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อม ๆ กับการเผยแผ่ศาสนาอันมีคติเรื่องจักรวาล ซึ่งจะอธิบายถึงลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและเชื่อมโยงมนุษย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งไว้เป็นสาระสำคัญ[1]

“จักรวาลวิทยา” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูที่กำเนิดขึ้นในอินเดียนั้น แรกเริ่มมีวิวัฒนาการมาจากสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน จนกลายมาเป็นการสร้างทฤษฎีขึ้นจากความเชื่อและจินตนาการของตนเอง ต่อมา ในยุคของพระเวทพัฒนาการเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากแนวคิดเดิมที่มีเพียงเทพเจ้าเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ความร้อน ความสว่าง เป็นต้น มีการพัฒนาไปสู่แนวความคิดที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จนพัฒนาไปสู่การแบ่งชั้นของการดำรงอยู่ของเทพประจำโลก อากาศ สวรรค์ และมีพัฒนาการไปสู่แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างโลกและจักรวาลตามที่ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดและทฤษฎีที่ว่าด้วย “จักรวาล” ไว้อย่างชัดเจน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และข้อมูลความเป็นไปของจักรวาลทั้งหมดไว้อย่างสมบูรณ์

“คัมภีร์ปุราณะ” เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งของศาสนาฮินดู นับได้ว่า มีความสำคัญเทียบเท่ากับคัมภีร์พระเวท จึงเรียกว่า “เวทที่ ๕” คัมภีร์ปุราณะเป็นเรื่องราวที่มีมาแต่โบราณกาล ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าแต่งขึ้นครั้งแรกเมื่อใดและมีจำนวนเท่าใด แต่มีการพบร่องรอยว่า เกิดขึ้นก่อนสมัยพระเวท เชื่อว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล

คัมภีร์ปุราณะจะต้องประกอบด้วย “ปัญจลักษณะ” คือ คุณสมบัติ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. สรฺค               เรื่องการสร้างโลก
  2. ปฺรติสรฺค          เรื่องการสร้างโลกขึ้นใหม่ หลังจากโลกถูกทำลายสิ้นแล้ว
  3. มนฺวนฺตร          เรื่องสมัยของพระมนุ มนุษย์คนแรกของโลก
  4. วํศานุจริต        เรื่องประวัติสุริยวงศ์ และจันทรวงศ์ของอินเดีย

คัมภีร์ปุราณะมีเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวกับประเทศอินเดีย ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง เป็นวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนอินเดีย ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนถึงการกำหนดรูปแบบของสังคม การเงิน ภูมิศาสตร์ การเมือง ปรัชญา ศาสนา และระบบการศึกษา

คัมภีร์ปุราณะเป็นคัมภีร์ที่ชี้ให้เห็นถึงความคิดและทฤษฎีที่ว่าด้วย “จักรวาล” อย่างเด่นชันมากที่สุด ในกระบวนทัศน์ที่เกี่ยวกับจักรวาล ซึ่งมีปรากฏอยู่ในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู[2] คัมภีร์ปุราณะที่เชื่อว่า มีความสำคัญที่สุดมีด้วยกัน 18 เล่ม เรียกว่า “มหาปุราณะ” โดยจักรวาลวิทยาที่กล่าวไว้ใน “มหาปุราณะ” นั้นอาจจะสรุปลักษณะสัณฐานของจักรวาลได้โดยย่อ คือ จักรวาลจะประกอบไปด้วยสรรค์ที่อยู่เหนือโลกขึ้นไปในอากาศ ส่วนโลกมนุษย์จะประอบไปด้วยทวีป 7 ทวีป แต่ละทวีปถูกแยกออกจากกันด้วยมหาสมุทร มีชมพูทวีปเป็นทวีปที่อยู่ตรงกลางมีเขาเมรุตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บนยอดเขาเมรุเป็นที่ตั้งของนครเทพต่าง ๆ บริเวณเชิงเขาเมรุจะมีภูเขาค้ำยันอยู่ที่ทิศทั้ง 4 ถัดจากนั้นจะมีทิวเขาซึ่งเป็นที่ประทับของบรรดาเทพชั้นรองอยู่อีกทั้ง 4 ทิศ และถัดออกมารอบนอกสุดของทิวเขาทางทิศเหนือเป็นที่ตั้งของเมืออุตตรกุรุ ทิศใต้เป็นที่ตั้งของเมืองภารตะ ทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของเมืองภัทราศวะ และทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของเมืองเกตุมาละ ส่วนโลกบาดาลจะอยู่ถัดจากพื้นแผ่นดินลงไปเบื้องล่าง ซึ่งเป็นที่อยู่ของอสูร ยักษ์ นาค นอกจากนั้น ยังมีนรกเป็นดินแดนแห่งการลงทัณฑ์คนบาป ซึ่งจะตั้งอยู่ใต้พื้นแผ่นดิน พระยมเป็นผู้ควบคุมนรก พื้นที่ขอบเขตทั้งหมดของจักรวาลจะถูกห้อมล้อมไว้ด้วยภูเขา ซึ่งจะช่วยปิดกั้นความมืดด้านนอกไว้ และมีเปลือกไข่ทองคำหุ้มส่วนประกอบทั้งหมด ความพินาศของจักรวาลจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคสุดท้ายของแต่ละกัลป์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยควาทุกข์ยากและความเสื่อมทราม จักรวาลจึงเกิดการประลัยด้วยเหตุอันเกิดขึ้นจากลม น้ำ และไฟ

คำว่า “ปุราณะ” ปรากฏในมหาภารตะ หมายถึง นิทานเก่าแก่ ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสอนและเรื่องเล่าเกี่ยวกับทวยเทพและเหล่าฤษี คัมภีร์อุปนิษัท กล่าวว่า ปุราณะ เป็นอิติหาสะและถือเป็นพระเวทที่ 5 คัมภีร์สมฤติกล่าวว่า ปุราณะเป็นคำอธิบายของพระเวท ปาณินิ นักไวยากรณ์สันสกฤตชาวอินเดีย ซึ่งมีชีวิตอยู่ประมาณ 700 – 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้ใช้คำว่า “ปุราณะ” ในหนังสือ “อษฺฏาธฺยายี” ในความหมายว่า “เก่าแก่และโบราณ”[3] พจนานุกรมอมรโกศ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า นามลิงคานุศาสนมฺของอมรสิงห ได้กล่าวถึงคำว่า “ปุราณะ” ว่า คือ สิ่งซึ่งมีลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ อภิปรัชญา นิติศาสตร์ ตรรกวิทยา อรรถศาสตร์ และตำนานสั้น ๆ ซึ่งหลักสัจนิยม ดังความว่า

                   อานฺวีกฺษิกี, ทณฺฑนีติสฺม, ตรฺกวิทฺยา’รฺถศาสฺตฺรโยะ

                   อาขฺยายิโกปลพฺธารฺถา ปุราณํ ปญฺจ-ลกฺษณมฺ[4]

ปุราณะอาจกล่าวได้ว่า มีความเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงวรรณกรรมสมัยพระเวท เพราะนิทานจำนวนมากซึ่งมีอยู่ในบทสวดของคัมภีร์ฤคเวท และคัมภีร์พราหมณ์ต่าง ๆ ได้ถูกนำมาเล่าไว้ใน “คัมภีร์ปุราณะ”

คัมภีร์ปุราณะที่สำคัญมีทั้งหมด 18 ปุราณะ เรียกว่า “มหาปุราณ” สามารถจำแนกโดยกำหนดตาม “คุณ” 3 ประการ คือ รชสฺ สตฺตฺว และตมสฺ ของพระผู้เป็นเจ้าแห่งตริมูรติ ได้ดังนี้

  1. ราชสปุราณ ซึ่งมาจากรซัสของพระพรหมา คือ ปราณะที่เกี่ยวข้องกับพระพรหม ได้แก่ พฺรพฺมปุราณ พฺรหฺมาณฺฑปุราณ พฺรพฺมไววรฺตปุราณ มารฺกณฺเฑยปุราณ ภวิษฺยปุราณ และวามนปุราณ
  2. สาตฺตฺวิกปุราณ ซึ่งมาจากสัตตวะของพระวิษณุ คือ ปุราณะที่ยกย่องพระวิษณุ บางทีเรยกว่า ไวษฺณวิปราณ ได้แก่ วิษฺณุปุราณ ภาควตปุราณ นารทียปุราณ ครุฑปุราณ ปทุมปุราณ และวราหปุราณ
  3. ตามสปุราณ ซึ่งมาจากตมัสของพระศิวะ คือ ปุราณะที่สรรเสริญพระศิวะ ได้แก่ ศิวปุราณ ลิงฺคปุราณ สฺกนฺทปุราณ อคฺนิปุราณ มตฺสฺยปุราณ และกูรฺมปุราณ[5]

คัมภีร์ปุราณะจัดเป็นเพียงส่วนเพิ่มเติมของคัมภีร์พระเวท โดยมีจุดประสงค์เพื่อสั่งสอนบรรดาผู้หญิงและพวกศูทร ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนพระเวท[6] ปุราณะมีฐานเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในระดับชั้นที่ 2 เพราะแต่เดิมปุราณะมิใช่วรรณคดีของพระ ต่อมาภายหลังจึงตกมาอยู่ในมือของเหล่าพระชั้นรองซึ่งไม่ใช่พระผู้รู้พระเวท พระเหล่านี้จึงใช้ปุราณะเพื่อสดุดีเทพเจ้าต่าง ๆ ที่ตนบูชา แม้ในปัจจุบันชาวฮินดูต่างก็ยังนับถือคัมภีร์ปุราณะว่า เป็น “คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” ชาวฮินดูถือว่า “คัมภีร์ปุราณะ” เป็นคัมภีร์เก่าแก่มาก เชื่อว่า เป็นผลงานของฤษีวยาสะ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมคัมภีร์พระเวทและเป็นผู้แต่งมหากาพย์มหาภารตะ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งปรัชญาเวทนตะด้วย

คัมภีร์วายุปุราณะ ได้กล่าวถึง ความสำคัญของคัมภีร์ปุราณะไว้ว่า “พราหมณ์ซึ่งอาจจะรู้พระเวททั้ง 4 พร้อมทั้งเวทางคและอุปนิษัท แต่ถ้าไม่รู้ปุราณ ก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับว่า เป็นพราหมณ์ที่เก่ง บุคคลควรทำให้ความรู้ในพระเวทมีความมั่นคงโดยอาศัยคัมภีร์อิติหาสะและปุราณะ พระเวทกลัวคนที่มีความรู้น้อย เพราะคิดว่า คน ๆ นั้นจะทำร้ายให้ตนเจ็บปวด[7] ดังข้อความที่ว่า

โย วิทฺยาจฺ จตุโร เวทานฺ สางฺโคปนิษโท ทฺวิชะ |

น เจตฺ ปุราณ ส วิทฺยานฺ ไนว ส สฺยาทฺ วิจกฺษณะ|

อิติหาสปุราณาภฺยามฺ เวท สมุปวฺฤหเยตฺ |

พิเภตฺยลฺปศฺรุตาทฺ เวโท มามยํ ปฺรหริษฺยติ|

คัมภีร์ปุราณะนั้นมีลักษณะเป็นสารานุกรมของเรื่องต่าง ๆ เป็นวรรณกรรมที่รวบรวมข้อมูลที่จะให้ความกระจ่างทุกแง่มุมเกี่ยวกับศาสนาฮินดู มีเนื้อหาอธิบายประวัติความเป็นมาของจักรวาลตั้งแต่อดีตอันยาวนาน และแสดงความจริงทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และศาสนศาสตร์ ปุราณะให้ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์ ลักษณะรูปร่างของโลก ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และบางปุราณะมีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องกายวิภาคศาสตร์ การแพทย์ ไวยากรณ์และการใช้อาวุธสงครามต่าง ๆ ด้วย[8]

ที่มา สุภาพร พลายเล็ก. (2557). การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องจักรวาลวิทยาในคัมภีร์วิษณุปุราณะและไตรภูมิพระร่วง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.


[1] วิไลรัตน์ ยังรอด. (2540). การศึกษาภาพภูมิจักรวาลจากภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในเขตกรุงเทพมหานคร. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร).

[2] พระมหาหรรษา นิธิบุณยากร. (2550). พุทธจักรวาลวิทยา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

[3] Rajendra Chandra Hazra, “The Purāṇa and The Upapurāṇas” in the Cultural Heritage of India (Delhi: The Rarnakrisna Massion and Institute of Calcutta, 1969), 241.

[4] N. G. Sardesai and D. G. Padhye, Amara’s Nāmaliṅgānuśāsanam (Poona: Padhye Year of Publishing, 1940), 17.

[5] Monier Monier Williams, Indian Wisdom, 2nd ed. (London: Wm. H. ALLEN, 1875), 494 – 495.

[6] Monier Monier Williams, Indian Wisdom, 489

[7] จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา, “ปุราณะ,” นิตยสารไทย – ภารต 17, 25 ( มิถุนายน 2532 ): 80.

[8] Maurice Winternitz, History of Indian Literature, 490.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *