ทีวีกับเด็ก

เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน เซลล์สมองเด็กจะสร้างและเชื่อมต่อใยประสาทตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กเล็กกำลังฝึกพูด ดังนั้น เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรดูทีวีและเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ไม่ควรดูทีวีเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน เพราะการดูทีวีเป็นการสื่อสารทางเดียว ขาดการพูดคุยโต้ตอบกับบุคคลอื่น ๆ ภาพในทีวีเคลื่อนไหวเร็ว เด็กมีโอกาสสมาธิสั้นกับซุกซนมากผิดปกติ เนื้อหาในทีวีบางครั้งมีภาพความรุนแรง ยิงกัน ตบตีฆ่ากัน ซึ่งเด็กไม่สามารถแยกแยะว่าดีหรือไม่ดี ความจริงหรือการแสดงขณะที่เด็กเป็นวัยกำลังเลียนแบบ อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบตามทีวีเป็นเด็กก้าวร้าวได้ เด็กที่ติดดูทีวีจะขาดการออกกำลังกาย เด็กอาจอ้วนหรือเป็นโรคอ้วนได้

เมื่อเด็กปักหลักหน้าจอทีวี

ผลต่อสุขภาพเมื่อเด็กปักหลักหน้าจอทีวี

เด็กเป็นวัยเจริญเติบโต ต้องการการออกกำลังกาย การเล่น เมื่อพฤติกรรมกลายมาเป็นนอนจับจ้องอยู่หน้าจอทีวี แถมด้วยขนมนมเนย น้ำหวานพร้อมขนมกรุบกรอบเป็นเช่นนี้นาน ๆ โรคอ้วน ความอืดอาด ความอ่อนแอจะตามมา ทำให้ความกระตือรือร้นที่อยากทำโน่นทำนี้ก็จะลดลงด้วย รวมทั้งเด็กที่ดูทีวีนาน ๆ จะแสดงลักษณะของการไม่อยู่นิ่งหรือเหนื่อยล้า ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กสมาธิสั้น

ผลต่อการคิดและแก้ปัญหาเมื่อเด็กปักหลักหน้าจอทีวี

เด็กเรียนรู้มากมายจากการลงมือทำด้วยตนเอง จากการได้มีกิจกรรมที่หลากหลาย ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้คิดได้ทดลองทำ ถ้าเด็กเอาแต่ปักหลักหน้าจอทีวี ทีวีก็จะเป็นตัวสกัดกั้นพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอย่างน่าเสียดายทั้งที่เป็นที่สมองของเด็กกำลังเติบโตและพัฒนาสูงสุด

ผลต่อการเอาแต่ใจและทักษะทางสังคมเมื่อเด็กปักหลักหน้าจอทีวี

เมื่อเด็กอยู่กับทีวีตามลำพัง เด็กควบคุมทุกอย่างได้หมด ไม่ชอบช่องไหนก็จะเปลี่ยนไปดูอีกช่อง ทีวีไม่เคยขัดใจเด็กเคยชินกับการทำตามใจตนเอง การอยู่กับทีวี กับการอยู่กับคนก็จะต่างกัน เพราะถ้าอยู่กับคน เด็กจะเรียนรู้ที่จะปรับตัว รู้จักการพูดจาประนีประนอม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการระหว่างกันนั้น คือ เด็กเกิดการพัฒนาทักษะทางสังคมที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

ดูทีวีอย่างไรให้ได้ประโยชน์

เลือกรายการที่ดี และอยู่ดูกับเด็ก รายการทีวีบางรายการให้ความรู้สู่โลกกว้างกับเด็ก บางรายการก็นำความบันเทิงใจมาสู่เด็ก ชวนเด็กวิเคราะห์เรื่องที่ดีนั้นให้ข้อคิดอะไรกับเด็กบ้าง อะไรที่ควรทำตามอย่างไร อะไรที่ไม่ควรทำ ให้รายการทีวีเป็นเรื่องที่นำมาให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ การปล่อยให้เด็กอยู่กับทีวีลำพังกับบางรายการ ย่อมเป็นผลเสียเพราะเด็กยังแยกแยะไม่ออกว่าสิ่งไหนควรทำสิ่งไหนไม่ควรทำ ยังต้องการการชี้แนะจากผู้ใหญ่

  • กำหนดเวลาในการดูทีวี กำหนดเวลาในการดูทีวีให้แน่นอน พยายามลดเวลาในการดูทีวีด้วยการชวนเด็กทำกิจกรรมอื่นแทน เช่น การเล่นของเล่น การเล่นออกกำลังกาย การช่วยงานคุณพ่อคุณแม่
  • ดูทีวีให้ถูกที่ ถูกเวลา ไม่ควรให้เด็กทำการบ้าน ค้นคว้าหรือทบทวนเรื่องเรียน หน้าจอทีวี จะพบว่า ในรายที่ผู้เลี้ยงดูให้เด็กทำการบ้านให้เสร็จ ก่อนแล้วค่อยเปิดทีวี จะประสบความสำเร็จดีกว่าให้ดูทีวีก่อนทำการบ้าน เพราะเหมือนกับว่า เมื่อเด็กรับผิดชอบหน้าที่เรียบร้อย ก็จะได้ดูทีวีเป็นการให้รางวัล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *