นรก สวรรค์ ความเชื่อทางศาสนาที่อยู่เหนือการพิสูจน์

นรก สวรรค์ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เพราะมองไม่เห็น พิสูจน์ได้ด้วยการพัฒนาจิตให้ได้อภิญญาขั้นทิพยจักษุ (ตาทิพย์) จึงจะมองเห็นได้ ซึ่งเป็นความสามารถนอกเหนือจากมนุษย์ทั่วไปจะพึงกระทำได้ เรื่อง “นรก สวรรค์” จึงมีลักษณะเป็นความเชื่อทางศาสนาที่อยู่เหนือการพิสูจน์ แต่ได้มีผู้กล่าวถึงเรื่อง “นรกสวรรค์” ไว้ ดังนี้

เรื่อง นรก สวรรค์ และมนุษย์ มีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งเดิมเรียกว่า “เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา” นี้ โดยทรงรวบรวมเรื่องราวมาจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง 30 คัมภีร์ แต่มิได้บอกว่า ความตอนไหนอยู่ในคัมภีร์ไหนเท่านั้น ซึ่งหนังสือเรื่องนี้กล่าวถึงภูมิซึ่งเป็นที่อยู่ 3 ภูมิ จึงเรียกว่า “ไตรภูมิ” หมายถึง “สามโลก” ซึ่งได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ต่อมา เสถียรโกเศส ได้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องของภูมิทั้งสามนี้ไว้ในหนังสือเล่าเรื่องในไตรภูมิ สรุปได้ดังนี้

  1. กามภูมิ หมายถึง ดินแดนที่ยังเกี่ยวข้องด้วยเรื่องของความรัก โลก โกธร หลง ประกอบด้วย อบายภูมิ มนุษยภูมิ และวรรคภูมิ
    1. อบายภูมิ เรียกว่า “ทุคติภูมิ” เป็นดินแดนอันชั่วร้าย แบ่งเป็น นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน (เดรัจฉาน)
      1. นรกภูมิ มีนรกขุมใหญ่ 8 ขุม ได้แก่ สัญชีพนรก กาลสูตตนรก สังฆาฏนรก โรรุพนรก มหาโรรุพนรก ตาปนรก มหาตาปนรก และมหาอเวจีนรก นรกทั้ง 8 ขุม อยู่ใต้แผ่นดินอันมนุษย์อยู่ถัดลงไป ฝูงสัตว์ที่เกิดในนรกมีอายุยืนอยู่ได้ 500 – 16,000 ปี เวลาในนรก 1 วัน 1 คือ เท่ากับเก้าล้านปีในเมืองมนุษย์
      2. เดรัจฉาน เดินไปมาโดยคว่ำอกลงเบื้องต่ำ เติบโตทางขวาง ตัวยาวมากกว่าความสูง สัตว์เดรัจฉานมีความเป็นอยู่กำหนดได้ 3 ประการ คือ รู้สืบพันธุ์ รู้กิน และรู้ตาย เรียกว่า กามสัญญา อาหารสัญญา และมรณสัญญา เดรัจฉานเอาจเกิดจากอัณฑชะ (ไข่) จากชลาพุชะ (มีรกหุ้มห่อ) จากสังเสทชะ (ใบไม้และเหงื่อไคล) จากอุปปาติกะ (เป็นตัวขึ้นเองและโตทันที) สัตว์ทั้งหลายนั้นมี 2 ตีนก็มี 4 ตีนก็มี หลายตีนก็มี
      3. เปรต แปลว่า ผู้ไปก่อน มี 2 พวก คือ เปรตชั้นดี มีปราสาทแก้วอยู่ มีกำแพงแก้วล้อมรอบดูสวยงาม เปรตข้างแรม คือ ข้างขึ้นเป็นเทวดา บ้างมีปราสาททิพย์ มีเครื่องทิพย์กินเหมือนเทวดา มีคานหามขี่ไปในอากาศ แต่จะเป็นเปรตเมื่อถึงวันข้างแรม โดยบางทีก็มีตัวงามเหมือนทองแต่มีปากเหมือนหมู บ้างก็มีหนอนในปาก พวกเปรตชั้นเลวมีหลายลักษณะ เช่น จำพวกตัวใหญ่ แต่ปากน้อยเท่ารูเข็ม ฯลฯ
      4. อสูรกาย มี 2 ประเภท คือ กาลกัญชนาสุรกาย มีความหมายว่า มีปากเท่ารูเข็ม ตัวสูงได้คาพยุตหนึ่ง หรือ 2,000 วา (เท่ากับ 100 เส้น) ร่างกายผอมอย่างใบไม้แห้ง มีตาเล็กนิดเดียว และตานี้ไพล่ขึ้นไปอยู่เหนือกระหม่อม ปากที่เล็กเท่ารูเข็มก็อยู่เหนือกระหม่อมเช่นกัน เมื่อจะกินต้องปักหัวลง เอาตีนชันขึ้นจึงจะได้กิน ถือสากตีอยู่ทุกเวลา หาความสุขมิได้ ส่วนทิพอสุรกาย มีบ้านเมืองอยู่ เรียกว่า อสุรภพ ลึกลงไปใต้ดิน 84,000 โยชน์ เป็นบ้านเมืองที่ดาษไปด้วยแผ่นทองคำ มีเมืองใหญ่อยู่ 4 เมือง มีพญาอสูรปกครองทุกเมือง กลางเมืองมีไม้แคฝอยเป็นไม้ทิพย์ประจำภพอสูร วันดีคืนดีพญาอสูรจะมาเล่นสนุก ณ ที่มีต้นแคฝอยทางทิศตะวันออกมีพญาอสูรชื่อ “เวปจิตรสูร” ทิศใต้ชื่อ “อสิฬพร และ สุจิ” ทิศตะวันออกชื่อ “เวราสูร และปริกสูร” ทิศเหนือชื่อ “พรหมทัต และราหู”
    2. มนุษยภูมิหรือมนุสภูมิ แบ่งเป็น 4 ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป อุตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และบุรพวิ เทพทวีป มนุษย์อาจมีที่มาจากสวรรค์ มนุษย์หรือนรกและเรียกชื่อของมนุษย์ตามความประพฤติว่า คนนรก คือ ผู้ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และบาปนั้นตามมาทันพวกเปรต คือ ผู้ไม่ทำบุญสุนทาน พวกเดรัจฉาน คือ ผู้ไม่รู้จักพ่อแม่พี่น้อง พวกมนุษย์ คือ ผู้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ สำหรับมนุษย์ที่ดี อาจเรียกว่า “อภิชาตบุตร” หรือบุตรที่เฉลียวฉลาด มีรูปงาม มียศกำลังยิ่งกว่าบิดามารดา “อนุชาติบุตร” คือ บุตรที่เฉลียวฉลาด มีรูปงาม มียศกำลังเสมอ บิดามารดา ส่วน “อวชาติบุตร” คือ บุตรที่ต่ำกว่าบิดามารดา ทั้งความเฉลียวฉลาด รูปร่าง และยศถาบรรดาศักดิ์
    3. สวรรค์ 6 ชั้น เรียกว่า ฉกามาพจร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น จาตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมารดี และปรนิมมิตวสวดี
  2. รูปภูมิ ได้แก่ สวรรค์ชั้นพรหม 16 ชั้น เรียกว่า “โสฟสพรหม” เป็นแดนที่พรหมมีแต่รูปกาย ไม่มีการเคลื่อนไหว มีความสุขสบายยิ่ง แบ่งเป็น ปฐมญาณ 3 พรหมปาริสัชชา พรหมปโรหิตา มหาพรหม ทุติยญาณ 3 คือ ปริตรตาภา อัปปมานาภา และอาภัสรา ตติยญาณ 3 คือ ปริตตสุภา อัปปมานสุภา และสุภกิณหกา จตุตถญาณ 2 คือ เวหัปผลา และอสัญญีสัตตา ปัจสุทธาวาส 5 คือ อเวหา อตัปปา สุทัสสา และอกนิฏฐา
  3. อรูปภูมิ เป็นแดนที่พรหมไม่มีรูป เป็นที่สิงสถิตของจิตหรือวิญญาณ แบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญยานาสัญยายตนะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *