ทฤษฎีในเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรส ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แยกไว้เป็นหัวข้อต่างหากตามบทบัญญัติมาตรา 1465 จนถึงมาตรา 1493 อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาต่อไปนี้ คือ เมื่อมีการสมรสแล้ว ผลทางกฎหมายของการสมรสจะกระทบถึงฐานะของคู่สมรสในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่ก่อนสมรสอย่างไรบ้าง ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเป็นประการใด ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีอำนาจจัดการหรือจำหน่ายทรัพย์นั้นโดยลำพังได้หรือไม่อย่างไร และถ้ามีสัญญาก่อนสมรสจะเป็นประการใด ถ้าไม่มีสัญญาดังกล่าวจะเป็นประการใด ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในบังคับแห่งหนี้ที่บุคคลภายนอกเป็นเจ้าหนี้อยู่หรือไม่ อย่างไร ทรัพย์สินก่อนสมรสและทรัพย์สินระหว่างสมรสจะอยู่ในบังคับแห่งหนี้ของบุคคลภายนอก ต่างกันหรือไม่อย่างไร

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 คงกล่าวในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไว้เพียง 4 มาตรา คือ มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 ซึ่งอาจแยกพิจารณาออกเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาซึ่งมิได้มีสัญญาก่อนสมรส และทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาซึ่งมีสัญญาก่อนสมรส[1]

ในกรณีที่ไม่มีสัญญาก่อนสมรส

มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 บัญญัติว่าถ้ามิได้มีสัญญาก่อนสมรส ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติ

ถ้าสามีและภริยามีสัญชาติแตกต่างกัน ทรัพย์สินรหว่างสามีภริยาให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามี อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่

ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า

ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สมรส (ถ้ามีสัญชาติเดียวกัน) หรือกฎหมายสัญชาติของสามี (ถ้าคู่สมรสมีสัญชาติต่างกัน) และทำนองเดียวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา สัญชาติของคู่สมรสต้องพิจารณาในขณะที่มีการสมรส ถ้าภายหลังสมรสแล้ว คู่สมรสหรือสามีแล้วแต่กรณีได้สัญชาติอื่น กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีคงได้แก่กฎหมายสัญชาติเดิมในขณะที่ทำการสมรส

ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้กฎหมายของประเทศที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

ในกรณีที่มีสัญญาก่อนสมรส

เมื่อมีสัญญาก่อนสมรส ปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนใหญ่ คงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่ตกลงกันนั้น แต่การที่จะบังคับตามสัญญานั้นได้ กรณีจะต้องได้ความก่อนว่าสัญญานั้นถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักในเรื่องสัญญา หลักเกณฑ์ตามที่กล่าวในเรื่องสัญญาจึงต้องนำมาพิจารณาในเรื่องสัญญาก่อสมรสด้วย เว้นแต่จะมีบทบัญญัติว่าไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับสัญญาก่อนสมรสนี้

มาตรา 25 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 บัญญัติว่า

ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญและผลแห่งสัญญาก่อนสมรส ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญและผลแห่งสัญญาก่อนสมรสเช่นว่านั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งคู่สัญญาเจตนาหรือพึงสันนิษฐานได้ว่า ได้มีเจตนาที่จะยอมอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้น ถ้าไม่มีเจตนาเช่นว่านั้นให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่สมรสตั้งภูมิลำเนาครั้งแรกหลังสมรส

อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่

สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาก่อนสมรสก็คงเป็นไปทำนองเดียวกับสัญญาธรรมดา เช่น ปัญหาว่าคู่สมรสมีเจตนาตรงกันหรือไม่ เจตนาในการทำสัญญาเสียไปเพราะเจตนาลวง ฉ้อฉลสำคัญผิด ข่มขู่หรือไม่ วัตถุประสงค์ของสัญญาก่อนสมรสขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือไม่

ส่วนผลของสัญญาก่อนสมรสก็เช่นกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญานั้น อีกฝ่ายหนึ่งจะจัดการได้แค่ไหนเพียงใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น[2]

จึงสรุปเกี่ยวกับหลักกฎหมายขัดกัน ในเรื่องสิ่งซึ่งเป็นวาระสำคัญและผลของสัญญาก่อนสมรสตามมาตรา 25 ได้ดังนี้

ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์

ถ้าคู่สมรสมีสัญชาติเดียวกัน ได้แก่ กฎหมายสัญชาติของคู่สมรสนั้น

ถ้าคู่สมรสมีสัญชาติต่างกัน ได้แก่ กฎหมายของประเทศ ซึ่งคู่กรณีมีเจตนาที่จะยอมอยู่ได้บังคับเจตนาดังกล่าว อาจเป็นเจตนาโดยตรง หรือโดยปริยายซึ่งสันนิษฐานเอาเป็นเช่นนั้นก็ได้

ถ้าคู่สมรสมีสัญชาติต่างกัน แต่คู่กรณีไม่มีเจตนาที่จะยอมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายประเทศใดแล้ว ได้แก่ กฎหมายของประเทศที่คู่กรณีตั้งภูมิลำเนาอยู่ครั้งแรก พึงสังเกตว่า ในกรณีนี้กฎหมายถือเอาภูมิลำเนาครั้งแรกของคู่สมรส มิใช่ถือภูมิลำเนาปัจจุบันหรือในขณะยื่นฟ้องคดี

ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์

สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญและผลของสัญญาก่อนสมรสในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในทุกกรณี


[1] คะนึง ฦาไชย, 2549. หน้า 102- 103

[2] คนึง ฦาไชย. 2549 หน้า 104 – 105

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *