ปริศนาเกี่ยวกับการ “กราบ”

ปริศนาเกี่ยวกับการ “กราบ” สิ่งที่เป็นปริศนา ทำไมจึงกราบพระ 3 ครั้ง แต่กราบคนหรือศพกราบเพียง 1 ครั้ง

ความเป็นมาของการ “กราบ”

การกราบเป็นกิจกรรมที่เป็นศาสนพิธีที่ทำต่อเนื่องจากการไหว้ การไหว้เป็นวัฒนธรรมของคนอินเดียที่มาแต่โบราณ เมื่อพบปะกันจะแสดงความรู้จักกันแสดงความคารวะต่อกันด้วยการไหว้ วัฒนธรรมอันดีงามนี้แผ่ขยายไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะในหมู่คนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ต่อมาได้ขยายไปศาสนาอื่น ๆ ก็นิยมการไหว้เช่นเดียวกับสำหรับการกราบนั้นโดยมากจะใช้แสดงความเคารพ นักบวช และแสดงความเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือ

การกราบในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไปมี 3 วิธี คือ

1. การกราบศาสนบุคคล

การกราบศาสนบุคคล ได้แก่ การกราบพระภิกษุสงฆ์ การกราบศาสนสถาน เช่น เจดีย์ สถานที ประสูติ ตรัสรู้แสดงปฐมเทศนาและปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า สังเวชนียสถานการกราบศาสนวัตถุ เช่น การกราบพระพุทธรูป เป็นต้น การกราบบุคคลและสถานที่ดังกล่าวจะกราบแบบเบญจคางประดิษฐ์ คือ การกราบที่ประกอบด้วย องค์ 5

วิธีการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ได้แก่ นั่งคุกเข่าประนมมือยกขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วน้อมศีรษะลงจดมือที่วางอยู่ โดยให้อวัยวะทั้ง 5 คือ หน้าผาก 1 ฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง และเข่าทั้ง 2 ข้างจดลงกับพื้น

การกราบแบบเบญจคางประดิษฐ์ เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง พุทธศาสนิกชนเมื่อเข้าไปทำบุญในวัดจะถือเป็นแนวปฏิบัติว่า จะต้องกราบพระพุทธรูปด้วยเบญจางคประดิษฐ์ก่อนเสมอและเมื่อทำบุญเสร็จก่อนจะกลับบ้านก็จะกราบพระด้วยการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์อีกครั้งหนึ่ง การกราบจะกราบ 3 ครั้ง ขณะที่กราบให้ตั้งจิตสงบโดยรำลึกถึงพระรัตนตรัย ดังนี้

  • กราบครั้งที่ 1 ให้กล่าวคำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือจะไม่กล่าววาจาแต่ละกล่าวในใจก็ได้
  • กราบครั้งที่ 2 ให้กล่าวคำว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือไม่กล่าววาจาแต่จะกล่าวในใจก็ได้
  • กราบครั้งที่ 3 ให้กล่าวคำว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หรือไม่กล่าววาจาแต่จะกล่าวในใจก็ได้

2. การกราบบุคคลธรรมดาทั่วไป

การกราบบุคคลธรรมดาทั่วไป เช่น การกราบพ่อ กราบแม่ กราบผู้ใหญ่ นิยมกราบเพียงครั้งเดียว ไม่แบมือ ด้วยวิธีนั่งประนมมือขึ้นเสมอหน้าผากแล้วน้อมศีรษะลงจดพื้น ถ้าหมอบแล้วน้อมศีรษะลงจดมือที่ประนมอยู่กับพื้น เรียกว่า หมอบกราบ ประนมมือเสมอหน้าผากแล้วน้อมศีรษะลงจดมือที่วางอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็อนุโลมถือว่า เป็นการกราบเซ่น การกราบลงบนตัก

เหตุผลที่การกราบบุคคลให้กราบเพียงครั้งเดียว เพราะเป็นการกราบแสดงคารวะเฉพาะเจาะจงบุคคลนั้น ๆ เท่านั้น ถือเป็นรูปแบบมารยาทไทยที่นิยมประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา

3. การกราบศพ

การเคารพศพตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันทั่วไปปัจจุบันด้วยการกราบ 1 ครั้ง ไม่แบมือ และจุดธูปที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ จุดเพียง 1 ดอก โดยมากจะนิยมจุดธูปแล้วปักลงในกระถางธูปก่อนแล้วจึงกราบศพด้วยการนั่งประนมมือ แล้วน้อมศีรษะลงจดพื้นโดยไม่แบมือ 1 ครั้ง ถ้าสถานที่ไม่อำนวยให้ เช่น ศพตั้งไว้ที่สูงที่โล่งกลางแจ้ง เจ้าภาพจัดวางกระถางธูปไว้ที่สูง ไม่ได้จัดที่สำหรับนั่ง ก็ให้ยืนจุดธูปปักลงในกระถางธูป แล้วยกมือประนมไหว้ก็เป็นเสร็จพิธี

ขณะที่กราบหรือไหว้ศพ ควรตั้งจิตอธิษฐานในใจว่า “ขอดวงวิญญาณของท่าน (เอ่ยชื่อผู้ตาย) จงเดินทางไปสู่สุคติโลกสวรรค์เทอญ”

เหตุผลที่การกราบศพให้กราบเพียงครั้งเดียวและจุดธูปเพียงดอกเดียว เพราะเป็นการเจาะจงแสดงความคารวะบุคคลที่ถึงแก่กรรมนั้นเท่านั้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *