“ทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร”

คติความเชื่อเกี่ยวกับ “ทวดหลักเขต” ของชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และพื้นที่ใกล้เคียง ประวัติพ่อทวดหลักเขต (หลักเขตระหว่างจังหวัดตรังกับพัทลุง) ตามประวัติเล่าว่า พ่อทวดหลักเขตเป็นชาวจังหวัดพัทลุง ได้ย้ายมาอยู่บ้านช่อง ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง (หลังค่ายลูกเสือรัษฎานุประดิษฐ์) พ่อทวดหลักเขตมีชื่อว่า “พ่อทวดบุญ” เป็นต้นสกุลบุญเอียด

ในสมัยที่มีการปักปันเขตแดน ระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง ปี พ.ศ. ใดสืบไม่ได้ ทางกรมการเมืองพัทลุง และเมืองตรังได้เลือกสถานที่ซึ่งเป็นสันเขาที่สูงที่สุดและมีน้ำปัน คือ สันปันน้ำที่สูงที่สุด เวลาฝนตก ด้านตะวันออกไหลไปพัทลุง ด้านตะวันตกไหลไปตรัง น้ำที่ไหลไปทางทิศตะวันออกไปลงจังหวัดพัทลุง น้ำที่ไหลไปทางทิศตะวันตกไหลไปลงจังหวัดตรัง กำหนดให้ตรงนั้นเป็นที่ปักเขตแดน แล้วจึงเกณฑ์ชาวบ้านให้ช่วยกันตัดแก่นไม้แคข่อยขนาดใหญ่ต้นหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณทุ่งนาเหนือ (ตรงข้ามบ้านขุนช่องปัจจุบันนี้) ทำเป็นหลัก เมื่อทำหลักเสร็จแล้วให้เอาเชือกผูก ให้ชาวบ้านทั้งตำบลชักลากเพื่อนำไปฝังในที่ ๆ กำหนดไว้ ตามประวัติเล่าว่า ชาวบ้านทั้งตำบลไม่สามารถชักลากเสาหลักนั้นไปได้ ในจำนวนชาวบ้านเหล่านั้นได้เสนอแนะให้ไปตามทวดบุญมาช่วยลาก ซึ่งท่านมีความรู้เกี่ยวกับวิชาไสยศาสตร์ขลังมาก เมื่อไปตามท่านมาถึงท่านก็จับเสาหลักนั้นเข้า และบอกให้ชาวบ้านลากพร้อมกัน แล้วก็กล่าวว่า “ลากไปได้แล้ว” นั่นแหละจึงสามารถลากเสาหลักไปได้ เมื่อทำพิธีฝังเสาหลักไม่ใครสามารถยกเสาได้ พ่อทวดสามารถยกเสาหลังลงฝังได้แต่ผู้เดียว

ต่อแต่นั้นมา ชาวบ้านก็พากันเชื่อว่า “ท่านเป็นผู้วิเศษ” เมื่อท่านตายไปแล้วก็ได้นำกระดูกของท่านไปฝังไว้ที่หลักเขตแห่งนั้น และชาวบ้านเชื่อว่า วิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงสิงสถิตอยู่ ณ ที่นั้น ชาวบ้านทั่วไปจึงมาบนบานศาลกล่าวกันมิได้ขาด ทุกวันนี้ มีคนไปแก้บนด้วยการจุดประทัด และเซ่นไหว้เครื่องสังเวย เช่น เหล้า ไก่ หัวหมู เป็นต้น เกือบทุกวัน

ตำนาน “พ่อทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร”

เรื่องตำนาน “พ่อทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร” ในความศรัทธาและความเข้าใจของชาวบ้านในพื้นที่ มีเล่ากันว่า ทวดหลักเขตจริง ๆ แล้ว ก็คือ องค์เดียวกับตาหมอช่อง (ทวดเสือ) และทวดไทรงาม (งูพญาตะบองหลา) ซึ่งในเรื่องนี้นายกลอด เพชรเกื้อ (ลูกหลานในตระกูลและผู้สืบเชื้อสายของทวดเขาหลัก / สายตรง) ได้เล่าว่า หากไปสำรวจบริเวณศาลทวดตรงหลักเขต รอยต่อระหว่างจังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เราจะพบว่า ส่วนใหญ่ผู้คนแถวย่านนี้มักนิยมชมชอบในเรื่องเทวดาอารักษ์ที่ปกปักษ์สถานที่อยู่บนเขาบรรทัด (เขาพับผ้า) เรียกว่า “ทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร” เป็นอันมาก แต่หากสำรวจลงลึกไปยังอีกพื้นที่หนึ่งในย่านใกล้เคียงกันคือ ที่วัดกะช่องเปี่ยมราษฎร์ ถนน 4246 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง จะพบว่า ตรงบริเวณซุ้มประตูหน้าของวัดมี “ทวดในรูปสัตว์” จำนวนสองตนสิงสถิตอยู่ขนาบข้างทั้งฝั่งซ้าย – ขวาของซุ้มประตู ฝั่งซ้ายเป็นรูปประติมากรรมงูพญาตะบองหลาแผ่พังพาน มีหงอนแดงตรงกลางหัวอย่างสง่างาม มีเคราแดงใต้คางแยกเป็นสองแฉก เรียกชื่อว่า “ทรดไทรงาม” ส่วนฝั่งขาวของซุ้มประตูมีรูปประติมากรรมพญาเสือโคร่งยืนบนฐาน ขนาบข้างด้วยเสือบริวารซ้าย – ขวา เรียกชื่อว่า “ตาหมอช่อง” ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้ง “ทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร” และ “ทวดไทรงาม” หรือ “ตาหมอช่อง” ทั้ง 4 องค์นี้ก็คือ ทวดตนเดียวกัน

เพราะคำว่า “ทวดหลักเขต” หรือ “องค์ทวดเพชร” คือ การแสดงตัวตนของทวดในลักษณะมนุษย์ แต่หากสังเกตบริเวณซุ้มประตูทางเข้าของศาลทวดหลักเขตบริเวณเขาบรรทัด หรือเขาพับผ้าให้ดี จะพบว่า ตรงซุ้มมีรูปงูพญาตะบองหลาและรูปเสือประดับตกแต่งไว้ในนั้นด้วย เป็นการบอกเป็นนัยว่า พ่อทวดหลักเขตมีฤทธิ์สามารถแปลงกายเป็น “งูพญาตะบองหลา” หรือแปลงเป็น “พญาเสือโคร่ง” ก็ได้ การกลายร่างของทวดหลักเขตส่วนใหญ่เท่าที่ทราบ ท่านมักจะกลายร่างเป็นงูใหญ่ไปสถิตอยู่ในศาลาบริเวณศาลหลังปัจจุบันให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้พบเห็นกราบไหว้ บ้างก็เรียกทวดตอนกลายร่างเป็นงูใหญ่ว่า “ทวดไทรงาม” ส่วนตำนานตอนที่ทวดหลักเขตแยกร่างเป็นพญาเสือโคร่งมีเล่าไว้ดังนี้

บางตำนานว่า “ตาหมอช่อง” คือ คนละคนกับทวดหลักเขต และดำรงชีวิตอยู่ก่อนหน้าทวดหลักเขตหลายสิบปี แต่บางตำนานก็เชื่อว่า “ตาหมอช่อง” คือ “ทวดหลักเขต” คือ การแบ่งภาคออกไปเล่าเรื่องในแนวทางการสำแดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือมนุษย์ ทั้งนี้จะขอเล่าตำนานที่เกี่ยวข้องกับ “ตาหมอช่อง” ในสายความเชื่อที่ว่า “ตาหมอช่อง” กับ “ทวดหลักเขต” คือ ทวดตนเดียวกัน ดังนี้ สมัยก่อนมีชายชราคนหนึ่งเดินทางมาจากบริเวณช่องเขารอยต่อระหว่างจังหวัดตรังและพัทลุง พอรู้สึกเหน็ดเหนื่อยท่านก็พักค้างแรมและตั้งตนเป็นเจ้าที่อยู่หลังค่ายลูกเสือรักฎานุประดิษฐ์ ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อท่านว่า “ตาช่อง” ถือเป็นคนเก่าคนแก่ของที่นี่ และเพราะตาช่องเรียนวิชาคาถาอาคมจนแกร่งกล้า มีอุปนิสัยส่วนตัว คือ ชอบช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่เวลาใครมีปัญหาเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ เวลาชาวบ้านเดือดร้อนก็มักมาขอให้ท่านช่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงขนานนามท่านว่า “ตาหมอช่อง” ซึ่งหมายถึง ผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือคนที่มีความขลัง บ้างก็เรียกว่า “ตาขุนช่อง”

เล่าต่อว่า สมัยนั้นยังมี “ทุ่งนาช่อง” อันเป็นนาข้าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ตาหมอช่องชอบเดินทางเท้าจากบ้านแถวหลังค่ายลูกเสือรักฎานุประดิษฐ์ เพื่อมาทำนาที่นี่เป็นประจำ นอกจากนี้ ตาหมอช่องยังเลี้ยงควายไว้อีกฝูงหนึ่ง แกเลยอาศัยสร้างขนำ (กระท่อมเล็กๆ) ไว้หลังหนึ่งสำหรับนอนเฝ้านาข้าวและฝูงความที่เลี้ยง โดยมีลูกสาวคอยส่งข้าวส่งน้ำวันละสามเวลาเช้า – เที่ยง – เย็น ซึ่งตาหมอเป็นคนเล่นอาคม และอยู่มาวันหนึ่ง คาถาเกิดตีเข้าร่างตนเอง กลายเป็นมนต์ตรากินร่าง แกเริ่มมีหางงอกยาวออกมาเรื่อย ๆ มีขนตามตัว มีกงเล็บงอกออกมาจากปลายนิ้วอย่างน่ากลัว ตาหมอช่องจึงเรียกลูกสาวเข้ามาพบแล้วพูดว่า “นับแต่บัดนี้ เจ้าไม่ต้องมาคอยส่งข้าวส่งน้ำพ่ออีกต่อไปแล้ว เพราะก่อกำลังจะกลายเป็น “เสือ” อาจทำร้ายเจ้าได้” หลังจากวันนั้น ก็ไม่มีใครพบตาหมอช่องอีกเลย มีเพียงเรื่องเล่าขานจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า พบเจอพญาเสือโคร่งขนาดใหญ่เดินวนเวียนอยู่ในย่านนั้นแทน จนชาวบ้านเชื่อว่า พญาเสือตนนั้น คือ “ตาหมอช่อง” ที่กลายสภาพจากคนเป็นเสือ หรือเป็น “สมิง” อยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแลลูกหลานในวงศ์ตระกูลให้ประสบต่อกรรมขาว

โดยมีการเล่ากันต่อว่า รอยเท้าเสือของตาหมอช่องจะแปลกจากรอยเท้าเสือปกติทั่วไป ตรงที่รอยเท้าทั้งสี่ของท่านจะมีเพียงแค่ 4 นิ้ว (เสือปกติตามธรรมชาติ เท้าหน้ามี 5 นิ้ว และเท้าหลังมี 4 นิ้ว) ว่ากันว่า หลังจากทวดตายดวงวิญญาณของท่านได้มาสิงสถิตอยู่ตรงบริเวณหลักเขตตรัง – พัทลุง (ในสภาพเสือ หรือ งูใหญ่) และเชื่อว่า ถ้าบูชาท่านแล้ว จะก่อให้เกิดความเจริญงอกงามตามมา ใครของหายสามารถไปทำการ “บน” ไว้กับท่านได้ ใครอยากให้ลูกให้หลานสอบติดเป็นข้าราชการก็ให้มาทำการบนไว้กับท่าน เพราะในรูปของ “เสือ” ชาวบ้านเชื่อว่า จะส่วนเสริมส่งดลบันดาลให้สอบติดและเป็นใหญ่เป็นโตในวงราชการได้ อีกอย่างหนึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า ถ้าคณะหนังตะลุงหรือโนราที่เดินทางข้ามจังหวัดตรัง – พัทลุง ผ่านมาถึงตรงจุดนี้แล้วไม่ยอมหยุดเพื่อเล่นหนังถวาย “ตาหมอช่อง” หรือ “ทวดหลักเขต” จะมีอันเป็นไป คือ อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดท้อง ปวดหัว หรือไม่ก็ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงได้

ต่อมาราว ปี พ.ศ. 2530 พระครูสังวรโกวิท เจ้าอาวาสวัดกระช่องเปี่ยมราษฎร์ แลเห็นว่า ตาหมอช่องเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน จึงจ้างช่างพื้นบ้านมาทำการสร้างรูปประติมากรรมเสือตาหมอช่องขนาดใหญ่เท่าเสือจริง แล้วทำพิธีประดิษฐานรูปปั้นไว้ตรงซุ้มประตูทางเข้าวัด เพื่อเป็นร่างแยกให้คนในย่านวัดกระช่องเปี่ยมราษฎร์ได้ใช้เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณอีกจุดหนึ่ง โดยชาวบ้านที่นี่นิยมมาบนบานศาลกล่าวต่อทวด เมื่อสมประสงค์ก็มักจุดประทัดบูชากันเสียงดังสนั่นตรงหน้าวัด

นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ของตาหมอช่องในร่างแยก คือ “ทวดหลักเขต” หรือ “ทวดไทรงาม” เพิ่มเติมอีกกรณี คือ เรื่องการสำแดงเชานุภาพช่วยลูกหลานในตระกูล โดยเป็นเรื่องเล่ากันในหมู่ญาติพี่น้องของตระกูล ว่า ครั้งหนึ่งมีลูกหลานคนหนึ่งเป็นผู้ชาย มีนิสัยเกเร ทะเลาะกับคนในครอบครัว ด้วยความโกธรเลยวิ่งหนีออกจากบ้านไปทางถนนสายจังหวัดตรัง มุ่งหน้าไปพัทลุง พ่อแม่ไม่รู้จะทำยังไงก็ไปจุดธูปขอให้ทวดช่วย ปรากฏราว ดี 9 ตอนกลางคืน (3 ทุ่ม) ลูกชายหายโกธรเดินกลับบ้านมากราบขอโทษพ่อแม่ว่า “ต่อแต่นี้ไปตนไม่เกเรอีกแล้ว” พ่อแม่ก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น คนเป็นลูกก็เล่าให้ฟังว่า “โดนทวดหลักตรงเขตกั้นแดนระหว่างตรัง – พัทลุง เดินต่อไปก็ไม่ได้ เพราะเจอทั้งงูเจอทั้งเสือเจอทั้งชายชรา (ทวด) มายืนขวาง เลยเกิดความกลัว รีบวิ่งกลับบ้านอย่างไม่คิดชีวิต”

ปัจจุบัน “ทวดหลักเขต” ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณที่สำคัญของจังหวัดตรังอีกจุดหนึ่ง บริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดตรังและพัทลุง (บนเขาพับผ้า) โดยขับรถผ่านไปมาก็นิยมบีบแตรให้เกิดเสียงดัง เพราะเชื่อว่า ทวดจะได้ยินเสียงแตกและตามไปคุ้มครองให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง ส่วนใครที่อยากได้โชคลาภก็ขอให้มาทำการสักการะบูชาทวดเสียสักครั้งหนึ่งด้วยเครื่องเซ่นนานา เชื่อว่า จะได้ลาภก้อนโต หรือความเจริญงอกงามในชีวิต จึงไม่แปลกที่จากศาลทวดหลังแรกที่เป็นเพิงไม้หลังเล็ก ๆ ปัจจุบันกลายเป็นศาลทรงไทยหลังใหญ่ มีเครื่องเซ่นสังเวยเป็นพวงมาลัยดอกไม้ ประทัด หัวหมู และ ฯลฯ ไม่เว้นแต่ละวัน หากคุณมายืนอยู่ตรงบริเวณหน้าศาลทวด คุณจะเห็นรถยนต์แทบทุกคันกระทำการคารวะด้วยการขับแบบชะลอยามมาถึงหน้าศาล จากนั้น เสียงแตรก็จะถูกบีบให้ดังก้องกังวานยามรถแล่นผ่านนานหลายนาที นี่คือ สิ่งยืนยันที่แสดงให้เห็นพลังศรัทธาต่อทวดหลักเขตของผู้คนที่ที่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง[i]


[i] ขอบคุณที่มาบทความ ศศลักษณ์ ทองขาว, คุณาพร ไชยโรจน์ และอำนาจ ทองขาว. ความเชื่อทางจิตวิญญาณทวดที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *