“ทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร”

“ทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร” (บางคนก็เรียกว่า “ตาหมอช่อง” หรือ “ทวดไทรงาม”) ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อในแบบท้องถิ่นนิยม เป็นรากทางความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาผี และการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษของชาวบ้านที่นี่ รวมถึงผู้คนในพื้นที่จังหวัดตรัง และพัทลุงมาช้านาน เชื่อกันว่า ทวดหลักเขตมีฤทธิ์เดชานุภาพและมีความศักดิ์สิทธิ์สูง ผู้คนในพื้นที่มักเล่ากันปากต่อปากว่า ทวดแสดงฤทธิ์ด้วยรูปลักษณ์ของพญางูตะบองหลา (งูจงอางขนาดใหญ่) พญาเสือใหญ่ และในร่างของมนุษย์ (ทวดชราผู้ทรงศีลและใจดี) ใครมาทำการ “บน” อะไรไว้ ณ ที่แห่งนี้ จึงมักได้ผลสมดั่งใจมุ่งหวังทุกประการ

สถานที่ตั้งทวดหลักเขต

ที่ตั้งของทวดหลักเขต ตั้งอยู่บนเขาบรรทัด (เขาพับผ้า) ตรงบริเวณจุดที่อยู่สูงสุดบนถนนเส้นนี้ หรือในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง (ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอนาโยงจังหวัดตรัง กับอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง)

ศาลสำหรับเคารพบูชาหรืออาศรมทวด (ในยุคแรกเมื่อราว 50 – 60 ปีก่อน) เป็นเพียงศาลไม้เล็ก ๆ สร้างจากกำลังศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ โดยศาลตั้งบนเขาบรรทัด (เขาพับผ้า) ต่อมาศาลหลังเดิมได้มีการชำรุดผุพังลงตามกาลเวลา จึงมีการระดมทุนทรัพย์จากชาวบ้านสำหรับใช้ในการซ่อมแซมและปรับปรุงอีกรอบในปี พ.ศ. 2532 โดยสร้างเป็นศาลไม้ทรงไทยมีฐานเป็นปูนหลังใหญ่ จากนั้นก็จ้างช่างในพื้นถิ่นมาทำการปั้นรูปงานประติมากรรมเคารพบูชา “พ่อทวดหลักเขต” ขึ้น โดยตั้งไว้ตรงกลางศาล ลักษณะเป็นชายชรานั่งบนแท่นบูชา ขาข้างขวาปล่อยฝ่าเท้าลงสู่พื้น มือทั้งสองข้างวางราบขนาบบนต้นขา มีเครื่องบวงสรวงบูชาเป็นผ้าเจ็ดสีและพวงมาลัยดอกดาวเรืองจำนวนหนึ่ง

ประวัติความเป็นทวดหลักเขต

สมัยต่อมามีเรื่องเล่ากันว่า มีคนสติไม่ดีมาทุบทำลายศาลทวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และในปีต่อมา คือ พ.ศ. 2552 ก็ได้มีคนสติไม่ดีมาทุบทำลาย และตัดศีรษะองค์ทวดอีกครั้ง เนื่องจาก “ทวดหลักเขต ตรัง – พัทลุง” ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวตรัง พัทลุง และทุกจังหวัดทั่วภาคใต้ให้ความเคารพ และศรัทธา โดยเฉพาะผู้ใช้เส้นทางเขาพับผ้า หากขับขี่ยวดยานผ่านถนนเส้นนี้ เมื่อมาถึงองค์ทวดหลักเขตตรัง – พัทลุง ก็จะมีการบีบแตรรถเพื่อแสดงความเคารพ และขอพรให้องค์ทวดหลักเขตคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัยไปตลอดเส้นทาง หรือถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย รวมทั้งผู้ศรัทธาหลายท่านที่มีความเชื่อในเรื่องของการบนบานศาลกล่าว ก็จะมาขอให้ตนเองประสบความสำเร็จดังที่ใจปรารถนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยในแต่ละวันจะมีผู้มาเซ่นไหว้เพื่อแก้บนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สภ.นาโยง ระบุว่า ตามปกติจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเดินทางมาลาดตระเวนความปลอดภัยเป็นประจำทุกวัน โดยสังเกต พบว่า ที่ศาลทวดหลักเขต ตรัง – พัทลุง มักจะมีคนสติไม่ดีมาหลบพักอาศัยอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้น การที่องค์ท่านถูกทุบทำลาย อาจจะเป็นไปได้ว่า เกิดจากฝีมือของคนสติไม่ดี ที่มาพักหลบร้อนเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาก็เป็นได้

เรื่องราวที่ทวดหลักเขตถูกคนสติไม่ดีมาทุบทำลายศาลทั้งสองครั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเชื่อกันว่า หลังจากชายสติไม่ดีเดินลงไปจากศาล เขาก็พบกับอำนาจของทวด คือ ถูกทำให้มีอันเป็นไป โดยหลังจากที่ศาลทวดแห่งนี้ ผ่านเรื่องราวทั้งดีและไม่ดีมาได้ระยะหนึ่ง การบูรณะศาลาทวดหลักเขตในครั้งที่ 3 (การบูรณะครั้งใหญ่สุด) ก็เริ่มขึ้นและแล้วเสร็จลงในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 โดยบริษัท ธาราวัญคอนสตรัคชั่น จำกัด โดยการบูรณะครั้งนี้ช่างประติมากรรมได้ทำการปรับแต่งโครงสร้างหลายส่วนของทวดหลักเขต เพื่อให้องค์ทวดแลดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น มีการปูกระเบื้องฐานปูนยกสูงจากพื้นประมาณ 70 เซนติเมตร มีการสร้าง – ตกแต่งรูปเคารพบูชาของพ่อทวดหลักเขตจนแล้วเสร็จ แสดงด้วยรูปลักษณ์ของมนุษย์หรือทวดชราผู้ทรงศีล บริเวณลำตัวของประติมากรรมทวดหลักเขตห่มด้วยผ้าขาว มีลูกประคำห้อยคอ และมีผ้าขาวม้าพาดเฉียงไหล่ขวา ลักษณะของทวดกำลังนั่งอยู่บนฐานชั้นสองเพื่อทำสมาธิ มือทั้งสองตั้งราบที่ต้นขา ส่วนขาข้างขวาปล่อยฝ่าเท้าลงสู่พื้น มีการทาสีดำทับบริเวณพื้นผิวของประติมากรรม และมีการปิดแผ่นทองคำเปลวเพียงบางส่วนบนตัวของทวดด้วย ประติมากรรมทวดหลักเขตนี้เอง ถูกขนาบข้างทั้งซ้าย – ขวา ด้วยประติมากรรมฤษีถือไม้เท้าพญางู มีการสร้างประติมากรรมพญางูพญาตะบองหลาประดับไว้ภายในศาลอีกหลายตน ขนาดของศาลก็ขยายเพิ่มเติมออกไปทั้งส่วนซ้ายและขวา โดยส่วนในสุดเปิดให้มีการเข้าทรงและการดูหมอ ตรงกลางศาลเปิดให้บูชาทวด และส่วนขวาของศาล (ทางเข้า) เปิดให้ทำบุญ และบูชาสะเดาะเคราะห์โดยผู้ดูแลศาล มีการสร้างซุ้มประตูทางเข้าสู่ตัวศาลเสียใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างที่จอดรถ ห้องน้ำ ที่ขายของและที่พักรับประทานอาหารสำหรับคนที่เดินทางมาทำบุญที่นี่เพิ่มเติมด้วย

การขอพรทวดหลักเขต

การขอพร “ทวดหลักเขต” ยามที่ท่านขับรถผ่านหน้าศาลทวดหลักเขต ให้ชะลอรถให้ช้า จากนั้น กด – บีบแตรให้ดัง ๆ หลาย ๆ ครั้ง จนกว่าจะขับผ่านพ้นหน้าศาลไป เชื่อกันว่า เสียงแตรจะช่วยทำให้ทวดรับรู้และตามไปคุ้มครองดูแลให้เดินทางไปถึงที่หมายได้โดยสวัสดิภาพ

การ “บน” (สัญญาว่า ถ้าสำเร็จดังต้องการแล้วจะให้….มอบแต่ทวด) โดยสามารถ “บน” และทำการ “แก้บน” ได้ทุกวัน สิ่งของสำหรับแก้บน อาทิเช่น

  • พวงมาลัยดอกไม้ เน้นสีเหลือง
  • การจุดประทัดแก้บน
  • ธูป 9 ดอก
  • เทียน 2 เล่ม
  • ดอกไม้ 1 กำ (ดอกอะไรก็ได้)
  • หมากพลู จำนวน 5, 9, 12 คำ
  • หัวหมู
  • ไก่ต้ม
  • ผลไม้
  • อาหารคาวหวาน

ปัจจุบันมีการเสี่ยงเซียมซีในศาลทวดหลักเขตด้วย[i]


[i] ขอบคุณที่มาบทความ ศศลักษณ์ ทองขาว, คุณาพร ไชยโรจน์ และอำนาจ ทองขาว. ความเชื่อทางจิตวิญญาณทวดที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/norhatrang/posts/1357700607750173/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *