Happy Asian family. Father, mother and daughter near new home. R

เมื่อมีการสมรสแล้วก็มีการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้เช่นกัน สาเหตุแห่งการสิ้นสุดอาจมาจากความตาย หรือการสิ้นสุดด้วยการเลิกร้างจากการเป็นสามีภริยากัน หรือการสิ้นสุดโดยผลของกฎหมายอันเนื่องมาจากการสมรสนั้นได้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ในเรื่องนี้กฎหมายก็ยอมให้การสมรสสิ้นสุดลงได้โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 บัญญัติว่า “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงได้ด้วยความตาย หย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน” และมาตรา 1515 บัญญัติว่า “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว” กรณีอื่น ๆ นอกจากนี้ ไม่ถือว่า การสมรสสิ้นสุดลง เช่น สามีภริยาแยกกันอยู่เป็นเวลานาน ก็ยังถือว่า ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ คำว่า “การสมรสสิ้นสุดลง” หมายความว่า ชายหญิงคู่นั้นได้เป็นสามีภริยากัน จนกระทั่งเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้น การสมรสนั้นก็สิ้นสุดลง ชายหญิงคู่นั้นก็มิได้เป็นสามีภริยากันต่อไป สำหรับเหตุที่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1501 ถึงมาตรา 1531 และเมื่อการสมรสสิ้นสุดลงแล้ว ก็ทำให้เกิดผลในทางกฎหมาย กล่าวคือ ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างสามีและภริยาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา 1532 ถึงมาตรา 1535 ขอกล่าวเฉพาะในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและการแยกสินสมรส ดังนี้

การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงแล้ว จะต้องมีการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยานั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า จะต้องแบ่งกันอย่างไร และในการพิจารณาทรัพย์สินที่จะแบ่งว่าทรัพย์สินส่วนใด เป็นของใคร จะต้องพิจารณาอย่างไร ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามี 2 ประเภท คือ สินส่วนตัวและสินสมรส เมื่อได้หย่ากันจากกัน หรือที่เรียกว่า การสมรสสิ้นสุดลง การแบ่งทรัพย์สินนั้นมีหลักดังนี้ คือ สินส่วนตัวของฝ่ายใดก็คงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนสินสมรสให้แบ่งเท่ากัน เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติว่า “เมื่อหย่ากันแล้วให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน”

ทั้งนี้ในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาซึ่งเป็นสินสมรสนั้น กฎหมายกำหนดให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่า ๆ กัน โดยอาจจะแบ่งครึ่งของสินสมรสนั้นหรือนำออกขายเป็นเงินแล้วนำมาแบ่งกัน หรือขายโดยประมูลราคาระหว่างกัน หรือขายทอดตลาดก็ได้ สำหรับสินส่วนตัวนั้นเป็นของฝ่ายใดย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายนั้น

เมื่อสามีภริยาได้หย่าขาดจากกันแล้ว ความสัมพันธ์ทั้งในทางส่วนตัวและในทางทรัพย์สินของสามีภริยาย่อมสิ้นสุดลงด้วย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาอันเป็นสินสมรส จึงต้องมีการแบ่งแยก โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 ได้บัญญัติถึงกำหนดเวลามีผลของการแบ่งทรัพย์สินไว้ดังนี้

เมื่อหย่ากันแล้ว ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา

แต่ในระหว่างสามีภริยา

  • ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ได้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
  • ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

ทั้งนี้ การแบ่งทรัพย์สินนั้น ถ้าหากว่า เป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ก็ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ในเวลาที่ได้จดทเบียนการหย่านั้น สำหรับการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ถึงแม้ผลของการหย่าจะถือว่า จะขาดจากการเป็นสามีภริยานับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยาให้ถือว่า มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า คือ ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันที่ฟ้องหย่านั้น สำหรับทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้น สามารถฟ้องร้องขอแบ่งกันในภายหลังได้อีก และการที่จะแบ่งทรัพย์สินนั้น จะต้องมีการหย่ากันจริง ๆ ถ้าหากไม่มีการหย่า ก็ยังไม่อาจแบ่งทรัพย์สิน ดังคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3961/2535

ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1533 การจะแบ่งสินสมรสได้ต้องมีการหย่ากันเท่านั้น เมื่อไม่มีการหย่าแม้คู่สมรสจะจำหน่ายสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว มาตรา 1535 ก็ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 กฎหมายมิได้มุ่งประสงค์ให้แบ่งสินสมรสกันได้หากคู่สมรสยังเป็นสามีภริยากันอยู่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์สินสมรส แต่ปัญหาชั้นฎีกามีเพียงคำขอของโจทก์ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคำขอแบ่งสินสมรสเท่านั้น เมื่อกฎหมายให้ถือเสมือนว่า รถยนต์ยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรส โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์พิพาท

อนึ่ง การที่จะหย่าขาดจากกันนั้น จะต้องผ่านการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายมาแล้ว หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการหย่ากัน สำหรับทรัพย์สินใด ๆ ที่มีอยู่ระหว่างที่อยู่กันฉันสามีภริยา ตามปกติย่อมแสดงและถือว่า มีเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะได้มาโดยทุนทรัพย์ หรือแรงงานของฝ่ายใด โดยถือว่า ชายหญิงต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง

การแยกสินสมรส

การแยกสินสมรส ตามปกติแยกไม่ได้ เพราะจะขัดต่อมาตรา 1470 และมาตรา 1474 ที่ว่าทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานอกจากที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส และสินสมรสเป็นทรัพย์สินกองรวมของสามีภริยา

แต่สามีภริยาจะทำสัญญาระหว่างสมรสแยกสินสมรสเป็นสัดส่วน เพื่อให้เจ้าของส่วนที่แยกให้เป็นผู้จัดการรับผิดชอบเอาเอง เช่นนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายเปิดช่องไว้ในมาตรา 1469 แต่ไม่น่าจะทำได้ เพราะกฎหมายได้จัดระบบของสินสมรสไว้แล้ว เพื่อความมั่นคงของสถาบันครอบครัว หากมีกรณีจำเป็นต้องแยกสินสมรสเป็นสัดส่วน กฎหมายก็กำหนดกรณีเอาไว้ หรือมอบหมายให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งให้แยกสินสมรส มิได้ให้เป็นอำเภอใจของคู่สมรส

อย่างไรก็ดี คู่สมรสย่อมตกลงกันแบ่งสินสมรสกันได้ ซึ่งส่วนที่แบ่งออกนั้นตกเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย

การแยกสินสมรส แยกตามอำนาจกฎหมาย มาตรา 1491

ถ้าสามีหรือภริยา ต้องคำพิพากษาให้ ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมาย นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น

ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสที่ล้มละลายนั้นต่อไป ส่วนสินสมรสที่เป็นของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนั้นต้องขอกันส่วนของตนไว้ นัยหนึ่งเมื่อคู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย อีกฝ่ายหนึ่งต้องคอยกันส่วนของตนไว้จากการบังคับคดีล้มละลาย

ในขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการเฉลี่ยหนี้ในคดีล้มละลายเกินเลยไปจนถึงส่วนของสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะสินสมรสได้แยกกันโดยอำนาจกฎหมายแล้วแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

การแยกสินสมรส แยกตามคำสั่งศาล

ตามมมาตรา 1598/17 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดาหรือมารดา หรือบุคคลภายนอก เป็นผู้อนุบาลในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกรณีดังกล่าวในวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรสได้ นี่เป็นกรณีที่คู่สมรสฝ่ายที่ไม่วิกลจริต ไม่สมัครใจจัดการสินสมรสร่วมกับผู้อนุบาลของฝ่ายที่ไร้ความสามารถ จึงเปิดโอกาสให้ขอแยกสินสมรสได้

ตามมาตรา 1484 ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส (1) จัดการสินสมรสที่เป็นที่เสียหายถึงขนาด (2) ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง (3) มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส (4) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร (5) มีพฤติการณ์ปรากฏว่า จะทำความหายนะให้แก่สินสมรส อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอ ให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว หรือสั่งให้แยกสินสมรสได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเงื่อนไข (1) ถึง (5) แล้ว จะเห็นได้ว่า การขอแยกสินสมรสตามมาตรา 1484 นี้เป็นการแยกเพื่อความมั่นคงของสินสมรส และเป็นการรักษาส่วนได้เสียของคู่สมรสด้วย

ผลของการแยกสินสมรสมาตรา 1492

เมื่อได้แยกสินสมรสในตามมาตรา 1484 วรรคสอง มาตรา 1491 หรือมาตรา 1598/17 วรรคสองแล้ว ให้ส่วนที่ได้แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และในบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ก็ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรม หรือจะโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา 1472(2) และในภายหลังให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายละครึ่ง

ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัว หมายความว่า เมื่อได้แยกสินสมรสแล้ว ไม่ว่าโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคู่สมรสขอแยกสินสมรสหรือสินสมรสแยกกันโดยอำนาจกฎหมาย จะมีผลดังนี้

  • สินสมรสส่วนที่แยกออก ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายละครึ่ง หรือตามที่ตกลงกัน
  • บรรดาทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดได้มาในภายหลัง ไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
  • สินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ ตามมาตรา 1474(2) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง
  • ดอกผลของสินส่วนตัว ที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัวเป็นข้อยกเว้นมาตรา 1474(3) ที่ให้ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส นัยหนึ่งก็คือ ดอกผลของสินสมรสที่แยกกันแล้ว กับดอกผลของสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาที่ได้มาหลังจากแยกสินสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัวทั้งหมด เพราะขณะนั้นไม่มีสินสมรสแล้ว
  • เมื่อไม่มีสินสมรส ก็ไม่มีทรัพย์ส่วนกลาง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนต่อไป มาตรา 1493 จึงกำหนดให้ว่า ในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว สามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน หมายความว่า แม้สินส่วนตัวที่ได้จากการแยกสินสมรสจะมีคนละเท่า ๆ กัน แต่เมื่อรวมกับสินส่วนตัวเดิมของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่าย อาจทำให้สินส่วนตัวของสามีหรือภริยาหลังจากแยกสินสมรสแล้วไม่เท่ากันก็ได้ กฎหมายจึงให้ช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
  • สังเกตว่า การแยกสินสมรส กฎหมายมิได้กำหนดให้ฝ่ายใดได้เท่าใด เหมือนกรณีหย่าที่ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1533 ดังนั้น จะแยกสินสมรสให้ได้ฝ่ายละเท่ากันหรือตามส่วนอย่างใด ก็คงแล้วแต่จะตกลงกันเองหรือตามที่ศาลสั่งหากตกลงกันไม่ได้
  • เมื่อแยกสินสมรส กลายเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแล้ว ก็หมายความว่า ไม่มีสินสมรสเป็นทรัพย์ส่วนกลางสำหรับใช้จ่ายในครัวเรือนต่อไป มาตรา 1493 จึงตัดปัญหาว่าในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว สามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน ข้อนี้เป็นเครื่องสนับสนุนเหตุผลดังกล่าวในข้อ (6) ด้วย

การยกเลิกการแยกสินสมรส มาตรา 1492/1

ในกรณีที่มีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล การยกเลิกการแยกสินสมรสให้กระทำได้ เมื่อสามีหรือภริยาร้องขอต่อศาลและศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ถ้าสามีหรือภริยาคัดค้าน ศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสได้ต่อเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อมีการยกเลิกการแยกสินสมรสตามวรรคหนึ่ง หรือการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงเพราะสามีหรือภริยา พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งหรือในวันที่พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปตามเดิม

การยกเลิกการแยกสินสมรส จึงมิได้สองกรณีคือ

  • ยกเลิกโดยอำนาจกฎหมาย คือ การแยกสินสมรสสิ้นสุดลง เพราะสามีหรือภริยาพ้นจาการเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายนั้น กรณีนี้เข้าใจว่า ไม่ต้องขอให้ศาลสั่งยกเลิก เพราะมาตรา 1492/1 วรรคสองกล่าวไว้ชัดว่าการแยกสินสมรสสิ้นสุดลง เพราะสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
  • ยกเลิกโดยคำสั่งศาล ซึ่งศาลจะสั่งยกเลิกได้ต่อเมื่อ สามีหรือภริยา ขอให้ศาลสั่งยกเลิก การแยกสินสมรส ซึ่งในกรณีนี้ ศาลคงต้องสอบถามไปยังสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง หากไม่มีคำคัดค้าน ก็จะสั่งให้ยกเลิกตามขอ แต่ถ้ามีคำคัดค้านจากสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลคงต้องทำการไต่สวนว่า เหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่
  • เมื่อมีคำสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสแล้ว หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลง เพราะสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการแยกสินสมรสหรือในวันที่พ้นจากล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวตามเดิม ไม่กลับเป็นสินสมรสอีก ส่วนทรัพย์สินที่สามีหรือภริยาได้มาหลังจากยกเลิกการแยกสินสมรส ก็คงเป็นสินสมรสต่อไปตามมาตรา 1474(3)

และหลังจากนั้น หากมีข้อสงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง เป็นสินสมรสหรือไม่ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 วรรคสอง

เมื่อศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรสตามมาตรา 1484 หรือมาตรา 1598/1 หรือมีคำพิพากษา

ให้สามีหรือภริยาล้มละลายอันเป็นผลให้สินสมรสแยกกัน หรือศาลมีคำสั่งยกเลิกการแยก สินสมรส หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลง เพราะสามีหรือภริยา พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้สถานะของสามีภริยาแต่ละคู่ จะเป็นการสะดวกปลอดภัยแก่เขาในการทำนิติกรรมกับสามีภริยาเหล่านั้นต่อไป[1]


[1] สมพร พรหมหิตาธร. 2544 หน้า 347 – 351.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *